วันบุญเบิกฟ้า วันบุญคูณขวัญข้าว วันสู่ขวัญข้าว วันตรุษลาวชาวอีสาน [ขึ้น 3 ค่ำ เดือน 3]

เดือนสาม เป็นเดือนที่มีความพิเศษยิ่งของคนอีสาน คนอีสานถือเป็นเดือนแห่งความอุดมสมบูรณ์ที่สุดของปี เพราะมีการเก็บเกี่ยวข้าวขึ้นเล้า เข้ายุ้งฉาง เสร็จเรียบร้อย สมัยที่ผมเป็นเด็ก จำได้ว่า ในหมู่บ้านของเรา จะมีการจัดงานวันบุญคูณขวัญข้าว หรือวันสู่ขวัญข้าว ชาวบ้านจะแห่ ร้องรำทำเพลงไปขึ้นชมเล้าข้าวของเพื่อนบ้านทุกหลังคาเรือน แต่ละบ้านจะจัดสำรับกับข้าวสู่ขวัญข้าวและบูชาแม่โพสพที่เล้าข้าว ผู้อาวุโสประจำหมู่บ้านจะมานำทำพิธี ดูคางไก่ ทำนายความอยู่ดีมีสุขของคนในบ้านและพยากรณ์การทำนาว่าปีนี้จะอุดมสมบูรณ์เพียงใด พร้อมกับจัดเตรียมกับข้าวคาวหวาน ขนม ข้าวต้มกันทุกบ้าน เรียกได้ว่าเป็นงานบุญที่ใหญ่มาก (ชาวบ้านเอง ก็เมาทั้งวัน เหมือนกัน) แต่หลายปีมานี้ ผมไม่เห็นบรรยากาศนั้นเลย อย่างบ้านของผมก็มีแค่พ่อ กับยาย จัดสำรับกับข้าวบูชาแม่โพสพที่เล้าข้าวของตนเอง (บ้านอื่นๆ ก็เหมือนกัน) เป็นอันเสร็จพิธี

rice-puja
ความเชื่อเกี่ยวกับ วันขึ้น  3 ค่ำ เดือน 3 หรือที่เรียกว่า “ออกใหม่เดือนสาม” ชาวอีสานมีความเชื่อว่า จะมีปรากฏการณ์มหัศจรรย์เกิดขึ้น 3 อย่าง คือ “กบไม่มีปาก นาคไม่มีรูทวาร และมะขามป้อมจะมีรสหวาน” ดังคำกลอนผญา ที่ว่า
     “ออกใหม่ขึ้น         สามค่ำเดือนสาม
     มื้อที่กบบ่มีปาก     นาคบ่มีฮู้ขี่
     หมากขามป้อม      แสนส้มกะเหล่าหวาน”

กบไม่มีปาก คือ จะมีแผ่นเยื่อขึ้นปิดรูกบ วันนั้นกบจะจำศีล ไม่สามารถจับสัตว์อื่นกินเป็นอาหารได้
นาคไม่มีรูทวาร คือ จะมีแผ่นเยื่อเกิดขึ้นปิดทวารหนักของตัวนาค เป็นอันว่านาคจะไม่ขับถ่ายในวันนั้น เพราะไม่ได้กินอาหาร
มะขามป้อมจะมีรสหวาน คือ ปกติมะขามป้อมจะมีรสฝาด แต่ในวันขึ้นสามค่ำเดือนสาม จะมีรสหวาน

นอกจากนี้ ยังถืออีกว่า วันขึ้น 3 ค่ำ เดือน 3 เป็นวันที่ฟ้าไข (เปิด) ประตูน้ำฝน ในเดือนสามเป็นเดือนที่ “ฟ้าร้อง” เป็นครั้งแรกของปี ยิ่งถ้าวันนี้มีฟ้าร้อง แสดงว่าปีนั้นจะทำนาได้ผลผลิตดีมาก ปราชญ์อีสาน จะกำหนดทิศทางที่ฟ้าร้องเป็นสัญญาณบ่งบอกปริมาณน้ำฝนที่ตกลงมาในปีนั้น โดยบรรพชนชาวอีสานได้บันทึกคำทำนายเป็นกลอน “โสลกฝน” ซึ่งบันทึกเอาไว้ ดังนี้

“พอเมื่อเดือน 3 ขึ้น        ฤดูกาลแถมถ่ายมานั้น
อันว่า        ดวงฤกษ์ฟ้า     ไขทางป่องฝน
จึงได้        เค้าเงื่อนว่า     ฟ้าฮ่องฮ่ำ เดือน 3
ออกใหม่สามค่ำขึ้น     เงี่ยงหูฟังฟ้าฮ่ำ
เพื่อให้      ฮู่เหตุเบื้อง    ประตูน้ำแห่งฝน

*คันแม่น ฟ้าฮ่ำฮ้อง     หนแห่งบูรพา
ทางนั้น  ปักตูอาโป   ห่าฝนลินย้อย
คนจัก    มีแฮงได้    ทำบุญบ่ได้ขาด
ฝูงข้าวกล้า    นาฮ่างกะฮุ่งเฮือง

*ปีได๋ฟ้าลั่นก้อง  ไข    แห่งแกแมว(ทิศตะวันตกเฉียงใต้)
ทางนั้น      ปักตูหิน    ห่าฝนมีน้อย
คนจัก        ตายลงท้อง    ของกินขี่จวก
สิอดอยากล้า    ทั้งค่ายทั่วแดน

*ปีได๋        ฟ้าลั่นก้อง     ไขแห่งทักษิณ
ทางนั้น      ปักตูทอง      ห่าฝนแถวเท้า
น้ำจัก        ท่วมเข่ากล้า  ยังแท้ส่วนสอง แท้แหล่ว
ปูปลาล้น      ไหลนองอนันต์เนก
ฝูงเข้ากล้า      ยังได้ส่วนสาม

*ปีได๋        ฟ้าลั่นก้อง         ปักตูกั่วแกมซิน
ทางนั้น      เป็นแกเสือ       ห่าฝนงามย้อย
ผลผลา      กล้วยอ้อย  พร้าว ม่วง หมากขาม
เทิ่ง           เว่อส้ม     ตาลหมี่หมากผล
กับเทิง       ปูปลาล้น      เนืองนองคับทุ่ง
ไซใส่ไว้       ปลากุ้งหลั่งลง
ฝูงเข้ากล้า   ในนาเขียวอ่อน
ประเสริฐแท้    ปีนั้นมั่งมี

*ปีได๋        ฟ้าลั่นก้อง  ไขแห่งปัจจิม
ทางนั้น      ปักตูเหล็ก     ห่าฝนมีน้อย
คนสิ         บายเสียมได้    ไปดงคอนกะต่า
เที่ยวก่น    มันอีมู่      มันอ้อนหมู่กอย
สอยวอยหน้า    ฝูงคนอึดอยาก
ฝูงเข้ากล้า     ตายเสี่ยงง่องฝน

 *ปีได๋    ฟ้าลั่นฮ้อง ไขแห่งแกหนู(ตะวันตกเฉียงเหนือ)
ทิศนั้น       ปักตูหิน     ห่าฝนมีแท้
คนจัก        มีสุขย้อน    หญิงชายหน้าชื่น
ฝูงเข้ากล้า    ในนาบานเบิก
ยังอีก        ปูปลาน้อย      เขินขาดเวิงวัง
อีกผลาผลสังกะ      ขาดเสียเหลียน่อย
คนจัก        เกิดพยาธิฮ้าย   เทิงซ้ำป่วยตาย แท้แหล่ว

*ปีได๋        ฟ้าลั่นก้อง      ไขแห่งนาโค (ทิศเหนือ)
แม่นเป็น    ปักตูเงิน        ห่าฝนหลายล้น
คนจักสุข     สำบายบ้าง    บ่มีหยังบังเบียด
ฝูงเข้ากล้า    ในนาเขียวอ่อน
พญาแถน      นั่งฟากฟ้า  ปูนให้ห่าฝน      แท้นา

*ปีได๋        ฟ้าฮ่ำฮ้อง     ไขแห่งอีสาน
ทางนั้น      ปักตูดิน       ห่าฝนเลิงล้วน
ตกแต่ต้น      เถิงปลายบ่ได้ขาด
ฝูงเข้ากล้า       ในนาเต็มท่ง
คนสนุกม่วนล้ำ    ปีนั้นอยู่กะเสิม    แท้แหล่ว”

คำแปลกลอน “โสลกฝน”
     1. ทิศบูรพา มีครุฑเป็นสัตว์ประจำทิศ เป็นทิศประตูน้ำ ถ้าฟ้าร้องทิศนี้ฝนจะดีข้าวกล้าในนาจะอุดมสมบูรณ์ คนทั้งปวงจะได้ทำบุญให้ทานอย่างเต็มที่
     2. ทิศอาคเนย์ มีแมวเป็นสัตว์ประจำทิศ เป็นทิศประตูลม ถ้าฟ้าร้องทิศนี้ฝนจะน้อย นาแล้ง คนจะอดอยาก และเกิดโรคระบาด
     3. ทิศทักษิณ   มีราชสีห์เป็นสัตว์ประจำทิศ เป็นทิศประตูทอง ถ้าฟ้าร้องทิศนี้ฝนจะมาก ข้าวกล้าในนาเสียหายสองในห้าส่วน นาลุ่มเสีย นาดอนดี มีปูปลาอุดมสมบูรณ์
     4. ทิศหรดี  มีเสือเป็นสัตว์ประจำทิศ เป็นทิศประตูตะกั่วหรือประตูขิน ถ้าฟ้าร้องทิศนี้ฝนจะดี น้ำงามพอเหมาะ ผลหมากรากไม้อุดม ปูปลามีมาก  ข้าวกล้าบริบูรณ์ ผู้คนมีความสุข
     5. ทิศปัจจิม มีนาคเป็นสัตว์ประจำทิศ เป็นทิศประตูเหล็ก ถ้าฟ้าร้องทิศนี้ฝนจะแล้ง น้ำน้อย ข้าวกล้าในนาแห้ง ตาย เสียหายหนัก
     6. ทิศพายัพ มีหนูเป็นสัตว์ประจำทิศ เป็นทิศประตูหิน  ถ้าฟ้าร้องทิศนี้ฝนจะตกปานกลาง ข้าวกล้าในนาได้ผลกึ่งหนึ่ง เสียหายกึ่งหนึ่ง ปูปลามีน้อย คนมักเจ็บป่วย
     7. ทิศอุดร มีช้างเป็นสัตว์ประจำทิศ เป็นทิศประตูเงิน ถ้าฟ้าร้องทิศนี้ฝนจะดี ข้าวกล้าในนาจะงอกงามดี คนมีสุขถั่วหน้า
     8. ทิศอีสาน มีงัว (วัว) เป็นสัตว์ประจำทิศ เป็นทิศประตูดิน  ถ้าฟ้าร้องทิศนี้ฝนจะดีตลอดทั้งปี ข้าวกล้าในนาจะงอกงามสมบูรณ์ดี คนจะมีความสุขเกษมตลอดปีอย่างถ้วนหน้า

นอกจากนี้ ในวันขึ้น 3 ค่ำเดือน 3 ชาวอีสาน จะขนปุ๋ยคอก คือ ขี้วัวขี้ควายไปใส่แปลงนาด้วย เพื่อเติมความอุดมสมบูรณ์ให้กับดิน (ปัจจุบัน อาจทำพอเป็นพิธี และอาจมีการขนปุ๋ยคอกลงแปลงนาในราวปลายเดือนเมษายนถึงกลางเดือนพฤษภาคม)

ประเพณี “บุญเปิกฟ้า” มหาสารคาม
จังหวัดมหาสารคาม มีการจัดงานประเพณี “บุญเปิกฟ้า” เป็นงานท่องเที่ยวและกาชาดของจังหวัดมหาสารคาม เพื่อสืบสานตำนานบุญเบิกฟ้า ในช่วงออกใหม่เดือนสาม เป็นประจำทุกปีตั้งแต่ปี พ.ศ. 2531 โดยพิธีกรรมในงานบุญเบิกฟ้า ที่สำคัญมีอยู่ 4 อย่าง คือ (1) พิธีสู่ขวัญข้าว หรือ บุญต้มปากเล้า เพื่อเรียกขวัญข้าว (2) การหาบปุ๋ยคอกไปใส่ผืนนา เพื่อบำรุงดิน (3) การทำบุญเฮือน (บุญบ้าน) เพื่อเป็นสิริมงคลสำหรับครอบครัว และ (4) การนำข้าวเปลือกเต็มกระบุงไปถวายวัด “บุญเบิกฟ้า” แท้จริงคือการเฉลิมฉลองการเก็บเกี่ยวข้าวปลาอาหารในปีที่ผ่านมาเสร็จสิ้น และเริ่มต้นเตรียมความพร้อมสำหรับการลงไร่ไถนาในฤดูกาลทำนาในปีปัจจุบันนั่นเอง ผู้ที่สนใจเที่ยวงานบุญเบิกฟ้า ทางจังหวัดมหาสารคามจะจัดขึ้นทุกปีในช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์-ต้นเดือนมีนาคม งานมีจัดหลายวัน สามารถไปเที่ยวชมกันได้ครับ 

ข้อคิดเห็นส่วนตัว : จากทั้งหลายทั้งปวงที่กล่าวมา ศักดิ์อนันต์ อนันตสุข มีความเห็นว่า วันขึ้นสามค่ำเดือนสาม น่าจะถูกยกความสำคัญขึ้นเป็น วันขึ้นปีใหม่ของชาวอีสาน หรือจะพูดแบบไม่เกรงใจกันก็พูดให้ชัดเลยว่า วันตรุษอีสาน หรือ วันตรุษไทยอีสาน หรือวันตรุษลาว (เพราะที่จริงจะ ตรุษลาว หรือ ตรุษไทยอีสาน ก็คืออันเดียวกัน) เหตุที่ว่าอย่างนี้ เพราะตรุษจีน ก็มี ตรุษเขมร ก็มี ตรุษไทย (วันสงกรานต์) ก็มี ตรุษลาว ก็เอาวันนี้ล่ะ ขึ้นสามค่ำเดือนสาม เหมาะสมที่สุด   

เรียบเรียงจาก
1. http://www.oknation.net/blog/numsunjon/2009/01/28/entry-1
2. http://www.oknation.net/blog/print.php?id=259458



Leave a Comment