วิทยาศาสตร์ของการทำสมาธิ (The Science of Meditation) ประสาทวิทยาศาสตร์ คลื่นสมองของคนมีสมาธิเป็นอย่างไร

scanbrain1การทำสมาธิ เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นพร้อมกับความเชื่อเรื่องผีสางและพิธีกรรมทางลัทธิศาสนา โดยแพร่หลายมาตั้งแต่ก่อนสมัยพุทธกาล โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อราว 2600 ปีที่ผ่านมา “เจ้าชายสิทธัตถะ” ได้นั่งสมาธิจนตรัสรู้ เป็น “พระสัมมาสัมพุทธเจ้า”  และทรงสอนเรื่อง “การภาวนาหรือการทำสมาธิ” ตลอดพระชนม์ชีพของพระองค์ การทำสมาธิในยุคนั้น ทำให้ “บุคคลธรรมดา” สามารถบรรลุจุดมุ่งหมายทางจิตวิญญาณที่สูงขึ้น และกลายเป็น “บุคคลพิเศษ” ได้และบางคนอาจมีอภิญญา คือ สามารถ “เหาะเหินเดินอากาศ” ได้ “รู้จิตใจและความคิดคำนึงของผู้อื่น” ได้ หรือทำตนเองให้บริสุทธิ์หลุดพ้นหมดกิเลสเป็น “พระอรหันต์” ก็ได้

ในปัจจุบัน การนั่งสมาธิเกิดขึ้นในหลายวัฒนธรรมทั่วโลกโดยมีจุดประสงค์แตกต่างกันไม่ใช่แค่ด้านศาสนาเพียงอย่างเดียว เช่น การเพิ่มความสามารถของจิตใจในการเพ่งพินิจ เพิ่มอารมณ์เชิงบวก ลดความวิตกกังวล และความเครียด บรรเทาความเจ็บปวด และช่วยให้สุขภาพร่างกายดีขึ้น รวมถึงการให้นักเรียน นักศึกษา นั่งสมาธิก่อนเริ่มต้นการเรียน โดยเชื่อว่า การนั่งสมาธิจะช่วยเพิ่มการทำงานของสมอง ทำให้เกิดการเรียนรู้สิ่งต่างๆได้ดีขึ้น และหากมีอารมณ์และจิตใจที่สงบนิ่ง มีสมาธิ การทำงานของสมองจะยิ่งเป็นระบบและมีประสิทธิภาพ ส่งผลถึงสติปัญญา ความจำและความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ 

วงการประสาทวิทยาศาสตร์ ได้ตีพิมพ์เอกสารเกี่ยวกับ สมองสามารถเปลี่ยนแปลงเพื่อตอบสนองกับประสบการณ์ทางร่างกายและข้อมูลที่รับมาจากโลกภายนอก ปรากฏการณ์นี้เรียกว่าความยืดหยุ่นของระบบประสาท (neuroplasticity) ดังนั้น นักวิทยาศาสตร์จึงสงสัยว่าสมองสามารถเปลี่ยนแปลงเพื่อตอบสนองต่อสัญญาณจิตภายในหรือไม่ โดยประเภทของการนั่งสมาธิที่งานวิจัยมุ่งเน้นมากที่สุดคือ การนั่งสมาธิแบบควบคุมจิต (transcendental meditation) ซึ่งผู้ฝึกจะเพ่งจิตไปที่คำ เสียง หรือวลีซ้ำเดิม และการนั่งสมาธิตามแบบพุทธศาสนา (Buddhist technique of mindfulness meditation) ที่เพ่งความสนใจไปยังลมหายใจ เพื่อให้เกิดสติและรับรู้ถึงสิ่งเร้าในขณะนั้นๆ                

การศึกษาที่มักถูกอ้างถึงและมีการเผยแพร่อย่างกว้างขวางเป็นงานของ Richard Davidson แห่งมหาวิทยาลัย วิสคอนซินเมดิสัน สหรัฐอเมริกา ที่ได้ศึกษาเปรียบเทียบการทำงานของสมองของพระภิกษุทิเบต จำนวน 8 รูป อายุเฉลี่ย 49 ปี ประสบการณ์ในการนั่งสมาธิ 15-40 ปี นับเป็นชั่วโมงมากกว่า 10,000 ชั่วโมง กับกลุ่มนักศึกษาอายุเฉลี่ย 21 ปี จำนวน 10 คน ซึ่งส่วนใหญ่ไม่เคยมีประสบการณ์ในการทำสมาธิ แต่ได้รับการอบรมเรื่องการทำสมาธิเพียง 1 สัปดาห์ก่อนการทดลอง  โดยทั้งสองกลุ่มจะนั่งสมาธิแบบทิเบต ในห้องที่ผ่อนคลาย การทำสมาธิจะมุ่งเน้นให้รู้สึกถึงความรักความเมตตาต่อสรรพสิ่ง โดยปราศจากการคิดถึงบุคคลหรือสิ่งต่างๆ ช่วงก่อน ระหว่างและช่วงหลังของการทำสมาธิ ผู้วิจัยใช้เครื่อง Electro encephalograms (EEG) วัดระดับคลื่นแกมมา (gamma band) ซึ่งเป็นสัญญาณของสมองที่เกี่ยวข้องกับ ความสนใจ การเรียนรู้และการรับรู้อย่างมีสติ

ภาพแสดงตัวอย่างการใช้ชุดอุปกรณ์และซอฟแวร์ EEG เพื่อตรวจคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าของสมอง ของพระภิกษุทิเบต
 (ที่มาhttp://www.bloggang.com/data/duen/picture/1174382644.jpg

ผลการวิจัยพบว่า ในช่วงก่อนการทำสมาธิ กลุ่มพระภิกษุมีคลื่นสมองแกมมาในระดับสูงกว่า กลุ่มนักศึกษา ความแตกต่างนี้จะสูงขึ้นอย่างมากระหว่างการนั่งสมาธิ แสดงให้เห็นว่า สมองได้มีการพัฒนาอย่างถาวร หากได้ฝึกทำสมาธิติดต่อกันมาเป็นเวลานาน ถึงแม้ว่าปัจจัยทางด้านอายุและสุขภาพอาจทำให้คลื่นสมองแกมมามีระดับที่แตกต่างกัน แต่สิ่งที่เห็นได้ชัดคือ เวลาของการทำสมาธิส่งผลโดยตรงต่อการทำงานของคลื่นสมองแกมมา นักวิจัยเห็นว่าการศึกษานี้เป็นจุดเริ่มต้นและต้องมีการศึกษาเพื่อตรวจสอบผลทางสมองและพฤติกรรมหลังจากเกิดการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ต่อไป

 ภาพแสดงผลการทดลองของ Richard Davidson (กราฟบน) ในช่วงนั่งสมาธิ พระทิเบตเหล่านี้สามารถเพิ่มคลื่นแกมมาเป็นสองเท่า (ดอกจันสีดำ) หรือสามเท่า (ดอกจันสีส้ม) จากช่วงพักได้ รูปด้านล่างแสดงถึงพื้นที่สมองที่เกิดคลื่นแกมมา นักศึกษาที่เพิ่งเรียนรู้ถึงวิธีนั่งสมาธิถือเป็นกลุ่มควบคุม (รูปล่างซ้าย) แสดงให้เห็นว่ามีคลื่นแกมมาเกิดขึ้นน้อยมากเมื่อเทียบกับพระทิเบต (รูปล่างขวา)
(ที่มา :http://www.bloggang.com/data/duen/picture/1174382749.jpg)

สำหรับการใช้เครื่อง Electroencephalograms (EEG) วัดระดับคลื่นสมองของมนุษย์นั้น สามารถแบ่งระดับของคลื่นสมองของมนุษย์ได้ 4 ประเภทใหญ่ๆ ดังนี้

ที่มาhttp://www.chicministry.com/categories/Chic_Mind_&_Body/meditation/
images/meditation2007200911727359132large.jpg     

     1. เบต้า (Beta) ซึ่งมีจังหวะรวดเร็วไม่สม่ำเสมอ บ่งบอกถึงความสับสนวุ่นวายทางความคิดของมนุษย์ ยิ่งคลื่นมีความสูงมากเท่าใด จิตใจก็จะยิ่งมีความสับสนวุ่นวายมากขึ้นเท่านั้น
     2. แอลฟา (Alpha) มีลักษณะโค้งเป็นคลื่น มีขนาดใหญ่กว่า มีจังหวะช้ากว่า และมีพลังงานมากกว่าคลื่นเบต้า แสดงให้เห็นถึงความสงบนิ่ง และมีสมาธิ ผู้ที่มีจิตใจสงบเยือกเย็นหรือผู้ที่เริ่มทำการฝึกสมาธิจะมีคลื่นสมองลักษณะเช่นนี้เกิดขึ้น              
     3. เธต้า (Theta) เมื่อคลื่นแอลฟามีจังหวะช้าลงและมีพลังงานสูงขึ้น สมองจะส่งเป็นคลื่นเธต้า
ออกมาแต่จะเป็นเพียงช่วงสั้นๆ เท่านั้น สมองมักจะปรากฏคลื่นนี้เมื่อร่างกายอยู่ในภาวะครึ่งหลับครึ่งตื่น และอาจเกิดได้บ่อยขึ้นเมื่อมีการฝึกจิตสูงขึ้น 
   4. เดลต้า (Delta) เป็นคลื่นสมองที่เกิดขึ้นขณะนอนหลับลึก มีความถี่ต่ำสุดแต่มีพลังงานสูง มีลักษณะนิ่งเป็นเส้นตรง และเป็นประโยชน์ต่อส่วนความจำของสมองมาก หากฝึกสมาธิขั้นสูง มีจิตใจสงบ ความคิดไม่วุ่นวายก็จะมีโอกาสเกิดคลื่นชนิดนี้ได้มากกว่าคนอื่น

ดร.อาจอง   ชุมสาย ณ อยุธยา กล่าวไว้ในหนังสือ “วิทยาศาสตร์ของการฝึกจิต” ว่า ผลการวิจัยเกี่ยวกับการทำสมาธิ โดยการวัดคลื่นสมองด้วยเครื่อง “Electroencephalogram ; EEG” พบว่าคลื่นสมองแอลฟา (ความถี่ต่ำ) จะเกิดขึ้นเมื่อจิตใจของเราสงบ มีความสบายใจ มีสมาธิไม่มีความเครียด ขณะที่คลื่นเบต้า(ความถี่สูงกว่า)จะเกิดขึ้นเมื่อมีความเครียดสับสน ฟุ้งซ่าน ไม่มีสมาธิ และคลื่นแอลฟาจะเกิดขึ้นเมื่อมีสมาธิ หรือกำลังฝึกสมาธิ และถ้าได้รับการฝึกมากขึ้นไปอีกก็จะเกิดคลื่นเธต้า (ความถี่ต่ำกว่า)ซึ่งความถี่ก็จะลดลงไปอีก จิตใจที่สงบว่างหรือมีสมาธินี่เองที่เป็นปัจจัยบวกต่อการพัฒนาสมอง หรือความจำนอกจากนี้ การทำสมาธิยังส่งผลต่อปฏิกิริยาโต้ตอบ ทำให้สามารถทำอะไรอย่างคล่องแคล่วว่องไว             

Luders และคณะนักวิจัยจากมหาวิทยาลัย UCLA ได้รายงานไว้ในวารสาร NeuroImage  เมื่อเดือนพฤษภาคม ค.ศ. 2009 เกี่ยวกับการใช้เครื่องถ่ายภาพแม่เหล็กกำทอน (magnetic resonance imaging : MRI) สแกนสมองของผู้ร่วมการทดลอง 44 คน โดย 22 คน ไม่เคยฝึกการทำสมาธิและอีก 22 คน ผ่านการฝึกสมาธิแบบต่างๆ มาแล้ว เช่น Zazen, Samatha และ Vipassana ประสบการณ์ในการทำสมาธิอยู่ระหว่าง 5-46 ปี เฉลี่ยที่ 24 ปี ซึ่งส่วนใหญ่ทำสมาธิทุกวัน วันละ 10-90 นาที พบว่า การทำสมาธิจะส่งผลให้สมองส่วน hippocampus, สมองภายในส่วน orbito-frontal cortex , ส่วน thalamus และ inferior temporal gyrus ของกลุ่มผู้นั่งสมาธิมีขนาดใหญ่กว่าสมองของผู้ที่ไม่มีประสบการณ์การทำสมาธิเลย โดยสมองในส่วนดังกล่าวข้างต้น จะทำหน้าที่ควบคุมอารมณ์ ความรู้สึก และส่งผลให้ผู้ฝึกทำสมาธิเป็นคนอารมณ์ดี มีสติและมีความมั่นคงทางอารมณ์ งานวิจัยของ Luders และคณะ สอดคล้องกับงานวิจัยของ Sara Lazar และคณะจากโรงเรียนแพทย์ Harvard ที่ใช้การถ่ายภาพแม่เหล็กกำทอน (magnetic resonance imaging, MRI) กับสมองของคนจำนวน 15 คนที่ไม่เคยฝึกนั่งสมาธิมาก่อนกับคนที่ฝึกนั่งสมาธิแบบพุทธศาสนาจำนวน 20 คน พวกเขาพบว่าพื้นที่สมองที่เกี่ยวข้องกับความสนใจและประมวลผลทางการรับสัมผัสในคนที่ฝึกนั่งสมาธิจะหนากว่าคนไม่ฝึกนั่งสมาธิ ความหนาขึ้นที่เห็นได้ชัดเจนจะพบได้ในคนนั่งสมาธิที่อายุมากในส่วนเปลือกสมองชั้นนอก (outer cortex) ที่เชื่อกันว่าเกี่ยวข้องกับการประมวลผลด้านอารมณ์และการรับรู้ให้สมบูรณ์ขึ้น สิ่งนี้บ่งชี้ว่าการฝึกนั่งสมาธิอย่างสม่ำเสมออาจจะช่วยลดการบางลงของพื้นที่สมองที่มีความสำคัญในการรับรู้และการประมวลผลด้านอารมณ์เมื่ออายุมากขึ้นได้ ดังนั้น การทำสมาธิเป็นประจำ สามารถช่วยพัฒนาสมองในส่วนที่มีความสำคัญต่อความคิด ความเข้าใจ การจัดการอารมณ์ความรู้สึกและความสงบสุขของชีวิตได้ การทำสมาธิ นอกจากจะทำให้เกิดผลดีทางจิตใจแล้ว ยังมีประโยชน์ต่อร่างกายด้วย ดังที่มีการกล่าวไว้ในบทความเรื่อง “The Science of Meditation” ในนิตยสาร TIME ฉบับวันที่ 4 สิงหาคม ค.ศ. 2003 ซึ่งสรุปสาระสำคัญได้ดังนี้     


“คนอเมริกันในสหรัฐอเมริกากว่าสิบล้านคน นั่งสมาธิอย่างสม่ำเสมอ ซึ่งเพิ่มเป็นสองเท่าของเมื่อสิบปีก่อน สถานที่หลายแห่งในนิวยอร์ก เปลี่ยนเป็นที่นั่งสมาธิ จนมีการเรียกสถานที่เหล่านั้นว่า เป็น “แถบของชาวพุทธ (Buddhist Belt)” นักเรียนนั่งสมาธิก่อนเข้าห้องเรียนทุกเช้า นักกฎหมาย นักธุรกิจ คนทำงานสาขาอาชีพต่าง ๆ นั่งสมาธิ ตามที่หน่วยงานของตนจัดไว้อย่างสม่ำเสมอ ดารา นักการเมือง นักเขียน ต่างก็นั่งสมาธิ คนเหล่านี้นั่งสมาธิ เพราะเชื่อว่าช่วยทำให้ร่างกายและจิตใจผ่อนคลาย สุขภาพจิตดีขึ้น    


แพทย์ก็แนะนำให้คนไข้นั่งสมาธิเป็นประจำและสม่ำเสมอมากขึ้น เพราะผลการทดลองการสแกนคลื่นสมอง พบว่า การทำสมาธิช่วยให้สมองส่วนควบคุมด้านอารมณ์และความจำดีขึ้น ทำให้อัตราการเต้นของหัวใจ ลมหายใจ และการเผาผลาญในร่างกายเป็นปกติ รวมถึงช่วยทำให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันโรคได้มากขึ้น สามารถรักษาโรคร้ายแรงเรื้อรังได้ เช่น โรคหัวใจ เอดส์ มะเร็ง ความดันโลหิตสูง โรคใจสั่น และสมาธิจะช่วยรักษาจิตใจที่ปั่นป่วน กดดัน สมาธิสั้น วุ่นวายไม่อยู่นิ่ง ของคนไข้ได้ และนักเขียนที่เคยกินยาแก้เครียดมาเกือบจะตลอดชีวิต เมื่อนั่งสมาธิก็ไม่จำเป็นต้องพึ่งยาอีกต่อไป”   


มาถึงจุดนี้ หลายคนคงเชื่อแล้วว่า การทำสมาธิ จะเกิดผลดีต่อร่างกายและจิตใจ แต่คิดว่าคงไม่ได้เกิดขึ้นง่ายนักกับคนทั่วไป เพราะต้องนั่งสมาธิมาเป็นเวลานานๆ ผ่านการฝึกฝนอย่างเข้มงวด ความคิดดังกล่าวไม่ถูกต้องนัก เพราะประโยชน์จากการทำสมาธิ สามารถเกิดขึ้นได้กับทุกคน ทุกที่ ทุกเวลา ด้วยเวลาเพียงแค่วันละ 10 นาที โดยผลจากการศึกษาของนักวิจัยยืนยันว่า กลุ่มตัวอย่างที่ฝึกสมาธิเพียงช่วงเวลาสั้นๆ ไม่เกิน 10 นาที มีคลื่นสมองแบบแอลฟา เกิดขึ้น ซึ่งเป็นคลื่นสมองของความผ่อนคลายในระดับที่สูงขึ้น ช่วยลดความวิตกกังวล คลายความหม่นหมองในจิตใจลงได้


ดังนั้น การทำสมาธิเพื่อให้เกิดผลดีต่อร่างกายและจิตใจ จึงไม่ใช่เรื่องยากและใช้เวลามากมายอย่างที่คิด ขอให้เริ่มต้นด้วยการนั่งนิ่งๆ ในบรรยากาศสบายๆ อยู่กับตัวเอง หลับตา พิจารณาลมหายใจเข้าออก ภาวนาหรือสวดมนต์ตามที่เหมาะกับตนเอง ปฏิบัติทุกวัน อย่างน้อยวันละ 10 นาที สิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้นหลังจากนั้น เป็นสิ่งที่บุคคลผู้ปฏิบัติจะพึงเห็นและรู้ได้ด้วยตนเองว่า สิ่งที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ ถูกต้องเพียงใด ขอเป็นกำลังใจให้ทุกคนลงมือทำสมาธิ ตั้งแต่วันนี้และตลอดไป

scanbrain2

เรียบเรียงโดย นายศักดิ์อนันต์   อนันตสุข 
เอกสารอ้างอิง
1. Meditation increases brain gray matter. [ออนไลน์].[อ้างถึงวันที่ 24 สิงหาคม 2554] : เข้าถึงได้จาก     http://www.physorg.com/news161355537.html

2. Meditation found to increase brain size. [ออนไลน์].[อ้างถึงวันที่ 24 สิงหาคม 2554] : เข้าถึงได้จาก    http://www.physorg.com/news10312.html
3.The science of meditation. [ออนไลน์].[อ้างถึงวันที่ 24 สิงหาคม 2554] : เข้าถึงได้จาก    http://www.time.com/time/magazine/article/0,9171,1005349,00.html
#ixzz1XdL0L7fy

4. Neuroscience Quarterly : FY 2006 Annual Progress Report. [ออนไลน์].[อ้างถึงวันที่ 24    สิงหาคม 2554] : เข้าถึงได้จาก http://www.sfn.org/skins/main/pdf/nq/fall_06.pdf
5. Brain waves-science of meditation. [ออนไลน์].[อ้างถึงวันที่ 14 กันยายน 2554] : เข้าถึงได้จาก      http://www.chicministry.com/print_t2article.html 
6. Enhance Your Life And Mind In As Little As 10 Minutes A Day. [ออนไลน์].[อ้างถึงวันที่ 14    กันยายน 2554] : เข้าถึงได้จาก http://www.finerminds.com/meditation/meditate-enhance-life-and-mind/
7. เคล็ดลับของการเพิ่มพลังปัญญาด้วยตนเอง.[ออนไลน์].[อ้างถึงวันที่ 23 กันยายน 2554] :   เข้าถึงได้จาก http://www.vcharkarn.com/vcafe/109978



Leave a Comment