การเพาะเลี้ยงปลาไหลนา ลักษณะทั่วไปปลาไหลนา การเพาะพันธุ์ปลาไหลนา การอนุบาลลูกปลาไหล

ปลาไหลนา หรือปลาไหลบึง จัดเป็นปลาอยู่ในวงศ์ Synbranchiformes ครอบครัว Synbranchidae  ซึ่งปลาในครอบครัวนี้ มีอยู่ 3 ชนิด คือ

  1. ปลาไหลนา Monopterus albus, Zuiew (1973) ชื่อสามัญ Swamp Eel, Asian Swamp Eel ลำตัวด้านหลังมีสีน้ำตาล ท้องมีสีเหลืองทอง มีขนาดยาวที่สุดถึง 1.01 เมตร  พบทั่วทุกภาคของประเทศ มีกระดูกเหงือก 3 คู่
  2. ปลาหลาด Ophisternon bengalense, Mcclelland (1845) มีชื่อสามัญ Bengal Eel ลำตัวมีขนาดเล็กยาวประมาณ 30 เซนติเมตร ลำตัวมีสีเหลือง หางจะเป็นรูปใบพาย พบทางภาคกลางของประเทศ และอ่าวเบงกอล มีกระดูกเหงือก 4 คู่
  3. ปลาหล่อย Macrotema caligans, Cantor (1849) ลำตัวมีสีเหลือง ขนาดเล็กที่สุดยาวประมาณ 17 – 20 เซนติเมตร หางเป็นรูปใบพาย พบทางภาคใต้บริเวณทะเลสาปลำปำ จังหวัดพัทลุง กระดูกเหงือกมี 4 คู่

ลักษณะทั่วไป

ปลาไหลนา สามารถเจริญเติบโตได้ดีใน แหล่งน้ำทั่วไป สามารถทนทานต่อสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนไป และสามารถใช้ลำไส้ส่วนท้าย (hindgut) เป็นเครื่องช่วยในการหายใจ ฤดูแล้งจะขุดรูอยู่อาศัยลึก 1 – 1.5 เมตร ออกหากินในเวลากลางคืน เป็นปลาที่สามารถ เปลี่ยนเพศได้ (hermphrodite) โดยช่วงแรกจะเป็นเพศเมีย และจะกลายเป็นเพศผู้เมื่อโตขึ้น ด้านน้ำหนักเพศเมียจะมีน้ำหนักตั้งแต่ 100 –  300 กรัม เพศผู้มีน้ำหนักมากกว่า 400 กรัม จัดเป็นพวกปลากินเนื้อ (carnivorous) กินอาหารที่มีสภาพสดจนถึงเน่าเปื่อย ตัวหนอน ตัวอ่อนแมลง หอย ไส้เดือน และสัตว์หน้าดินต่าง ๆ (benthos) มีนิสัยรวมกลุ่มกันกินอาหาร

การเพาะพันธุ์ปลาไหลนา 

1.การแยกเพศ สามารถแยกได้ดังนี้

1.1 เพศผู้ ความยาวมากกว่า 60 เซนติเมตร น้ำหนักมากกว่า 400 กรัม ท้องไม่อูม ตัวยาวเรียว ช่องเพศสีขาวซีด ไม่บวม  ลำตัวสีเหลืองคล้ำ

1.2 เพศเมีย  ความยาว 29 – 50 เซนติเมตร น้ำหนัก ต่ำกว่า 300 กรัม ท้องอูมเป่ง ตัวอ้วน ท้องป่อง ช่องเพศ สีแดงเรื่อบวม (ช่วงผสมพันธุ์) ลำตัวสีเหลืองเปล่งปลั่ง

2.ฤดูวางไข่ปลาไหลนา สามารถเพาะพันธุ์ได้ตั้งแต่เดือนมีนาคมถึงเดือนกันยายน และมีความสมบูรณ์สูงสุด ในเดือนสิงหาคม ปริมาณความดกของไข่ปลาไหลขึ้นอยู่กับขนาดน้ำหนักและความยาว คือ  

                                      ความยาว                               ปริมาณไข่

                              20 – 30 เซนติเมตร              300 – 400 ฟอง

                              40 – 50 เซนติเมตร              400 – 500 ฟอง 

                              มากกว่า 50 เซนติเมตร             1,000   ฟอง

3.การพัฒนาของไข่ ปลาไหลนาจะมีไข่เพียง 1 ฝัก ไข่ปลาไหลนาเป็นลักษณะไข่จมไม่ติดวัสดุ เมื่อสัมผัส จะมีความยืดหยุ่นมาก มีลักษณะสีเหลืองสดใส ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 0.3 เซนติเมตร ไข่ได้รับการผสมมีลักษณะกลม สีเหลืองทอง ส่วนไข่ที่ไม่ได้รับการผสมจะมีสีขาวใส ไข่จะใช้เวลาในการฟักประมาณ 3 วัน ลูกปลาเมื่อฟักออกใหม่ ๆ มีความยาว 2.5 เซนติเมตร มีถุงไข่แดง 2 ใน 3 ส่วน และมีครีบหู อายุ 5 – 6 วัน ถุงไข่แดงยุบพร้อมครีบหูหายไป และเริ่มกินอาหารได้ อัตราการฟัก 70 – 80 เปอร์เซ็นต์



4.นิสัยการกินอาหารของปลาไหล

ปลาไหลนาขนาด 2.5 – 3.0 เซนติเมตร กินสิ่งมีชีวิตเล็ก ๆ คือ ไรแดง วันละ 2 ครั้ง ขนาดความยาว 5 เซนติเมตร เริ่มฝึกให้กินอาหารผงสำเร็จรูปร่วมกับหนอนแดงจนอายุได้ 6 สัปดาห์  ปลาจะมีขนาด 8 – 10 เซนติเมตร เริ่มให้ปลาสดบดวันละ 2 ครั้ง  และสามารถนำไปเลี้ยงเป็นปลาใหญ่ต่อไป 

5.การเพาะขยายพันธุ์ โดยปกติสามารถทำได้โดยวิธีเลียนแบบธรรมชาติ

การเพาะพันธุ์โดยวิธีเลียนแบบธรรมชาติควรทำ ในบ่อซีเมนต์ขนาด 5 x 10 x 1 เมตร ใส่ดินเหนียวหนา 30 เซนติเมตร ให้ดินสูงด้านใดด้านหนึ่งใส่พ่อแม่ตารางเมตรละ 4 ตัว ใส่น้ำสูงประมาณ 40 เซนติเมตร ปลูกพรรณไม้น้ำ เพื่อให้คล้ายกับธรรมชาติมากที่สุด ให้ปลาสดสับผสม น้ำมันตับปลากินวันละ 1 มื้อ ๆ ละ 3 เปอร์เซ็นต์ต่อน้ำหนักตัว ให้กินตอนเย็น ถ่ายเทน้ำสัปดาห์ละ 1 ครั้ง  ปลาจะต้องใช้เวลาปรับตัว 2 – 4 เดือน

เมื่อปลาเพศผู้พร้อม จะสร้างหวอดไข่สีขาวมีช่องว่าง อยู่ตรงกลาง คล้ายกับขนมโดนัท ปลาจะเริ่มผสมพันธุ์ วางไข่ในตอนใกล้รุ่ง หลังจากก่อหวอด 7 – 10 วัน ก็รวบรวมลูกพันธุ์ขึ้นมาอนุบาลต่อไป

ส่วนการเพาะพันธุ์โดยวิธีฉีดฮอร์โมนผสมเทียม ได้มีผู้ทำการทดลองฉีดฮอร์โมน Suprefect + Motilium ในระดับต่าง ๆ กัน ปรากฎว่าปลาไม่มีการวางไข่แต่อย่างใด

6.การอนุบาลลูกปลาวัยอ่อน แบ่งได้เป็น 2 ระยะ

6.1 อนุบาลลูกปลาวัยอ่อน ขนาด 5 เซนติเมตร ทำได้คือ นำลูกปลาวัยอ่อนอายุ 7 – 10 วัน  ที่ฟักออกเป็นตัวไปอนุบาลในกะละมังพลาสติกกลมปล่อยอัตราความหนาแน่น 350 ตัว/ตารางเมตร ใส่น้ำลึก 15 เซนติเมตร ใส่ต้นผักตบชวาหรือจอก เพื่อให้ลูกปลาเกาะ ควรมีการถ่ายเทน้ำ 2 – 3 วัน/ครั้ง อาหารใช้ไรแดงให้กินวันละ 2 ครั้ง เช้าและเย็นพร้อมฝึกให้กินอาหารสมทบ โดยฝึกให้กินอาหารผงสำเร็จรูป (Powder feed) โดยปั้นเป็นก้อน ๆ ใช้ระยะเวลา 2 สัปดาห์ ควรมีการคัดขนาดเพื่อช่วยลดการกินกันเอง



6.2 การอนุบาลลูกปลาไหลนา จากขนาด 5 ซ.ม. – 10 ซ.ม. เมื่ออนุบาลปลาจนได้ขนาด 5 เซนติเมตร ปลาจะมีขนาดปากที่กว้างขึ้น ลดไรแดง และให้อาหารสมทบวันละ 2 มื้อ เช้า-เย็น โดยปั้นเป็นก้อนเล็ก ๆ ปรับปริมาณอาหารที่ให้ทุกสัปดาห์ เพื่อให้เพียงพอกับจำนวนลูกปลา นอกจากนี้อาจผสมน้ำมันปลาหมึก เพื่อช่วยดึงดูดลูกปลาให้กินอาหารได้ดีขึ้นและควรมีวัตถุที่หลบซ่อน โดยใช้ท่อพีวีซีหรือท่อพลาสติก โดยตัดเป็นท่อนยาวประมาณ 20 เซนติเมตร บ่อละ 3 – 5 ท่อน เนื่องจาก ลูกปลาค่อนข้างตกใจง่าย  เมื่อมีเสียงดัง ๆ หลังจากเลี้ยงลูกปลาไหลประมาณ 6 สัปดาห์ ก็จะได้ปลาขนาด 10 เซนติเมตร มีน้ำหนักประมาณ 1 – 2 กรัม สามารถแยกลงบ่อเลี้ยงต่อไป

7. การเลี้ยงปลาขนาดตลาด การเลี้ยงปลาไหลนาให้ได้ขนาดตามที่ตลาดต้องการนั้น สามารถเลี้ยงได้ในบ่อซีเมนต์และท่อซีเมนต์กลมโดยมีวิธีการ คือ

7.1 แบบเลียนแบบธรรมชาติ โดย

1) ใส่ฟางข้าวหนาประมาณ 30 เซนติเมตร

2) ดินทับหนา 10 เซนติเมตร

3) น้ำสูงกว่าผิวดิน 10 เซนติเมตร หมักฟางข้าวไว้ 1-2 สัปดาห์ หากมีการเน่าควรมีการถ่ายน้ำทิ้งบ้างแล้ว เติมน้ำใหม่ลงไป เพื่อให้เกิดไรแดง หนอนแดง แล้วจึงนำปลาขนาดน้ำหนักตัวประมาณ 30 -40 ตัว/กิโลกรัม ลงปล่อยในอัตราความหนาแน่น 30-40 ตัว/ตารางเมตร หากเป็นท่อซีเมนต์กลมขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 1.0 เมตร ใส่ประมาณ 100 ตัว โดยคัดขนาดปลาขนาดเท่า ๆ กันก่อน

4) เติมฟางข้าวทุกเดือน ๆ ละ 1 ครั้ง

5) ให้อาหารสมทบวันละ 2 – 3 เปอร์เซ็นต์ ปั้นเป็นก้อนวันละมื้อในช่วงเย็นเลี้ยงประมาณ 6-8 เดือน จะได้น้ำหนักปลาขนาดตัวละ 200 กรัม ให้ผลผลิต 20 – 30 กิโลกรัม/ตารางเมตร อัตราการรอดตาย 70-80 เปอร์เซ็นต์ อัตราการแลกเนื้อ (FCR) เท่ากับ 1:4.5

7.2  แบบพัฒนา (Intensive) โดยสามารถเลี้ยงในบ่อซีเมนต์ ขนาดตั้งแต่ 10–50 ตารางเมตร โดยปล่อยลูกปลาไหลขนาด 10 กรัม ในอัตราส่วน 150-200 ตัว/ตารางเมตร มีการถ่ายเทน้ำได้สะดวก มีการให้ออกซิเจนตลอดเวลา รวมทั้งจัดที่หลบซ่อนให้ปลาไหล ส่วนอาหารใช้ปลาเป็ดสดหรือปลาข้างเหลืองผ่าแยกออกเป็นสองซีกคลุกเคล้ากับน้ำมันปลาหมึกวางให้ลูกปลาไหลกินเป็นจุด ๆ โดยใช้เวลาเลี้ยงประมาณ 6-7 เดือน

ข้อควรระวังในการเลี้ยงปลาไหลนา

1. การรวบรวมพันธุ์ปลาจากธรรมชาติ เข้ามาเลี้ยงควรระมัดระวังในเรื่องการลำเลียง ไม่ควรให้หนาแน่นมากเกินไปปลาจะบอบช้ำได้
2. ควรคัดปลาขนาดเดียวกันลงเลี้ยงรวมกันเพื่อลดปัญหาการกินเองโดยเฉพาะในปลาอายุต่ำกว่า 2 เดือน
3. พื้นบ่ออนุบาลควรฉาบผิวให้เรียบป้องกันปลาเป็นแผลถลอกได้
4. ฟางข้าวที่ใช้เพื่อการเลี้ยงควรเป็นฟางข้าวที่แห้ง
5. บ่อควรมีร่มเงาบังแสงแดดบ้าง

ที่มา : http://www.fisheries.go.th/if-pattani/fluta.htm
ภาพประกอบจาก :
1. http://liketopic.com/การเพาะเลี้ยงปลาไหลนา
2. http://www.fisheries.go.th/if-pattani/fluta.htm



Leave a Comment