ปราสาทในจังหวัดสุรินทร์ : ปราสาทศีขรภูมิ [เที่ยวสุรินทร์ เที่ยวศีขรภูมิ เที่ยวปราสาทศีขรภูมิ]

ปราสาทศีขรภูมิ  [Prasat Srikraphumi]
ขึ้นทะเบียนและประกาศในราชกิจจานุเบกษา ::  เล่มที่ 98 ตอนที่ 104 เมื่อ 30 มิถุนายน  2524
ชื่ออื่นๆ :              ปราสาทระแงง
ที่อยู่ :                   บ้านปราสาท ตำบลระแงง อำเภอศีขรภูมิ จังหวัดสุรินทร์
ละติจูด :               14.94447 องศาเหนือ
ลองจิจูด :             103.79838 องศาตะวันออก
ประเภท :              ปราสาทอิฐ
อายุ :                    พุทธศตวรรษที่ 16-17 (บาปวน)
วัตถุประสงค์ :     เทวสถาน
ทิศทางการวางตัว : 3.9 องศาตะวันตก (อ้างอิงจากบทความวิจัยของศักดิ์อนันต์   อนันตสุข)
หมายเหตุ : พิกัดภูมิศาสตร์ ใช้ข้อมูลจากภาพถ่ายดาวเทียม จาก www.pointasia.com

                ลักษณะตัวปราสาทตั้งอยู่บนเนินดิน ประกอบด้วยปราสาทอิฐจำนวน 5 หลัง ตั้งอยู่บนฐานศิลาแลงเดียวกัน มีคูน้ำรูปตัวยู หันไปทางด้านทิศตะวันออกซึ่งเป็นทางเข้า มีบันได้ขึ้นลงทำด้วยฐานศิลาแลง ปราสาทประธานตั้งอยู่ตรงกลาง มีปราสาทขนาดเล็กอยู่ประจำทั้ง 4 มุม ปราสาททุกหลังมีประตูเข้าอยู่ทางทิศตะวันออก ลักษณะการก่อสร้างและรูปแบบสถาปัตยกรรมเหมือนกันทุกหลัง คือ ไม่มีมุขด้านหน้า ทับหลังและเสาประดับกรอบประตูเป็นหินทราย หน้าบันเป็นอิฐประดับลวดลายปูนปั้น ทับหลังของปรางค์ประธานตรงกลาง จำหลักเป็นรูปศิวนาฏราชยืนอยู่บนแท่น มีหงส์แบก 3 ตัว สองข้างประตูทางเข้าสลักเป็นรูปนางอัปสรยืนถือดอกบัว ส่วนปราสาทบริวารนั้นพบทับหลัง 2 แผ่น เป็นเรื่องกฤษณาวตาร แผ่นหนึ่งเป็นภาพพระกฤษณะประลองกำลังกับช้างและคชสีห์ อีกชิ้นหนึ่งเป็นภาพพระกฤษณะประลองกำลังกับคชสีห์ ซึ่งทับหลังที่พบ ณ ปราสาทแห่งนี้มีลักษณะสมบูรณ์มากและเป็นประติมากรรมที่มีค่ายิ่งของ จ.สุรินทร์ รอบ ๆ บริเวณมีสระน้ำ 3 สระ ลวดลายบนทับหลังและเสาประดับ มีลักษณะใกล้เคียงกับศิลปะขอมแบบบาปวนและแบบนครวัด อายุราวพุทธศตวรรษที่ 17 จึงสันนิษฐานว่าปราสาทหลังนี้คงสร้างขึ้นในสมัยดังกล่าว และเดิมคงสร้างเป็นศาสนสถานในศาสนาฮินดูลัทธิไศวนิกาย ต่อมาได้ถูกดัดแปลงให้เป็นศาสนสถานในพุทธศาสนา (ประมาณพุทธศตวรรษที่ 22-23) เนื่องจากพบศิลาจารึกอักษรธรรมอีสาน ภาษาไทย-บาลี ที่ผนังประตูปราสาทบริวารหลังตะวันตก เล่าถึงการบูรณะปราสาทแห่งนี้ (คณะกรรมการฝ่ายประมวลเอกสารและจดหมายเหตุ, 2544 : หน้า 52-53)

โครงการ 54090178 :: การศึกษาและพัฒนากระบวนการตัดสินใจของนักเรียนจากการจัดการเรียนรู้ตามทฤษฎีการเรียนรู้เชิงสังคมวัฒนธรรม เรื่อง ปราสาท ในมิติวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ ดำเนินการโดย นายศักดิ์อนันต์   อนันตสุข ภายใต้การสนับสนุนของ สำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน (สสค.) :: www.QLF.or.th



Leave a Comment