การตัดสินใจของนักเรียน : ประเทศไทย ควรสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์หรือไม่

สถานการณ์ในสังคม : ตามแผนพัฒนาผลิตกำลังไฟฟ้า 2007 (Power Development Plan : PDP 2550-2564) จะมีการดำเนินการสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ในประเทศไทย ช่วงปี พ.ศ. 2563-2564 จำนวน 2 โรง ซึ่งมีกำหนดการดังนี้
– ปี พ.ศ. 2550 เตรียมการขั้นต้น
– ปี พ.ศ. 2551-2553 เตรียมเริ่มโครงการ เสนอรัฐบาลเพื่ออนุมัติโครงการ (ปัจจุบันอยู่ขั้นนี้…ล่าสุดรัฐบาลเลื่อนการตัดสินใจไปปี 2554)
– ปี พ.ศ. 2554-2556 ดำเนินการโครงการโรงไฟฟ้านิวเคลียร์
– ปี พ.ศ. 2557-2562 ก่อสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์
– ปี พ.ศ. 2563-2564 เดินเครื่องโรงไฟฟ้านิวเคลียร์

นักเรียนคิดว่าประเทศไทย ควรสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ หรือไม่ อย่างไร ช่วยให้ความเห็นด้วยครับ

ผลการตัดสินใจของนักเรียน

ผลการตัดสินใจของนักเรียน กลุ่มที่ 1 เห็นว่า ควรสร้าง
เหตุผล : การสร้างอะไรก็ตามย่อมมีทั้งข้อดีและข้อเสีย แต่คนที่สร้างก็ต้องศึกษารายละเอียดที่จะสร้างมาอย่างดี เพราะโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ มีข้อดี ดังนี้
1. ไม่ทำให้เกิดภาวะโลกร้อน
2. มีต้นทุน(ราคาค่าไฟฟ้า)จากการผลิตต่ำ
3. มีไฟฟ้าใช้อย่างเพียงพอ
4. ประหยัดค่าไฟ
5. สามารถส่งไฟฟ้าไปยังประเทศเพื่อนบ้านได้ ทำให้เศรษฐกิจไทยดีขึ้น

ผลการตัดสินใจของนักเรียน กลุ่มที่ 2 เห็นว่า ควรสร้าง
เหตุผล : จากการอ่านเนื้อหาจากใบความรู้และจากการเรียนฟิสิกส์นิวเคลียร์ เรื่องโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ทำให้เราเข้าใจมากขึ้น โรงไฟฟ้านิวเคลียร์มีความปลอดภัยสูง (อาคารคลุมเครื่องปฏิกรณ์) มีระบบป้องกันอันตรายที่มีมาตรฐานถึง 5 ชั้น ชั้นนอกสุดเป็นผนังคอนกรีตหนา 3 เมตร เราจะได้มีแหล่งพลังงานขนาดใหญ่มาใช้ ส่วนพลังงานทดแทนอย่างอื่น เช่น พลังงานจากลม หรือพลังงานจากดวงอาทิตย์ มีข้อจำกัดคือ ผลิตได้ไม่ต่อเนื่อง เพราะไม่ได้มีลมทุกวัน ในหน้าหนาว การจะผลิตไฟฟ้าจากดวงอาทิตย์ก็เป็นอุปสรรค ขณะที่ความต้องการของคนมีทุกวัน  เราจึงเห็นว่าควรสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์

ผลการตัดสินใจของนักเรียน กลุ่มที่ 3 เห็นว่า ควรสร้าง
เหตุผล : โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ จะช่วยผลิตกระแสไฟฟ้า ประชาชนจะได้มีไฟฟ้าไว้ใช้สำรองในยามจำเป็น และประเทศจะได้มีความเจริญในด้านต่างๆ มากขึ้น และยังสามารถส่งต่อไปยังประเทศเพื่อนบ้านได้ เช่นลาวและเขมร แต่กลุ่มเราคิดว่า อาจส่งไปเขมรได้ เพราะประเทศเขากำลังจะขุดเจาะบ่อน้ำมัน ทำให้ประเทศต้องใช้ไฟฟ้าจำนวนมาก เราคิดว่าสามารถแลกเปลี่ยนไฟฟ้าจากประเทศเรากับน้ำมันกับประเทศของเขาได้

ผลการตัดสินใจของนักเรียน กลุ่มที่ 4 เห็นว่า ไม่ควรสร้าง
เหตุผล : ถ้ามีการสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ทรัพยากรธรรมชาติจะเกิดการสูญเสียมาก และประชาชนจะมีความเสี่ยงที่จะได้รับกัมมันตภาพรังสี หรือสารพิษต่างๆ เข้าสู่ร่างกายได้ เราไม่มั่นใจ

ผลการตัดสินใจของนักเรียน กลุ่มที่ 5 เห็นว่า ไม่ควรสร้าง
เหตุผล : ประชาชนในพื้นที่ที่จะก่อสร้างไม่ยอมให้สร้าง และประเทศไทย ปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตยจะต้องยอมรับฟังเสียงส่วนใหญ่ของประชาชน รวมถึงผลกระทบที่จะตามมาเมื่อเกิดอุบัติเหตุทางนิวเคลียร์ขึ้น จะเกิดเหตุการณ์ที่ร้ายแรงอย่างคาดไม่ถึง และประเทศไทยยังขาดบุคลากรหรือผู้เชี่ยวชาญที่เป็นคนไทยอีกมาก ถ้าจะสร้างต้องจัดหาบุคลากรจากต่างประเทศและประเทศที่สร้างไปแล้ว จะต้องเสียค่าใช้จ่ายในการจัดจ้างคนไปจำนวนมาก

ผลการตัดสินใจของนักเรียน กลุ่มที่ 6 เห็นว่า ควรสร้าง
เหตุผล : ประเทศไทยจะได้มีความเจริญก้าวหน้าเหมือนประเทศอื่นบ้าง และสามารถนำไฟฟ้าไปใช้ในประเทศของเรา จึงอยากให้มีโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ขึ้นในประเทศของเรา และคิดว่าถ้าเรามีโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ จะทำให้เราเป็นผู้นำทางด้านนิวเคลียร์ในอาเซียนได้ ในประวัติศาสตร์ของไทยช่วงรัชกาลที่ 4 โลกตะวันตกเขาบูมกันเรื่อง ดาราศาสตร์ พอรัชกาลที่ 4 ได้คำนวณการเกิดสุริยุปราคาได้ เขาก็ให้เกียรติและเกรงใจว่าไทยเป็นประเทศที่เจริญ จึงเห็นว่าในยุคนี้ ถ้าไทยมีโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ จะต้องมีคนเก่งด้านนี้และมีนักวิทยาศาสตร์ด้านนี้จำนวนมาก การมีนักวิทยาศาสตร์มาก ประเทศของเราก็จะได้เจริญขึ้นมากๆๆๆ 



2 Comments

  1. admin says:

    นักวิชาการที่สนับสนุนโรงไฟฟ้านิวเคลียร์
    ดร. กอปร กฤตยากีรณ
    ประธานกรรมการเพื่อเตรียมการ ศึกษาความเหมาะสม
    การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานนิวเคลียร์

    * ไทยจำเป็นต้องใช้พลังงานนิวเคลียร์เพื่อฝ่าวิกฤตพลังงาน แผน PDP 2007 มีที่มาที่สมเหตุสมผล และเกิดจากการมองการณ์ไกลในการเตรียมตัวใช้พลังงานนิวเคลียร์

    * การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานนิวเคลียร์มีต้นทุนถูก ในขณะที่พลังงานหมุนเวียนอื่นๆ มีต้นทุนสูงและไม่มีศักยภาพพอจะทดแทนพลังงานจากฟอสซิลได้ดีเท่าพลังงาน นิวเคลียร์

    * การใช้พลังงานนิวเคลียร์มีส่วนช่วยลดภาวะโลกร้อน

    * เทคโนโลยีนิวเคลียร์แม้ไม่ปลอดภัย ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ แต่ก็เป็นเทคโนโลยีการผลิตไฟฟ้าที่ปลอดภัยที่สุด

    * การมีโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ไม่ได้นำไปสู่การครอบครองอาวุธนิวเคลียร์หรือสร้าง พื้นที่ล่อแหลม และขณะนี้ทั่วโลกกำลังมุ่งสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์เพื่อแก้วิกฤตพลังงาน

    “ขณะนี้ไทยใช้ก๊าซ ธรรมชาติผลิตไฟฟ้าประมาณร้อยละ ๗๐ ถือว่ามีความเสี่ยงสูง อีกทั้งปริมาณ
    พลังงานสำรองมีไม่มาก อีก ๒๕-๓๐ ปีก็จะหมด น้ำมันก็มีราคาแพง ก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยก็ควรสงวนไว้สำหรับอุตสาหกรรมปิโตรเคมี พลาสติก สี ยารักษาโรคที่มีความจำเป็นมากกว่า แผน PDP 2007 จึงพยายามกระจายความเสี่ยงด้วยการใช้พลังงานจากหลายแหล่ง โดยพลังงาน นิวเคลียร์ถือเป็นอีกทางเลือกหนึ่ง ถ้ามองว่าในอนาคตมีโอกาสต้องสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ เราก็ต้องเริ่มเตรียมตัวกันแต่เนิ่นๆ เพราะถ้าตัดสินใจแล้ว อีก ๑๓-๑๕ ปีถึงได้ใช้ ตอนนี้คณะกรรมการฯ กำลังจัดทำแผนว่าจะต้องเตรียมโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ อาทิ ระบบกฎหมาย ระบบกำกับ ระบบเทคโนโลยี ระบบเตรียมกำลังคน หลักเกณฑ์การคัดเลือกที่ตั้ง เทคโนโลยี ผู้รับเหมา

    “ผมเข้ามาเป็นกรรมการฯ ตั้งแต่เดือนเมษายน ๒๕๕๐ ทางคณะกรรมการฯ ได้มีการนำข้อมูลจากทบวงการพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ (IAEA) ที่ดูแลมาตรฐานของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ทั่วโลกมาปรับใช้ ผมเสนอหลักการว่าจะเปิดเผยข้อมูลต่อสาธารณะอย่างมีหลักวิชาการ ไม่ใช่พูดจากอารมณ์ความรู้สึกที่พิสูจน์ไม่ได้ กรณีที่มีโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ปรากฏอยู่ทั้ง ๙ ทางเลือกในแผน PDP 2007 สะท้อนให้เห็นว่าระดับนโยบายมองว่าเราต้องคิดเรื่องพลังงานนิวเคลียร์แล้ว แผน PDP 2007 มีสถานะเป็นแผนทางเลือกที่ยืดหยุ่นได้ ไม่ได้บังคับว่า ๑๕ ปีต่อจากนี้ขยับไปใช้พลังงานอื่นไม่ได้เลย ทุกอย่างยังเปลี่ยนแปลงได้ตามสถานการณ์

    “พลังงาน ทางเลือกอื่นๆ อย่างก๊าซชีวมวล พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม ก็ยังต้องพัฒนาต่อไป พลังงานเหล่านี้บางชนิดก็ยังปล่อยมลพิษอยู่ พลังงานลมกับแสงอาทิตย์ไม่ปล่อยมลพิษก็จริง แต่มีปัญหาคือผลิตไฟฟ้าได้น้อย ไม่ถึง ๑๐๐ เมกะวัตต์ด้วยซ้ำ ตามการคาดคะเนในอีก ๑๕ ปีข้างหน้า ไทยต้องใช้ไฟฟ้าเพิ่มปีละประมาณ ๔,๐๐๐ เมกะวัตต์ เทคโนโลยีพลังงานลมและแสงอาทิตย์ขณะนี้รองรับไม่ทันและมีต้นทุนสูง แม้จะมุ่งใช้พลังงานนิวเคลียร์เราก็ยังทิ้งการพัฒนาพลังงานพวกนี้ไม่ได้ และยังจะต้องเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานและการหาแหล่งพลังงานอื่นๆ ทดแทนไปด้วย หากเราตั้งโจทย์ว่าถ้าขยับสัดส่วนพลังงานนิวเคลียร์เป็นศูนย์แล้ว ในปี ๒๕๖๓ ไทยต้องการใช้พลังงานไฟฟ้ามากตามที่ประมาณการจริง จะหาไฟฟ้าจากไหนมาแทน ก๊าซธรรมชาติตอนนี้ก็ดึงมาใช้เต็มอัตราแล้ว จะซื้อถ่านหินหรือน้ำมันก็แพง ซื้อก๊าซธรรมชาติจากต่างประเทศในอนาคตก็อาจต้องจ่ายค่าปล่อยก๊าซคาร์บอน ไดออกไซด์ (Carbon Emission) และยังมีคำถามว่าพอกับความต้องการหรือไม่ ผู้ที่ต้องรับผิดชอบจ่ายไฟให้คนทั้งประเทศใช้ต้องหาคำตอบให้ได้ว่ามีการ เตรียมความพร้อมเรื่องพลังงานในอนาคตไว้อย่างไร

    “ราคาพลังงานนิวเคลียร์ ขึ้นลงไม่หวือหวาเหมือนราคาน้ำมัน มันอาจจะไม่ได้ทำให้ค่าไฟฟ้าถูก แต่จะช่วยให้ราคาพลังงานมีเสถียรภาพและเพิ่มสูงช้าลงในระยะยาว ส่วนราคาน้ำมันจาก ๒๕ ดอลลาร์สหรัฐเมื่อ ๔ ปีก่อน ขณะนี้ขึ้นไปถึง ๙๐ ดอลลาร์แล้ว ในขณะที่ราคายูเรเนียมค่อนข้างคงที่เพราะแร่ยูเรเนียมกระจายอยู่ในหลายทวีป เช่น ออสเตรเลีย แคนาดา เอเชีย แอฟริกาใต้ ไม่เหมือนน้ำมันที่กระจุกอยู่ในตะวันออกกลาง และขณะนี้การสำรวจแร่ยูเรเนียมหยุดไปหลายปี หากสำรวจใหม่ก็น่าจะมีโอกาสเจอแหล่งแร่ยูเรเนียมใหม่ๆ ที่จะทำให้ราคาลดลง ราคาเชื้อเพลิงที่คงที่เช่นนี้ยังมีผลทำให้ความสามารถในการแข่งขันทาง เศรษฐกิจของไทยดีด้วย

    “ตามหลักวิชาการคำนวณต้น ทุนของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์คิดจาก ๓ ส่วนหลักคือ ค่าก่อสร้าง ค่าเชื้อเพลิง และค่าดำเนินการ ที่เพิ่มเติมมาระยะหลังคือค่าปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ตามการคำนวณขององค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD) ในปี ๒๕๔๘ เมื่อรวมค่าปล่อยคาร์บอน โรงไฟฟ้านิวเคลียร์เดินเครื่อง ๘,๐๐๐ ชั่วโมง/ปี ต้นทุนการผลิตไฟฟ้าจะอยู่ที่ ๒๓.๗ ยูโร/กิโลวัตต์-ชม. ขณะที่ก๊าซธรรมชาติอยู่ที่ ๓๙.๒ ยูโร/กิโลวัตต์-ชม. ฟืนและถ่านหิน ๔๔.๓ ยูโร/กิโลวัตต์-ชม. พลังงานลม ๕๐.๑ ยูโร/กิโลวัตต์-ชม. จะเห็นว่าพลังงานนิวเคลียร์มีต้นทุนไม่ถึงครึ่งของพลังงานชนิดอื่น ค่าดำเนินการเมื่อเทียบกับโรงไฟฟ้าแบบอื่นก็ยังได้เปรียบ ในเรื่องการซ่อมบำรุงที่มีไม่บ่อยครั้งทำให้อัตราการทำงานอยู่ที่ร้อยละ ๘๐ ยิ่งโรงไฟฟ้านิวเคลียร์รุ่นใหม่จะมีอัตราทำงานเฉลี่ยสูงถึงร้อยละ ๙๐ ในขณะที่โรงไฟฟ้าแบบอื่นอัตราการทำงานจะอยู่ที่ร้อยละ ๗๐

    “ตอนนี้คณะกรรมการฯ ยังไม่ได้เลือกว่าจะใช้เทคโนโลยีแบบใด ผู้รับเหมาจากประเทศไหน สร้างกี่แห่ง เพียงแต่เอาตัวเลขทางทฤษฎีมาดู ที่ปรากฏในหนังสือพิมพ์ว่าจะสร้าง ๔ แห่ง ราคาแห่งละ ๕ หมื่นล้านบาท ใช้งบประมาณทั้งสิ้น ๒ แสนล้านบาท เป็นตัวเลขกลางๆ ความจริงการประมาณการของ IAEA มีว่าค่าก่อสร้างจะอยู่ระหว่าง ๓๕,๐๐๐-๖๐,๐๐๐ ล้านบาทต่อ ๑,๐๐๐ เมกะวัตต์ ถ้าสร้าง ๔ แห่งพร้อมกันต้นทุนจะถูกกว่านี้ ส่วนค่าไฟฟ้า ๒.๐๘ บาทต่อหน่วยนั้นคำนวณจากสมมุติฐานแบบหนึ่ง ซึ่งเมื่อมีการตัดสินใจแน่นอนจริงๆ คงต้องคำนวณตัวเลขที่ใกล้เคียงกว่านี้ แต่ในหลักการตัวเลข ๒.๐๘ บาทต่อหน่วย ก็เพื่อเทียบให้เห็นว่าราคาใกล้เคียงกับไฟฟ้าพลังน้ำและถ่านหิน ไฟฟ้าพลังน้ำนี้ไทยคงไม่มีโอกาสสร้างอีกเพราะไม่มีที่ให้สร้างแล้ว เขื่อนแก่งเสือเต้นถ้าได้สร้างจริงก็ได้แค่โรงไฟฟ้าเล็กๆ จะสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินก็ถูกต่อต้าน ส่วนกรณีค่าใช้จ่ายการปลดโรงไฟฟ้า โรงไฟฟ้าทุกแบบต้องทำทั้งนั้น เพียงแต่โรงไฟฟ้านิวเคลียร์มีขั้นตอนที่เข้มงวดเพราะต้องจัดการกากเชื้อเพลิง ซึ่งก็มีวิธีเก็บกากเชื้อเพลิงที่ไม่ส่งผลต่อต้นทุนมากมาย ส่วนการแปรผันของปัจจัยต่างๆ ที่อาจส่งผลต่อต้นทุนนั้นก็ขึ้นกับว่าเราจะใช้สมมุติฐานแบบไหน การเริ่มสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์แห่งแรกก็ต้องลงทุนมากเป็นธรรมดาเพราะเป็น เทคโนโลยีใหม่ที่ต้องลงทุนสร้างโครงสร้างพื้นฐาน เช่น ระบบกฎหมาย ระบบกำกับ และกำลังคนขึ้นใหม่ การใช้พลังงานนิวเคลียร์เป็นการเข้าสู่เส้นทางใหม่ที่ยาวไกลและเลี้ยวกลับ ไม่ได้ง่ายๆ เมื่อเริ่มลงทุนไปแล้ว แต่ถ้าเดินหน้าสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์เพิ่ม มูลค่าการลงทุนต่อหน่วยจะลดลง มีคำกล่าวว่าสร้างโรงไฟฟ้าโรงหนึ่งใช้เทคโนโลยีแบบเดียวกัน เตาแรกมีต้นทุนที่ ๑ เตาที่ ๒ ที่ ๓ ที่ ๔ จะมีต้นทุนต่ำกว่า เช่น ๐.๘ หรือ ๐.๕ ถ้าลองแปรแผน PDP 2007 เป็นภาคปฏิบัติ เราก็อาจสร้างเตาปฏิกรณ์ประมาณ ๔ ตัวเพื่อให้ต้นทุนถูกกว่าสร้างเตาปฏิกรณ์เพียงเตาเดียว

    “ขณะนี้หลักฐานทางวิทยา ศาสตร์ชัดเจนแล้ว ภาวะโลกร้อนเกิดขึ้นจริง และมีต้นเหตุมาจากก๊าซเรือนกระจก ดังนั้นต้องลดการปล่อยก๊าซนี้ ในอีก ๔ ปีข้างหน้าพิธีสารเกียวโตจะหมดอายุ และน่าจะมีข้อตกลงระหว่างประเทศตัวใหม่ที่เข้มงวดกว่าเดิมออกมาบังคับใช้ ถ้าไทยยังใช้ถ่านหินและก๊าซธรรมชาติผลิตไฟฟ้า ก็อาจถูกกำหนดให้มีกระบวนการลดการปล่อยก๊าซ ทำให้ต้นทุนการผลิตไฟฟ้าเพิ่มขึ้นอีก นิวเคลียร์เป็นหนึ่งในพลังงานไม่กี่ชนิดที่ไม่ปล่อยก๊าซเรือนกระจก แม้ขั้นตอนต่างๆ ในการก่อสร้างโรงไฟฟ้าจะมีการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ออกมาบ้าง แต่อยู่ในระดับพอๆ กับการสร้างโรงไฟฟ้าแบบอื่น ตอนนี้ยังมีข้อมูลว่าทั่วโลกหันมาใช้พลังงานนิวเคลียร์มากขึ้น ข้อมูลจาก Uranium Information Centre (UIC) เดือนสิงหาคม ๒๕๕๐ บอกเราว่ามีโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ทั่วโลกถึง ๔๓๙ แห่ง และมีโครงการสร้างเพิ่มอีก ๓๔๘ แห่ง

    “เรื่องความปลอดภัยของโรง ไฟฟ้านิวเคลียร์ ในหลักการไม่มีใครกล้ารับรองว่าปลอดภัย ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ แต่นิวเคลียร์ถือได้ว่าเป็นเทคโนโลยีผลิตไฟฟ้าที่ปลอดภัยที่สุดชนิดหนึ่ง เป็นเทคโนโลยีที่ทั่วโลกร่วมมือกันพัฒนามากที่สุด จากความกลัวเรื่องความปลอดภัยบวกกับความกลัวการแพร่กระจายของอาวุธ นิวเคลียร์ทำให้มีการวางมาตรฐานอย่างรัดกุม ถ้าลองเอาปีที่โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ๔๓๙ แห่งเดินเครื่องมารวมกันจะได้ ๑๒,๐๐๐ ปี อุบัติเหตุรุนแรงที่สุดที่เคยเกิดขึ้นคือที่เมืองเชอร์โนบิลในปี ๒๕๒๙ ครั้งนั้นมีผู้เสียชีวิตราว ๓๐ คน มีการคำนวณว่ากัมมันตภาพรังสีที่รั่วไหลส่งผลกระทบกับคนสูงสุดไม่เกิน ๔,๐๐๐ คน เทียบกับเครื่องบินโดยสารราคาพันล้านก็มีที่ตกและมีคนตายทุกปี ถ้าต้องการให้ปลอดภัย ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์เราคงใช้เครื่องบินไม่ได้ สร้างโรงไฟฟ้าชนิดใดก็ไม่ได้

    “การปรับปรุงความปลอดภัย ของเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์นั้นมีอยู่ตลอดมา โดยเฉพาะหลังกรณีเชอร์โนบิล ตอนนี้เตาปฏิกรณ์ในโรงไฟฟ้าจะเป็นแบบ walk away safe คือถ้าเกิดอะไรขึ้นวิศวกรเดินออกมาได้เลย เตาปฏิกรณ์จะหยุดโดยอัตโนมัติ และเรามั่นใจได้ว่าจะไม่มีเหตุการณ์แบบเชอร์โนบิล นอกจากนี้ก็มีการยกระดับมาตรการรักษาความปลอดภัยมากขึ้นเพื่อป้องกันการก่อ การร้าย เตาปฏิกรณ์ที่ขายในท้องตลาดขณะนี้เป็นรุ่นที่ ๒ และรุ่นที่ ๒.๕ อีก ๕-๖ ปีข้างหน้ารุ่นที่ ๓ คงออกมา ขณะนี้เริ่มมีการวิจัยเตาปฏิกรณ์รุ่นที่ ๔ แล้ว เตาปฏิกรณ์รุ่นใหม่จะยิ่งทำให้ค่าก่อสร้างโรงไฟฟ้าลดลง เพราะมีความปลอดภัยในการออกแบบสูงขึ้น

    “ที่ตั้งโรงไฟฟ้าก็เป็น เรื่องละเอียดอ่อน ต้องมีการพิจารณาอย่างรอบด้าน เช่น ข้อมูลทางธรณีวิทยา รอยเลื่อนแผ่นดินไหว ข้อมูลกระแสลม น้ำท่วม ฝน ที่อาจส่งผลกระทบกับโรงไฟฟ้า ผมอยากยกตัวอย่างในญี่ปุ่นมีแผ่นดินไหวบ่อยกว่าเราหลายเท่า แต่ก็มีโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ถึง ๕๕ โรง อุบัติเหตุจากแผ่นดินไหวที่เมืองคาชิวาซากิเมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา เขาย้อนกลับไปดูขั้นตอนต่างๆ ก็พบว่ามีการคำนวณหาที่ตั้งอย่างรอบคอบแล้ว และไม่คิดว่ารอยเลื่อนจะส่งผลกระทบมาถึง เหตุที่เกิดก็มีความเสียหายน้อย มีการคำนวณว่าปริมาณกัมมันตภาพรังสีที่รั่วไหลลงสู่ทะเลเทียบเท่ากับร้อยละ ๐.๕ จากการเอกซเรย์ ๑ ครั้งในโรงพยาบาลเท่านั้น ปัจจัยที่มีผลอีกอย่างคือเตาปฏิกรณ์ปรมาณูต้องหล่อเย็น จึงนิยมสร้างโรงไฟฟ้าที่ชายทะเลเพื่อเอาน้ำทะเลมาหล่อเย็น โดยต้องดูอุณหภูมิน้ำขาเข้าและขาออกด้วยว่ากระทบสิ่งมีชีวิตในทะเลหรือไม่

    “นอก จากนี้โรงไฟฟ้าต้องไม่อยู่ใกล้เส้นทางที่เรือบรรทุกน้ำมันแล่นผ่านบ่อย ไม่อยู่ในพื้นที่ที่มีการจราจรทางอากาศหนาแน่น ต้องอยู่ใกล้ระบบสายส่งไฟฟ้า ไม่อยู่ใกล้สถานที่ท่องเที่ยวเพราะอาจมีผลทางจิตวิทยา ประเด็นทางจิตวิทยานี้ประเทศฝรั่งเศสที่มีโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ๕๙ แห่ง มีอุตสาหกรรมท่องเที่ยวใหญ่ที่สุดในโลก เขาไม่กลัว พานักท่องเที่ยวไปเที่ยวด้วยซ้ำเพราะโรงไฟฟ้าอยู่ใกล้กับไร่องุ่นและปราสาท โบราณกรณีมีข่าวว่าจะไปตั้งโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ในจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ หรือชุมพร น่าจะสืบเนื่องมาจากมีการลงไปดูพื้นที่ภาคใต้เพื่อสำรวจสถานที่ตั้งโรงไฟฟ้า นิวเคลียร์ช่วงปี ๒๕๓๘-๒๕๓๙ ตอนนี้ก็คงต้องศึกษาเพิ่มเติม เพราะหลังเหตุการณ์สึนามิข้อมูลทางธรณีวิทยาหลายอย่างเปลี่ยนไป

    “ส่วน เรื่องกากเชื้อเพลิง ธาตุยูเรเนียม-235 เมื่อใช้แล้วปริมาณจะลดจาก ๕ เหลือ ๑ เปอร์เซ็นต์ ไม่สามารถนำมาใช้ได้อีก ต้องดึงออกมาพักให้เย็นโดยจะมีบ่อน้ำสำหรับแช่เพื่อตัดรังสีและทำให้เย็นลง ภายใน ๓-๕ ปีมันจะปลอดภัยพอที่จะดึงขึ้นจากบ่อแล้วนำมาใส่ถังเหล็ก จากนั้นถึงย้ายไปเก็บในห้องคอนกรีต ส่วนใหญ่โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ทั่วโลกเก็บกากไว้ในบ่อพักที่ว่านี้ จริงๆ มีโรงงานที่รับกากนิวเคลียร์ไปแยกเอายูเรเนียมออกมาอีกครั้ง แล้วทำให้มันเข้มข้นเพื่อนำกลับมาใช้อีก และมีการนำพลูโทเนียมซึ่งเป็นผลผลิตจากเตาปฏิกรณ์ไปใช้กับเตาปฏิกรณ์ นิวเคลียร์ที่ถูกพัฒนาให้ใช้กับพลูโทเนียมได้ ปัจจุบันมีการพัฒนาเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ที่สามารถเผากากเชื้อเพลิงที่ปล่อย รังสี ดังนั้นจึงมีไม่มีความจำเป็นเร่งด่วนที่จะต้องมากังวลเรื่องนี้ เรายังมีเวลารอเทคโนโลยีใหม่ๆ มาจัดการกับกากเชื้อเพลิง ต่อไปปัญหานี้จะบรรเทาลง เพราะยังจะมีการนำกากนิวเคลียร์ไปใช้ประโยชน์ต่อเนื่อง อาจมีการให้เช่าเชื้อเพลิง โดยเมื่อใช้เสร็จแล้วผู้ให้เช่าก็มารับคืนไปทำให้หมดภาระเรื่องการจัดการกาก

    “เรื่องการยอมรับของ ประชาชนในพื้นที่ก่อสร้างโรงไฟฟ้า เจ้าหน้าที่ฝรั่งเศสคนหนึ่งบอกผมว่า เขาไปเยี่ยมชุมชนที่มีโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ตั้งอยู่แล้ว ได้คุยกับชาวนา ถามว่าโรงไฟฟ้านิวเคลียร์อยู่หลังบ้านไม่กลัวหรือ ก็ได้คำตอบว่าตัวเขาไม่รู้หรอกว่านิวเคลียร์อันตรายแค่ไหน แต่ลูกสาววิศวกรที่ดูแลโรงไฟฟ้าอยู่โรงเรียนเดียวกับลูกสาวของเขา เมื่อวิศวกรอยู่ได้เขาก็ต้องอยู่ได้ ความเข้าใจที่ไม่เพียงพอย่อมทำให้เกิดความกลัว นิวเคลียร์มีภาพไม่ดีมาตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ ๒ ทั้งที่ถ้าไปดูชั่วโมงการทำงานกับอัตราการเกิดอุบัติเหตุมันปลอดภัยกว่าขึ้น เครื่องบินเสียอีก ผมยอมรับว่ามันก่อภาระทางจิตใจ ดังนั้นควรต้องชดเชยในต่างประเทศโรงไฟฟ้าชดเชยชุมชนด้วยภาษีที่เรียกเก็บจาก โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ซึ่งนำไปใช้ในการสร้างสวนสาธารณะ โรงเรียน โรงพยาบาล ฝรั่งเศสทำได้ดีจนกระทั่งเวลาประกาศจะสร้างโรงไฟฟ้าใหม่ ชาวบ้านต่างแย่งให้ไปลงในหมู่บ้านตนเอง เราคงต้องเข้าหาชุมชนแล้วพาหัวหน้าชุมชนไปดูที่ฝรั่งเศส ญี่ปุ่น ให้เห็นของจริงว่าเป็นอย่างไร

    “ประเด็นที่ว่าโรงไฟฟ้า นิวเคลียร์จะนำไปสู่การครอบครองอาวุธนิวเคลียร์นั้นแทบเป็นไปไม่ได้ เพราะ IAEA จะตรวจสอบและควบคุมโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ทุกแห่งในโลกอย่างเข้มงวด และที่ว่าการสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์เป็นการสร้างพื้นที่ล่อแหลม อย่าลืมว่าตอนนี้ทั่วโลกมีโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ถึง ๔๓๙ แห่งใน ๓๑ ประเทศ ผลิตไฟฟ้าเกือบร้อยละ ๑๗ ของโลกโดยมีมาตรฐานรองรับ การป้องกันการก่อการร้ายก็มีมาตรฐานอยู่กรณีความเสี่ยงจากอันตรายของโรง ไฟฟ้านิวเคลียร์ทุกประเทศเป็นหลังบ้านของกันและกัน ผู้เชี่ยวชาญ IAEA บอกว่าเราอยู่ในเรือลำเดียวกัน เรารับความเสี่ยงอยู่แล้วแม้จะไม่ใช้ประโยชน์จากมันเลย ผมเห็นด้วยว่าต้องให้ประชาชนรับทราบอย่างชัดเจนในความเสี่ยงและมีส่วนร่วมใน การตัดสินใจ แต่ต้องรับทราบและตัดสินใจด้านความมั่นคงทางพลังงานของประเทศในระยะยาวด้วย”

    ที่มา :: เว็บไซต์ และ นิตยสาร สารคดี

  2. admin says:

    นักวิชาการที่คัดค้านการสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์
    ดร. เดชรัต สุขกำเนิด
    อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์
    มหาวิทยาลัย ธรรมศาสตร

    * พลังงานนิวเคลียร์เป็นทางเลือกหนึ่งในการแก้วิกฤตพลังงาน แต่ไม่เห็นด้วยกับแผน PDP 2007 ที่ไม่โปร่งใส ทั้งยังมีการให้ข้อมูลเพียงด้านเดียวแก่ประชาชน

    * ต้นทุนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานนิวเคลียร์ไม่แน่ว่าจะมีราคาถูกจริง

    * พลังงานนิวเคลียร์ไม่ใช่สูตรสำเร็จของการลดภาวะโลกร้อน พลังงานหมุนเวียนก็เป็นทางเลือกในการลดภาวะโลกร้อนเช่นกัน

    * เทคโนโลยีนิวเคลียร์มีความเสี่ยงสูงเมื่อเทียบกับเทคโนโลยีพลังงานทางเลือก อื่นๆ ทั้งยังก่อให้เกิดความขัดแย้งกับชาวบ้าน และสร้างพื้นที่อันตรายโดยไม่จำเป็น

    * พลังงานทางเลือกอื่นๆ หากนำมาใช้ร่วมกับมาตรการประหยัดพลังงานอย่างจริงจัง จะทำให้ความต้องการใช้ไฟฟ้าลดลงและไม่จำเป็นต้องสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์

    “ผมยอมรับว่าโรงไฟฟ้า นิวเคลียร์คือทางเลือกหนึ่งในการแก้ปัญหาพลังงาน แต่การที่รัฐบาลบอกว่าจำเป็นต้องมีโรง ไฟฟ้านิวเคลียร์นั้นผมไม่เห็นด้วย เพราะกระบวนการวางแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทยระยะยาว (PDP 2007) ที่ผ่านมา แสดงให้เห็นว่ารัฐบาลไม่เชื่อมั่นในพลังปัญญาของสังคมไทยที่จะหาทางออกร่วม กัน โครงการสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ๔,๐๐๐ เมกะวัตต์ยังมีที่มาน่าสงสัย เพราะปรากฏโรงไฟฟ้านิวเคลียร์อยู่ในแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าระยะยาวทั้ง ๙ ทางเลือกที่ถูกยกขึ้นมาให้เลือกก่อนการตัดสินใจ แปลว่าเลือกอย่างไรก็เจอโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ แน่นอน สิ่งที่สังคมไทยต้องการคือข้อมูลทั้งสองด้าน เรากำลังเผชิญวิกฤตพลังงาน ต้องนำเข้าน้ำมันปีละหลายแสนล้านบาท จึงน่าจะมีทางเลือกที่หลากหลายและลงมือศึกษาทุกแนวทาง ไม่ใช่เอาทางเลือกหนึ่งกันท่าทางเลือกอื่นๆ เช่นนี้

    “การสร้างโรงไฟฟ้า นิวเคลียร์ในต่างประเทศสำคัญถึงขั้นต้องลงประชามติ ในออสเตรียประชาชนลงมติว่าไม่ต้องการ ขณะที่บ้านเราแค่ทางเลือกรัฐยังไม่มีให้ อ้างว่านี่เป็นแค่การศึกษาเบื้องต้น การพูดเช่นนี้ถูกครึ่งเดียว เหตุผลคือถ้าทำตามแผน PDP 2007 กว่าจะถึงปี ๒๕๖๓ ที่คาดว่าโรงไฟฟ้านิวเคลียร์จะเข้าสู่ระบบ พลังงานทางเลือกอื่นๆ ก็จะไม่ได้รับความสนใจและไม่ถูกหยิบมาพัฒนาอย่างแน่นอน ซึ่งไม่ใช่วิธีที่ถูกต้อง

    “ที่ผมไม่เห็นด้วยอีก อย่างคือการให้ข้อมูลครึ่งเดียวของรัฐ เช่นบอกว่าทุกประเทศทั่วโลกมุ่งสู่การสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ แต่ข้อมูลจากทบวงพลังงานโลก (International Energy Agency-IEA) และกรีนพีซบอกเราว่า โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ๔๓๙ แห่งในโลกที่เดินเครื่องอยู่ขณะนี้ ส่วนใหญ่เกิดขึ้นในช่วงทศวรรษ ๑๙๗๐-๑๙๘๐ หลังจากนั้นการก่อสร้างก็ลดลงจนปี ๒๕๔๗-๒๕๔๘ มีโรงไฟฟ้านิวเคลียร์เข้าสู่ระบบทั่วโลก ๔-๕ แห่งต่อปีเท่านั้น ประเทศที่มีโครงการสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ใหม่ๆ ช่วงนี้เป็นประเทศเอเชียเกือบหมด ยุโรปตะวันตกมีประเทศเดียว คือฟินแลนด์ ที่เยอรมนีมีการออกกฎหมายยกเลิก ดึงโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ออกจากระบบก่อนสิ้นอายุงาน ที่เดนมาร์กประชาชนตัดสินใจลงมติไม่สร้าง ผมไม่ได้เล่าเรื่องนี้เพื่อแย้งว่าไทยจึงไม่ควรสร้าง เพราะผมเชื่อว่าแต่ละประเทศย่อมมีเหตุผลของตนเอง อาทิ เดนมาร์กบอกว่าไม่เป็นธรรมที่จะให้คนกลุ่มหนึ่งรับความเสี่ยงขณะที่คน อีกกลุ่มได้ประโยชน์ อีกทั้งระบบไฟฟ้าเขาเป็นแบบกระจายศูนย์ มีหน่วยผลิตไฟฟ้าย่อยทั่วประเทศ มีความมั่นคงระดับหนึ่ง และคนต่อต้านโรงไฟฟ้านิวเคลียร์มานาน แต่ในทางกลับกัน กรณีฝรั่งเศสพึ่งโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ผลิตไฟฟ้าถึงร้อยละ ๘๐ ผมจึงไม่อยากให้รัฐบาลไทยบอกว่าทั่วโลกมีโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ๔๓๙ แห่งเพื่อบอกว่าควรสร้างได้แล้ว เพราะแนวคิดเช่นนี้ไปกันไม่ได้กับแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียง ถ้าเช่นนั้นทำไมไม่ดูบราซิลที่ทำเรื่องเอทานอลจนประสบความสำเร็จบ้าง

    “ต้นทุนผลิตไฟฟ้าจากโรง ไฟฟ้านิวเคลียร์ก็ไม่แน่ว่าจะถูกจริง รัฐบาลไม่มีการให้ข้อมูลมากไปกว่าว่าต้นทุนค่าไฟฟ้า ๒.๐๘ บาทต่อหน่วย โดยไม่บอกว่าคิดจากฐานข้อมูลอะไร แต่ข้อมูลจาก IEA ก็บอกว่าโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ต้องลงทุนสูงและมีปัจจัยแปรผันมาก ดังนั้นต้องถามว่า หนึ่ง ค่าก่อสร้างคำนวณจากอะไร กรณีของไทยถ้าบอกว่าใช้เทคโนโลยีที่ยังไม่มีในตลาด สงสัยว่าอ้างอิงราคาจากอะไร สอง ค่าเสียโอกาสของเงินลงทุน ทางเศรษฐศาสตร์เรียกสิ่งนี้ว่า “อัตราคิดลด” ลงทุนวันนี้มีผลในอนาคตมากมายที่มากระทบแสดงให้เห็นจากอัตราดอกเบี้ย อัตราคิดลดนี้ถ้าสูงไม่เกิน ๕ เปอร์เซ็นต์ พลังงานนิวเคลียร์จะแข่งกับเชื้อเพลิงแบบอื่นได้ แต่ถ้าขึ้นถึง ๑๐ เปอร์เซ็นต์แข่งไม่ได้ เพราะค่าไฟต่อหน่วยจะแพงกว่า รัฐบาลไม่เคยตอบเรื่องนี้ ที่ผ่านมาในต่างประเทศอัตราคิดลดบางแห่งสูงถึง ๑๕ เปอร์เซ็นต์ แถมยังเคยมีกรณีงบประมาณบานปลาย (cost overrun) ในสหรัฐอเมริกา อังกฤษ อินเดีย คือเงินลงทุนจริงเกินงบประมาณที่ตั้งไว้ ๓ เท่า ต้นทุนที่เพิ่มขึ้นอาจมาจากกรณีสร้างไปแล้วพบว่าต้องเพิ่มสเปกเพื่อความ ปลอดภัย หรือทบวงการพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ (IAEA) พบว่ามีอุบัติเหตุกับที่อื่นๆ แล้วสั่งให้เพิ่มมาตรฐาน ดังนั้นบางแห่งสร้างไปถึงร้อยละ ๘๐ แล้วต้องหยุดเลยก็มี ยังมีต้นทุนการกำจัดกากนิวเคลียร์ที่ยังไม่รู้เลยว่าจะใช้วิธีใด ยังมีต้นทุนการรื้อถอนที่จะเกิดขึ้นใน ๔๐-๖๐ ปีข้างหน้า มันอาจแพงขึ้น ความเสี่ยงด้านสังคม สิ่งแวดล้อม ปัจจัยเหล่านี้อาจทำให้ราคาต่อหน่วยสูงเกินกว่า ๒.๐๘ บาทก็เป็นได้

    “ทีนี้ใครจะจ่ายต้นทุนที่ เพิ่มขึ้น ระบบไฟฟ้าไทยกำหนดให้ผู้บริโภคจ่ายค่าไฟฟ้าให้ได้อัตราตอบแทนจากการลงทุน แปลว่าคนใช้ไฟฟ้าต้องจ่าย คนลงทุนไม่ต้องรับผิดชอบ ตรงนี้ยังขึ้นอยู่กับว่ารัฐบาลทำสัญญาก่อสร้างโรงไฟฟ้าแบบไหนกับเอกชน ที่ผ่านมานิยมทำแบบเทิร์นคีย์ คือ เหมาให้เอกชนสร้างจนเสร็จ ราคาเท่าไรเท่านั้น ถ้าสร้างได้ถูกกว่างบประมาณที่ตั้งไว้เอกชนก็ได้กำไร คำถามคือเราทำสัญญาแบบไหน ในฟินแลนด์ไม่มีการเปิดเผยว่าจ้างเอกชนอย่างไร ในบ้านเราก็น่าเป็นห่วงเพราะมีประสบการณ์จากเขื่อนปากมูลที่บอกว่าต้นทุน ๓ พันล้าน แต่พอสร้างจริงเพิ่มเป็น ๖,๖๐๐ ล้านบาทมาแล้ว

    “การคิดต้นทุนในการ ผลิตพลังงานมี ๓ ส่วน สองส่วนแรกคือต้นทุนการผลิต กับอีกส่วนคือต้นทุนจากผลกระทบภายนอก ดังนั้นเวลาพูดว่าทางเลือกนี้แพงหรือถูก ต้องดูว่ารวมต้นทุนจากผลกระทบภายนอก เข้าไปด้วยหรือไม่ เช่น โรงไฟฟ้าถ่านหินมีคนรอบโรงไฟฟ้าต้องเจ็บป่วย โรงไฟฟ้านิวเคลียร์คงต้องมีคนกลุ่มหนึ่งแบกรับความเสี่ยงไปหลายสิบหลายร้อย ปี พลังงานหมุนเวียนก็มีต้นทุนเช่นนี้ แต่สิ่งสำคัญคือต้นทุนภายนอกที่ต้องจ่ายมีไม่มาก แม้ว่าในช่วง ๗ ปีจะต้องลงทุนมากกว่า เช่น พลังงานชีวมวล (Biomass) ซึ่งมีต้นกำเนิดจากแกลบ ชานอ้อย ฯลฯ ขณะนี้ต้นทุนผลิตไฟฟ้าอยู่ที่ ๒-๓ บาทต่อหน่วย แข่งขันได้ ส่วนก๊าซชีวภาพจากมูลสัตว์ ขยะ น้ำเสีย ต้นทุนในแง่ผลกระทบภายนอกติดลบ เพราะสร้างประโยชน์ให้สังคม นำขยะมาใช้ประโยชน์ หรือโรงไฟฟ้าพลังน้ำขนาดเล็ก ผลกระทบภายนอกติดลบเช่นกัน เพราะไม่ต้องสร้างเขื่อนขนาดใหญ่ ลดการสูญเสีย
    พื้นที่ป่า พลังงานหมุนเวียน ๓ ชนิดนี้แข่งขันในตลาดพลังงานได้ทันทีโดยไม่ต้องอาศัยเงินอุดหนุนจากรัฐมาก นัก

    “คำถามอีกข้อคือเรากำลัง จ่ายค่าไฟฟ้าให้ใคร ถ้าสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ต้องนำเข้ายูเรเนียม จ่ายค่าก่อสร้าง ค่าเทคโนโลยี ส่งคนไปเรียน ถ้าผลิตไฟฟ้าขายได้หน่วยละ ๒.๐๘ บาทจริง ใน ๒.๐๘ บาทนี้จะเก็บไว้ในประเทศได้กี่สตางค์ จ้างคนงานได้กี่คน เมื่อเทียบกับการส่งเสริมพลังงานหมุนเวียน อาทิ ก๊าซชีวภาพ คนไทยทำได้เองทุกขั้นตอน อุปกรณ์ทุกอย่างผลิตในประเทศ อีก ๑๐ ปีข้างหน้า ลาว กัมพูชา คงอยากส่งเสริมพลังงานชนิดนี้ เราก็ไปลงทุนได้ ถึงเวลาแล้วที่เราจะต้องพ้นจากการเป็น ผู้บริโภคอย่างเดียว

    “โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ช่วยลดภาวะโลกร้อนนั้นก็ไม่ ถูกทั้งหมด เพราะการได้มาของยูเรเนียมนั้นมีหลายขั้นตอน มีการปล่อยก๊าซซึ่งส่งผลกระทบกับภาวะโลกร้อนเช่นกัน แต่มีประเด็นอื่นๆ อีกมากที่ต้องเปรียบเทียบกับพลังงานหมุนเวียน พลังงานนิวเคลียร์ไม่ใช่สูตรสำเร็จในการลดภาวะโลกร้อน การใช้พลังงานหมุนเวียนชนิดอื่นๆ ก็ลดภาวะโลกร้อนได้เช่นกัน

    “ที่ผ่านมารัฐบาลพูดถึง พลังงานหมุนเวียนชนิดอื่นๆ แบบแยกส่วนแล้วบอกว่าแพง ทดแทนความต้องการไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้นได้ยากเพราะไม่มีศักยภาพ แต่ผมมองว่าความต้องการไฟฟ้า ๔,๐๐๐ เมกะวัตต์จากพลังงานนิวเคลียร์สามารถทดแทนได้ โดยเฉพาะจากพลังงานชีวมวล ในปี ๒๕๔๒ ไทยผลิตไฟฟ้าจากพลังงานชีวมวลได้ไม่กี่ร้อยเมกะวัตต์ แต่เมื่อปี ๒๕๔๙ ทำได้ถึง ๑,๒๐๐ เมกะวัตต์ นี่แสดงว่าเรามีศักยภาพ โรงไฟฟ้าพลังงานชีวมวลที่ใหญ่ที่สุดขณะนี้ผลิตไฟฟ้าได้ ๕๐ เมกะวัตต์ เช่น โรงงานน้ำตาลที่อำเภอด่านช้าง จังหวัดสุพรรณบุรี เอาไฟฟ้าที่ผลิตจากชานอ้อยมาใช้ส่วนหนึ่ง อีกส่วนขายให้ กฟผ. และขายกากน้ำตาลให้โรงงานผลิตเอทานอลด้วย นอกจากนี้เคยมีการศึกษาศักยภาพการใช้พลังงานหมุนเวียนของไทยเสนอต่อธนาคาร โลก ก็ได้ข้อมูลว่าเรามีศักยภาพผลิตพลังงานหมุนเวียนได้มากถึง ๒,๒๐๐-๒,๔๐๐ เมกะวัตต์ภายในปี ๒๕๕๔ แต่ในแผน PDP 2007 จำกัดไว้ที่ ๑,๗๐๐ เมกะวัตต์เท่านั้น

    “ความปลอดภัยของโรงไฟฟ้า นิวเคลียร์ยังน่ากังวล ต่างประเทศเคยมีอุบัติเหตุระหว่างขนส่งเชื้อเพลิง แท่งเชื้อเพลิงตกแล้วเกิดปฏิกิริยาที่อันตรายขึ้น ส่วนเตาปฏิกรณ์ผมได้ข้อมูลว่าไทยจะเลือกใช้เตาเจเนอเรชันที่ ๓ ซึ่งเครื่องแรกจะผลิตเสร็จในปี ๒๕๕๓ นี่ยังเป็นคำถามว่าเสี่ยงหรือไม่เพราะยังไม่เคยมีใครใช้งาน มองไปที่เหตุการณ์เชอร์โนบิล เตาปฏิกรณ์รุ่นใหม่ไม่ได้หมายความว่าจะไม่มีความเสี่ยง จากสถิติช่วง ๑๐ ปีที่ผ่านมาโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ทั่วโลกเกิดอุบัติเหตุทั้งหมด ๙ ครั้ง บ่งชี้ว่ามีความเสี่ยงสูง อุบัติเหตุมีตั้งแต่ความรุนแรงระดับ ๓ ขึ้นไป เช่น กัมมันตภาพรังสีรั่วสู่สิ่งแวดล้อม ระบบไฟสำรองไม่ทำงานทำให้ไม่สามารถควบคุมปฏิกิริยาในเตาปฏิกรณ์ได้ กรณีหลังเกิดในสวีเดนซึ่งโชคดีที่ไฟฟ้าสำรองกลับมาติดอีกครั้ง เมื่อสถิติเป็นเช่นนี้ก็ยากที่จะทำให้คนในพื้นที่ก่อสร้างยอมรับความเสี่ยง เพราะเขาต้องอยู่กับมันอีกนานแต่ประโยชน์ไม่รู้ไปตกอยู่กับใคร จากงานวิจัย ความต้องการไฟฟ้าที่เพิ่มกว่าร้อยละ ๗๐ มาจากภาคอุตสาหกรรม ประชาชนทั่วไปต้องการไฟฟ้าเพิ่มแค่ร้อยละ ๒๐-๓๐ เท่านั้น เรากำลังให้คนส่วนใหญ่มาแบกรับความเสี่ยงของคนส่วนน้อย โดยเฉพาะคนที่อยู่ใกล้ที่ตั้งโรงไฟฟ้า นั้นยิ่งเสียเปรียบ

    “ปัญหาคือตอนนี้ยังไม่มี วิธีกำจัดกากนิวเคลียร์ได้อย่างสมบูรณ์ มีเพียงการเก็บในที่ปลอดภัย ที่น่ากลัวคือกากเหล่านี้มีกัมมันตภาพรังสี ยกตัวอย่างครึ่งชีวิตของยูเรเนียมคือ ๔.๕ พันล้านปี (ทุก ๔.๕ พันล้านปีสารกัมมันตรังสีในยูเรเนียมจะลดลงครึ่งหนึ่ง) หมายถึงต้องเก็บอีกนาน ไม่รวมสารกัมมันตรังสีอื่นๆ ที่ได้จากกระบวนการในเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ ซึ่งเสี่ยงต่อชีวิตลูกหลานในระยะยาว ทั่วโลกตอนนี้ก็ไม่มั่นใจเทคโนโลยีฝังกลบ แม้ที่ผ่านมาจะมีความพยายามสร้างที่เก็บกากถาวรในทะเลทรายของสหรัฐอเมริกา และออสเตรเลีย แต่ก็ไม่รู้ว่าจะถาวรตามชื่อหรือไม่ เพราะวัสดุที่หุ้มกากเหล่านี้ต้องมีอายุยืนยาวเช่นเดียวกับกาก และมนุษย์ยังไม่เคยค้นพบวัสดุอะไรที่มีอายุยืนขนาดนั้น ผมไม่สบายใจที่รัฐบาลบอกว่ากากนิวเคลียร์มีอันตรายน้อยกว่าภัยจากถ่านหิน เพราะกัมมันตภาพรังสีของมันน่ากลัวกว่ามาก

    “โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ยัง ได้กลายเป็นจุดวิกฤตของประเทศโดยไม่ต้องรอภาวะสงคราม แค่มีอุบัติเหตุหรือการก่อการร้าย ไฟฟ้าอาจหายไปจากระบบมากพอที่จะดึงระบบไฟฟ้าของประเทศล่มไปด้วยถ้าโรงไฟฟ้า นั้นมีกำลังการผลิตมาก มันยังต้องการน้ำระบายความร้อน ต้องการระบบขนส่งเชื้อเพลิงที่ปลอดภัย ดังนั้นส่วนมากจึงนิยมสร้างโรงไฟฟ้าไว้ใกล้ทะเล เพราะถ้าเกิดอะไรขึ้นกัมมันตภาพรังสีจะไหลลงทะเล นำไปสู่ข้อสันนิษฐานว่าที่ตั้งโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ของไทยน่าจะอยู่แถบจังหวัด ประจวบคีรีขันธ์และชุมพร เพราะรัศมีโดยรอบร้อยละ ๕๐ เป็นทะเล ร้อยละ ๔๐ เป็นเขตพม่า ร้อยละ ๑๐ เป็นพื้นที่จังหวัดประจวบฯ กับชุมพร ผมไม่ค่อยสบายใจกับแนวคิดนี้ เพราะเท่ากับโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ไม่ปลอดภัย การที่รัฐบาลบอกประชาชนว่าไม่มีความเสี่ยงจึงเป็นการส่งสัญญาณที่ไม่ถูก ถ้าจำเป็นต้องมีโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ รัฐบาลควรจะบอกเลยว่าจำเป็นต้องเสี่ยง และเราต้องช่วยกันวางมาตรการดูแลให้เสี่ยงน้อยที่สุด

    “ผมขอเสนอให้ทำกระบวนการ วางแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าระยะยาวให้โปร่งใส เราน่าจะมาร่วมกันคิดว่าจะทำอย่างไร เช่น ถ้า ๒ ปีหลังจากนี้นอกจากศึกษาเรื่องพลังงานนิวเคลียร์แล้ว เราศึกษาพลังงานทางเลือกอื่นๆ ด้วยได้หรือไม่ โดยตั้งคณะกรรมการและให้งบประมาณเท่ากันแล้วเอาข้อมูลมาให้สังคมพิจารณา ผมกำลังเสนอหลักการต่อสู้ทางความคิดบนเวทีที่มีมาตรฐาน ถ้าคุณตอบคำถามได้ดีสังคมไทยย่อมเชื่อคุณแน่

    “ผมมีสูตร ๒๐ : ๒๐ ภายในปี ๒๕๖๓ เสนอแทนแผน PDP 2007 เริ่มต้นจากปีนี้เป็นต้นไป ๒๐ แรกคือชะลออัตราเพิ่มความต้องการพลังงานให้เหลือเพียงร้อยละ ๔-๕ ต่อปี หรือลดลงจากที่คาดการณ์ไว้ร้อยละ ๒๐ คือทำให้การเพิ่มนั้นเท่ากับการเติบโตของเศรษฐกิจของประเทศที่เพิ่มปีละ ๔-๕ โดยจัดการการใช้ไฟฟ้า กำหนดมาตรฐานอาคาร เปลี่ยนมาใช้อุปกรณ์ประหยัดไฟ ฯลฯ โดยเฉพาะการจัดการช่วงเวลาที่ความต้องการใช้ไฟฟ้าสูง เพราะในบ้านเราความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุดอยู่ในช่วง ๑๕ ชั่วโมงของเดือนเมษายน ตั้งเป้ากันว่าปีนี้ต้องไม่เกินเท่าไร อาจขอความร่วมมือทางโทรทัศน์ว่าในวันดังกล่าวขอให้งดกิจกรรมบางอย่าง ถ้าควบคุมตรงนี้ได้สามารถลดการใช้พลังงานได้แน่ แทนที่จะดีใจว่าทำลายสถิติอีก วิธีนี้ต้นทุนถูกกว่าผลิตพลังงานหมุนเวียนเสียอีก อย่างนี้ลดลงได้แล้ว ๑,๐๐๐-๒,๐๐๐ เมกะวัตต์

    “ส่วน ๒๐ หลังคือ สร้างระบบผลิตไฟฟ้าแบบกระจายศูนย์แทนที่โรงไฟฟ้ารวมศูนย์ ระยะสั้นมุ่งไปที่พลังงานชีวมวล ก๊าซชีวภาพ โรงไฟฟ้าพลังน้ำขนาดเล็ก แล้วปรับปรุงให้โรงไฟฟ้าโรงหนึ่งผลิตทั้งไฟฟ้าและความร้อนเป็นระบบพลังงาน ร่วม จะทำให้การใช้พลังงานทำได้เต็มเม็ดเต็มหน่วย นี่ได้อีก ๒,๐๐๐ เมกะวัตต์ขึ้นไป ส่วนระยะยาวก็พัฒนาพลังงานหมุนเวียน เช่น พลังงานชีวมวล ก๊าซชีวภาพ ได้อีกไม่ต่ำกว่า ๑,๒๐๐ เมกะวัตต์ ยังมีพลังงานลม แสงอาทิตย์ที่ต้องเริ่มทำ คือฟูมฟักมันโดยเพิ่มการใช้งานให้อยู่ในระดับที่คุ้มค่าใช้จ่าย ซึ่งตามศักยภาพพลังงานหมุนเวียนตรงนี้จะเพิ่มได้ถึง ๒,๐๐๐ เมกะวัตต์ จะเห็นว่า ๔,๐๐๐ เมกะวัตต์จากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์หายไปแล้ว ผมพบว่าถ้าใช้วิธีนี้ ในอนาคตก็ไม่ต้องสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์หรือถ่านหิน ประหยัดได้หลายแสนล้านบาท ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้จำนวนมาก

    “สุดท้ายอยากถามว่า เรามีทางเลือกที่เสี่ยงน้อยกว่านี้หรือไม่ ทุกประเทศที่สร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์อยู่ภายใต้ความเสี่ยงทั้งนั้น ถ้ามีทางที่เสี่ยงน้อยกว่าแผน PDP 2007 เราจะไม่เลือกเดินไปหรือ”

    ที่มา :: เว็บไซต์ และ นิตยสาร สารคดี

Leave a Comment