[แนวทาง] การจัดกิจกรรมส่งเสริมนิสัยรักการอ่าน คนที่รักและสนใจวิทยาศาสตร์ต้องอ่าน UpDATE

การอ่านหนังสือ เป็นการพัฒนาตนเอง และเป็นการใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์  ซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับการพัฒนาคนและพัฒนาสังคม สำหรับการอ่านของคนไทย หลายสถิติก็มักระบุว่า อ่านหนังสือน้อยมาก ทั้งนี้ อาจมีสาเหตุหลายอย่าง เช่น ขาดแคลนหนังสือที่ดีและตรงกับความต้องการของผู้อ่าน  ขาดแคลนแหล่งหนังสือที่จะยืมอ่านได้ หรือหนังสือมีราคาแพงมากเกินไป ไปจนถึงการดึงความสนใจและการแย่งเวลาของสื่ออื่นๆ เช่น  โทรทัศน์ และสื่อ Social Media ต่างๆ (ที่จริงการอ่านข่าวสาร สาระความรู้ในสื่อ Social Media ต่างๆ ก็น่าจะนับเข้ากับสถิติการอ่านของคนไทยได้ด้วย) ฯลฯ  รวมถึงขาดการชักจูง  การกระตุ้น  และการมีนิสัยรักการอ่านทั้งในและนอกโรงเรียน จึงมีการจัดกิจกรรมส่งเสริมนิสัยรักการอ่านขึ้นในโรงเรียนต่างๆ เพื่อปลูกฝังและชักชวนให้นักเรียนเกิดความสนใจและมีพฤติกรรมการอ่านอย่างต่อเนื่องและสม่ำเสมอ 

ผมเองเคยรับผิดชอบ จัดกิจกรรมส่งเสริมนิสัยรักการอ่านในกลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ โรงเรียนพนาสนวิทยา จังหวัดสุรินทร์ และต่อมาเป็นเลขานุการ รับผิดชอบในการจัดโครงการส่งเสริมการอ่านของนักเรียนโรงเรียนนารายณ์คำผงวิทยา จังหวัดสุรินทร์ ตั้งแต่จัดหาหนังสือ (ช่วงอยู่ที่พนาสนวิทยา กระผม รองผู้อำนวยการและหัวหน้ากลุ่มวิชาการ ต้องเดินทางเข้า กทม. ไปซื้อหนังสือเก่า หนังสือมือสอง ราคาถูก คุณภาพดีที่ตลาดนัดจตุจักร ซื้อมาหนึ่งคันรถ เพื่อทำโครงการรักการอ่านโดยเฉพาะ เสร็จโครงการก็นำหนังสือเข้าห้องสมุดของโรงเรียน) ทำสมุดบันทึกการอ่าน และจัดกิจกรรมตอบปัญหาจากการอ่านหนังสือ ขณะทำโครงการ นักเรียนทุกคนได้อ่านหนังสือแน่ๆ แต่จะติดตัวเป็นนิสัยรักการอ่านหรือไม่ อันนี้ไม่ยืนยัน และการที่นักเรียนอ่านแล้วก็บันทึกลงสมุด แล้วนำไปให้ครูที่ปรึกษาลงนาม อย่างน้อย ถ้านักเรียนไม่ได้อ่าน ก็ได้คัดลอกเนื้อหามาแน่ๆ (แสดงว่าต้องได้อ่าน เพื่อจดลงสมุดบันทึก) การให้นักเรียนได้บันทึกลงสมุดก็เป็นการฝึกให้นักเรียนได้สรุปความคิดรวบยอดจากการอ่านด้วย

read-update
เกี่ยวกับการทำโครงการส่งเสริมนิสัยรักการอ่าน กลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ โรงเรียนพนาสนวิทยา เมื่อปี พ.ศ. 2550 รวมถึงการจัดกิจกรรมพัฒนาเครือข่ายครูวิทยาศาสตร์ ต้องขอขอบคุณทางนิตยสาร UpDATE ที่ได้มอบนิตยสาร UpDATE มาสนับสนุนการดำเนินกิจกรรมหลายๆ ครั้ง และอยากแนะนำ คุณครูวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ หรือผู้สนใจในเรื่องราวความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ว่า นิตยสาร UpDATE เป็นนิตยสารดีมีคุณภาพที่สุดเล่มหนึ่งในประเทศไทยครับ (ผมเองตั้งแต่รู้จักนิตยสารนี้ก็สมัครสมาชิกมาอย่างต่อเนื่องทุกปี) และอย่าสับสนกับ “นิตยสาร อัพเดท … จาก สปป.ลาว” นะครับ ชื่อเดียวกัน แต่เนื้อหาสาระต่างกัน

UpDATE หรือ อัปเดต เป็นนิตยสารทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ของบริษัท ซีเอ็ดยูเคชั่น จำกัด (มหาชน) อาจกล่าวได้ว่าเป็นนิตยสารทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีสำหรับผู้อ่านทั่วไปของเอกชนที่ยังดำเนินการอยู่ ที่มีอายุยาวนานที่สุด และมีผู้อ่านมากที่สุดในปัจจุบัน โดยเมื่อปี พ.ศ. 2521  ซีเอ็ดยูเคชั่น ได้เริ่มผลิตวารสารรายเดือน ชื่อ “ทักษะ ฉบับวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี” และในปีต่อมาก็ออกวารสารรายเดือนอีกฉบับ ในชื่อ “มิติที่ 4” แต่ในที่สุดในปี พ.ศ. 2528 วารสารทั้งสองฉบับก็ถูกนำมารวมกันเป็นนิตยสาร “รู้รอบตัว” ซึ่งฉบับที่ 1 ของรู้รอบตัว ออกในเดือนธันวาคม พ.ศ. 2528 ถือว่าเป็นฉบับที่ 1 ของนิตยสารอัปเดตด้วย เนื่องจากในปี พ.ศ. 2535 นิตยสาร “รู้รอบตัว” ได้เปลี่ยนชื่อมาเป็นนิตยสาร “อัปเดต” อย่างที่เรารู้จักกันในปัจจุบัน

บรรณาธิการนิตยสารอัพเดท ที่ผมรู้จักและเขียนจดหมายคุยด้วยตั้งแต่เป็นวัยละอ่อ คือ พี่จุมพล เหมะคีรินทร์ ครับ  แต่ตอนนี้พี่จุมพล เหมะคีรินทร์ ไปเป็นผู้อำนวยการศูนย์สื่อสารวิทยาศาสตร์ไทย สวทช. แล้ว ผู้สนใจตามไปดูรายละเอียดได้ที่นี่ [http://www.nstda.or.th/sci2pub/thaismc/index.php]

บรรณาธิการนิตยสารอัพเดท คนปัจจุบัน คือ พี่นิสากร ปานประสงค์ (ผู้มอบนิตยสาร UpDATE) นะครับ  ท่านที่สนใจสามารถศึกษาเพิ่มเติมและสมัครสมาชิกนิตยสาร UpDATE ได้ที่ลิงค์นี้นะครับ [http://update.se-ed.com/]
se-ed-update

ความรู้เพิ่มเติม
: สำหรับกิจกรรมส่งเสริมนิสัยรักการอ่าน กลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ ที่รวบรวมไว้ในวารสาร สควค. ฉบับที่ 1 (โดย พิเชษฐ์ พิมพ์มหา บรรณาธิการโดย ศักดิ์อนันต์ อนันตสุข) มี 10 แนวทาง ดังนี้
          1. สังเกตสิ่งแวดล้อมที่อยู่ใกล้ๆ ตัวอยู่เสมอ
          2. ฟังวิทยุ ดูโทรทัศน์ หรืออ่านข่าวหนังสือพิมพ์เกี่ยวกับเรื่องทางวิทยาศาสตร์ทุกวันๆ ละ 1 เรื่อง
          3. อ่านเรื่องราวทางวิทยาศาสตร์ก่อนนอนทุกวันๆ ละ 20 นาที
          4. ถามหรือตอบคำถามเกี่ยวกับเรื่องที่เรียน ทุกวันที่เรียนวิทยาศาสตร์อย่างน้อยวันละ 10 คำถาม
          5. ลงมือทำด้วยตนเอง ทุกครั้งที่มีการเรียนวิทยาศาสตร์ภาคปฏิบัติ
          6. ทำกิจกรรมวิทยาศาสตร์ร่วมกับเพื่อนฝูงหรือบุคคลอื่นอย่างสร้างสรรค์
          7. เขียนเรียงความหรือบทความทางวิทยาศาสตร์ และให้ผู้อื่นอ่านเพื่อวิเคราะห์วิจารณ์เป็นประจำ
          8. นำเสนอเรื่องของการนำความรู้ทางวิทยาศาสตร์ไปใช้ในชีวิตจริงของผู้คนในชุมชน ทุกเดือน เดือนละ 1 เรื่อง
          9. นำเสนอประวัติของนักวิทยาศาสตร์ หรือการค้นพบทางวิทยาศาสตร์ทุกภาคเรียน ภาคเรียนละ 1 เรื่อง
          10. ทำโครงงานวิทยาศาสตร์ทุกปี ปีละ 1 เรื่อง และส่งเข้าประกวดเมื่อมีโอกาส

 เชื่อเหลือเกินว่า หากครูทุกคนนำไปใช้แล้ว จะช่วยให้นักเรียนของเราได้รับความรู้จากวิธีการเหล่านี้มากทีเดียว และหากท่านใดมีประสบการณ์การจัดกิจกรรมส่งเสริมนิสัยรักการอ่าน สามารถแบ่งปันประสบการณ์แลกเปลี่ยนกันได้นะครับ

แหล่งข้อมูลที่น่าสนใจ : [Read Thailand: อ่านเถิด…เด็กไทย อ่านถวายเจ้าฟ้านักอ่าน]

 

ขอขอบคุณ ข้อมูลประกอบการเรียบเรียงจาก :
1. http://th.wikipedia.org/wiki/UpDATE
2. วารสาร สควค. ฉบับที่ 1 



Leave a Comment