[ข้อมูล] จุดมุ่งหมาย ขอบข่ายการฝึกสอน ของครู นศ. ฝึกสอน นักศึกษาฝึกประสบการณ์วิชาชีพครู ทำอะไรบ้าง

การฝึกประสบการณ์วิชาชีพครู หรือ การฝึกสอน เป็นหัวใจของการเรียนรู้วิชาชีพครู งานครูเป็นงานอาชีพเฉพาะหรือเป็นวิชาชีพชั้นสูง ผู้ศึกษาควรจะได้ฝึกงานในหน้าที่ครูอย่างเป็นระบบต่อเนื่องและจริงจัง เพื่อหาประสบการณ์และเกิดทักษะในวิชาชีพโดยแท้จริง จุดมุ่งหมายของการฝึกประสบการณ์วิชาชีพ ดังนี้
     1. เพื่อให้นักศึกษาได้มีโอกาสทดลองหลักการ วิธีสอน ทฤษฎีต่างๆ เกี่ยวกับการเรียนการสอนที่ได้เรียนรู้จากมหาวิทยาลัย ในสถานการณ์จริง
     2. เพื่อให้นักศึกษาได้รับประสบการณ์ตรงและเกิดทักษะในการปฏิบัติงานในหน้าที่ครูทุกด้าน
     3. เพื่อให้นักศึกษามีความสามารถในการศึกษาธรรมชาติ พัฒนาการและการเรียนรู้ของนักเรียน
     4. เพื่อให้นักศึกษามีความสามารถในการสร้างมนุษยสัมพันธ์และทำงานร่วมกับผู้อื่นได้อาทิ ผู้บริหาร ครูพี่เลี้ยง ครูนิเทศก์ ครูในสถานศึกษา ผู้ร่วมงานและนักเรียน
     5. เพื่อให้นักศึกษาได้เรียนรู้ศักยภาพ จุดเด่นและจุดอ่อนของตนเอง เพื่อพัฒนาและปรับปรุง แก้ไขให้ดียิ่งขึ้น
     6. เพื่อให้นักศึกษาได้มีโอกาสศึกษาสภาพของชุมชน และฝึกฝนทักษะอย่างมีส่วนร่วมในการพัฒนาท้องถิ่น
     7. เพื่อให้นักศึกษาเกิดความรัก ความศรัทธาและเชื่อมั่นในวิชาชีพครูก่อนออกไปประกอบอาชีพรับใช้สังคม

pre-service-teacher
ขอบข่ายของการฝึกปฏิบัติการวิชาชีพครู
      การฝึกปฏิบัติการวิชาชีพครู มุ่งสร้างประสบการณ์ และฝึกทักษะด้านต่างๆ ให้แก่นักศึกษาเพื่อให้มีความสามารถที่จะปฏิบัติงานในหน้าที่ครูได้อย่างมีประสิทธิภาพ เมื่อออกไปเป็นครู ซึ่งจำแนกได้ดังนี้

1. งานด้านการสอน นักศึกษาฝึกสอน ควรต้องดำเนินการดังนี้
     1. ศึกษาหลักสูตร และเอกสารหลักสูตรต่างๆ อาทิ หน่วยการเรียนรู้ แนวการสอนคู่มือครู แผนการจัดการเรียนรู้ หนังสือเรียน หนังสืออ่านประกอบ หนังสือเสริมประสบการณ์ ฯลฯในช่วงและชั้นที่จะสอน ตลอดจนหลักการและระเบียบปฏิบัติต่างๆ ที่เกี่ยวกับการเรียนการสอน
     2. การวางแผนการสอน และการจัดทำแผนการจัดการเรียนรู้ ควรทำล่วงหน้าอย่างน้อย 2 วันและส่งให้ครูพี่เลี้ยงหรือครูนิเทศตรวจก่อนสอนทุกครั้งและเตรียมอุปกรณ์สื่อต่างๆ ให้พร้อมที่จะสอน
     3. การสังเกตการสอน นักศึกษาทุกคนควรต้องสังเกตการสอนของครูพี่เลี้ยง หรือเพื่อนนักศึกษาก่อนปฏิบัติการจริงระยะเวลาหนึ่ง เพื่อศึกษาวิธีการ และกำหนดแบบแผนการเรียนรู้ของตนเอง
     4. การสอน นักศึกษาต้องเข้าสอนในชั้นใดชั้นหนึ่ง หรือวิชาใดวิชาหนึ่งตามที่ได้รับมอบหมายจากสถานศึกษา โดยมีชั่วโมงสอนอย่างน้อย 10 ชั่วโมง/สัปดาห์ (ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับภารกิจที่สถานศึกษาจะมอบหมายด้วย)

2. งานปรับปรุงชั้นเรียน นักศึกษาฝึกสอน ต้องปรึกษาและมีส่วนร่วมกับครูพี่เลี้ยง ในการปรับปรุงชั้นเรียนที่ตนสอนหรือประจำชั้นตามความเหมาะสม ได้แก่
     1. จัดทำป้ายนิเทศ ป้ายสถิติจำนวนนักเรียน ป้ายวิชาการหรือข้อมูล ข่าวสาร ฯลฯให้เป็นปัจจุบันและเหมาะสม
     2. จัดประดับตกแต่งห้องเรียนให้มีบรรยากาศส่งเสริมการเรียนรู้ สวยงาม สะอาดตาสะอาดใจ
     3. จัดวางสิ่งของ อุปกรณ์การเรียน หนังสือ ฯลฯ อย่างเป็นระเบียบและให้นักเรียนมีส่วนร่วม
     4. ดูแลความเป็นระเบียบของห้องเรียน โต๊ะเรียน กระดาน ชอล์ค เพื่อให้อยู่ในสภาพที่เรียบร้อย เป็นระเบียบและพร้อมที่จะใช้ได้เสมอ
     5. จัดมุมประสบการณ์ต่างๆ ตามความเหมาะสม
     6. รักษาความสะอาดของห้องเรียนอย่างสม่ำเสมอ

3. งานปรับปรุงโรงเรียน นักศึกษาฝึกสอน ต้องมีส่วนร่วมในการปรับปรุงโรงเรียน ให้สอดคล้องกับโครงการและความต้องการของโรงเรียน โดยได้รับความเห็นชอบจากหัวหน้าสถานศึกษา เช่น
     1. จัดแต่งป้ายชื่อโรงเรียน ป้ายห้องต่างๆ ป้ายคำขวัญ ฯลฯ
     2. ดูแลความสะอาด ความเป็นระเบียบของรั้วโรงเรียน ถนน บริเวณโรงเรียน
     3. ดูแลแปลงไม้ดอก ไม้ประดับ ที่นั่งเล่นพักผ่อน
     4. ดูแลสนามหญ้า สนามเด็ก สนามกีฬา ตลอดจนศูนย์การเรียนต่างๆ
     5. ช่วยดูแลทรัพย์สินและความปลอดภัยของโรงเรียน นักเรียนและอื่นๆ ตามสมควร

4. งานด้านปกครอง นักศึกษาฝึกสอน ต้องมีส่วนร่วมในการปกครองชั้นเรียนตามสมควร เช่น
     1. ปกครองชั้นที่สอน ตลอดจนให้การอบรมนักเรียนทุกครั้งเมื่อมีโอกาส เช่นในชั้นเรียน หน้าเสาธง และโอกาสต่างๆ
     2. สอดส่องดูแลความประพฤติของนักเรียนในโรงเรียน
     3. หาโอกาสพบปะผู้ปกครองนักเรียนตามโอกาสอันเหมาะสม

5. งานด้านธุรการในโรงเรียน นักศึกษาฝึกสอน ควรต้องดำเนินการดังนี้
     1. ทำบัญชีเรียกชื่อนักเรียน สมุดประจำชั้น สมุดประจำวิชา ฯลฯ
     2. ทำระเบียนต่างๆ ตามที่ได้รับมอบหมาย

6. งานด้านพัฒนาชุมชน นักศึกษาฝึกสอน ควรต้องดำเนินการดังนี้
     1. ศึกษาสภาพของชุมชนที่ไปฝึกปฏิบัติการวิชาชีพครูอย่างเข้าใจและทราบข้อมูลที่พอเพียง
     2. มีส่วนร่วมหรือให้ความร่วมมือในการพัฒนาชุมชนในโอกาสต่างๆ
     3. เสนอโครงการต่างๆ เพื่อพัฒนาสนับสนุนหรือประสานงานในการพัฒนาชุมชนตามสมควร

ทั้งนี้ หากนักศึกษารู้สึกว่า มีงานที่รับมอบหมายมากเกินไป อาจจะปรึกษากับอาจารย์นิเทศก์จากทางมหาวิทยาลัย หรือควรคิดว่าเป็นโอกาสในการเรียนรู้และพัฒนาตนเอง ก็จะทำให้การฝึกสอนเป็นไปอย่างมีความสุขและได้รับประสบการณ์ที่ดี “งานหนัก ไม่เคยฆ่าคน”

ที่มา : http://www.training.fiet.kmutt.ac.th/main/direction.html



Leave a Comment