การเตรียมตัวเป็นนาค การเตรียมตัวบวชพระ การบวชในพระพุทธศาสนา เตรียมบวชพระให้ได้บุญ

บวช มาจากศัพท์บาลีว่า “ปัพพัชชา” ( ซึ่งมาจาก ป + วัช + ธาตุ) หมายความว่า ออก หรือเว้นจากความพันพัวกับการครองเรือน ตลอดไปถึงจากความประพฤติชั่ว ได้แก่การหลีกออกจากบ้านเรือนไปหาที่สงัด ที่ไกลจากบ้านเรือน เช่น ในป่า ทำที่พักพออาศัยอยู่ได้ เช่น บรรณศาลา (ทับใบไม้) เพื่อทำความสงบระงับชั่วคราวบ้าง ตลอดไปบ้าง ถือกันว่าเป็นการประกอบการกุศลหรือบุญอย่างสูง มีมาก่อนพระพุทธเจ้าตรัสรู้ ชายไทยที่มีอายุครบ 20 ปีบริบูรณ์ พึงอุปสมบท ในพระพุทธศาสนา เพื่อทดแทนพระคุณบิดามารดา และเป็นโอกาสในการศึกษาปฏิบัติธรรมในพระธรรมวินัยของพระสัมมาสัมพุทธจ้า และเป็นคติหนึ่งที่ถือว่า บวชก่อนเบียด (บวชพระก่อนที่จะแต่งงาน)

monk-sakananการเตรียมตัวก่อนบวช
ผู้จะบวชเรียกว่า “อุปสัมปทาเปกข์” หรือ “นาค” ต้องไปหาผู้เป็นอุปัชฌายะ และต้องฝึกซ้อมท่องคำบาลีที่เรียกว่า “ขานนาค” หรือ “บทสวดเพื่อขออุปสมบท” ให้คล่อง เพื่อในวันจริง จะได้ท่องได้โดยไม่เคอะเขิน นาค จึงควรเตรียมตัวดี ๆ ให้สมกับที่เกิดเป็นลูกผู้ชาย งานบวชก็มีแค่ครั้งเดียว จึงควรท่องให้ได้ ทำให้ดีที่สุด

สาเหตุที่เรียกชายหนุ่มที่กำลังจะบวชว่า “นาค” (แปลว่า ผู้ประเสริฐหรือผู้ที่ไม่ทำบาป) มีเรื่องเล่าในพุทธประวัติว่า ในสมัยพุทธกาลมีพญานาคตนหนึ่งที่เลื่อมใสในพระพุทธศาสนา แปลงร่างเป็นมนุษย์มาขอบวชกับพระพุทธเจ้า ต่อมามีพระภิกษุรูปหนึ่งไปรู้ความจริง (เนื่องจากเมื่อนาคหลับ จะกลายร่างจากมนุษย์เป็นนาค) จึงไปกราบทูลพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าจึงสั่งให้พญานาคตนนั้นสึก พญานาคตนนั้นเสียใจมากที่ไม่ได้บวช จึงขอพระพุทธเจ้าว่าให้เรียกคนที่กำลังจะบวชว่า “นาค” 

ทั้งนี้ ผู้ที่จะบวชได้ต้องเป็น “มนุษย์เท่านั้น” จะเป็นอย่างอื่นมาบวชพระ ไม่ได้ รวมถึงต้องได้รับอนุญาตจากพ่อแม่ผู้ปกครองก่อน จึงจะบวชได้ ตอนทำพิธีบวช พระอุปัชฌาย์จะถามเราหลายคำถาม หนึ่งในนั้นคือถามว่า “มนุสโส ซิ” แปลว่า “เธอเป็นคนรึเปล่า” ซึ่งผู้บวชจะต้องตอบว่า “อามะ ภันเต” แปลว่า “เป็นครับ ท่าน”

การเตรียมเครื่องบวช : เครื่องอัฏฐบริขารและเครื่องใช้อื่นๆ ที่จำเป็น

1. ไตรครอง ได้แก่ สบง 1 ประคตเอว 1 อังสะ 1  จีวร 1 สังฆาฏิ 1 ผ้ารัดอก 1 ผ้ากราบ 1
     – ถ้าผู้ขอบวชสูง 160-169 ซม. ใช้ผ้า 2.00 ม.
     – ถ้าผู้ขอบวชสูง 170-175 ซม. ใช้ผ้า 2.00 ม.
     – ถ้าผู้ขอบวชสูง 176-185 ซม. ใช้ผ้า 2.20 ม.
2. บาตร แบบมีเชิงรองพร้อมด้วยฝา ถลกบาตร สายโยค ถุง ตะเครียว
3. มีดโกน พร้อมทั้งหินลับมีดโกน
4. เข็มเย็บผ้า พร้อมทั้งกล่องเข็มและด้าย
5. เครื่องกรองน้ำ (ธมกรก)
6. เสื่อ หมอน ผ้าห่ม มุ้ง
7. จีวร สบง อังสะ ผ้าอาบ 2 ผืน (อาศัย)
8. ตาลปัตร ย่าม ผ้าเช็ดหน้า ร่ม รองเท้า
9.โคมไฟฟ้า หรือตะเกียง ไฟฉาย นาฬิกาปลุก
10.สำรับ ปิ่นโต คาว หวาน จานข้าว ช้อนส้อม ผ้าเช็ดมือ
11.ที่ต้มน้ำ กาต้มน้ำ กาชงน้ำร้อน ถ้วยน้ำร้อน เหยือกน้ำและแก้วน้ำเย็น กระติกน้ำแข็ง กระติกน้ำร้อน
12.กระโถนบ้วน กระโถนถ่าย
13.ขันอาบน้ำ สบู่และกล่องสบู่ แปรงและยาสีฟัน ผ้าขนหนู กระดาษชำระ
14.สันถัต (อาสนะ)
15.หีบไม้หรือกระเป๋าหนังสำหรับเก็บไตรครอง

ข้อที่ 1-5 เรียกว่า “อัฏฐบริขาร” หรือ “เครื่องใช้ทั้งแปด” ถือเป็นสิ่งจำเป็นที่ขาดเสียมิได้ แบ่งเป็นผ้า 5 อย่าง คือ สบง 1 (ผ้านุ่ง (ส่วนล่าง)), จีวร 1 (ผ้าห่ม (ส่วนบน)), สังฆาฏิ 1 (ผ้าพาดไหล่), ประคดเอว 1 (คล้ายเข็มขัด ทำให้สบงรัดกุมขึ้น) ผ้ากรองน้ำ 1 และเหล็ก 3 อย่าง คือ บาตร 1 มีดโกน 1 เข็มเย็บผ้า 1 นอกจากนั้น ขึ้นกับความจำเป็นของแต่ละแห่งและกำลังทรัพย์

ผ้ากรองน้ำ มีความสำคัญสำหรับพระในอดีต เพราะสมัยก่อน พระอยู่ป่าเขา ต้องฉันน้ำในแม่น้ำลำคลอง ต้องใช้ผ้ากรองน้ำ กรองสัตว์เล็ก ๆ ที่อยู่ในน้ำออกไปก่อน แต่ปัจจุบัน มีน้ำประปาหรือน้ำขวดที่ผ่านการกรองมาเป็นอย่างดีแล้ว ดื่มหรือฉันได้เลย

คำขอขมาบิดา มารดา และญาติผู้ใหญ่เพื่อลาบวช

“กายกรรม วจีกรรม และมโนกรรม ที่ข้าพเจ้าได้เคยประมาทล่วงเกินท่านต่อหน้าก็ดี ลับหลังก็ดี ทั้งตั้งใจก็ดี มิได้ตั้งใจก็ดี ขอให้ท่านจงอโหสิกรรมแก่ข้าพเจ้านับแต่บัดนี้เป็นต้นไปจนตราบเท่านิพพาน เทอญ”

สถานที่ทำพิธีบวชพระ : พระอุโบสถ ประชุมสงฆ์ 28 รูป มีพระอุปัชฌาย์ 1  พระกรรมวาจารย์ 1  พระอนุสาวนาจารย์ 1 (สองรูปหลังเรียกว่า พระคู่สวด) และพระอันดับ อีกราว 10-25 รูป

การบวชนาคและแห่นาค : การจัดกระบวนแห่ประกอบด้วยสิ่งต่อไปนี้ คือ
1. การแสดงต่างๆ เช่น หัวสิงโต สิงโต (ถ้ามี)
2. แตร หรือ เถิดเทิง (ถ้ามี)
3. ของถวายพระอุปัชฌาย์ พระคู่สวด
4. ไตรครอง ซึ่งมารดาของผู้บวชมักจะเป็นผู้อุ้ม (มีสัปทนกั้น)
5. ผู้บวชพนมมือถือดอกบัว 3 ดอก ธูป 3 ดอก เทียน 2 เล่ม (มีสัปทนกั้น)
6. บาตร และตาลปัตร ซึ่งบิดาของผู้บวชเป็นผู้สะพายและถือ
7. ของถวายพระอันดับ
8. บริขารและเครื่องใช้อย่างอื่นของผู้บวช

ทั้งนี้ ถ้ามีไตรถวายพระอุปัชฌาย์และพระคู่สวด ต้องมีสัปทนกั้นอีก 3 คัน ของถวายพระอุปัชฌาย์มีพิเศษอยู่อย่างหนึ่ง คือ กรวยขอนิสัย ซึ่งภายในกรวยมีหมากพลูหรือเมี่ยงและบุหรี่ นอกนั้นแล้วแต่จะเห็นสมควร ควรจัดของถวายสำหรับพระอุปัชฌาย์เป็นพิเศษ รองลงมาคือ พระคู่สวด รองลงมาอีกคือ พระอันดับ

เมื่อจัดขบวนเรียบร้อยแล้วก็เคลื่อนขบวนเข้าสู่พระอุโบสถ เวียนขวารอบนอกขันธสีมา จนครบ 3 รอบ ก่อนจะเข้าโบสถ์ก็ต้องวันทาเสมาหน้าพระอุโบสถเสียก่อนว่า วันทามิ อาราเม พัทธะเสมายัง โพธิรุกขัง เจติยัง สัพพะ เม โทสัง ขะมะถะ เม ภันเต

เมื่อเสร็จแล้วก็โปรยทานก่อนเข้าสู่พระอุโบสถโดยให้บิดามารดาจูงติดกันไป เสร็จแล้วผู้บวชก็ไปกราบพระประธานด้านข้างพระหัตถ์ขวาขององค์พระ รับไตรครองจากมารดาบิดา จากนั้นจึงเริ่มพิธีการบวชตามหลักพระธรรมวินัยต่อไป

วิธีบรรพชาอุปสมบท
ในหนังสือมนต์พิธี กล่าวถึงบทสวด และขั้นตอนการบรรพชาอุปสมบทสองแบบ คือ
     1. แบบอุกาสะ
     2. แบบเอสาหัง
ผู้บวชต้องติดต่อกับเจ้าอาวาสและพระอุปัชฌาย์ ทางพระจะแจ้งให้ทราบว่าเป็นการบวชแบบไหนและต้องท่องบทไหน

ของที่ต้องเตรียมวันโกนหัว
   1. ใบบัว 1 ใบ
   2. กรรไกรขลิบผม 1 อัน
   3. มีดโกนขนนก 1 อัน

ของที่คนทางบ้านต้องเตรียม
   1. ของโปรยทาน
   2. อาหารเลี้ยงแขก
   3. ซองปัจจัยสำหรับพระอุปัชฌาย์ พระคู่สวด และพระอันดับ

ขั้นตอนการบวชพระ (ที่มา: วัดบวรนิเวศ)
1. ครอบครัว ญาติ ตัดปอยผม
2. พระพี่เลี้ยงโกนผมนาค
3. กล่าวคำขอขมาลาบวช กราบพ่อ-แม่ ท่านละ 1 ครั้ง (ไม่แบมือ) และรับมอบผ้าไตรจากพ่อแม่ญาติผู้ใหญ่
4. ถ่ายภาพนาคหน้าโบสถ์
5. นาคโปรยทานหน้าโบสถ์
6. พ่อแม่พานาคเข้าประตูโบสถ์
7. นำผ้าไตรส่งให้เจ้าหน้าที่ นำดอกไม้ธูปเทียนไหว้พระประธานในโบสถ์
8. ทำพิธีเปล่งวาจาขออุปสมบท กราบพระอุปัชฌาย์ หยิบผ้าไตรวางไว้บนท่อนแขน กล่าวคำขออุปสมบท เอสาหัง
9. กล่าวจบวางผ้าไตรลง ฟังพระอุปัชฌาย์สอนกัมมัฏฐาน แล้วกล่าว เกสาโลมาฯ
10. พระอุปัชฌาย์สวมอังสะให้นาค
11. ออกไปครองผ้าไตรจีวร ด้านหลังโบสถ์ (ญาติไปเก็บชุดนาคด้วย)
12. เปล่งวาจาขอสรณะและศีล 10 จากพระอาจารย์
13. รับศีลแล้ว ไปรับประเคนบาตรจากพ่อแม่
14. คลานเข่า ถวายดอกไม้ธูปเทียนแด่พระอุปัชฌาย์ และกล่าวคำขอนิสัย
15. พระกรรมวาจารย์ คล้องบาตรให้
16. พระคู่สวด สอบถามอันตรายิกธรรม (คุณสมบัติ)
17. กราบสงฆ์
18. เปล่งวาจาขอญัตติกรรม สังฆัมภันเต
19. ฟังอนุสาสน์บาลีจากพระอุปัชฌาย์
20. ถวายเครื่องไทยธรรม กรวดน้ำ เสร็จพิธี

ขั้นตอนการบวชพระ (ที่มา: เวบ Pantip)
1. ตัดปอยผม จะต้องมีใบบัวใบใหญ่ เพื่อใช้รับเศษผม และกรรไกร เพื่อนและญาติจะทำการตัดปอยผม
2. โกนศีรษะ เป็นขั้นตอนของพระอาจารย์จะโกนให้ [ในชนบทบางแห่งให้ช่างผู้ชำนาญการโกนให้] ใน ขั้นตอนนี้ ควรมีแชมพูให้นาคฟอกหัวก่อน เพื่อให้โกนง่าย
3. ขอขมาพ่อแม่ญาติพี่น้อง เพื่อนฝูง โดยนาคจะมายกธูปเทียนแพ ขอขมาพ่อแม่ญาติพี่น้อง และกล่าวลาบวช
4. เดินแห่ไปอุโบสถ และเวียนรอบพระอุโบสถ 3 รอบ  ขั้นตอนนี้ แล้วแต่วัด บางวัดอนุญาตให้มีแตรวง กลองยาว ให้ร้องรำทำเพลง  แต่บางวัดจะให้เดินแห่โดยสงบ ขั้นตอนนี้ พ่ออุ้มบาตร ถือตาลปัตร แม่ถือไตร ญาติพี่น้องก็ถือหมอน ที่นอน กลด อัฏฐบริขาร  สังฆทาน
5. นาควันทาสีมา นาคจะทำการกล่าวคำวันทาสีมาหน้าพระอุโบสถ  เป็นการทำความเคารพพระอุโบสถ
6. นาคเดินเข้าพระอุโบสถ ตามความเชื่อเก่าๆ ก็คือ ต้องจับชายผ้าขาวของนาคส่งไปจนเข้าโบสถ์ ถึงจะได้บุญมาก โดยมากจะให้นาคเข้าโบสถ์ไปก่อน ส่วนญาติพี่น้อง จะตามเข้าไป แต่ต้องนั่งแยกจากหมู่สงฆ์ และนั่งฟังอย่างสงบ
7. นาควันทาพระประธาน ด้วยคำกล่าวเดียวกับวันทาสีมา
8. ขั้นตอนของการบรรพชา หรือ บวชเณร จะมีการวันทาพระอุปัชฌาย์ และถวายธูปเทียนแพต่อท่าน เมื่อสมาทานศีล 10 และขอนิสสัย แล้ว จะให้หันไปรับผ้าไตรจากพ่อแม่ จากนั้น อุปัชฌาย์จะคล้องอังสะให้ แล้วออกไปเปลี่ยนเป็นห่มจีวร เป็นเณร
9. เณรเข้ามารับบาตรจากพ่อแม่ แล้วเข้ามาหาอุปัชฌาย์ ท่านจะบอกอัฏฐบริขาร จากนั้นก็เริ่มกระบวนการซ้อมขานนาค (ซ้อมสวดอันตรายิกธรรม) โดยพระคู่สวด  ท่านจะออกไปซักซ้อมการตอบคำถาม  แล้วจึงค่อยเริ่มจริง
10. เมื่อสวดอันตรายิกธรรมเรียบร้อย  จะเรียกว่าเป็น อุปสัมปทาเปกข์ (คือ บุคคลเตรียมอุปสมบท) ซึ่งจะต้องเข้าไปกล่าวคำขออุปสมบท แล้วก็นั่งคุกเข่า ราว 10-15 นาที เมื่อสวดครบ 3 ครั้ง ก็จะเป็นภิกษุโดยสมบูรณ์
11. หลังจากนั้น อุปัชฌาย์จะให้โอวาท ก่อนจบ มักจะถวายปัจจัยแด่พระอุปัชฌาย์ และพระคู่สวด  รวมถึง ไทยทาน
12. เมื่อพระท่านออกไปกันแล้ว  มักจะนิยมให้พระใหม่นั่งรับบาตร โดยญาติพี่น้องก็จะถวายปัจจัย  

มารผจญนาคและพระบวชใหม่
มีความเชื่อคำขู่มาแต่โบราณว่า “ก่อนบวชให้ระวังตัวไว้ให้ดี จะมีมารมาผจญ” เช่น นาคเกิดอุบัติเหตุก่อนบวช เนื่องจาก ก่อนจะบวช นาคและผองเพื่อนมักจะไปเมาเหล้าทิ้งท้ายการเป็นฆราวาส เมื่อขาดสติ โอกาสที่จะเกิดอุบัติเหตุก็มีมากขึ้น ผู้บวชจึงไม่ควรประมาทและดื่มกินจนขาดสติ นอกจากนี้ เมื่อบวชแล้ว มารผจญจนผ้าเหลืองร้อน คือ “แฟน” ที่อาจจะมางอนหรือตื้อว่าให้สึกได้แล้ว หรือผู้หญิงบางคนก็อาจจะชอบพระ มีการเล่นหูเล่นตากับพระ พระจึงควรสำรวมระวังในเรื่องนี้ ขณะที่ครองผ้ากาสาวพัตร จะทำเหมือนเมื่อครั้งเป็นฆราวาสไม่ได้  

ดาวน์โหลดเอกสารคู่มือการบวช : [ขั้นตอนการบรรพชา การอุปสมบท แบบละเอียดพร้อมภาพประกอบ]
หมายเหตุ : ผู้เขียนมีโอกาสบรรพชาอุปสมบท เมื่ออายุครบบวช ขณะอายุ 20 ปี เป็นเวลา 45 วัน ระหว่างวันที่ 1 เมษายน-15 พฤษภาคม 2543 ได้ฉายา “ปัญญาวุโธ” จำวัดที่วัดบ้านไผ่ และวัดสีนารมณ์ บ้านม่วงหมาก

เรียบเรียงจาก:
1. http://tarayna.wordpress.com/2012/02/21/การเตรียมตัวบวชพระ
2. http://dekwad.exteen.com/20090921/entry-1
3. http://pakornkrits.wordpress.com/tag/ขั้นตอนการบวชพระ
4. หนังสือ “มนต์พิธีแปล” รวบรวมโดย พระครูอรุณธรรมรังษี (เอี่ยม สิริวณโณ) วัดอรุณราชวราราม (คณะ 3)



Leave a Comment