ชนเผ่าเมารี ชาวโพลีนีเซีย และ TIKI แห่งนิวซีแลนด์

maoridanceชนเผ่าเมารีซึ่งเป็นชาวโพลีนีเซียที่อาศัยอยู่บนหมู่เกาะนิวซีแลนด์ คือเจ้าถิ่นเดิมของดินแดนแห่งนี้ก่อนที่ชนผิวขาวจะมาถึง แม้ว่าพวกเขาจะสูญเสียดินแดนของตนให้กับชนผิวขาวเช่นเดียวกับชาวพื้นเมืองในดินแดนอื่น ๆ ทว่าชาวเมารีก็ได้ต่อสู้กับผู้รุกรานอย่างห้าวหาญและเข้มแข็งจนเป็นที่เกรงขามของอีกฝ่าย

บรรพบุรุษของชาวเมารีเดินทางมาถึงเกาะเหนือและเกาะใต้ของนิวซีแลนด์เมื่อราว ค.ศ. 800 โดยนิวซีแลนด์นับเป็นดินแดนสุดท้ายที่ชาวโพลีนีเซียค้นพบและเข้าครอบครองทั้งยังเป็นดินแดนที่กว้างใหญ่ที่สุดเท่าที่พวกเขาเคยครอบครองด้วย

ชาวเมารีอาศัยอยู่รวมกันเป็นเผ่า ซึ่งแบ่งออกเป็นกลุ่มย่อยที่เรียกว่า ฮาปู หรือเผ่าย่อย และ วาเนา หรือ ครอบครัวขยาย โดยแต่เดิมนั้นชาวเมารีดำรงชีพด้วยการเก็บของป่าและล่าสัตว์ ซึ่งเหยื่อชั้นดีที่เลี้ยงชีวิตชาวเมารีในยุคแรก ๆ คือ เหล่านกโมอาชนิดต่าง ๆ ที่อาศัยอยู่ทั่วดินแดนแห่งนี้

ต่อมาเมื่อนกโมอาและนกบินไม่ได้ขนาดใหญ่ชนิดอื่นๆสูญพันธุ์ไปจนหมดเมื่อราว 600 ปีก่อน ภาวะกดดันด้านการดำรงชีพได้ทำให้ชาวเมารีหันมาเพาะปลูกและทำกสิกรรม ขณะเดียวกันการที่ปริมาณอาหารลดน้อยลงก็ทำให้เผ่าต่าง ๆ เริ่มทำสงครามต่อสู้แย่งชิงทรัพยากรกันมากขึ้น จนแต่ละหมู่บ้านต้องสร้างป้อมค่ายล้อมรอบเพื่อป้องกันการโจมตีจากฝ่ายตรงข้าม

สังคมที่มีการจัดระเบียบและการป้องกันอย่างเข้มแข็งนี้เอง ที่มีส่วนช่วยคุ้มครองชาวเมารีในช่วงที่ชาวยุโรปเริ่มอพยพเข้าสู่นิวซีแลนด์ในทศวรรษที่ 1820 โดยชาวเมารีจำนวนมากได้รับการศึกษาและรู้จักฝึกฝนใช้อาวุธปืนแบบชาวผิวขาว ขณะเดียวกันความขัดแย้งระหว่างชาวเมารีและชาวยุโรปก็ทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ           

ต่อมาในปี ค.ศ. 1835 ตัวแทนจากเผ่าต่าง ๆ บนเกาะเหนือได้ร่วมกันออกคำประกาศอิสรภาพที่เริ่มต้นว่า ”พวกเรา เหล่าผู้สืบทอดตำแหน่งผู้นำและหัวหน้าของส่วนเหนือแห่งดินแดนนี้ มารวมตัวยังไวตังกิ ในอ่าวทั้งสอง ณ วันที่ 28 ตุลาคม ปี 1835 เพื่อประกาศอิสรภาพของประเทศเรา ซึ่งได้รับการสถาปนาให้เป็นรัฐเอกราช ณ ที่นี้ โดยสหภาพของเหล่าชนเผ่าแห่งนิวซีแลนด์”

Maoriwarทว่าสิ่งที่พวกเขาทำ ก็หาได้ยับยั้งไม่ให้อังกฤษประกาศตนเป็นผู้ครอบครองนิวซีแลนด์และแม้ว่าชาวเมารีจะสามารถต่อสู้กับผู้รุกรานชาวผิวขาวได้อย่างเข้มแข็ง ทว่าพวกเขากลับถูกเชื้อโรคที่มากับชาวผิวขาวทำลายล้าง เนื่องจากขาดภูมิคุ้มกัน โดยเมื่อถึงปี ค.ศ. 1840 ประชากรเมารีได้ลดจำนวนลงจากที่เคยมีกว่าสองแสนเหลือเพียงหนึ่งแสนคน

ในปี ค.ศ. 1840 ฝ่ายอังกฤษและเมารีได้ร่วมลงนามในสนธิสัญญาไวตังกิ ซึ่งสถาปนาอำนาจอธิปไตยของอังกฤษในนิวซีแลนด์ โดยระบุให้ชาวเมารีได้สัญชาติอังกฤษ แม้ในทางทฤษฎี สนธิสัญญานี้ถือเป็นการรับทราบในกรรมสิทธิที่ดินของชาวเมารีโดยแลกกับการที่ชาวเมารีจะยอมรับอำนาจอธิปไตยของอังกฤษ ทว่าสนธิสัญญาดังกล่าวมักถูกละเมิดโดยฝ่ายผู้อพยพชาวผิวขาวที่เข้ามาบุกรุกที่ดินของชาวเมารีเสมอ

ความขัดแย้งได้เขม็งเกลียวอย่างรุนแรงในพื้นที่ของเกาะเหนือของนิวซีแลนด์จนกลายเป็นสงครามต่อต้านชนต่างชาติบนเกาะเหนือ ที่เริ่มขึ้นตั้งแต่ ปีค.ศ. 1845 โดยพวกเมารีได้ยกพลเข้าต่อสู้กับผู้รุกรานชาวผิวขาวอย่างดุเดือด ซึ่งแม้ชาวยุโรปจะมีอาวุธที่ทันสมัย แต่ชาวเมารีก็เชี่ยวชาญในการทำสงครามกองโจร ทั้งยังรู้จักการสร้างป้อมค่ายตั้งรับข้าศึกและเมื่อถูกชาวยุโรปยิงปืนใหญ่เข้าถล่ม พวกนักรบก็จะหลบลงไปซ่อนในหลุมที่ขุดเตรียมไว้ ก่อนจะกรูกันออกมาโจมตีเมื่อได้โอกาส

อย่างไรก็ตาม เนื่องจากชาวเมารีมีกำลังน้อยกว่าและขาดเสบียงสนับสนุน ทำให้พวกเขาต้องตกเป็นรอง ครั้นพอถึงปี ค.ศ. 1852 ที่ดินราวครึ่งหนึ่งของชาวเมารีก็ตกเป็นของผู้อพยพชาวผิวขาว ทว่าสงครามยังคงดำเนินไปจนถึง ปี 1872 ก่อนที่ชาวเมารีจะตกเป็นฝ่ายพ่ายแพ้

แม้จะพ่ายแพ้ในสงคราม แต่ชาวเมารีก็ยังคงรักษาชุมชนการเกษตรบางส่วนเอาไว้ได้ ทว่าโรคร้ายที่มากับชาวยุโรปยังคงล้างผลาญชาวเมารีลงไปเป็นจำนวนมาก จนทำให้ชาวเมารีลดจำนวนลงเหลือเพียง 42,000 คนเมื่อตอนสิ้นศตวรรษที่ 19  อย่างไรก็ดี หลังจากเข้าสู่ศตวรรษที่ 20 จำนวนประชากรเมารีได้เริ่มเพิ่มขึ้น โดยมีบางส่วนได้ถูกดูดกลืนเข้าไปในวิถีชีวิตคนเมือง ขณะที่ส่วนที่เหลือยังคงใช้ชีวิตอยู่ในชนบทและยึดมั่นในขนบธรรมเนียมประเพณีเดิมรวมทั้งยังรักษาภาษาของตนเอาไว้ตราบจนทุกวันนี้

ความรู้เพิ่มเติม : TIKI
maori-tikiTiki : ไม้แกะสลักรูปคน (แลบลิ้น) สิ่งแสดงสัญลักษณ์หนึ่งของชาวเมารี พบได้ทั่วไปในสถานที่ราชการ และสาธารณะ
tiki-aucklandTiki กลับหัว ที่ SKYCITY, Auckland, NewZealand

ที่มาเนื้อหา : ชนเผ่าเมารีแห่งนิวซีแลนด์ : www.komkid.com



Leave a Comment