[ข้อมูล] วันมาฆบูชา วันจาตุรงคสันนิบาต วันแสดงโอวาทปาฏิโมกข์ วันบูชาพระธรรม วันเพ็ญเดือนสาม

วันมาฆบูชา หรือ วันจาตุรงคสันนิบาต เป็นวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา ถือเป็นวันบูชาพระธรรม เพราะเป็นวันที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงธรรม ที่เรียกว่า โอวาทปาฏิโมกข์ และมีเหตุการณ์สำคัญ 4 ประการในวันดังกล่าว เมื่อกว่า 2,500 ปี

ความหมายและการกำหนดวันมาฆบูชา
คำว่า “มาฆะ” นั้น เป็นชื่อของเดือน 3 ย่อมาจากคำว่า “มาฆบุรณมี” หมายถึง การบูชาพระในวันเพ็ญกลางเดือนมาฆะ หรือเดือน 3 ตามปฏิทินจันทรคติของไทยนั้นจะตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 3 แต่ถ้าปีใดมีเดือนอธิกมาส คือมีเดือน 8 สองครั้ง วันมาฆบูชาก็จะเลื่อนไปเป็นวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 4 และมักตรงกับเดือนกุมภาพันธ์หรือมีนาคม

Magha-Puja-Day
ความเป็นมาของวันมาฆบูชา

เป็นวันที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง “โอวาทปาติโมกข์” แก่พระสงฆ์เป็นครั้งแรก หลังจากตรัสรู้มาแล้วเป็นเวลา 9 เดือน ซึ่งหลักคำสอนนี้เป็นหลักการ และวิธีการปฏิบัติต่างๆ โดยใจความสำคัญที่ถือเป็นแก่นคำสอนของพระพุทธศาสนาคือ  “ทำความดี ละเว้นความชั่ว ทำจิตใจให้บริสุทธิ์” และยังถือว่าเป็นการปฐมนิเทศในการเผยแผ่พระพุทธศาสนาอย่างเป็นทางการครั้งแรก ถือเป็นปรากฏการณ์มหัศจรรย์ที่โลกต้องจารึก เพราะเป็นการประชุมของพระอรหันต์ล้วนๆ และเป็นครั้งแรกที่มีการประชุมเพื่อรับฟังทิศทางการเผยแผ่พระพุทธศาสนาให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน

ทั้งนี้ในวันมาฆบูชาได้เกิดเหตุอัศจรรย์ขึ้นพร้อมๆ กันถึง 4 ประการ อันได้แก่
     1. วันนั้นตรงกับวันเพ็ญ ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 3 ซึ่งพระจันทร์เสวยมาฆฤกษ์
     2. มีพระสงฆ์จำนวน 1,250 รูป มาประชุมพร้อมกันโดยมิได้นัดหมาย ณ วัดเวฬุวัน เมืองราชคฤห์ แคว้นมคธ เพื่อสักการะพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
     3. พระสงฆ์ที่มาประชุมทั้งหมดล้วนแต่เป็นพระอรหันต์ ผู้ได้อภิญญา 6
     4. พระสงฆ์ทั้งหมดได้รับการอุปสมบทโดยตรงจากพระพุทธเจ้า หรือ “เอหิภิกขุอุปสัมปทา”

เพราะเกิดเหตุอัศจรรย์ 4 ประการข้างต้น ทำให้วันมาฆบูชา เรียกอีกชื่อหนึ่งได้ว่า “วันจาตุรงคสันนิบาต” ซึ่งคำว่า “จาตุรงคสันนิบาต”  ที่แปลว่า “การประชุมด้วยองค์ 4” และถือว่า วันมาฆบูชา เป็นวันพระธรรม (ขณะที่วันวิสาขบูชาถือเป็นวันพระพุทธ และวันอาสาฬหบูชา เป็นวันพระสงฆ์)

ประวัติวันมาฆบูชาในประเทศไทย
ประเทศไทยเริ่มกำหนดพิธีปฏิบัติในวัน มาฆบูชาเป็นครั้งแรกในช่วงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ซึ่งมีการประกอบพิธีเป็นครั้งแรกในปี พ.ศ.2394 ในพระบรมมหาราชวังก่อน โดยมีพิธีพระราชกุศลในเวลาเช้า นมัสการพระสงฆ์จากวัดบวรนิเวศวรวิหารและวัดราชประดิษฐ์จำนวน 30 รูป ฉันภัตตาหารในพระอุโบสถ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม

เมื่อถึงเวลาค่ำ  พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จฯ ออก ทรงจุดธูปเทียนนมัสการ พระสงฆ์ทำวัตรเย็นและสวดคาถาโอวาทปาติโมกข์ เมื่อสวดจบทรงจุดเทียน 1,250 เล่ม รอบพระอุโบสถ มีการประโคมอีกครั้งหนึ่งแล้วจึงมีการเทศนาโอวาทปาติโมกข์ 1 กัณฑ์เป็นทั้งเทศนาภาษาบาลี และภาษาไทย ส่วนเครื่องกัณฑ์ประกอบด้วยจีวรเนื้อดี 1 ผืน เงิน 3 ตำลึงและขนมต่างๆ เมื่อเทศนาจบ พระสงฆ์ 30 รูป สวดรับ

ในสมัยรัชกาลที่ 4 นั้น พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จะเสด็จออกประกอบพิธีด้วยพระองค์เองทุกปี แต่มีการยกเว้นบ้างในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 เนื่องจากบางครั้งตรงกับช่วงเสด็จประพาสก็จะทรงประกอบพิธีมาฆบูชาในสถานที่ นั้นๆ ขึ้นอีกแห่ง นอกเหนือจากภายในพระบรมมหาราชวัง

ต่อมาการประกอบพิธีมาฆบูชาได้แพร่หลายออกไปภายนอกพระบรมมหาราชวัง และประกอบพิธีกันทั่วราชอาณาจักร ทางรัฐบาลจึงประกาศให้เป็นวันหยุดทางราชการด้วย เพื่อให้ประชาชนจากทุกสาขาอาชีพได้ไปวัด เพื่อทำบุญกุศลและประกอบกิจกรรมทางศาสนา นอกจากนี้ในปี พ.ศ.2549 รัฐบาลไทยประกาศให้วันมาฆบูชา ให้เป็นวันกตัญญูแห่งชาติอีกด้วย

หลักธรรมที่ควรนำไปปฏิบัติวันมาฆบูชา
พุทธศาสนิกชนควรนำหลักการในโอวาทปาฏิโมกข์ ไปประยุกต์ใช้ในการดำเนินชวิตคือ “ทำความดี ละเว้นความชั่ว ทำจิตใจให้บริสุทธิ์” ซึ่งขยายความดังนี้
     1. ทำความดี : ทำกุศลให้ถึงพร้อม คือ การทำความดีทุกอย่างตาม กุศลกรรมบถ 10 ทั้งความดีทางกาย (ไม่ฆ่าสัตว์ ไม่เบียดเบียนผู้อื่น ไม่เอาสิ่งของที่เจ้าของไม่ได้ให้มาเป็นของตน มีความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ไม่ประพฤติผิดในกาม) ความดีทางวาจา (ไม่พูดเท็จ ไม่พูดส่อเสียด ไม่พูดหยาบคาย ไม่พูดเพ้อเจ้อ) และความดีทางใจ (ไม่โลภอยากได้ของผู้อื่น มีความเมตตาปรารถนาดี มีความเข้าใจถูกต้องตามทำนองคลองธรรม)
     2. ละเว้นความชั่ว : การไม่ทำบาปทั้งปวง คือ การลด ละ เลิก ทำบาปทั้งปวง อันได้แก่ อกุศลกรรมบถ 10 ซึ่งเป็นทางแห่งความชั่ว 10 ประการที่เป็นความชั่วทางกาย (การฆ่าสัตว์ การลักทรัพย์ การประพฤติผิดในกาม) ทางวาจา (การพูดเท็จ การพูดส่อเสียด การพูดเพ้อเจ้อ) และทางใจ (การอยากได้สมบัติของผู้อื่น การผูกพยาบาท และความเห็นผิดจากทำนองคลองธรรม)
     3. ทำจิตใจให้บริสุทธิ์ : การทำจิตใจให้ผ่องใส คือ ทำจิตใจให้บริสุทธิ์ หลุดจากนิวรณ์ที่คอยขัดขวางจิตใจไม่ให้เข้าถึงความสงบ ได้แก่ ความพอใจในกาม, ความพยาบาท, ความหดหู่ท้อแท้, ความฟุ้งซ่าน และความลังเลสงสัย

การจัดกิจกรรมวันมาฆบูชาในสถานศึกษา
วันมาฆบูชา เป็นวันหยุดราชการ โรงเรียนต่างๆ (สำหรับนักเรียนที่มีนักเรียนนับถือศาสนาพุทธเป็นส่วนใหญ่) จะมีการจัดกิจกรรมเนื่องในวันมาฆบูชา ก่อนวันมาฆบูชา ดังนี้ จัดนิทรรศการให้ความรู้ ประกวดเรียงความ ตอบปัญหาธรรมะ บรรยายธรรม หรือร่วมกันทำบุญ ตักบาตร เวียนเทียน บำเพ็ญกุศล รวมถึงประกาศเกียรติคุณนักเรียนผู้ทำประโยชน์ ประพฤติตนเป็นแบบอย่างที่ดี

นอกจากนี้ สำหรับพุทธศาสนิกชน ในวันมาฆบูชา จะมีกิจกรรมทางพุทธศาสนา ดังนี้  ตอนเช้า ไปทำบุญตักบาตร ไปวัดเพื่อฟังพระธรรมเทศนา หรือจัดสำรับคาวหวานไปทำบุญถวายภัตตาหาร ช่วงบ่ายฟังพระแสดงพระธรรมเทศนา เจริญสมาธิภาวนา เมื่อถึงตอนค่ำ นำดอกไม้ ธูปเทียนไปเวียนเทียน 3 รอบที่พระอุโบสถ โดยการเวียนเทียนนั้นจะเวียนขวา จำนวน 3 รอบ และช่วงเวลาที่เดินอยู่นั้นให้ระลึกถึง พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ นอกจากนี้ พุทธศาสนิกชนควรบำเพ็ญสาธารณประโยชน์ตามสถานที่ต่างๆ และรักษาศีล สำหรับตามบ้านเรือน สถานที่ราชการ จะมีการประดับธงชาติ ธงธรรมจักร เพื่อระลึกถึงวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา

เรียบเรียงจาก
1. http://hilight.kapook.com/view/20696
2. http://unigang.com/Article/13801
ภาพประกอบจาก : http://www.dhammajak.net/board/files/_44_165.jpg



Leave a Comment