อนุเสาวรีย์สามกษัตริย์ในเมียนมาร์ สามกษัตริย์ผู้ยิ่งใหญ่แห่งพม่า [The 3 Great Kings of Burma]

Great-Kings-of-Burmaพระบรมราชานุสาวรีย์มหาราชแห่งพม่า (จากซ้าย) พระเจ้าอโนรธามังช่อ, พระเจ้าบุเรงนอง และ พระเจ้าอลองพญา

1. พระเจ้าอโนรธามังช่อ หรือ พระเจ้าอโนรธา (Anawrahta) (พ.ศ. 1587-1620) ปฐมกษัตริย์พม่าแห่งราชวงศ์พุกาม ผู้ก่อตั้งอาณาจักรพุกาม เรื่องราวของพระเจ้าอโนรธานั้นมีกล่าวอยู่มากมายในประวัติศาสตร์พม่า ทั้งตำนานพื้นบ้าน ศิลาจารึก และปรัมปราต่าง ๆ จนดูคล้ายเป็นกษัตริย์ในตำนานมากกว่าจะมีพระองค์จริง เช่น การขึ้นครองบัลลังก์ของพระองค์ด้วยการปราบดาภิเษกได้เพราะมีพระอินทร์อุปถัมภ์ เป็นต้น

พระเจ้าอโนรธาขึ้นครองราชย์ในปี พ.ศ. 1587 (ค.ศ. 1044) ช่วงเวลาดังกล่าว อาณาบริเวณของพุกามกินพื้นที่เพียงแถบเมืองพุกามและประเทศพม่าตอนกลางเท่านั้น ต่อมา พระเจ้าองค์ได้สถาปนาราชอาณาจักรที่แข็งแกร่งมั่นคงโดยรวบรวมแว่นแคว้นต่าง ๆ ขึ้นเป็นหนึ่งเดียว

พระเจ้าอโนรธาเมื่อทรงครองราชย์แล้ว ไม่ทรงโปรดที่ชาวพม่าขณะนั้น นับถือความเชื่อพื้นเมืองอย่างงมงาย เช่น ผี หรือ นัต และนักบวชนอกศาสนา (อะเยจี) เป็นต้น จึงทรงสถาปนาพระพุทธศาสนาให้สถิตย์อยู่ในอาณาจักรพม่า ซึ่งในขณะนั้น มีพระรูปหนึ่ง ชื่อ พระชินอรหันต์ กำลังจารึกแสวงบุญจากเมืองสะเทิมมายังพุกาม พระเจ้าอโนรธาได้แสดงความนอบนบต่อพระชินอรหันต์ พระองค์ก็ทรงมีศรัทธาเป็นอย่างยิ่ง จึงทรงขอร้องให้พระชินอรหันต์เผยแผ่พระศาสนาในพุกาม และด้วยความช่วยเหลือของพระชินอรหันต์ พระองค์จึงสามารถสถาปนาพุทธศาสนาให้มั่นคงขึ้นเป็นครั้งแรกในพม่า

พระเจ้าอโนรธามังช่อ สวรรคตในปี พ.ศ. 1620 ตามพงศาวดารพม่าระบุว่า สวรรคตด้วยอุบัติเหตุระหว่างออกล่าสัตว์ เนื่องจากถูกกระบือเผือกขวิด

2. พระเจ้าบุเรงนอง (Bayinnaung) (พ.ศ.2094 – 2124) พระนามออกเสียงตามสำเนียงพม่าว่า “บาเยนอง” มีความหมายว่า “พระเชษฐาธิราช”) มีพระนามเต็มว่า “บาเยนองจอเดงนรธา” (ไทยเรียกเพี้ยนเป็น “บุเรงนองกะยอดินนรธา“) แปลว่า “พระเชษฐาธิราชผู้ทรงกฤษดาภิหาร” กษัตริย์พม่าพระองค์ที่ 3 ในราชวงศ์ตองอู 

พระองค์เป็นกษัตริย์พม่า ที่คนไทยหรือชาวต่างชาติ รู้จักดีที่สุด เนื่องด้วยเกียรติประวัติอันเลื่องลือ จนมีฉายาว่า “พระเจ้าชนะสิบทิศ” อีกทั้งยังมีวรรณคดีประเภท นิยายปลอมพงศาวดารชื่อดังที่มีพระองค์เป็นตัวเอกของเรื่อง คือ “ผู้ชนะสิบทิศ” ด้วย ซึ่งได้มีการนำไปสร้างเป็นละคร ภาพยนตร์ในภายหลังหลายต่อหลายครั้ง

พระนามต่าง ๆ ก็มีอีกมาก เช่น “เซงพะยูเชง” แปลว่า “พระเจ้าช้างเผือก” หรือ “ตะละพะเนียเธอเจาะ” อันแปลว่า “พระเจ้าชนะสิบทิศ” เป็นฉายาที่พบในศิลาจารึกของชาวมอญ และชาวตะวันตกรู้จักพระองค์ในพระนาม “บราจินโนโค่” (Braginoco)

พระเจ้าบุเรงนอง นับว่าเป็นกษัตริย์พม่าที่ยิ่งใหญ่ ด้วยความเป็นกษัตริย์นักรบอันเป็นที่ปรากฏพระเกียรติเลื่องลือ โดยยุคสมัยของพระองค์ อาณาจักรตองอูเข้มแข็งและแผ่ไพศาลอย่างที่สุดในประวัติศาสตร์ โดยครอบคลุมอาณาเขตตั้งแต่ลุ่มน้ำอิระวดีจนถึงลุ่มแม่น้ำโขง มีประเทศราชต่าง ๆ มากมายในภูมิภาคอุษาคเนย์ ได้แก่ หงสาวดี, ล้านช้าง, ไทยใหญ่, เขมร, ญวน, อยุธยา, เชียงใหม่ เป็นต้น

พระเจ้าบุเรงนองสิ้นพระชนม์ในปี พ.ศ. 2124 ด้วยพระโรคชรา

3. พระเจ้าอลองพญา (Alaungpaya) (พ.ศ. 2295 – 2303) ปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์อลองพญา หรือ ราชวงศ์คองบอง ราชวงศ์สุดท้ายของเมียนมาร์ พระนามของพระองค์ออกสำเนียงเป็นภาษาพม่าว่า “อลองเมงตะยาจี” หรือ “อลองพะ” โดยมีความหมายถึง “พระโพธิสัตว์”  

พระองค์มีชาติกำเนิดเป็นสามัญชน นามว่า “อองไชยะ” ที่หมู่บ้านเล็ก ๆ ชื่อ “มุตโชโบ” (ปัจจุบันอยู่ที่เมืองชเวโบ อยู่ห่าง 113 กิโลเมตร ทางตะวันออกเฉียงเหนือของมัณฑะเล) เป็นคนที่เก่งกล้ามีความสามารถ มีความเป็นผู้นำ จนสามารถขึ้นเป็นผู้นำหมู่บ้าน ปราบปรามก๊กต่าง ๆ รวมประเทศเป็นปึกแผ่น หลังจากที่พม่าในยุคนั้น แตกเป็นแว่นแคว้นต่างๆ จนปราบดาภิเษกขึ้นเป็นกษัตริย์ ตั้งราชวงศ์คองบอง และตั้งพระนามโดยให้เชื่อว่า พระองค์เป็นเสมือนพระโพธิสัตว์มาปราบยุคเข็ญ และยังได้สถาปนาศูนย์กลางของอาณาจักรพม่าขึ้นใหม่ ที่เมืองชเวโบ ก่อนที่จะย้ายมาที่อังวะในยุคหลัง  โดยมีเมืองอื่น ๆ รายล้อมเช่น อมระปุระ มณีปุระ หรือ สะกาย เป็นต้น อีกทั้ง พระองค์ยังเป็นผู้พัฒนาเมืองย่างกุ้งและพระราชทานชื่อเมืองนี้ ซึ่งเป็นอดีตเมืองหลวงของพม่าให้มีพัฒนาการขึ้นมาด้วย จากเดิมที่เป็นเพียงหมู่บ้านชาวประมงเล็ก ๆ

เมื่อปราบมอญราบคาบแล้ว พระองค์ก็คิดจะตีกรุงศรีอยุธยา ให้อยู่ในอำนาจให้ได้เหมือนเมื่อครั้งพระเจ้าบุเรงนอง เมื่อ 200 ปีก่อนนั้น จึงยกทัพเข้ามาตี (สมัยพระเจ้าเอกทัศน์) แต่ไม่สำเร็จต้องยกทัพกลับ ไปประชวรสิ้นพระชนม์ระหว่างทาง ตามพงศาวดารไทยระบุว่าสิ้นพระชนม์เพราะปืนใหญ่แตกที่วัดหน้าพระเมรุ แต่พงศาวดารพม่าระบุว่าสิ้นพระชนม์เพราะประชวร

3Kings-of-Burmaอนุสาวรีย์สามกษัตริย์พม่า ตั้งอยู่กรุงเนปิดอร์ ในภาพเป็นงานฉลองกรุงเนปิดอร์ เมืองหลวงใหม่ของเมียนมาร์ 

เรียบเรียงจาก : ข้อมูลจาก Wikipedia และ http://www.sakulthai.com
ภาพประกอบจาก
:
1. http://f.ptcdn.info/724/012/000/1385702244-npd-o.jpg
2. http://topicstock.pantip.com/library/topicstock/2009/01/K7466815/K7466815-20.jpg



Leave a Comment