ความเชื่อเรื่องผีของคนอีสาน ผีอีสาน ความเชื่อผีในสังคมวัฒนธรรมลาว [ผีในวัฒนธรรมอีสาน]

ผี คือ วิญญาณของผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว หรือที่มีอยู่แล้วโดยไม่ทราบว่ามีมาแต่เมื่อใดหรือมีมาอย่างไร ผีเหล่านี้ประกอบด้วย ผีนา ผีป่า ผีเขา ผีบ้าน ผีหมู่บ้าน ผีปู่ย่าตายาย ผีฟ้า ผีแถน และผีอื่น ๆ หรือแม้กระทั่งผีที่เกิดจากการกระทำของบุคคล เช่น ผีปอบ

ghost-feedingความเชื่อเรื่องผีของชาวอีสาน มีความผูกพันกับการประกอบอาชีพ เช่น การทำนา ซึ่งเป็นอาชีพที่ขึ้นอยู่กับสภาพของธรรมชาติดินฟ้าอากาศ จะได้ผลหรือไม่ได้ผลขึ้นอยู่กับธรรมชาติ และปัจจัยที่มีความสำคัญต่อการทำนาก็คือ น้ำจากฟ้า หรือน้ำฝน ชาวอีสานเชื่อว่ามีผีเป็นผู้คอยบันดาลให้ฝนตก ฝนจะตกต้องตามฤดูกาลหรือไม่ มีน้ำเพียงพอหรือไม่ ขึ้นอยู่กับอำนาจดลบันดาลของผีแถน ก่อนลงมือทำนาเมื่อย่างเข้าฤดูฝนจึงต้องมีพิธีกรรมขอฝนจากผีแถน เพื่อให้ฝนตกต้องตามฤดูกาล มีน้ำมากพอที่จะได้ทำนา เมื่อได้น้ำฝนแล้ว ก่อนลงมือหว่านข้าวกล้าก็จะมีพิธีไหว้ผีระจำที่นา หรือที่ชาวบ้านเรียกว่าผีตาแฮก เพื่อข้าวกล้าจะได้เจริญงอกงามไม่ถูกรบกวนจากศัตรูข้าว ได้ข้าวเต็มเม็ดเต็มหน่วย เมื่อถึงฤดูเก็บเกี่ยวก็มีพิธีสู่ขวัญลานนวดข้าว สู่ขวัญข้าวเพื่อเป็นสิริมงคลมีข้าวได้พอกินตลอดปี ก่อนที่จะถึงฤดูกาลทำนาในปีต่อไป เป็นต้น

ความเชื่อเรื่องผีของคนอีสาน มีความผูกพันอยู่กับการดำเนินชีวิต ตั้งแต่แรกเกิดจนกระทั่งเสียชีวิต
– เมื่อแรกเกิด จะมีพิธีการสู่ขวัญเด็กแรกเกิด เพื่อไม่ให้ผีร้ายมาทำลายชีวิตที่จะเติบโตต่อไปในวันข้างหน้า และให้ผีที่ดีมาคุ้มครองปกปักรักษาให้เป็นคนดีมีความเจริญ มีวิถีทางในการดำเนินชีวิตที่ดีในภายภาคหน้า
– เมื่อเจริญวัย การดำเนินชีวิตก็เป็นไปตามฮีตตามคอง อันเป็นหลักปฏิบัติในการดำเนินชีวิตของชาวอีสานแต่อดีต ความเชื่อเรื่องผีก็เข้าไปมีบทบาท เช่น เมื่อถึงวัยที่จะมีชีวิตคู่เข้าสู่พิธีแต่งงาน พ่อแม่ฝ่ายหญิงก็จะดูว่าชายที่จะมาเป็นลูกเขย มีความประพฤติเป็นอย่างไร ตามฮีตตามคองหรือไม่ ประพฤติตัวผิดผีหรือไม่ เมื่อพ่อแม่ฝ่ายหญิงพิจารณาเป็นที่พอใจแล้วก็จะจัดให้มีพิธีแต่งงาน ในพิธีแต่งงานนั้นช่วงหนึ่งจะมีพิธีบอกกล่าวผีบรรพบุรุษให้ทราบว่าชายหญิงคู่นี้จะใช้ชีวิตร่วมกัน ขออำนาจสิ่งศักดิ์สิทธิ์ผีปู่ย่าตายายจงมารับรู้ มาปกปักรักษาให้ชีวิตคู่ของคนทั้งสองมีการครองเรือนที่มีแต่ความสุข อย่าให้ความทุกข์มากล้ำกราย
– เมื่อถึงคราวเจ็บป่วย ชาวอีสานจะพิจารณาอาการ จากลักษณะของโรคที่เป็นแยกออกเป็น 2 ลักษณะคือ
     1. โรคที่เกิดจากพยาธิหรือเชื้อโรค ต้องหายามารักษาซึ่งอาจได้จากสมุนไพรที่มีอยู่ทั่วไปหรือยาจากสาธารณสุข
     2. ถ้าไม่ใช่โรคที่เกิดจากธรรมชาติก็เกิดจากการกระทำของภูติผี หรือว่าคนป่วยไปกระทำการอันใดอันหนึ่งที่เป็นการผิดผีมา ก็จะมีวิธีการรักษาอีกแบบหนึ่ง คือใช้นางเทียม (ผู้ทรงผีฟ้า) เข้าประทับทรงติดต่อกับผีสอบถามว่าผู้ป่วยได้กระทำการอันใดที่เป็นการผิดผีหรือไม่ ถึงได้สำแดงให้ต้องเป็นไปเช่นนั้น เมื่อทราบจากนางเทียมว่าผู้ป่วยไปกระทำการอันใดที่เป็นการผิดผี ก็ให้ผู้ป่วยไปแก้ไขตรงจุดนั้น ด้วยการแต่งพิธีกรรมเพื่อขอขมาบูชาเซ่นสรวง ซึ่งบางรายก็หายจากการเจ็บป่วยจริง ๆ ก็มี อาจเป็นเพราะความเชื่อในอำนาจเหนือธรรมชาติที่ทำให้เกิดกำลังใจในการต่อสู้กับโรคภัยก็เป็นได้
– เมื่อวาระสุดท้ายของชีวิตมาถึง เมื่อมีคนตายชาวอีสานจะมีพิธีกรรมเกี่ยวกับการส่งวิญญาณของผู้ที่จากไปให้ไปสู่ภพที่มีแต่ความสงบสุข ดินแดนที่ชาวอีสานเชื่อว่ามีความสงบสุขก็คือสวรรค์ จากความเชื่อที่ว่าถ้าได้ทำบุญให้ผู้ตายแล้ว ผู้ตายจะไปมีสุขอยู่บนสวรรค์น่าจะส่งผลมายังญาติพี่น้องที่อยู่ข้างหลัง คือช่วยให้คลายทุกข์โศกจากการจากไปของญาติที่เสียชีวิต ถึงแม้เขาจะจากไปแต่ก็ไปพบกับความสุขอยู่บนสวรรค์ ซึ่งเป็นดินแดนที่มีแต่ความสุข สงบ สบาย แม้ผู้ตายจะตายไปนานแล้วก็ตาม ชาวอีสานก็ยังมีความเอื้ออาทรต่อผู้ตาย คือยังมีพิธีกรรมในฮีตเดือนเก้า การทำบุญข้าวประดับดินเพื่อเป็นการอุทิศส่วนกุศลให้แก่ญาติพี่น้องที่ล่วงลับไปแล้ว ให้ยังคงได้รับความสุขอยู่บนสวรรค์ โดยเชื่อว่าผีผู้ตายสามารถที่จะรับเอาส่วนบุญนี้ได้

นอกจากนี้ ความเชื่อเรื่องผีของชาวอีสาน ยังมีส่วนเข้าไปเกี่ยวข้องกับอีกหลายสิ่งหลายอย่างไม่ว่าจะเป็น ป่า เขา ไร่ นา และหมู่บ้าน สังเกตได้จากการมีพิธีกรรมทำบุญให้ผีอย่างสม่ำเสมอเกือบตลอดทั้งปี หรือเมื่อมีเหตุการณ์ที่ผิดปกติเกิดขึ้น เป็นเหตุการณ์เฉพาะหน้าก็จะมีการบนบานขอขมาต่อภูติผีวิญญาณ เพื่อเป็นการเรียกขวัญและกำลังใจของตนกลับคืนมา  ชาวอีสานมีจิตสำนึกอยู่เสมอว่าธรรมชาติรอบ ๆ ตัว ไม่ว่าจะเป็น ป่า เขา มีภูติผีวิญญาณสิงสถิตอยู่ซึ่งมองไม่เห็นแต่สัมผัสได้ด้วยความรู้สึกที่มีอยู่ ในทัศนะเช่นนี้เป็นการเอื้อต่อการดำเนินชีวิตให้มีความสมดุลในสังคมอีสาน ไม่เอารัดเอาเปรียบซึ่งกันและกัน

ความเชื่อเรื่องผีในสังคมอีสานคล้ายกับกฎหมายในปัจจุบัน คนอีสานจึงยึดถือปฏิบัติตามฮีตสิบสองคองสิบสี่ ซึ่งหมายถึงบรรทัดฐานแห่งการดำเนินชีวิตของคนในชุมชน ซึ่งมีความเชื่อเรื่องผีเข้าไปเกี่ยวข้องอยู่จำนวนมากตั้งแต่เกิดจนกระทั่งตาย ความเชื่อเรื่องผีจึงทำให้ชาวอีสานดำรงชีวิตอยู่ในสังคมเดียวกันด้วยความราบรื่น สงบสุข โดยไม่ต้องมีกฎ ระเบียบ ข้อบังคับ หรือกฎหมายที่เป็นลายลักษณ์อักษร

เรียบเรียงจาก : ผีอีสาน : กับความเชื่อในการจัดระเบียบทางสังคม [http://www.baanmaha.com/community/thread45467.html]
ภาพประกอบจาก : http://202.28.32.22/msuact//_fulltext/20130517160622_1990/20130520085436_3617.jpg



Leave a Comment