เครื่องดื่มชูกำลัง ข้อดี ข้อเสีย ของการดื่มเครื่องดื่มบำรุงกำลัง [Energy drink ประโยชน์หรือโทษต่อร่างกาย]

เครื่องดื่มชูกำลัง (เครื่องดื่มบำรุงกำลัง) หรือ Energy drink เป็นเครื่องดื่มชนิดหนึ่งที่ให้พลังงาน มีส่วนผสมของสารกาเฟอีน/คาเฟอีน (Caffeine) ในปริมาณไม่เกิน 50 มิลลิกรัม ต่อ 1 ขวด (100 – 150 มิลลิลิตร) เป็นที่นิยมดื่มในกลุ่มผู้ใช้แรงงาน และคนที่ทำงานหนัก เนื่องจากเมื่อทำงานเสร็จ ร่างกายจะอ่อนเพลีย จึงต้องการพลังงานชดเชยกลับมา (ปัจจุบัน ยังเป็นที่นิยมในกลุ่มอื่นๆ เช่น คนทำงานทั่วไป เยาวชน นักศึกษา เป็นต้น  มีการทำภาพเปรียบเทียบการเปลี่ยนพฤติกรรมการดื่มของวัยรุ่นจาก เครื่องดื่มบำรุงสมอง [ก่อนเข้ามหาวิทยาลัย] เป็น เครื่องดื่มบำรุงกำลัง [หลังเข้ามหาวิทยาลัย] ดังภาพจาก www.facebook.com/Aksornlearnspace)

energy-drinkส่วนประกอบของเครื่องดื่มชูกำลัง
เครื่องดื่มชูกำลังจะมีส่วนผสมที่สำคัญคือ สาร Xanthine (สารกระตุ้นระบบประสาทชนิดหนึ่ง), วิตามิน บี และสมุนไพร เครื่องดื่มบางยี่ห้อก็ใส่ส่วนผสมอื่นเพิ่มเติม เช่น Guarana (สารชนิดหนึ่งที่ได้จากพืช มีสรรพคุณกระตุ้นระบบประสาท) แปะก๊วย โสม บางยี่ห้อก็จะใส่น้ำตาลในปริ มาณที่สูง บางยี่ห้อก็ถูกออกแบบให้มีพลังงานต่ำ แต่อย่างไรก็ตาม ส่วนผสมหลักของเครื่องดื่มชูกำลังก็คือ กาเฟอีน/คาเฟอีน (Caffeine) ซึ่งเป็นส่วนผสมชนิดเดียวกันกับกาแฟหรือชา

เครื่องดื่มชูกำลังส่วนใหญ่จะมีปริมาตร 237 มิลลิลิตรต่อขวด (ประมาณ 8 ออนซ์) มีสารคาเฟอีนประมาณ 80 มิลลิกรัมต่อ 480 มิลลิลิตร (ประเทศไทยกำหนดให้มีส่วนผสมของสารคาเฟอีนในปริมาณไม่เกิน 50 มิลลิกรัม ต่อ 1 ขวด (100 – 150 มิลลิลิตร)) ทั้งนี้ ในการทดสอบส่วนประกอบของเครื่องดื่มชูกำลัง พบว่า กลูโคส มักเป็นส่วนผสมพื้นฐานของเครื่องดื่มชูกำลัง (ซึ่งผสมอยู่ในคาเฟอีน, ทอรีน (Taurine/กรดอะมิโนชนิดหนึ่งช่วยการทำงานของกล้ามเนื้อ), และสารกลูโคโน แล็คโทน/Gluconolactone/วัตถุเจือปนอาหารที่ใช้ในอุตสาหกรรมอาหาร)

ข้อดีของการดื่มเครื่องดื่มชูกำลัง
เนื่องจากเครื่องดื่มชูกำลังมีส่วนผสมของทอรีน (Taurine) ซึ่งสามารถลดอาการเมาค้าง ลดคอเลสเตอรอล และยังมีสารอาหารประเภทวิตามินอีกหลายชนิด เช่น
     1. วิตามินบี 6 ช่วยบรรเทาการคลื่นไส้อาเจียน และ ช่วยร่างกายสร้างน้ำย่อยในกระเพาะอาหารและแร่ธาตุแมกนีเซียม
     2. วิตามินบี 12 ที่มีคุณสมบัติช่วยสร้างเม็ดเลือดแดง
นอกจากนี้ เครื่องดื่มชูกำลังบางยี่ห้อที่มีราคาสูงกว่าราคาเครื่องดื่มชูกำลังทั่วไป จะมีส่วนผสมของสารกลูโคโนแล็คโทน ซึ่งเป็นสารประกอบอีกชนิดหนึ่งของเครื่องดื่มชูกำลัง ช่วยทำให้ทุเลาอาการเหนื่อย ช่วยบำรุงข้อต่อส่วนต่างๆของร่างกาย

ข้อเสียของการดื่มเครื่องดื่มชูกำลัง
ก. ผลกระทบต่อสุขภาพกาย
     – คาเฟอีนในเครื่องดื่มชูกำลัง จะไปกระตุ้นการเต้นของหัวใจ และระบบประสาทส่วนกลาง ทำให้ไม่ง่วง รู้สึกกระปรี้กระเปร่า ทำงานได้ว่องไว กระฉับกระเฉงขึ้น แต่หากดื่มมากจนเกินไป จะทำให้มีอาการกระสับกระส่าย, ใจสั่น และอาจนำไปสู่อันตรายที่ร้ายแรงมากกว่านี้จนถึงขั้นเสียชีวิตได้
     – กรณีดื่มเครื่องดื่มชูกำลังร่วมกับสุรา จะทำให้เพิ่มอาการเมาเป็น 2 เท่า โดยเมื่อดื่มเข้าไปแล้ว จะไม่รู้สึกอ่อนล้าหรือเพลีย ทำให้ดื่มมากขึ้นกว่าปกติ (คนส่วนใหญ่จะเข้าใจผิดว่าการผสมเครื่องดื่ม 2 ชนิดเข้าด้วยกัน จะช่วยแก้อาการเมาค้างได้)
     – น้ำตาลกลูโคส หรือเดกซ์โทรส ในเครื่องดื่มชูกำลัง จะทำให้ผู้ดื่มรู้สึกมีพลังมากขึ้น หากดื่มในปริมาณที่พอเหมาะก็ไม่ส่งผลเสียต่อร่างกายมากนัก และยังคงช่วยเพิ่มประสิทธิภาพของร่างกายได้ แต่หากดื่มมากจนเกินไป ก็จะส่งผลให้เกิดการแพร่ระบาดของโรคอ้วน เหมือนการดื่มน้ำอัดลม นอกจากนี้ยังทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูงขึ้น จนอาจกลายเป็นโรคเบาหวานได้ในที่สุด
     – คนที่มีอาการเครียด มีความดันโลหิตสูง หรือมีระบบการทำงานของระบบหลอดเลือดบกพร่อง หญิงตั้งครรภ์ หากดื่มเครื่องดื่มชูกำลังอาจเกิดภาวะแทรกซ้อนการตั้งครรภ์และการคลอดบุตร เป็นอันตรายถึงชีวิตได้ นักวิชาการหลายท่านแนะนำว่า ไม่ควรดื่มเครื่องดื่มชูกำลังวันละ 2 ขวด (ไม่ควรเกิน 1 ขวด) และหญิงมีครรภ์ห้ามดื่มเครื่องดื่มชูกำลังเด็ดขาด

ข. ผลกระทบต่อจิตใจ และพฤติกรรม
ปัจจุบันเครื่องดื่มชูกำลัง เริ่มมีการผสมสารเคมีและสมุนไพรอีกหลายชนิดที่เป็นตัวกระตุ้นให้ร่างกายตื่นตัว และอาจมีการเพิ่มส่วนผสมในเครื่องดื่มชูกำลังมากขึ้น โดยเฉพาะ คาเฟอีน, และ Guarana (ที่เป็นสารกระตุ้นระบบประสาท) จึงมีส่วนทำให้ผู้ดื่มรู้สึกติดเครื่องดื่มชูกำลังชนิดนั้นๆ ได้ และการดื่มเครื่องดื่มชูกำลังมากๆ ในระยะเวลาติดต่อกัน อาจมีความเสี่ยงที่จะเกิดอุบัติเหตุระหว่างการทำงาน หรือการขับขี่รถยนต์ และถ้าหากดื่มในปริมาณมากเกินไป อาจส่งผลกระทบต่อจิตประสาท (รัฐบาลอังกฤษออกมาประกาศห้ามขายเครื่องดื่มชูกำลังในโรงเรียน เนื่องจากเครื่องดื่มชูกำลังทำให้ นักเรียนหลายคนมีพฤติกรรมก้าวร้าวเพิ่มขึ้น)

เมื่อได้ทราบถึงข้อดีและข้อเสียของเครื่องดื่มชูกำลังกันไปแล้ว ก็หวังว่าจะเป็นประโยชน์ต่อผู้ดื่ม หรือคิดจะดื่มไม่มากก็น้อย ทั้งนี้ หากเพื่อนๆ คิดจะดื่ม ควรศึกษาข้อมูลให้ดีก่อนดื่ม หญิงตั้งครรภ์, หญิงให้นมบุตร, เด็ก และผู้สูงอายุ ไม่ควรดื่มเครื่องดื่มชูกำลัง และเมื่อจะดื่มบำรุงกำลังต้องดื่มในปริมาณที่เหมาะสม เพราะเครื่องดื่มชูกำลัง ก็ช่วยเพิ่มพลังงานให้แก่เราในบางโอกาสได้ดีอยู่เหมือนกัน … ผมเองก็ดื่มเป็นบางครั้งบางคราว ในเวลาที่ต้องการพลังงานและความสดชื่นให้กับร่างกาย

เรียบเรียงจาก
1.http://haamor.com/th/เครื่องดื่มชูกำลัง
2.http://kvamsook.com/เครื่องดื่มชูกำลัง ประโยชน์หรือโทษต่อร่างกาย
3.http://men.kapook.com/view42271.html
4.http://women.thaiza.com/โทษของเครื่องดื่มชูกำลัง/57894/

ภาพประกอบจาก : http://www.facebook.com/Aksornlernspace



Leave a Comment