การจัดลำดับหมอช้าง ควาญมะ ควาญจา หมอสะเดียง หมอสดำ ครูบา และพิธีประชิหมอ คชศาสตร์พื้นบ้าน

บทที่ 4 การจัดลำดับหมอช้าง

4.1 การจัดลำดับหมอช้าง
          หมอ แบ่งเป็น 3 ระดับ คือ ระดับครูบา ระดับหมอสะดำ และระดับหมอสะเดียง
          ควาญ แบ่งออกเป็น 2 ระดับ คือ ควาญจา และควาญมะ
          คุณสมบัติและหน้าที่ความรับผิดชอบของบุคลากรทั้ง 5 ระดับ จากต่ำสุดไปสูงสุด มีดังนี้

elephant-director1. ควาญมะ คือ หนุ่มวัยรุ่นที่สนใจใคร่รู้ใคร่เห็น ขอความร่วมมือไปในคณะ เพื่อเรียนรู้การจับช้าง เป็นผู้รับใช้งานแบกหาม หุงหาอาหารและงานทั่วไป แต่ก็ถือเป็นบุคลากรในทีมงานเช่นกัน มีสิทธิ์ได้รับส่วนแบ่งจากการจับช้าง เหนืออื่นใด มะอาจเป็นผู้นำโชค หรือหายนะมาสู่คณะได้เช่นเดียวกับคนอื่น ดังนั้น ชายหนุ่มที่ประสงค์จะเป็นมะ ต้องสมัครและเข้าร่วมพิธีกรรมต่างๆ ตั้งแต่ต้น ต้องถือปฏิบัติตามจารีตที่เป็นข้อห้ามและข้อพึงกระทำอย่างเคร่งครัด

2. ควาญจา คือ ผู้อยู่ท้ายช้างต่อ หรือตำแหน่งท้ายช้างตามตำนานการจับช้าง มีหน้าที่คอยช่วยเหลือหมอช้าง เคยเป็นมะ ออกป่าจนมีความรู้ความเข้าใจการใช้อุปกรณ์จับช้างต่างๆ พอสมควร ไม่ต้องผ่านการปะชิหรือยกครู เหมือนหมอช้าง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อครูบามอบหมายก็เป็นจาได้เลย

ขณะพันตู เข้าคล้องช้างป่า คือ ช่วงที่เรียกว่า กูบเทวดา จาจะเป็นผู้คอยหยิบเครื่องมือต่างๆให้ หมอจาที่ชำนาญ  จะหยิบเครื่องมือให้หมอช้างโดยไม่ต้องสั่ง เช่น เมื่อเห็นหมอใช้หัวแม่เท้าสะกิดก้านหูช้างต่อ จาก็จะลงไม้งกที่ท้ายช้าง เพื่อเร่งความเร็ว จนทันเทวดา คือ ช้างป่า แล้วรักษาความเร็วให้สม่ำเสมอ เพื่อให้หมอช้างยื่นบ่วงบาศด้วยไม้คันจาม เข้าคล้องเท้าช้าง หลังช้างป่าได้แม่นยำ

ข้อห้ามพิเศษ สำหรับมะและจา คือ ห้ามสูบยา ขณะอยู่บนหลังช้างและกำลังประกอบพิธีกรรม ห้ามกินขา หัวและเครื่องในไก่

3.  หมอสะเดียง คำว่า “เสดียง” แปลว่า ซ้ายหรือมือซ้าย หมอเสดียง จึงหมายถึง หมอซ้าย หรือที่เรียกว่า ควาญช้างเคยเป็นจา ช่วยหมอช้างจับช้างป่ามาแล้วจนชำนาญพอสมควร และผ่านพิธีปะชิ คือ พิธีแต่งตั้งหรือประสิทธิ์ประสาทโดยหมอใหญ่หรือครูบาแล้ว บางคนเป็นจามานาน ออกโพนช้างมาหลายครั้ง แต่ไม่เคยจับช้างป่าได้ ก็ไม่ได้รับการประชิขึ้นเป็นหมอเสดียง

ขณะทำการเซ่นไหว้ หมอเสดียงจะทำหน้าที่เป็นลูกมือ มีส่วนร่วมในพิธีและจัดวางเครื่องบัตรพลี ขณะทำการคล้องหรือกูบ จะได้รับมอบหมายให้เป็นหมอซ้ายของครูบา ถ้าหมอเสดียงทำกรรมแตก ขณะอยู่กรรม หรือทำผิดด้วยการละเมิดข้อห้าม หลังจากสอบสวนและประจักษ์ข้อเท็จจริงว่า เป็นความผิดที่ไม่สามารถชำระล้างด้วยพิธีปะสะ จะถูกลดลงเป็นจา การเลื่อนหมอเสดียงขึ้นเป็นหมอสดำ ให้กระทำโดยวิธีประชิ หมอเสดียงที่จับช้างป่าเชือกสำคัญได้เพียงเชือกเดียว ไม่ว่าจะเป็นช้างเผือกหรือช้างเนียม ก็สามารถขอรับการประชิขึ้นเป็นหมอสดำได้

4. หมอสดำ ตรงกับตำแหน่งควาญขวา ของตำนานการจับช้างกรุงศรีอยุธยา เคยออกจับช้างในฐานะหมอเสดียงจนจับช้างป่าได้ตั้งแต่ 5 เชือกขึ้นไป มีความรู้ความชำนาญในการจับช้าง เคยควบคุมการจับช้างด้วยตนเอง เป็นหมอมือรองลงไปจากหมอใหญ่หรือครูบา หมอสดำที่ไม่มีผลงานหรือมีผลงาน แต่ไม่ผ่านพิธีประชิ ให้เป็นครูบา เรียกว่า หมอสดำแก่

5. ครูบา หรือปะกำลวง คือ หมอเฒ่าที่มีความรู้ความชำนาญ ทั้งด้านคชลักษณ์ คชกรรมทั้งปวง เคยเป็นหมอสดำ ออกจับช้างป่าได้ไม่น้อยกว่า 20 เชือกขึ้นไป และได้รับการประชิ เลื่อนขึ้นเป็นครูบา เป็นหัวหน้าผู้ควบคุมสูงสุด เป็นผู้ที่มีปฏิปทางดงาม เป็นที่เคารพของหมอและควาญทุกคน มีอำนาจระงับข้อพิพาท ชำระความผิด ตลอดจนควบคุมการจัดการผลประโยชน์ที่เกิดจากการจับช้างแต่ละครั้ง  

นอกจากควาญและหมอทั้ง 5 ตำแหน่งแล้ว ยังมีบุคคลสำคัญอีกคนหนึ่ง คือ หมอเฒ่า หรือตาหมอเฒ่า ภายหลังมีคนเรียกว่า พระมอเฒ่า เพื่อให้ดูศักดิ์สิทธิ์ เป็น ผู้อำนวยการออกจับช้างแต่ละครั้ง เป็นประธานมนพิธีเซ่นผีปะกำและพิธีกรรมต่างๆ ทั้งหลายทั้งปวงขณะเดินป่า เป็นผู้ตัดสินใจชี้ขาดในการจับช้างป่า และเป็นผู้ที่เพียบพร้อมด้วยเวทมนต์คาถาอาคม สามารถป้องกันภัยทั้งจากภูตผีและสัตว์ร้ายในป่าด้วยเวทมนต์ ตำนานช้างสุรินทร์ กล่าวถึงท่านผู้นี้ ในฐานะผู้ก่อกำเนิดจารีตประเพณีการจับช้างเท่านั้น

ปัจจุบัน การสืบทอดตำแหน่งต่างๆ ของหมอช้างตามที่กล่าวมาข้างต้นนั้นไม่มีแล้ว เนื่องจากไม่มีการออกจับช้างป่าเหมือนในอดีต ดังนั้น คงอีกไม่นานตำแหน่งเหล่านี้ จะเหลือเพียงชื่อไว้ให้ลูกหลานเมืองช้าง ได้รับรู้เท่านั้น

ดังนั้น เพื่อให้ตำแหน่งเหล่านี้คงอยู่คู่กับชาวช้าง เราควรช่วยกันกำหนดแนวทาง เพื่อสืบทอดตำแหน่งต่างๆ เหล่านี้ โดยวิธีที่แตกต่างจากในอดีตนั่นคือ วิธีที่ปัจจุบันสามารถจะสืบทอดทดแทนอดีตได้

4.2 พิธีประชิหมอ
เป็นกระบวนการแต่งตั้งลูกน้อง หรือคนรับใช้ของหมอช้าง ให้มีฐานะหรือตำแหน่งที่สูงขึ้น การประกอบพิธีปะชิ เริ่มต้นด้วยการเซ่นไหว้ผีปะกำ แล้วผู้ขอปะชิ ทำการปะชิต่อหน้าหมอปะชิ โดยการแสดงความสามารถของตน เช่น การแสดงการจับช้างป่า การบังคับช้างต่อ การเก็บหนังปะกำและอื่นๆ เป็นต้น แต่ผู้ที่เป็นหมอปะชิจะเป็นเพียงหมอปะชิเท่านั้น เมื่อทำปะชิเสร็จ จะขอเลื่อนตำแหน่งให้สูงขึ้นไม่ได้

ที่มา : ชุดการเรียนรู้ เรื่อง สุรินทร์ ถิ่นช้างใหญ่
ลิขสิทธิ์และผลงานของ : ศูนย์การเรียนรู้วิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์และเทคโนโลยี (www.anantasook.com)
ทุนสนับสนุนประจำปีงบประมาณ 2552 จาก : สำนักงานเลขาธิการคุรุสภา 



Leave a Comment