ชาติกำเนิดชาวกูย คนเลี้ยงช้างแห่งลำน้ำมูล ความเป็นมาของหมู่บ้านช้าง ศูนย์คชศึกษา การก่อตั้งเมืองสุรินทร์

บทที่ 1 ข้อมูลทั่วไปเกี่ยวกับหมู่บ้านช้าง

1.1 ชาติกำเนิดและภูมิลำเนาของชาวกูย
จังหวัดสุรินทร์ได้รับการสันนิษฐานจากนักประวัติศาสตร์ว่า พื้นที่อันเป็นที่ตั้งเมืองสุรินทร์ในปัจจุบันนี้ เดิมเคยมีชุมชนอาศัยอยู่เมื่อประมาณ 2,000 ปีล่วงมาแล้ว ในสมัยที่พวกขอมเรืองอำนาจ เมื่อขอมเสื่อมอำนาจลง พื้นที่แห่งนี้ได้ถูกทิ้งร้างไว้จนกลายเป็นป่าดงอยู่นาน จนกระทั่งในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย (ในราวปี พ.ศ. 2200) ได้มีชนพื้นเมืองกลุ่มหนึ่งซึ่งสืบเชื้อสายมาจากขอม ต่อมาเรียกกันว่า พวกข่า ส่วย กวย ที่อยู่ฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงแถบเมืองอัตปือแสนแป ในแคว้นจำปาสัก ตอนใต้สาธารณรัฐประชาธิปไตย ประชาชนลาวปัจจุบัน คนกลุ่มนี้ มีความรู้ ความสามารถในการจับช้างมาเลี้ยงไว้ใช้งาน ได้พากันอพยพข้ามลำน้ำโขงมาฝั่งขวา มุ่งหน้ามาตั้งถิ่นฐานในเขตพื้นที่ของจังหวัดสุรินทร์และศรีสะเกษปัจจุบัน  

การอพยพคราวนั้น ได้แยกย้ายออกเป็น 6 กลุ่ม โดยแต่ละกลุ่มมีหัวหน้า (หัวโป่) คณะนำมาดังนี้
     กลุ่มที่ 1 มีหัวหน้าชื่อ เชียงปุม มาตั้งบ้านเรือนอยู่ที่บ้านโคกเมืองที (บ้านเมืองที ตำบลเมืองที อำเภอเมืองสุรินทร์ในปัจจุบัน)
     กลุ่มที่ 2 มีหัวหน้าชื่อ  เชียงไชย มาตั้งบ้านเรือนอยู่ที่บ้านกุดปะไท (บ้านจารพัตร อำเภอศรีขรภูมิจังหวัดสุรินทร์ในปัจจุบัน)
     กลุ่มที่ 3 มีหัวหน้าชื่อ เชียงขันและตากะจะ (บิดาเชียงขัน) มาตั้งบ้านเรือนอยู่ที่บ้านโคกลำดวน(อำเภอเมือง จังหวัดศรีสะเกษในปัจจุบัน)
    กลุ่มที่ 4 มีหัวหน้าชื่อ เชียงฆะ (ขะ) มาตั้งบ้านเรือนอยู่ที่บ้านอัจจะปะนึง หรือ บ้านโคกอัจจะหรือบ้านโคกยาง (บ้านสังขะ อำเภอสังขะ จังหวัดสุรินทร์ในปัจจุบัน)
     กลุ่มที่ 5 มีหัวหน้าชื่อ เชียงสง มาตั้งบ้านเรือนอยู่ที่บ้านเมืองลีง (ตำบลเมืองลีง อำเภอ  จอมพระ  จังหวัดสุรินทร์ในปัจจุบัน)
     กลุ่มที่ 6 มีหัวหน้าชื่อ เชียงสี หรือ “ตากะอาม” มาตั้งบ้านเรือนอยู่ที่เมืองร้างแห่งหนึ่งซึ่งอุดมสมบูรณ์มาก (บริเวณที่ตั้งบ้านธาตุ ตำบลธาตุ อำเภอรัตนบุรี จังหวัดสุรินทร์ในปัจจุบัน)

ชุมชนทั้ง 6 กลุ่ม มีหัวหน้าปกครองแบบพ่อบ้านและต่างก็ปกครองกันเองฉันท์พี่น้องอย่างอิสระ ไม่ขึ้นกับหัวเมืองใด ทำมาหากินด้วยการทำนา ล่าสัตว์ เก็บของป่า และเลี้ยงช้างสืบต่อกันมาอย่างสงบสุข

1.2 กูยกับการก่อตั้งเมืองสุรินทร์
surin-elephant
ราว พ.ศ. 2302 (หรือ 2303 – 2304) พระยาช้างเผือกซึ่งเป็นช้างทรงของพระที่นั่งสุริยามรินทร์ (พระเจ้าเอกทัศน์) กษัตริย์พระองค์สุดท้ายของกรุงศรีอยุธยา ได้แตกโรงหนีจากกรุงศรีอยุธยามาทางทิศตะวันออกมุ่งสู่เมืองพิมาย พระเจ้าเอกทัศน์ ได้โปรดเกล้าฯให้ สองพี่น้อง คุมไพร่พล 30 นายออกติดตามเอาพระยาช้างเผือกคืนมา

(“ สองพี่น้อง ” ไม่ทราบว่าเป็นใครกันแน่  สันนิษฐานว่า น่าจะเป็นนายทองด้วงกับนายบุญมาเพราะได้ความจากพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาว่าในปี พ.ศ. 2305 พระเจ้าเอกทัศน์ได้ทรงตั้งนายสิน(พระเจ้าตากสิน) อายุ 28 ปี เป็นหลวงยกกระบัตรเมืองตาก นายทองด้วงอายุ 26 ปี เป็นหลวงยกกระบัตรเมืองราชบุรี และให้นายบุญมาน้องชายนายทองด้วงเป็นที่นายสุดจินดามหาดเล็กหุ้มแพร จึงเป็นที่แน่ใจว่านายทองด้วงกับนายบุญมา สองพี่น้องคู่นี้รับราชการอยู่ในราชสำนักกรุงศรีอยุธยา ในเวลาที่พระยาช้างเผือกแตกโรงหนีออกไปอยู่ป่า จึงถูกใช้ให้ไปติดตามพระยาช้างเผือก ซึ่งต่อมา นายทองด้วง ได้เป็น  สมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช และนายบุญมาเป็นกรมพระราชวังบวรมหาสุริยสิงหนาท … ข้อความนี้เป็นการสันนิษฐานในเอกสารประวัติเมืองรัตนบุรีและอำเภออื่นๆในจังหวัดสุรินทร์ อย่างไรก็ตาม ผู้เขียนมีความเห็นว่า ข้อสันนิษฐานดังกล่าวน่าจะคลาดเคลื่อนจากความเป็นจริง)

สองพี่น้องและไพร่พลเดินทางผ่านดงพญาไฟมาถึงเมืองพิมาย  ได้รับคำแนะนำจากเจ้าเมืองพิมายให้ไปสืบตามพวกส่วยแทรกโพนช้างบ้านกุดหวาย ซึ่งมีความชำนาญในการจับช้างดูคงจะทราบเรื่อง  จึงได้เดินทางเลยไปถึงดงฝากฝั่งลำน้ำมูลข้างใต้ เชียงสีได้นำสองพี่น้องกับไพร่พลไปสมทบหัวหน้าส่วยคนอื่นๆคือ เชียงปุม เชียงไชย เชียงขัน และเชียงสง จึงได้ช่วยกันตามหาช้าง จนในที่สุดได้ทราบข่าวจากเชียงฆะ (ขะ)ที่บ้านอัจจะปะนึงว่า มีคนพบช้างเผือกมาลงเล่นน้ำกับโขลงช้างป่าที่บ้านหนองบัวหรือหนองโชคตอนบ่ายทุกวันจึงได้พากันไปเฝ้าคอยดูและได้พบพระยาช้างเผือกจริงๆ

เชียงสีทำพิธีเพิกช้างป่าและสะกดช้างเผือก โดยเสกก้อนกรวด (หินแห่) หว่านไป 8 ทิศ กระทืบเท้า 3 ครั้ง ช้างป่าก็แตกตื่นเข้าป่า ส่วนช้างทรงยืนส่ายงวงหมุนวนอยู่กับที่ จึงช่วยกันจับช้างเผือกดังกล่าว แล้วนำพระยาช้างเผือกกลับเมืองพิมายเข้ากรุงศรีอยุธยา โดยหัวหน้าหมู่บ้านชาวส่วยทั้งหกตามไปส่งด้วย

พระเจ้ากรุงศรีอยุธยาทรงทราบเรื่องราวจากคำกราบทูลของสองพี่น้องแล้ว จึงทรงพระราชทานความดีความชอบ และโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งชาวส่วยเหล่านั้นเป็นหัวหน้าหมู่บ้านกลับไปปกครองคนในหมู่บ้านของตนโดยทำราชการขึ้นกับเมืองพิมาย (เป็นครั้งแรกที่ไทยได้ดินแดนส่วนนี้ไว้ในครอบครอง เมื่อก่อนเป็นเขตแดนของจำปาสัก สมัยเจ้าสร้อยศรีสมุท ผู้ครองนครจำปาสัก แต่เนื่องจากเป็นชายแดนห่างไกล   ปกครองไม่ทั่วถึงจึงถูกนำมาขึ้นกับกรุงศรีอยุธยาได้โดยง่าย)  ดังนี้
     1. เชียงปุม  หัวหน้าหมู่บ้านเมืองที ได้รับยศเป็น หลวงสุรินทร์ภักดี
     2. เชียงฆะ หัวหน้าหมู่บ้านอัจจะปะนึง ได้รับยศเป็นหลวงเพชร (บ้างก็ว่าหลวงสังขะเขต)
     3. เชียงขัน  หัวหน้าหมู่บ้านโคกลำดวนร่วมกับตากะจะ เป็น หลวงปราบ ส่วน ตากะจะ เป็น หลวงแก้วสุวรรณ
     4. เชียงสง  หัวหน้าหมู่บ้านเมืองลีง ได้รับยศเป็น ขุนหลวงราช
     5. เชียงไชย  หัวหน้าหมู่บ้านกุดปะไท ได้รับยศเป็น ขุนสุริยวงศ์ (บ้างว่า หลวงอนันตราช)
     6. เชียงสี  หัวหน้าหมู่บ้านกุดหวาย ได้รับยศเป็น หลวงศรีนครเตา

ปี พ.ศ. 2306 หลวงสุรินทร์ภักดี (เชียงปุม) ได้ขอพระบรมราชานุญาต ย้ายหมู่บ้านจากเมืองที ซึ่งคับแคบและไม่สะดวกในการทำมาหากิน ไปอยู่บ้านคูปะทาย หรือ บ้านปะทายสมันต์ ซึ่งเป็นชัยภูมิที่เหมาะสมที่จะป้องกันและต่อต้านศัตรูที่มารุกรานได้เป็นอย่างดี ประกอบกับมีแหล่งน้ำอุดมสมบูรณ์ เมื่อได้ย้าย มาอยู่ที่บ้านคูปะทายแล้ว เชียงปุมพร้อมกับชาวส่วยคนอื่นๆจึงได้พากันไปเฝ้าสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระที่นั่ง สุริยามรินทร์ ณ กรุงศรีอยุธยา โดยนำสิ่งของมีค่าในท้องถิ่น  อันได้แก่  ช้าง  ม้า  แก่นสน  ปีกนก  นอระมาด (นอแรด)  งาช้าง  ขี้ผึ้ง  น้ำผึ้ง  ซึ่งถือว่าเป็นการส่งส่วยตามประเพณี พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เลื่อนบรรดาศักดิ์หัวหน้าหมู่บ้านเหล่านั้นให้สูงขึ้น และทรงโปรดเกล้าฯ ให้ยกฐานะหมู่บ้านเหล่านั้นขึ้นเป็นเมือง  ดังนี้
     1. บ้านคูปะทาย  เป็น เมืองปะทายสมันต์ มีพระสุรินทร์ภักดีศรีณรงค์จางวาง(เชียงปุม) เป็นเจ้าเมือง
     2. บ้านโคกลำดวน หรือ ดงลำดวน (เอกสารบางเล่มว่า เป็นบ้านปราสาทสี่เหลี่ยมดงลำดวนใหญ่ )เป็น เมืองขุขันธ์ มี พระไกรภักดีศรีนครลำดวน ( ตากะจะ) เป็นเจ้าเมือง
     3. บ้านอัจจะปะนึง หรือ บ้านโคกยาง เป็นเมืองสังขะ  มี พระสังฆะบุรีศรีนครอัจจะ  (เชียงฆะ)เป็นเจ้าเมือง
     4. บ้านกุดหวาย หรือ บ้านเมืองเตา เป็น  เมืองรัตนบุรี มี พระศรีนครเตาท้าวเธอ (เชียงสี)  เป็นเจ้าเมือง

ส่วนเชียงสงแห่งหมู่บ้านเมืองลีง และเชียงไชยแห่งหมู่บ้านกุดปะไทหรือบ้านจารพัตร ไม่ได้กล่าวถึงเลยเข้าใจว่า คงไม่ได้มีส่วนร่วมในการเดินทางไปถวายสิ่งของที่เมืองหลวงในคราวนี้ด้วย และโปรดเกล้าฯ ให้หัวเมืองทั้งสี่ ทำราชการขึ้นกับเมืองพิมาย

ปี พ.ศ. 2321 เจ้าสิริบุญสาร พระเจ้ากรุงศรีสัตนาคนหุต (เวียงจันทน์) ได้ส่งกองทัพมาตามจับพระวอ (พระวรราชภักดี) ซึ่งได้มาสวามิภักดิ์ต่อกรุงธนบุรี อันได้ตั้งบ้านเรือนอยู่ที่ดอนมดแดง(จังหวัดอุบลราชธานี) ไปประหารชีวิตที่แขวงนครจำปาสัก พระเจ้ากรุงธนบุรีโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก (รัชกาลที่ 1)เป็นแม่ทัพ พร้อมด้วยเจ้าพระยาสุรสีห์ (พระอนุชารัชกาลที่ 1) ยกทัพผ่านไปทางเมืองปะทายสมันต์ สังขะ รัตนบุรี ขุขันธ์ เมืองทั้งสี่ ได้จัดกำลังทหารเข้าสมทบและให้เจ้าพระยาสุรสีห์เป็นแม่ทัพเรือยกกองทัพขึ้นไปตามลำน้ำโขง โดยแล่นเรือทวนน้ำขึ้นไปสมทบกับกองทัพทางบก เพื่อล้อมตีเวียงจันทร์ เมืองเวียงจันทร์ยอมแพ้ จึงได้ยกกองทัพไปตีเมืองจำปาสักต่อไป เจ้าเมืองจำปาสักไม่ยอมต่อสู้จึงยอมขึ้นกับกรุงธนบุรีโดยดี กองทัพไทยจึงได้ยกกองทัพกลับกรุงธนบุรี เมื่อเสร็จศึกสงคราม พระเจ้ากรุงธนบุรี จึงปูนบำเหน็จให้เจ้าเมืองปะทายสมันต์ เมืองสังขะ และเมืองขุขันธ์ ได้เลื่อนบรรดาศักดิ์เป็นพระยา

ปี พ.ศ. 2324 สมัยกรุงธนบุรี เกิดจลาจลขึ้นในประเทศเขมร พระเจ้ากรุงธนบุรีได้ทรงโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกและเจ้าพระยาสุรสีห์ เป็นแม่ทัพยกกองทัพไปปราบจลาจล ทางกองทัพได้เกณฑ์กำลังพลจากเมืองปะทายสมันต์ เมืองขุขันธ์ และเมืองสังขะ เข้าสมทบกับกองทัพหลวง  ด้วยการไปปราบจลาจลในครั้งนี้ กองทัพไทยได้เคลื่อนพลไปตีเมืองเสียมราฐ เมืองกำพงสวาย เมืองบรรทายเพชร เมืองบรรทายมาศ เมืองรูงตำแรย์ (ถ้ำช้าง) เมืองเหล่านี้ยอมแพ้ขอขึ้นเป็นข้าขอบขัณฑสีมา ส่วนหัวเมืองอื่นๆยังไม่ได้ไปตีก็ได้ข่าวว่าเกิดการจลาจลขึ้นในกรุงธนบุรี จึงรีบยกกองทัพกลับกรุงเพื่อป้องกันเมืองหลวง  การปราบจลาจลในครั้งนี้ขากลับได้มีการกวาดต้อนพลเมืองมาด้วยเป็นจำนวนมาก และพลเมืองบางส่วนก็อพยพมาเอง พลเมืองที่พูด ภาษาเขมรเหล่านั้นได้กระจัดกระจายกันอยู่ตามหัวเมืองต่างๆ คือ ที่เมืองนางรอง เมืองปะทายสมันต์ (เมืองสุรินทร์) เมืองสังฆะ (อำเภอสังขะ) บ้านกำพงสวาย (อำเภอท่าตูม)

 ปี พ.ศ. 2329 พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ได้โปรดเกล้าฯ ให้เปลี่ยนชื่อเมืองปะทายสมันต์ เป็นเมืองสุรินทร์  ตามสร้อยบรรดาศักดิ์ของเจ้าเมือง หลังจากพระยาสุรินทร์ภักดีศรีณรงค์จางวาง(เชียงปุม) ถึงแก่กรรมแล้ว ได้มีเจ้าเมืองขึ้นปกครองเมืองสุรินทร์สืบต่อกันมาอีก 8 คน คนสุดท้าย คือ หลวงประดิษฐ์สุรินทร์บาล (ตุ่มทอง) ซึ่งถึงแก่กรรมเมื่อปี พ.ศ.2450 ในสมัยรัชกาลที่ 5 จากนั้นตำแหน่งเจ้าปกครองเมืองสุรินทร์จึงหมดลง (สมัย  สุทธิธรรม, 2542)

1.3 ประวัติความเป็นมาของหมู่บ้านช้าง
ชาวกูย(กวย)หรือชาวบ้านตากลางในปัจจุบัน ต่างก็สืบเชื้อสายมาจากชาวกูยที่ได้เดินทางอพยพมาจากเมืองอัตปือแสนแปเมื่อราวปี พ.ศ. 2200 ชาวกูยเหล่านี้มีการประกอบอาชีพทำการเกษตรและเลี้ยงช้างสืบต่อกันมาตั้งแต่บรรพบุรุษ เมื่อเวลาผ่านไปเริ่มกลายเป็นชุมชนใหญ่ขึ้น กลายมาเป็นหมู่บ้านตามชื่อของผู้ที่อาศัยอยู่ก่อนคือ กลุ่มที่อาศัยกับตากัง เรียกชื่อหมู่บ้านว่า “บ้านตากัง” และได้เพี้ยนเสียง เป็น “ตากลาง” และเรียกชื่อว่า “หมู่บ้านตากลาง” ในปัจจุบัน (ปี พ.ศ. 2420 ผู้ใหญ่บ้านคนแรก ชื่อ นายกลาง   ทรัพย์มาก)

ชาวบ้านตากลางโดยทั่วไปเป็นคนมีระเบียบวินัย และมีความเป็นเอกภาพในสังคมสูง โดยเฉพาะกลุ่มชาวกวยที่เรียกตนเองว่า “กวยตำแร็ย” (กวยช้าง) ที่นับถือผีปะกำ เมื่อถือผีปะกำแล้ว จะต้องเคารพอย่างเคร่งครัด ไม่ลักทรัพย์ ไม่ฆ่าสัตว์ ไม่ประพฤติผิดทางกาม ไม่พูดเท็จ ไม่มีความลับในหมู่ชาวกวยด้วยกัน มีความเคารพนอบน้อมเชื่อฟังผู้นำ และไม่ทะเลาะวิวาทกัน โดยเฉพาะตอนเข้าปะกำต้องถือโดยเคร่งครัด ไม่เฉพาะแต่ผู้ออกจับช้างเท่านั้น บุคคลในครอบครัวที่อยู่ทางบ้านก็ต้องปฏิบัติโดยเคร่งครัดเช่นกัน (ชื่น  ศรีสวัสดิ์, 2529)

 ก่อนปีพุทธศักราช 2500 ชาวกวยที่นี่จะมีอาชีพหลักคือ จับช้างป่ามาฝึกหัดไว้ใช้งาน ส่วนการทำนาจะทำเป็นอาชีพรอง คือทำเพียงแค่พออยู่พอกิน ในอดีตชาวกวยจะออกไปจับช้างปีละ 2–3 ครั้งๆละ 2–3เดือน ซึ่งส่วนมากมักจะเดินทางไปจับในดินแดนราชอาณาจักรกัมพูชา

หลังจากปีพุทธศักราช 2500 เป็นต้นมา ประเทศกัมพูชาและลาวได้ปิดพรมแดนลง ชาวกวยที่มี่อาชีพหลักคือ การจับช้างป่า ไม่สามารถไปจับช้างป่าเหมือนในอดีตได้ ก็หันมาทำการเกษตร ทำไร่ ทำนา และเลี้ยงช้างอยู่ในชุมชนอย่างมีความสุข ช้างและคนได้อยู่ด้วยกันฉันพี่น้อง มีความผูกพันกันอย่างเหนียวแน่น การเลี้ยงช้างของชาวบ้านบ้านตากลางเป็นการเลี้ยงในลักษณะที่ช้างเป็นสมาชิก ส่วนหนึ่งของครอบครัว เป็นมรดกตกทอดให้ลูกหลาน คนกับช้างมีความรักใคร่ผูกพันรู้จิตใจกันดังญาติสนิท แตกต่างจากการเลี้ยงช้างที่อื่นซึ่งเป็นเพื่อการค้าและการท่องเที่ยว ช้างบ้านตากลางเป็นช้างบ้านที่เชื่อง นอนร่วมชายคาเรือนเดียวกันกับคน

ปัจจุบัน แม้ชาวบ้านตากลางจะไม่ไปจับช้างแล้ว แต่ยังมีหมอช้างที่สืบทอดภูมิปัญญาวิชาคชศาสตร์อยู่ ผู้ที่ต้องการศึกษา เรียนรู้ ท่องเที่ยว สามารถพบปะพูดคุยกับหมอช้างที่มีประสบการณ์ ในการจับช้างมาแล้วหลายครั้งได้ตลอดเวลา ชีวิตของหมอช้างเป็นชีวิตที่ต้องมีความกล้าหาญอย่างยิ่ง

หมู่บ้านช้าง บ้านตากลาง ตำบลกระโพ อำเภอท่าตูม อยู่ห่างจากตัวเมืองสุรินทร์ ประมาณ 58 กิโลเมตร ไปทางทิศเหนือตามทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 214 เส้นทางสายสุรินทร์ – ร้อยเอ็ด เลี้ยวซ้ายเมื่อถึง กม. 36 บ้านหนองตาด ลึกเข้าไปตามถนนลาดยางบนที่ราบใกล้แม่น้ำมูล และลำห้วยน้ำชี ระยะทางประมาณ 22 กิโลเมตร ก็จะถึงเขตหมู่บ้านช้าง พื้นที่รอบ ๆ หมู่บ้านช้างส่วนใหญ่จะเป็นที่นาและป่าละเมาะสลับกลับป่าโป่ง อุดมสมบูรณ์ด้วยพืชพันธุ์นานาชนิด ทิศตะวันออกของหมู่บ้านเป็นป่าดงสายทอ(พื้นที่ 8,880 ไร่) ทิศตะวันตกเป็นป่าดงภูดินพื้นที่ 6,350 ไร่)  ทิศเหนือของหมู่บ้านมีแม่น้ำ 2 สายไหลมาบรรจบกัน เรียกว่า “วังทะลุ” สร้างความอุดมสมบูรณ์ให้แก่พื้นที่ดังกล่าวเป็นอย่างยิ่ง บริเวณนี้จึงเหมาะสมกับการเลี้ยงช้างอย่างที่สุด

 นอกจากนี้ บ้านตากลางยังเป็นสถานที่ฝึกช้างสำหรับแสดงในงานแสดงช้างของจังหวัดสุรินทร์ เป็นประจำทุกปี และบ้านตากลางยังเป็นที่ตั้งของ “ศูนย์คชศึกษา” พิพิธภัณฑ์เกี่ยวกับช้าง ภายใต้ศูนย์มีนิทรรศการประวัติความเป็นมาของหมู่บ้าน รวมถึงอุปกรณ์ต่างๆ ที่ใช้ในการคล้องช้าง เช่น ทำจากเชือกประกำ เชือกคล้องช้างที่ทำจากหนังควาย ฯลฯ เปิดให้นักท่องเที่ยวสามารถเข้าชมได้ และช่วงที่น่าไปเยี่ยมหมู่บ้านช้างมากที่สุดคือ ช่วงเดือนพฤศจิกายน ถึงเดือนธันวาคมเพราะควาญช้างจะกลับมาเก็บเกี่ยวข้าว และนำช้างมาร่วมงานแสดงของจังหวัด ซึ่งจะมีช้างกลับมาอยู่บ้านเป็นจำนวนมาก

princess-banchang3เมื่อวันเสาร์ที่ 10 เดือน พฤศจิกายน พ.ศ. 2550 เวลา 10.15 น. สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารี เสด็จฯ ที่หมู่บ้านช้างเลี้ยงบ้านตากลาง อำเภอท่าตูม จังหวัดสุรินทร์ เพื่อทอดพระเนตรพิธีเซ่นไหว้ผีปะกำ ที่เปรียบเสมือนเทวาลัยที่สิงสถิตของวิญญาณบรรพบุรุษและผีปะกำตามความเชื่อของชาวกวย ศาลปะกำใช้เป็นที่เก็บรักษาหนังปะกำและอุปกรณ์ในการคล้องช้าง ชาวกวยที่เลี้ยงช้าง เชื่อว่าหากจะทำกิจการอันใด ต้องทำพิธีเซ่นไหว้เพื่อบอกกล่าวและขอพรผีปะกำ เพื่อความเป็นสิริมงคลและเสี่ยงทายผลที่เกิดขึ้นจากการดำเนินการนั้น นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณแก่ชาวช้างอย่างหาที่สุดมิได้

แม้ว่าในปัจจุบันสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติได้เปลี่ยนแปลงไป ป่ารอบๆ หมู่บ้านที่เคยอุดมสมบูรณ์ในอดีต ได้เสื่อมโทรมลงตามกาลเวลา พื้นที่เลี้ยงช้างในอดีต ถูกบุกรุกจากราษฎรในพื้นที่ เข้าปลูกยูคาลิปตัส ทำให้พืชอาหารช้างลดลง จึงเป็นสาเหตุทำให้คนเลี้ยงช้างของจังหวัดสุรินทร์ ต้องนำช้างออกไปรับจ้างอยู่ตามแหล่งท่องเที่ยวต่าง ๆ และเร่ร่อนเลี้ยงชีพอยู่ในสังคมเมือง ซึ่งเป็นที่มาของ โครงการพัฒนาหมู่บ้านช้างสุรินทร์ ซึ่งประกอบไปด้วยแผนแม่บทพัฒนาหมู่บ้านช้างเลี้ยงใหญ่ที่สุดในโลก , โครงการช้างคืนถิ่นพัฒนาสุรินทร์บ้านเกิด ฯลฯ เพื่อให้ช้างและควาญช้างได้กลับมาอยู่ที่หมู่บ้านช้าง บ้านตากลาง จังหวัดสุรินทร์ตลอดไป

ที่มา : ชุดการเรียนรู้ เรื่อง สุรินทร์ ถิ่นช้างใหญ่
ลิขสิทธิ์และผลงานของ : ศูนย์การเรียนรู้วิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์และเทคโนโลยี (www.anantasook.com)
ทุนสนับสนุนประจำปีงบประมาณ 2552 จาก : สำนักงานเลขาธิการคุรุสภา 



Leave a Comment