E-Book ตลาดใหม่ของนักอ่านและโอกาสทองของนักเขียน เขียนเอง พิมพ์เอง ขายเอง E-Book

ในขณะที่ประเทศไทยยังต้องกระตุ้นให้คนไทยรักการอ่าน โลกยุคใหม่ก็กำลังต้อนรับการเติบโตของ “E-Book” (Electronics-Book) ที่แพร่กระจายอย่างรวดเร็วไปทั่วทุกทวีป (eBook คือ หนังสือและสิ่งพิมพ์ดิจิตอล – เทคโนโลยีที่เข้ามาสนับสนุนให้นักอ่านเข้าถึงหนังสือในแหล่งต่างๆ ได้ง่ายขึ้น) แม้ข้อดีข้อเสียระหว่างหนังสือเล่มและ E-Book จะยังผลัดกันแพ้ผลัดกันชนะอยู่ (ขึ้นกับสภาพแวดล้อมในการอ่าน) และยอดขายโดยรวมของ E-Book ก็ยังเทียบชั้นหนังสือเล่มไม่ได้ แต่อย่างไรก็ดีมันได้สั่นสะเทือนความมั่นคงของสิ่งพิมพ์บางประเภทไปอย่างมาก (เช่น หนังสือพิมพ์ และสารานุกรม) จนกระทั่งสิ่งพิมพ์เหล่านั้นต้องเปลี่ยนมาลงตลาด E-Book ไปด้วย อีกทั้งจากสถิติของผู้อ่าน E-Book ณ วันนี้ ก็ทำให้เราได้เห็นแนวโน้มการบริโภคที่เพิ่มมากขึ้นมหาศาล ทั้งในแง่ความต้องการของผู้อ่าน และหนทางใหม่ๆ สำหรับนักเขียนที่อยากมีผลงานเป็นของตัวเอง

Ebook-Kindle
แนวโน้มที่เพิ่มสูงของ E-Book
amazon.com เว็บขายหนังสือออนไลน์ที่ใหญ่ที่สุดในโลกได้เปิดเผยว่า ในช่วงคริสต์มาสปี 2009 เป็นครั้งแรกที่ยอดสั่งซื้อ E-Book กระเถิบสูงขึ้นกว่าหนังสือเล่ม (แต่หลังจากนั้นยอดก็ลดลงตามการจางหายของเทศกาล) ด้วยปัจจัยหลักที่ว่า มีเครื่องอ่านหนังสืออิเล็กทรอนิกส์ถูกพัฒนาออกสู่ตลาดมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเครื่อง Kindle ของอเมซอน, เครื่อง Nook ของ Barnes & Noble, เครื่องอ่านของ Sony หรือจะเป็น Tablet, Ipad, Iphone, Blackberry, Android และอื่นๆ ที่ต่างก็มีซอฟท์แวร์ซัพพอร์ทการอ่าน E-Book ด้วยกันทั้งนั้น ยอดการสั่งซื้อในอเมซอนจึงเทไปยัง E-Book มากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด

แม้โดยภาพรวมของตลาดหนังสือ (เฉพาะในประเทศอเมริกา) สัดส่วนของการขาย E-Book จะยังน้อยมากเมื่อเทียบกับหนังสือเล่ม (ราว 1 % ของตลาด) แต่สำหรับเว็บขายหนังสือยักษ์ใหญ่อย่างอเมซอนแล้ว ยอดขาย E-Book ก็ถือว่าทำกำไรได้งดงามอยู่ดี แถมยังเป็นทางเลือกให้กับนักเขียนหน้าใหม่ๆ ที่ต้องการสร้างผลงานด้วย

Self-Publishing พิมพ์เองขายเอง ไม่พึ่งระบบสำนักพิมพ์แบบเก่า
ความที่เห็นยอดขาย E-Book พุ่งพรวดถึงเพียงนี้ (และพิจารณาแล้วว่าทิศทางของตลาดยังไปได้อีกไกล) อีกทั้งต้นทุนการผลิต E-Book ก็ต่ำกว่าหนังสือเล่มอยู่มากโข อเมซอนมองเห็นกำไรเน้นๆ อยู่เบื้องหน้า จึงตัดสินใจ “เปิดรับต้นฉบับของนักเขียน” ที่ต้องการมีหนังสือเป็นของตัวเองในรูป E-Book

แต่ก่อนหน้าที่ยักษ์ใหญ่แห่งวงการค้าหนังสือออนไลน์อย่างอเมซอนจะหันมาจับธุรกิจผลิต E-Book นั้น Bob Young ผู้ก่อตั้งบริษัท Red Hat (บริษัท Open source ชื่อดังที่ครองตลาด Linux มากที่สุดในโลก) ได้เปิดตลาดธุรกิจ Self-Publishing นี้ขึ้นก่อนผ่านเว็บไซต์ lulu.com (ปัจจุบันยังคงรั้งตำแหน่งเว็บ Self – Publishing อันดับหนึ่ง) ที่รวมเอาความสะดวกของการผลิตสื่อหนังสือ ซีดี และโฟโต้บุ๊ค ไว้ด้วยกัน

บริการของ lulu.com สามารถเผยแพร่ได้ในหลายรูปแบบ เช่น เก็บเป็นบล็อกไว้ดูส่วนตัว, สั่งพิมพ์เป็นส่วนตัว, หรือเขียนเป็นหนังสือฝากขายผ่าน lulu.com ก็ได้ ซึ่งนอกจากการขายตรงที่หน้าเว็บแล้ว ยังสามารถเชื่อมต่อกับเว็บซื้อขายออนไลน์ใหญ่อย่าง amazon.com และ Barnes & Noble ได้อีกด้วย โดยไฟล์ของ E-Book ที่จัดจำหน่ายในเว็บก็มีด้วยกันหลายแพลทฟอร์ม สามารถลิงค์เข้ากับเครื่องอ่าน E-Book ประเภทต่างๆ ได้ทั้งหมด เฉพาะในปี 2009 เว็บ lulu.com มีสมาชิกราว 1.8 ล้านคน ตีพิมพ์หนังสือไปแล้วถึง 400,000 ปก และขายหนังสือไปแล้วกว่า 1.6 ล้านเล่ม

หากตัวเลขที่สั่นสะเทือนวงการอ่านนี้ยังไม่เร้าใจพอ เรายังมีข้อมูลที่สั่นสะท้านวงการเขียนมาบอกด้วย นั่นก็คือส่วนแบ่งของการขายหนังสือ E-Book ที่นักเขียนเลือกออกผลงานเป็น Self-Publishing จะอยู่ที่ 70% ของราคาขาย (จากแต่เดิมที่นักเขียนได้ส่วนแบ่งเพียง 35% เพราะไม่ต้องเสียค่าผลิตและค่าดำเนินการทางธุรกิจต่างๆ เหมือนการออกหนังสือเล่มกับสำนักพิมพ์) เจอส่วนแบ่งขนาดนี้เข้าไป แม้แต่นักเขียนชื่อดังก็ยังต้องชะงัก และหันมาพิมพ์หนังสือขายเองในสไตล์ Self-Publishing กันแล้ว นักเขียนที่เริ่มลุยตลาดนี้คนแรกๆ ได้แก่ Stephen King ซึ่งผลงาน E-Book ของเขากำลังมียอดขายพุ่งสูงขึ้นเรื่อยๆ เบียดยอดขายหนังสือเล่มมาติดๆ

แม้ว่าในประเทศไทย ตลาด E-Book จะยังไม่ค่อยมีอะไรเคลื่อนไหวนัก แถมการจะอ่าน E-Book ภาษาไทย ก็ต้องเลือกเฉพาะหนังสือที่มีไฟล์ PDF และ MOBI มาอ่าน (และยังต้องถ่ายโอนไฟล์มาจากคอมพิวเตอร์ก่อนด้วย) ปัจจุบันคนไทยจึงยังไม่ได้รู้สึกถึง “ความสะดวก” ในการบริโภค E-Book มากนัก แต่ถึงกระนั้นก็ยังมีกลุ่มคนเล็กๆ ที่ชอบความท้าทาย พยายามเสาะแสวงหาวิธีการอ่าน E-Book กันอย่างไม่ย่อท้อ

เชื่อว่าแม้ประเทศเราจะยังไล่หลังอยู่หลายขุม เพราะสภาพแวดล้อมทางสังคมและเทคโนโลยีไม่เอื้ออำนวย แต่ในที่สุดแล้วก็ต้องมีผู้จับกระแสนี้ได้และนำมาปรับใช้กับนักอ่านนักเขียนชาวไทยได้แน่ …คงไม่นานเกินรอ

ที่มา : E-Book และ Self-Publishing : ตลาดบริโภคใหม่ของนักอ่าน และเส้นทางการสร้างชื่อของนักเขียน โดย อาศิรา พนาราม : http://www.tcdcconnect.com/content/detail.php?ID=682&sphrase_id=759356
ภาพประกอบจาก : http://i.i.cbsi.com/cnwk.1d/i/tim/2012/11/19/KindleWithBooksv3_610x457.jpg



Leave a Comment