เครดิตบูโร ตรวจสอบเครดิตการเงิน ขอกู้ง่าย สินเชื่ออนุมัติไว เมื่อไม่ติดเครดิตบูโร ไม่ติด Black List

หลายคนคงเคยได้ยินคำว่า “เครดิตบูโร” (Credit Bureau) ตอนที่เราจะทำธุรกรรมทางการเงินกับสถาบันการเงิน โดยเฉพาะเรื่องการขอสินเชื่อต่างๆ กรณีที่ไม่ได้รับการอนุมัติสินเชื่อ บางคนจะบอกว่า …ขอกู้ไม่ได้เพราะ “ติดเครดิตบูโร” หรือบ้างก็บอกว่า “ติด Black List” อยากบอกว่า “เครดิตบูโรไม่มีความเกี่ยวข้องหรือมีสิทธิหรือร่วมตัดสินใจในการให้กู้หรือไม่ให้กู้กับใคร” ANANTASOOK จึงนำข้อมูลน่ารู้เกี่ยวกับ เครดิตบูโร มาฝากกันครับ [เป็นครูต้องรู้เรื่องเงิน เครดิตการเงินครู มันสำคัญมาก…ถ้ามีประวัติการชำระเงินไม่ดี จะมีผลต่อการขอกู้หรือขอสินเชื่อครั้งใหม่]

เครดิตบูโร คืออะไร
เครดิตบูโร (Credit Bureau) มีหน้าที่รวบรวมข้อมูลประวัติการชำระสินเชื่อ และการชำระบัตรเครดิตของบุคคลจากสถาบันการเงินหลาย ๆ แห่ง เช่น ธนาคารพาณิชย์ หรือผู้ให้บริการสินเชื่อบุคคลและสินเชื่อบัตรเครดิต โดยเมื่อลูกค้าให้ความยินยอมให้สถาบันการเงินตรวจสอบข้อมูลการชำระสินเชื่อ และการชำระบัตรเครดิตของตนในขณะที่ยื่นขอสินเชื่อแล้วนั้น สถาบันการเงินก็สามารถจะเรียกดูข้อมูลดังกล่าวจาก เครดิตบูโร เพื่อใช้ประกอบการพิจารณาอนุมัติสินเชื่อ(ครั้งใหม่)ได้

รายงานข้อมูลเครดิตเก็บข้อมูลใดไว้บ้าง
เครดิตบูโรจะเก็บรวบรวมเฉพาะข้อมูลของการชำระสินเชื่อหรือบัตรเครดิต ซึ่งประกอบไปด้วย ข้อมูลส่วนที่บ่งชี้ตัวบุคคล เช่น ชื่อ ที่อยู่ เลขประจำตัวประชาชน และอีกส่วนหนึ่งเป็นประวัติการชำระสินเชื่อ และการชำระบัตรเครดิต รวมเรียกว่า “รายงานข้อมูลเครดิต” รายงานข้อมูลเครดิตจะมีการบันทึกและจัดเก็บวงเงินยอดหนี้คงค้าง รวมถึงประวัติการผิดนัดชำระในแต่ละสิ้นเดือนย้อนหลังไม่เกิน 36 เดือน (3 ปี) ด้วยเหตุนี้แล้ว การชำระสินเชื่อทุกครั้งให้ตรงเวลาจึงเป็นการรักษาเครดิตที่ดีที่สุด (หากประวัติทางการเงินไม่ดี ต้องรอ 3 ปี ข้อมูลการชำระเงินที่ไม่ดีจึงจะหายไป)

ใครมีสิทธิ์ที่จะเข้ามาดูรายงานข้อมูลเครดิต

นอกจากสถาบันการเงินที่ผู้ขอสินเชื่อได้ให้ความยินยอม จะสามารถเรียกดูรายงานข้อมูลเครดิตเพื่อการวิเคราะห์สินเชื่อได้แล้ว ผู้ขอสินเชื่อเองก็ยังมีสิทธิ์ที่จะมาขอดูรายงานข้อมูลเครดิตของตนได้ด้วยวิธีง่าย ๆ โดยการยื่นคำขอได้ที่ส่วนบริหารข้อมูลผู้บริโภค บริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ และบริษัทยังได้อำนวยความสะดวกเพิ่มขึ้น โดยให้ยื่นคำขอผ่านธนาคารนครหลวงไทยทุกแห่งทั่วประเทศก็ได้ มีค่าธรรมเนียม 100 บาท ทั้งนี้ บริษัทข้อมูลเครดิตแห่งชาติมีหน้าที่เก็บรักษารายงานดังกล่าวเป็นความลับ และไม่สามารถเปิดเผยให้แก่ผู้อื่นใด เว้นแต่ที่กฎหมายกำหนดไว้

ทำไม เราควรจะตรวจเครดิตบูโรของตัวเอง
        1. เพื่อเตรียมตัวไปขอสินเชื่อ
        2. ตรวจว่าตัวเองมีหนี้สินที่ไหนบ้าง มีกี่บัญชี
        3. ตรวจว่ามีบัญชีสินเชื่อคนอื่นปะปนเข้ามาในประวัติตนเองหรือไม่
        4. ตรวจว่ามีประวัติค้างชำระ ในอดีตหรือปัจจุบันยังมีการค้างชำระอยู่หรือไม่
        5. ตรวจว่าเมื่อชำระหนี้หมดไปแล้ว มีการปิดบัญชีจริง ยอดหนี้เป็นศูนย์หรือไม่
        6. ตรวจเพื่อเตรียมตอบคำถามกับสถาบันการเงินที่ตัวเราจะไปขอกู้ เพราะประวัติเครดิตบูโรของเราเองไม่รู้ไม่ได้
        7. ตรวจความถูกต้องอื่นๆ เช่น ชื่อ นามสกุล ที่อยู่ ฯ

การตรวจเครดิตบูโรด้วยตนเอง
ตามพระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจข้อมูลเครดิต พ.ศ. 2545 มาตรา 25 เพื่อประโยชน์ในการคุ้มครองให้ความเป็นธรรมแก่เจ้าของข้อมูลให้เจ้าของข้อมูล มีสิทธิที่จะตรวจสอบข้อมูลของตน โดยบริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด มีความยินดีที่ให้ท่านตรวจสอบข้อมูล ดังนี้

ณ ที่ทำการบริษัท  (ศูนย์บริการตรวจสอบเครดิตบูโร) มีขั้นตอนดังนี้
1. เจ้าของข้อมูลมาติดต่อด้วยตนเอง แสดงเอกสารหลักฐาน ดังนี้
ก.กรณีบุคคลธรรมดา : บัตรประจำตัวประชาชน หรือหนังสือเดินทาง หรือบัตรประจำตัวบุคคลต่างด้าวตัวจริงนำมาแสดง
ข. กรณีนิติบุคคล
        1. สำเนาหนังสือรับรองของนิติบุคคล ที่รับรองไว้ไม่เกิน 3 เดือน และลงนามรับรองความถูกต้องโดยกรรมดารผู้มีอำนาจ
        2. สำเนาบัตรประจำตัวประชาชน หรือสำเนาหนังสือเดินทางของกรรมการผู้มีอำนาจ และลงนามรับรองความถูกต้อง พร้อมตัวจริงนำมาแสดง  
        3. ตราประทับของนิติบุคคล (ถ้ามี) เพื่อใช้ประกอบการยื่นขอคำขอตรวจสอบข้อมูลเครดิต

2. เจ้าของข้อมูลมอบอำนาจให้บุคคลอื่นมาดำเนินการแทน แสดงเอกสารหลักฐาน ดังนี้
ก. กรณีบุคคลธรรมดา
        1. หนังสือมอบอำนาจบุคคลธรรมดา กรอกรายละเอียดและลงนามให้สมบูรณ์ครบถ้วน
        2. สำเนาบัตรประจำตัวประชาชนของผู้มอบอำนาจ และลงนามรับรองความถูกต้อง พร้อมตัวจริงมาแสดง
        3. สำเนาบัตรประจำตัวประชาชนของผู้รับมอบอำนาจ และลงนามรับรองความถูกต้อง พร้อมตัวจริงมาแสดง

ข.กรณีนิติบุคคล
        1. หนังสือมอบอำนาจนิติบุคคล กรอกรายละเอียดและลงนามให้สมบูรณ์ครบถ้วน
        2. สำเนาหนังสือรับรองของนิติบุคคล ที่รับรองไว้ไม้เกิน 3 เดือน และลงนามรับรองความถูกต้องโดยกรรมการผู้มีอำนาจประทับตราของนิติบุคคล (ถ้ามี) 
        3. สำเนาบัตรประจำตัวประชาชน หรือสำเนาหนังสือเดินทางของกรรมการผู้มีอำนาจลงนาม และลงนามรับรองความถูกต้องพร้อมตัวจริงนำมาแสดง
        4. สำเนาบัตรประจำตัวประชาชน หรือสำเนาหนังสือเดินทางของผู้รับมอบอำนาจ และลงนามรับรองความถูกต้อง พร้อมตัวจริงนำมาแสดง
             ยื่นเอกสารในข้อ 1 และชำระค่าธรรมเนียมในการตรวจสอบข้อมูลเครติดต่อเจ้าหน้าที่ของบริษัท
             เจ้าของข้อมูลสามารถขอรับรายงานภายในวันยื่นคำขอ หรือยื่นความจำนงให้จัดส่งรายงานทางไปรษณีย์ลงทะเบียน (กรณีให้จัดส่งทางไปรษณีย์ลงทะเบียน ฉบับละ 20 บาท)

Credit-Bureau-service
สถานที่ตรวจสอบข้อมูลเครดิต ในกรุงเทพฯ แบบรอรับได้เลยภายใน 15 นาที
(ค่าบริการ 100 บาท)

1. ส่วนบริหารเจ้าของข้อมูล บริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด
อาคาร 2 ชั้น 2 ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (สำนักงานใหญ่)
เลขที่ 63 ถนนพระราม 9 แขวงห้วยขวาง เขตห้วยขวาง กรุงเทพฯ 10320
โทรศัพท์ : (66) 02-643-1250
โทรสาร : (66) 02-612-5895
เวลาทำการ วันจันทร์-วันศุกร์ เวลา 09.00 น. – 16.30 น.

2. สถานีรถไฟฟ้า BTS ศาลาแดง (ด้านในสถานี)
เวลาทำการ วันจันทร์-วันศุกร์ เวลา 09.00 น. – 18.00 น.
(*ตรวจสอบเครดิตบูโรเฉพาะบุคคลธรรมดาเท่านั้น)

3. ปากซอยสุขุมวิท 25 อาคารกลาสเฮาส์ (ชั้นใต้ดิน)
เวลาทำการ วันจันทร์-วันศุกร์ เวลา 09.00 น. – 16.30 น.
(*ตรวจสอบเครดิตบูโรเฉพาะบุคคลธรรมดาเท่านั้น)

4. ห้างเจเวนิว (นวนคร) ชั้น 4 ติดโรงพยาบาลนวนคร
เปิดทำการทุกวัน เวลา 09.00 น. – 18.00 น. หยุดนักขัตฤกษ์
(*ตรวจสอบเครดิตบูโรเฉพาะบุคคลธรรมดาเท่านั้น)

5. ธนาคารออมสินสำนักงานใหญ่ (ส่วนหน้า)
อังคาร-พฤหัสบดี เวลา 08.30 น. – 15.30 น. หยุดนักขัตฤกษ์
(*ตรวจสอบเครดิตบูโรเฉพาะบุคคลธรรมดาเท่านั้น)

การตรวจเครดิตบูโรด้วยตนเองผ่านธนาคารพาณิชย์ที่ให้บริการตรวจสอบเครดิตบูโร
        1. เคาน์เตอร์ธนาคาร ธนาคารธนชาต ธนาคารกรุงไทย ธนาคารอาคารสงเคราะห์ ทุกสาขาทั่วประเทศ
        2. ทำรายการผ่านตู้ ATM ธนาคารกรุงไทย และธนาคารไทยพาณิชย์ (ต้องมีบัตรเอทีเอ็ม เลือกเมนู ตรวจเครดิตบูโร)
        3. ทำรายการผ่านระบบธนาคารบนโทรศัพท์มือถือของธนาคารกรุงไทย และธนาคารกรุงศรีอยุธยา ต้องมีบัตรเอทีเอ็มหรือบัตรเดบิตของธนาคารนั้น ๆ
        4. ทำรายการผ่านธนาคารออนไลน์ ของธนาคารกรุงศรีอยุธยา และธนาคารกรุงไทย ต้องมีบัญชีธนาคาร (ให้บริการเฉพาะบุคคลธรรมดา)

กรณีทำรายการผ่านเครื่อง ATM สามารถทำรายการขอข้อมูลได้ทันที โดยไม่ต้องกรอกข้อมูลหรือแบบฟอร์มคำขอ ส่วนในกรณียื่นผ่านสาขา ลูกค้าสามารถเลือกการรับข้อมูลเครดิตได้หลายแบบ ทั้งแบบปีละ 1 ครั้ง 2 ครั้ง 4 ครั้ง หรือ 6 ครั้ง โดยยื่นความจำนงเพียงครั้งเดียว ซึ่งช่วยเพิ่มความสะดวกสบายอย่างมากให้กับลูกค้าและประชาชน จากนั้นศูนย์ข้อมูลเครดิตแห่งชาติจะส่งข้อมูลเครดิตบูโรให้ทางไปรษณีย์ลงทะเบียน ภายใน 7 วัน คิดค่าบริการ 150 บาท ต่อ 1 รายการ

การติดแบล็กลิสต์ (Black List) หรือ การติดเครดิตบูโร
ท่านคงจะเคยได้ยินประโยคที่ว่า ไม่ได้รับสินเชื่อเพราะติดแบล็กลิสต์จากเครดิตบูโร แต่ความจริงแล้ว เครดิตบูโรไม่มีสิทธิ์ในการจัดแบล็กลิสต์ผู้ขอสินเชื่อ เพราะเครดิตบูโรจะทำหน้าที่รวบรวมประวัติการชำระสินเชื่อหรือบัตรเครดิตของสินเชื่อทุกบัญชีจากสถาบันการเงินตามข้อเท็จจริง ซึ่งสถาบันการเงินใช้ข้อมูลเครดิตเป็นส่วนประกอบหนึ่งในการพิจารณาสินเชื่อเพราะการตัดสินใจว่าจะให้หรือไม่ให้สินเชื่อนั้นยังมีปัจจัยอื่น ๆ อีก เช่น รายได้ของผู้สมัครสินเชื่อ หลักประกัน บุคคลผู้ค้ำประกัน เป็นต้น ในทางกลับกัน หากผู้ขอสินเชื่อมีประวัติการชำระสินเชื่อตรงเวลา ข้อมูลเครดิตก็จะมีส่วนช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้สถาบันการเงินพิจารณาอนุมัติสินเชื่อได้รวดเร็วยิ่งขึ้น [เครดิตดีไม่มีขาย อยากได้ต้องทำเอง]

จะขอสินเชื่อแต่ติดเครดิตบูโรจะทําอย่างไร
มีหลายท่านที่ต้องการจะขอกู้เงิน ไม่ว่าจะนำไปซื้อบ้าน ซื้อรถ หรือจะขอกู้เงินไปทำอะไรก็ตาม แต่ต้องมาประสบปัญหาติดแบ็กลิสต์เครดิตบูโร เพราะทุกธนาคาร ทุกสถาบันการเงิน ต้องมีหน้าที่คอยส่งข้อมูลเครดิตของเราให้กับ บริษัทข้อมูลเครดิตแห่งชาติ ดังนั้น ถ้าหากเรามีประวัติการชำระหนี้ไม่ดี ศูนย์ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ ก็จะทราบข้อมูลของเราทั้งหมด ทำให้ขอสินเชื่อไม่ผ่าน ซึ่งหากประวัติของเราเสีย หรือติด Black List โดยที่เราไม่ได้เป็นผู้ก่อ แต่เกิดจากความผิดพลาดของธนาคารหรือสถาบันการเงิน ที่ไม่ตรวจสอบรายงานก่อนทำการส่งข้อมูลเครดิตให้ดีก่อน เช่น
        1. กรณีที่ลูกหนี้ชำระหนี้หมดแล้ว แต่การปฏิบัติการส่งข้อมูลเครดิตผิดพลาด
        2. กรณีถูกปลอมเอกสารเพื่อขอสินเชื่อ
        3. กรณีถูกปลอมเอกสารในการสมัครบัตรเครดิต
        4. กรณีถูกขโมยข้อมูลของบัตรเครดิต

ทั้งนี้ ถ้าเกิดปัญหาดังกล่าว ก็ต้องเป็นหน้าที่ของฝ่ายป้องกันทุจริตของธนาคารหรือสถาบันการเงิน ที่จะต้องประสานงานเพื่อยับยั้งการส่งข้อมูลเครดิตที่ไม่ถูกต้อง หรือที่เรียกกันในวงการธนาคารว่า Dispute Transaction คือ มีการตั้งยอดมูลหนี้ที่เกิดจากการทุจริต เพื่อการตรวจสอบจนกว่าจะตรวจสอบเสร็จสิ้น ตามธรรมเนียมปฏิบัติจะไม่มีการคิดดอกเบี้ย และไม่นำยอดดังกล่าวมาลดจำนวนวงเงินเครดิตลูกค้า

อย่างไรก็ตาม ถ้าหากท่านตรวจสอบแล้วเห็นว่าท่านไม่ได้รับความเป็นธรรมจากการส่งข้อมูลเครดิตของธนาคารหรือสถาบันการเงิน เราสามารถโต้แย้งได้โดยตรงและสามารถฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายได้ทั้งทางแพ่งและอาญา แต่ที่ผ่านมาก็ไม่มีผู้บริโภคคนใดขอฟ้องร้องดำเนินคดีกับธนาคารหรือสถาบันการเงิน เพราะคนไทยชอบคิดไปเองว่าเขาใหญ่กว่าเราสู้ไม่ได้หรอก นั่นเป็นเหตุผลที่คนไทยมักอยู่ในมาตรฐานด้านสิทธิมนุษยชนที่ต่ำมาก เพราะทุกคนไม่รู้สิทธิ์ของตนเอง หรือรู้สิทธิ์ของตัวเองดีแต่ไม่กล้าดำเนินการใด ๆ

ขอขอบคุณข้อมูลจาก
1. http://www.checkraka.com
2. ศูนย์ตรวจเครดิตบูโร : [http://www.ncb.co.th/salfenquiry.htm]
3. เอกสารประกอบการอบรมความรู้ทางการเงินแก่ครู ประจำปี 2557 ธนาคารแห่งประเทศไทยสำนักงานภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
ภาพประกอบจาก : [http://www.ncb.co.th]



Leave a Comment