[บันทึกซีหนาน] สัปดาห์ที่ 1 ประสบการณ์ฝึกอบรม ผอ. ที่ ม.ซีหนาน ของ ผอ.ศักดิ์อนันต์ อนันตสุข (29 ต.ค.-5 พ.ย. 2560)

วันที่ 1 : 29 ตุลาคม 2560 : เดินทางออกจากท่าอากาศยานสุวรรณภูมิเวลา 11.00 น. มาถึงสนามบินเมืองฉ่งชิ่งเวลา 14.47 น. (ตามที่เห็นใน iPhone) ใช้เวลาในการตรวจเอกสารเข้าเมืองราว 35 นาที แล้วขึ้นรถบัส ซึ่งทางมหาวิทยาลัยซีหนาน จัดมารับ โดยมีนักศึกษาไทย ที่มาเรียนที่นี่ ร่วมต้อนรับและอำนวยความสะดวก เดินทางบนรถราว 1 ชั่วโมงถึงหอพักในมหาวิทยาลัย ประมาณ 17.10 น. ลงทะเบียนเบอร์โทรศัพท์ใหม่ และเข้าที่พักซึ่งจัดว่าหรูมาก อาหารมื้อแรกที่ทางมหาวิทยาลัยจัดให้มีเยอะมาก แต่ทุกเมนูเต็มไปด้วยเนื้อ ไขมันและน้ำมัน ขนาดผักก็ยังมีน้ำมัน อดคิดไม่ได้ว่า หากทานแบบนี้ติดต่อกัน น้ำหนักคงจะเพิ่มขึ้นอีกหลายกิโลกรัม หลังทานอาหารเสร็จ อาจารย์จาก สคบส. ปฐมนิเทศทั่วไปและนัดหมายราว 30 นาที แล้วเข้าที่พัก (เวลาที่นี่เร็วกว่าเมืองไทย 1 ชั่วโมง อากาศอุณหภูมิราว 17 องศาเซลเซียส จัดว่าเย็นสบาย)

วันที่ 2 : 30 ตุลาคม 2560 : หลังทานอาหารเช้าที่โรงแรมเรียบร้อยแล้ว ก็ไปร่วมพิธีเปิดการอบรมผู้บริหารสถานศึกษาและบุคลากรทางการศึกษาชาวไทย ณ มหาวิทยาลัยซีหนาน ที่คณะศึกษาศาสตร์ ห้อง 811 มีบุคคลสำคัญของมหาวิทยาลัย ตัวแทนพรรคคอมมิวนิสต์จีนในมหานครฉงชิ่ง ตัวแทนนายกเทศมนตรี และคณะอาจารย์ของคณะศึกษาศาสตร์ ร่วมต้อนรับ พิธีการเป็นไปอย่างเรียบง่ายแต่เป็นขั้นตอน หลังจากพิธีเปิดเสร็จ ก็มีการบันทึกภาพหมู่หน้าอาคารคณะศึกษาศาสตร์ (แปลกใจว่า ทำไมไม่บันทึกภาพในห้องที่จัดไว้แล้วอย่างดี มีฉากหลังงดงาม) หลังจากนั้นเป็นการชี้แจงวัตถุประสงค์ของโครงการ เขาแจ้งว่า ทีมงานเตรียมตัวและเตรียมงานเรื่องนี้อย่างดีในทุกๆ เรื่อง ภายใต้การสนับสนุนทุนจากนายกเทศมนตรีมหานครฉงชิ่ง ตลอดจนแจ้งสิ่งที่เราต้องทำระหว่างการอบรม การทำรายงานต่างๆ จากนั้นแนะนำการใช้ชีวิตและตารางกิจกรรมตลอด 1 เดือน หลังรับประทานอาหารเที่ยงซึ่งจัดเต็มและเต็มไปด้วยน้ำมันเหมือนมื้อแรก เขาให้เราพักถึง 14.30 น. (นัยว่าให้นอนพักผ่อน)

ช่วงบ่าย (14.30-17.30 น.) เป็นการบรรยายและอภิปรายเกี่ยวกับ ภาพรวมการศึกษาขั้นพื้นฐานของเมืองฉงชิ่ง โดย นายโจว เจี้ยนกั๋ว หัวหน้าสำนักงานการศึกษาขั้นพื้นฐาน มหานครฉงชิ่ง ภาพรวมหลายอย่างก็มีความคล้ายคลึงกับประเทศไทยของเรา แต่บางอย่างโดยเฉพาะการพัฒนาบุคลากรครูมีความแตกต่างกัน ตั้งแต่กระบวนการผลิต (ผลิตตามอัตราที่จะได้บรรจุ คือ เรียนจบ ได้ใบประกอบวิชาชีพแล้ว สามารถบรรจุเป็นครูได้ทันที) กระบวนการพัฒนาบุคลากร (การอบรมครูใหม่และครูในระบบในรูปแบบที่หลากหลาย มีการเลื่อนระดับชั้น คล้าย คศ.2, 3, 4, 5 ในบ้านเรา แต่มีการกำหนดคุณสมบัติที่เข้มข้น) มีการต่อใบประกอบวิชาชีพทุก 5 ปี ตามเงื่อนไขการพัฒนาตนเองที่กำหนด ถ้าทำไม่ได้ไม่ครบ ก็ขาดคุณสมบัติจากการเป็นครู บรรจุในชนบท (ได้รับเงินตอบแทนพิเศษ) แล้ว จะย้ายเข้าเมืองง่ายๆ ไม่ได้ มีสิทธิ์เขียนย้าย แต่ไม่จำเป็นต้องได้รับการพิจารณาให้ย้าย มีการพูดติดตลกว่า บางคน บรรจุแล้วเป็นครูที่นั่น 20-30 ปี จึงได้ย้าย (หรือได้เลื่อนระดับ) ด้วยเหตุผลที่ค้านไม่ได้ว่า ประเทศจีนเป็นประเทศสังคมนิยม (ต้องอุทิศตนเพื่อการพัฒนาประเทศและทำงานเพื่อประชาชน) นอกจากนี้ ยังมีอีกเรื่องที่คณะเราต้องขำกันทั้งห้องคือ ที่จีนเขามีรูปแบบการอบรมครูที่หลากหลายมาก และรูปแบบสุดท้ายที่จัดว่าโบราณที่สุดที่ยังมีอยู่แต่ไม่ค่อยใช้กันแล้ว คือ จัดอบรมหลักสูตรบางอย่าง แล้วเกณฑ์คนมาลงชื่อเข้าร่วมอบรม (ฟังดูแล้วเหมือนรู้สึกว่า โห … นี่คือรูปแบบโบราณของที่นี่ แต่ที่ประเทศเรายังใช้กันเป็นการทั่วไปเลยนะ) ปิดท้ายวันนี้ด้วย อาหารมื้อเย็น ต้มเนื้อ (คล้าย Hot pot) ในน้ำมันและเครื่องเทศ ถ้าคนจีนกินแบบนี้ แล้วทำไมไม่ค่อยอ้วนกันเลย (แต่เรากินแบบนี้ทุกวัน ไม่ดีแน่ๆ)

วันที่ 3 : 31 ตุลาคม 2560 : อาหารที่นี่ถูกจัดเต็มให้กับคณะของเราทุกมื้อ ว่ากันว่าเป็นวัฒนธรรมการกินและการต้อนรับแขกผู้มาเยือนอย่างหนึ่งว่า “แขกที่มาต้องกินให้อิ่มและอิ่มจนกินไม่ได้และเหลืออาหารบนโต๊ะ” ดังนั้น เรื่อง อาหารคงต้องเป็นแบบนี้ตลอดหนึ่งเดือนแน่ๆ ไม่แน่ใจว่าลิ้นของเราปรับตัวได้แล้วหรือเปล่า รู้สึกว่า อาหารอร่อยขึ้นกว่าวันแรกที่มาถึง
ช่วงเช้า ดร. จง หว่าน จวน และอาสาสมัครนักศึกษาไทย-จีน นำคณะของเราชมหอประวัติมหาวิทยาลัยซีหนาน ซึ่งมีสองส่วน ส่วนแรกชั้นที่ 1 เป็นประวัติการก่อตั้งมหาวิทยาลัยซีหนาน (ที่รวมวิทยาลัยการเกษตรกับวิทยาลัยครูซีหนาน เข้าด้วยกัน เป็นมหาวิทยาลัยซีหนาน) และส่วนที่ 2 ชั้นที่ 2 เป็นนิทรรศการแสดงผลงานศิษย์เก่า และผลงานของอาจารย์ที่สร้างชื่อเสียงให้กับมหาวิทยาลัยทั้งในระดับชาติและระดับนานาชาติ จากนั้นเป็นการเยี่ยมชมหอสมุดกลางของมหาวิทยาลัย ความพิเศษคือ คณะของเราได้ขึ้นชั้นดาดฟ้า (ตึกมี 15 ชั้น) ซึ่งทำให้สามารถมองเห็นทิวทัศน์โดยรอบเมือง ว่าถูกล้อมรอบด้วยขุนเขา เป็นเมืองในหุบเขา และได้ชมชั้นเก็บเอกสารสำคัญ ที่ไม่อนุญาตให้นักศึกษายืม ส่วนองค์ประกอบอื่นๆ ก็เหมือนห้องสมุดในมหาวิทยาลัยของประเทศไทย

ช่วงบ่ายเป็นการอบรมเนื้อหา “นโยบายหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง” โอกาสเชิงกลยุทธ์ การปฏิรูปและการพัฒนาการศึกษาของมหานครฉงชิ่ง โดย ศ.หลิว หยินเซิง หัวหน้าสำนักงานการศึกษาขั้นพื้นฐาน สรุปใจความสั้นๆ คือ เมืองฉงชิ่งตั้งอยู่บนเส้นทางสายไหม ตามนโยบายหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง รัฐบาลจีนจึงทุ่มเทงบประมาณมาเพื่อพัฒนาคุณภาพคน ผ่านการพัฒนาและปฏิรูปการศึกษาในฉงชิ่งทกรูปแบบ เพราะการพัฒนาเศรษฐกิจจะก้าวหน้าอย่างก้าวกระโดดไม่ได้เลย ถ้าคนที่อยู่ในเส้นทางสายนี้ไม่มีคุณภาพ (รวมถึงคนในประเทศที่อยู่ในเส้นทางสายนี้) โดยมีการตั้งเป้าหมายทางการศึกษาไว้ใหญ่มาก จนคิดว่าเป็นไปไม่ได้ แต่เขาเชื่อว่า เมื่อได้ตั้งเป้าหมายที่แน่วแน่แล้ว ย่อมแสวงหาหนทางทำจนสำเร็จ และเขายืนยันว่า สามารถทำสำเร็จตามเป้าหมายได้เป็นส่วนใหญ่ และจะก้าวต่อไปให้ยิ่งใหญ่กว่าเดิม โดยเฉพาะการสร้างเครือข่ายความร่วมมือทางวิชาการกับหน่วยงานต่างๆ ทั้งภายในและต่างประเทศ และคนของเขาที่สำเร็จการศึกษาระดับอุดมศึกษามีงานทำ และสร้างธุรกิจใหม่ๆ เพื่อขับเคลื่อนประเทศได้มากมาย สิ่งหนึ่งที่แสดงถึงความทุ่มเทในการพัฒนาโรงเรียน คือ ทุกโรงเรียนไม่มีปัญหาเรื่องการขาดแคลนงบประมาณ เพราะรัฐจัดให้ตามโครงการที่เสนอขอ (งบโครงการ) รวมกับงบอุดหนุนรายหัว ซึ่งต่างจากไทย ที่ได้รับการจัดสรรอุดหนุนรายหัว และใช้งบนี้บริหารจัดการทุกเรื่องในสถานศึกษา อย่างไรก็ตาม เขาก็ยอมรับว่ามีปัญหาและอุปสรรคอยู่อีกมากมายในการดำเนินการเกี่ยวกับการปฏิรูปการศึกษา เพราะแก้สิ่งหนึ่งก็จะเกิดปัญหาขึ้นอีกอย่างหนึ่ง แต่นั่นคือความท้าทายที่จะแก้ไขปัญหาต่อไป นอกจากนี้ วิทยากรท่านนี้ก็ชื่นชมศักยภาพของคนไทยในด้านการท่องเที่ยว (ซึ่งจีนยังมีจุดด้อยที่ต้องได้รับการพัฒนาในจุดนี้) โดยลูกสาวและลูกชายของท่าน มาเรียนที่เมืองไทย และไม่อยากกลับมาที่จีนเลย และได้ทำการเปิดบริษัทท่องเที่ยวไทย-จีน ที่ประเทศไทยเรียบร้อยแล้ว

การแซงทางโค้ง แม้ว่ามันจะยากและมีความเสี่ยง แต่นี่คือจุดสำคัญที่จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างก้าวกระโดด”
“การพัฒนาเศรษฐกิจต้องควบคู่กับการพัฒนาการศึกษา เพราะเราไม่สามารถพัฒนาเศรษฐกิจ โดยปราศจากคนที่ขาดความรู้”

วันที่ 4 : 1 พฤศจิกายน 2560 วันนี้ตื่นขึ้นมาพร้อมอาการหวัด คัดจมูก น้ำมูกไหล และทั้งวันดูจะเหนื่อยๆ ไม่สบายตัว ช่วงเช้ารับฟังการบรรยายเรื่อง แนวโน้มการพัฒนาการศึกษาจีนในปัจจุบันและอนาคต โดยศาสตราจารย์หลิว อี้ปิง คณบดีคณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยซีหนาน อาจารย์ได้ชี้ให้เราเห็นถึงบทบาทของคณะศึกษาศาสตร์ในฐานะที่เป็นสถาบันผลิตครูและสถาบันพัฒนาครูในระบบทุกระดับตั้งแต่ปฐมวัย-อุดมศึกษา แล้วนำเสนอประเด็นปัญหาที่พบและการดำเนินการแก้ไข ปัญหาแรกคือ ครูขาดความรู้ความสามารถในเนื้อหาวิชา และขาดแคลนครูที่จะลงพื้นที่ปฏิบัติงานในชนบท จึงมีการทำโครงการให้ทุนครูเรียนฟรี โดยคัดคนเก่งที่สุดมารับทุน เมื่อสำเร็จการศึกษาจะได้บรรจุเป็นครู ไม่ต้องไปสอบแข่งขัน (คล้ายๆ ทุน สควค. ในประเทศไทย) โดยมีเงื่อนไขสำคัญคือ เมื่อเรียนจบต้องปฏิบัติงาน 10 ปี จึงจะย้ายหรือออกจากการเป็นครูได้ โดยมีระบบสนับสนุนครูกลุ่มนี้อย่างพิเศษหลายอย่าง และพบว่าสามารถสร้างผลงานพัฒนาการศึกษาได้อย่างน่าประทับใจและรัฐบาลก็พึงพอใจในความสำเร็จนี้ นอกจากนี้ ยังมีการให้เงินพิเศษกับครูที่ปฏิบัติงานในชนบท รวมถึงรัฐจัดสร้างบ้านพักครูให้ เป็นต้น ปัญหาสำคัญอีกประการหนึ่งคือ โรงเรียนในชนบทขาดแคลนนักเรียน เพราะผู้ปกครองที่มีศักยภาพจะส่งลูกเข้ามาเรียนในเมืองและเป็นโรงเรียนที่มีชื่อเสียง (ผู้บรรยายยกตัวอย่างว่า เคยไปนิเทศโรงเรียนที่มีครู 5 คน สอนนักเรียน 3 คน) แต่รัฐบาลไม่มีนโยบายที่จะปิดหรือยุบสถานศึกษาเหล่านี้ แต่จะบริหารจัดการให้ดีขึ้น มีประสิทธิภาพมากขึ้น จึงมีการให้งบประมาณให้โรงเรียนในกลุ่มแม่ข่าย (คล้ายๆ สหวิทยาเขต) แล้วไปบริหารงบประมาณ บุคลากร ให้กับโรงเรียนลูกข่ายที่ประสบปัญหาในพื้นที่ของตนเอง ในลักษณะครอบครัว (family)

ช่วงบ่ายเป็นการเดินทางไปเยี่ยมชมโรงเรียนเฉาหยาง โดยเป็นการเยี่ยมชั้นเรียนทั่วไป เข้าร่วมสังเกตการจัดการเรียนรู้วิชาดนตรี ตามด้วยการบรรยายสรุปและตอบข้อซักถาม และช่วงสุดท้ายเป็นชมการซ้อมเชียร์ของนักเรียน ซึ่งได้รับรางวัลชนะเลิศในการเชียร์ระดับประเทศในปีที่ผ่านมา สิ่งที่ได้พบเห็นและเป็นประเด็นการเรียนรู้ คือ สภาพห้องเรียนธรรมดาทั่วไป มีกระดานดำ มีชอล์ก มีจอโทรทัศน์อยู่หลังกระดานดำ มีถังขยะ มีไม้กวาดถูพื้น แม้จะดูรกไปด้วยหนังสือบนโต๊ะของนักเรียนแต่ดูสะอาดเรียบร้อย ในห้องเรียน 1 ห้อง (ขนาดเล็กกว่าของประเทศไทย) มีนักเรียนห้องละ 45 คนขึ้นไป (แออัดจนไม่มีพื้นที่วิ่งหยอกกัน) และบนโต๊ะ ในโต๊ะและใต้โต๊ะของนักเรียน มีหนังสือเยอะมาก สอบถามอาจารย์ได้ความว่า นักเรียนจะใส่ใจในการเรียนค่อนข้างมาก หนังสือที่ใช้เรียนมีมาก แต่อย่างไรก็ตาม ครูไม่มีการบ้านให้นักเรียนทำที่บ้าน ถ้ามีการบ้านนักเรียนจะใช้เวลาทำที่โรงเรียนให้เรียบร้อย หนังสือไม่ต้องขนกลับไปมา ซึ่งสิ่งนี้คือ วัฒนธรรมของนักเรียนจีนโดยทั่วไป และประมาณ 16.00 น. ดูเหมือนนักเรียนทุกคนจะลงไปที่สนามกีฬา เล่นกีฬาที่ตนเองถนัดในมุมต่างๆ ส่วนการแสดงเชียร์นั้น ใช้คนจำนวนมาก ซึ่งการที่คนจำนวนมาก สามารถแสดงออกมาได้อย่างพร้อมเพรียงกัน ย่อมแสดงว่า ใช้วินัยและการฝึกซ้อมที่ยาวนานและอดทนมากๆ แต่เป็นตัวอย่างขอการทำงานร่วมกันที่ดี ปิดท้ายวันนี้ด้วยห้องน้ำชาย (ในโรงเรียน) มีที่กั้นเฉพาะด้านข้าง เวลาจะใช้หันหน้าเข้าหาฝา หันก้นออกพื้นที่โล่งของห้องน้ำ (ว่ากันว่าห้องน้ำหญิงก็เหมือนกัน) ไม่มีน้ำล้างก้น ใช้กระดาษทิชชู่ครับ (จินตนาการต่อเอาเองครับ)

วันที่ 5 : 2 พฤศจิกายน 2560 เช้าวันนี้เราอบรมเรื่อง จุดกำเนิดและการพัฒนาการศึกษาของจีน วิทยากร ศาสตราจารย์หนี เซิงลี่ ม.ซีหนาน มีสาระสำคัญว่า “การศึกษา คือ ต้นกำเนิด ของวัฒนธรรมจีน แนวคิดทางด้านการศึกษาของจีน มีมากกว่า ๓๐๐ ปีมาแล้ว การศึกษาในปัจจุบัน อิงมาจากการศึกษาทางตะวันตก มีการนำวัฒนธรรมใหม่เข้ามา จนถึงศตวรรษที่ ๒๐ จึงมีแนวคิดของตนเองอีกครั้ง โดยก่อนหน้านี้ วัฒนธรรมจีน ลดความสำคัญลง แนวคิดขงจื้อไม่ปรากฏในหลักสูตรการศึกษาจีนเลย จึงมีความพยายามที่จะนำกลับมาใหม่ เพราะถ้าไม่เข้าใจภาษาจีน วัฒนธรรมจีน ปรัชญาจีน ก็ไม่เข้าใจประเทศจีน ซึ่งแม้ว่าในปัจจุบันเศรษฐกิจจีน เป็นอันดับ ๑-๒ ของโลก แต่จุดที่เป็นหัวใจคือ วัฒนธรรมของคนในประเทศ ที่จะต้องมีการเรียนรู้ในรากของวัฒนธรรมของตนเอง ประธานาธิบดีเหมา เจอตุง มีแนวคิดหนึ่งว่า “ในฐานะประธานาธิบดี ผมจะบริการพวกคุณ เพื่อให้ประชาชนมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น” ปัจจุบันมีการนำหลายแนวคิดของประธานเหมา มาปรับใช้ให้เด็กเข้าใจแนวคิดมันมากขึ้น ประชาชน ๓ ใน ๔ ของจีน เชื่อแนวคิดของคาร์ลมาร์กซ์ เพราะเป็นแนวคิดเพื่อคนอื่น เพื่อสิ่งมีชีวิตบนโลกใบนี้ ทุกคนต้องสมดุล ไม่รวย ไม่จน สาเหตุที่ประเทศจีนซึ่งมีประชาชนนับพันล้านอยู่ด้วยกันได้โดยไม่มีปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองที่รุนแรง เพราะทุกคนเชื่อว่าภายใต้การปกครองนี้ทุกคนเท่าเทียมกัน สำหรับการฟื้นฟูในจีนนั้นคือ การเอาของใหม่ตะวันตกบวกแนวคิดปรัชญาจีนในอดีต และมีการพยายามสร้างวาทะทางการศึกษา ๒ ด้าน วาทะแรก มาจากต่างประเทศ และวาทะที่สอง เป็นการสร้างวาทะของตนเองจากวัฒนธรรมของตนเอง เหมาะกับประเทศตะวันตก และต้องได้รับการยอมรับในระดับสากล เช่น แนวคิดของขงจื้อ แนวคิดเล่าจื่อ แนวคิดหยิน-หยาง เป็นต้น ซึ่งผมเปรียบเทียบว่า สำหรับประเทศไทยของเรานั้น เราอาจไม่มีวาทะอันลือลั่นจากอดีต แต่ปัจจุบันเรามีวาทะที่ได้รับการยอมรับในระดับสากล วาทะนั้นคือ หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ในหลวงรัชกาลที่ 9

ช่วงบ่ายเราไปดูงานที่โรงเรียนเฉิงเจียง เป็นโรงเรียนประถมศึกษาในเขตชนบท มีคุณครู ๕๘ คน มีนักเรียน ๗๘๐ คน โดย ๑ ใน ๓ ของนักเรียนทั้งหมดเป็นคนในพื้นที่ และอีก ๒๐๐ คน เป็นนักเรียนจากเขตชนบทในพื้นที่นี้ เวลาเรียน ๐๘.๓๐-๑๗.๓๐ น. มีเวลาพักกลางวัน ๑๑.๓๐-๑๔.๓๐ น. และหลังจากการเรียนแต่ละคาบ ๔๐. นาที จะมีเวลาพัก ๑๐ นาที โรงเรียนแห่งนี้ดูแลและบริหารจัดการโรงเรียนอื่นในเขตบริการอีก ๔ โรงเรียน ดังนั้น ท่าน ผอ.โรงเรียนจึงกล่าวว่า มีความกดดันในการปฏิบัติงานมากกว่าโรงเรียนอื่นๆ ทั้งนี้เป้าหมายของสถานศึกษานี้ คือ ต้องการจัดการเรียนรู้เพื่อพัฒนาให้คนมีความรู้และทำให้เขตนี้เจริญขึ้น และนักเรียนที่จบแล้วจะกลับมาพัฒนาบ้านเกิดของตนเอง นอกจากนี้ผู้เรียนเองจะต้องมีความรู้ทางวัฒนธรรมควบคู่ไปด้วย ทั้งนี้เพื่อประโยชน์ของนักเรียนเองในอนาคต โรงเรียนเฉิงเจียงมีความโดดเด่นในด้านการนำเอาภูมิปัญญาท้องถิ่นมาบูรณาการลงในหลักสูตร มีวิทยากรภูมิปัญญานอกสถานศึกษา เข้ามาเป็นวิทยากรให้ความรู้และพัฒนาให้ “ม้านั่ง” เป็นผลิตภัณฑ์เด่นของโรงเรียน และใช้ม้านั่งดังกล่าว เป็นส่วนหนึ่งของการแสดงทางวัฒนธรรมที่เรียกว่า “ป่านเติ้งหลง” ซึ่งเราจะเห็นได้จากมีอนุสาวรีย์ “การแสดงม้านั่งหัวมังกร, ป่านเติ้งหลง” อยู่ตรงหน้าโรงเรียน และมีจุดรวมพลของอาคารเรียนก็มีส่วนจัดแสดงม้านั่งและลูกแก้ว (อุปกรณ์ประกอบการแสดง แต่มีขนาดใหญ่กว่า) ที่ใช้ล้อมังกรอยู่ด้วย นอกจากนี้ โรงเรียนมีการจัดกิจกรรมส่งเสริมให้นักเรียนได้เรียนรู้ถึงการเข้าใจชีวิตผ่านการปลูกผักเองและนำมาเป็นอาหารกลางวัน มีกิจกรรมการเลี้ยงปลาทองของนักเรียนทุกห้อง และมีกิจกรรมพิเศษ การเลี้ยงและการอนุบาลปลาทอง สำหรับกลุ่มที่สนใจ รวมถึงกิจกรรมการตัดกระดาษ การวาดภาพด้วยพู่กัน ซึ่งผลงานนักเรียนมีความโดดเด่นหลายชิ้น และยังเป็นที่สังเกตว่า การแสดงที่โรงเรียนจัดต้อนเราเราในฐานะผู้มาเยือนนั้น จะใช้การแสดงป่านเติ้งหลง ใช้นักเรียนเต็มสนามฟุตบอล ซึ่งการแสดงลักษณะนี้ จะต้องอาศัยความร่วมมือกันอย่างสูงของผู้ฝึกซ้อมและผู้แสดง สะท้อนให้เห็นถึงความมีวินัย และความสามัคคีในการทำงานร่วมกันของนักเรียนได้อย่างดี จึงเป็นแบบอย่างที่ดีที่ควรนำไปประยุกต์ใช้ในประเทศไทย และตรงหน้าทางเข้าโรงเรียนมีการติดป้ายรางวัลต่างๆ ที่โรงเรียนได้รับ ซึ่งประเด็นนี้มีลักษณะคล้ายโรงเรียนในบ้านเรา มีผู้ปฏิบัติหน้าที่เวรยามปฏิบัติหน้าที่อย่างขันแข็ง  

วันที่ 6 : 3 พฤศจิกายน 2560 ช่วงเช้า รับฟังการบรรยายเรื่อง ผลการปฏิรูปหลักสูตรการเรียนการสอนในระดับภูมิภาคและการพัฒนาโรงเรียนในชนบทของจีน วิทยากรโดย ผู้อำนวยการโรงเรียน หวาง อี้ จากโรงเรียนมัธยมจื้อฉุ่ย มีสาระสำคัญดังนี้

ปี ค.ศ. ๒๐๑๐ มีการปฏิรูปการศึกษาในประเทศ เพื่อเพิ่มคุณภาพให้โรงเรียนชนบททุกแห่งในจีน ในเขตฉีเจียง จนนับได้ว่า ประสบความสำเร็จและเป็นต้นแบบให้มีการนำรูปแบบนี้ไปใช้ทั่วประเทศจีน และได้รับการยกย่องว่าเป็นต้นแบบการปฏิรูปการศึกษาในระดับโลก เพราะการปฏิรูปการศึกษาในชนบทมีผลต่อการพัฒนาประเทศอย่างมาก วิธีการดำเนินงานในการปฏิรูปการศึกษา มี ๔ ด้าน แต่ละด้านมีสาระโดยสังเขปดังนี้

๑. การปฏิรูปการจัดการเรียนรู้ โดยหัวใจการปฏิรูป คือ แหวกแนว ทำใหม่ให้เหมาะกับบริบท คิดใหม่ทำใหม่ มุ่งเน้นไปที่การพัฒนาการจัดการเรียนการสอนของครูที่ส่งเสริมการเรียนรู้และพัฒนาการของนักเรียนเป็นหลัก
– ชั้น ป. ๑-๓ มีครูพี่เลี้ยง เนื้อหาครูอธิบายอย่างละเอียด ครูนำทุกเรื่อง เรียนน้อย ฝึกอย่างค่อยเป็นค่อยไป
– ชั้น ป. ๓-๖ มีความสามารถในการเรียนรู้เอง ๒๕ % ส่วนที่เหลือเน้นการถามตอบ/ ฝึกการอ่าน/ เลข
– ชั้น ม. ๑-๓ นักเรียนทำงานด้วยตนเองมากขึ้น อ่านหนังสือได้เอง เข้าใจเอง ครูให้วิเคราะห์ โดยการเปรียบเทียบ / วิเคราะห์คร่าวๆ / ถกเถียงปัญหาในห้อง โดยมีครูเป็นที่ปรึกษา
– ชั้น ม. ๓-๖ ครูทำการสอนเพียงเล็กน้อย นักเรียนเรียนเอง ๗๕ %
– ชั้นอุดมศึกษา เป็นการเรียนด้วยตนเองอย่างแท้จริง
ทั้งนี้แนวคิดทางการศึกษาสำคัญที่ใช้คือ “ทำให้นักเรียนมีความกระตือรือร้นในการเรียนรู้ พัฒนาตนเองไปตามการพัฒนาเศรษฐกิจ” และสามารถอนุมานได้ว่า เดิมประเทศจีนจัดการเรียนการสอนที่เน้นครูเป็นศูนย์กลางมาอย่างยาวนาน เน้นการสอบเข้ามหาวิทยาลัย ผู้ปกครองและนักเรียนมีความคาดหวังที่จะให้ลูกของตนเองสอบเข้ามหาวิทยาลัยให้ได้ การเรียนการสอนเน้นเนื้อหาเป็นหลัก แต่ในการปฏิรูปการศึกษา มีการพยายามให้นักเรียนได้มีโอกาสเป็นผู้ลงมือปฏิบัติได้มากขึ้น (Active Learning) (เป็นลักษณะผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง เหมือนที่ประเทศไทยทำมาตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๔๔) ผลที่เกิดขึ้นคือ จำนวนนักเรียนออกกลางคันลดลง นักเรียนมีความสุขที่ได้เรียนแบบนี้ และนักเรียนชอบที่มีการแสดงออกทางความคิดมากขึ้น

๒. การออกแบบหลักสูตร มี ๓ ระดับ ได้แก่ ๑) ระดับประเทศ หลักสูตรแกนกลาง โดยรัฐ ๘๐% ๒) ระดับมณฑล โดยสำนักงานการศึกษามณฑล และ ๓) ระดับโรงเรียน ออกแบบให้เหมาะกับโรงเรียนของตน ทั้งนี้หลักสูตรแกนกลาง นักเรียนทุกคนต้องเรียน และมีการปรับหลักสูตรให้เหมาะสมกับยุคสมัย ส่วนระดับระดับมณฑล มีหลายแบบ เน้น วิทย์ – คณิต – เทคโนโลยี – กฎหมาย (นักเรียนต้องเลือกให้เหมาะสมกับนักเรียน) ส่วนในระดับโรงเรียน ขึ้นกับว่า ผู้บริหารสถานศึกษาจะเน้นไปในทิศทางใด เช่น เน้นเรื่อง ศิลปะ ดนตรี วัฒนธรรมที่ส่งผลต่อการพัฒนาประเทศ (สรุปคือ รู้เป็นการทั่วไป แต่ต้องมีความโดดเด่นเป็น ๑ ในโลก)

๓. การพัฒนาหลักสูตรครู มีการอบรมให้ครูมีความรู้เกี่ยวกับการจัดการเรียนรู้ตามแนวทางใหม่ มีการอบรม 6 ด้าน 7 คอร์ส เพื่อหาปัญหาในแต่ละโรงเรียนและมาแก้ไข ในระหว่างการอบรมครูได้ฝึกปฏิบัติ มีการทดลองสอน และทดลองสอบ โดยใช้ข้อสอบของนักเรียน เพื่อให้เข้าใจว่าครูจะรู้สึกอย่างไรในทุกข้อสอบที่ใช้สอบนักเรียน ให้ครูทบทวนการสอนการออกข้อสอบ แล้วเขียนออกมาว่าไรเรียนรู้อะไร วิเคราะห์ข้อสอบ ตอบข้อสอบ แชร์ร่วมกลุ่ม นอกจากนี้ยังมีการให้ครูเขียนและท่องจำแผนการสอน เตรียมการก่อนสอนจริง (เพราะครูบางท่านดาวน์โหลดแผนการสอนของคนอื่นมาใช้) เขียนขั้นตอนการสอน จัดให้ครูสอน แก้ไขให้ดียิ่งขึ้น แล้วนำไปใช้จัดการเรียนการสอน ซึ่งพบว่า ครูก็มีการเปลี่ยนวิสัยทัศน์ในการจัดการเรียนรู้ และมีความสุขในการจัดการเรียนการสอน

๔. การพัฒนาระบบการประเมิน มีการประเมินโรงเรียนแต่ละแห่งว่าดำเนินการได้ตามมาตรฐานที่กำหนดไว้หรือยัง การประเมินประสิทธิภาพโรงเรียน เรียกว่า ประเมินโรงเรียนสีเขียว ซึ่งพบว่า บางโรงเรียนก็ผ่านตามมาตรฐาน บางโรงเรียนก็มีพัฒนาการช้า ส่วนการประเมินผู้เรียนด้านต่างๆ ก็เป็นตัวชี้วัดคุณภาพของครูผู้สอน และการประเมินครูผู้สอนก็เป็นตัวชี้วัดคุณภาพของผู้บริหารสถานศึกษา ผอ.โรงเรียน ต้องพัฒนาครู เพื่อนักเรียนมีความสุขในการเรียน และท้ายที่สุดคือ การปฏิรูประบบการสอบเข้ามหาวิทยาลัย ให้มีการนำเอาคุณสมบัติอย่างอื่นมาพิจารณาร่วมด้วย

ช่วงบ่ายเป็การเสวนา เรื่อง แนวคิดจากการบรรยายเรื่อง การปฏิรูปการศึกษาขั้นพื้นฐานของจีน วิทยากร รศ. จง หว่านจวน คณะศึกษาศาสตร์มหาวิทยาลัยซีหนาน วิทยากรได้ให้ผู้เข้าร่วมอบรมแต่ละกลุ่มได้ระดมแนวคิดเพื่อสรุปประเด็นจากการเรียนรู้ในสัปดาห์ที่ ๑ ทั้งจากการรับฟังการบรรยายและการศึกษาดูงาน จากนั้นให้ตัวแทนแต่ละกลุ่มได้นำเสนอข้อสรุปของแต่ละกลุ่ม แล้วมีการอภิปรายแลกเปลี่ยนความรู้ในประเด็นต่างๆ และช่วงสุดท้ายก่อนการเลิกกิจกรรม มีการฝึกร้องเพลง เทียนมีมี จำนวน ๑ บท ทั้งนี้แต่ละกลุ่มได้สรุปประเด็นและข้อเสนอแนะต่อรัฐบาลจีน ดังนี้

กลุ่มที่ ๑ : จุดเด่นสามารถสรุปได้ดังนี้ ๑) มีการพัฒนาครูเป็นระบบ ๒) มีแนวปฏิบัติการพัฒนาแบบก้าวกระโดด ๓) มีความชัดเจนในการปฏิบัติตั้งแต่ระดับสูงจนถึงระดับปฏิบัติงาน ๔) รัฐจัดสรรงบประมาณอย่างเท่าเทียมกัน ๕) ผู้นำรัฐบาลให้ความสำคัญในการปฏิรูปการศึกษา ๖) มุ่งพัฒนาผู้เรียนเป็นคนดี เก่ง และมีความสุข สิ่งที่จะนำไปใช้ได้แก่ ๑) การมุ่งมั่นพัฒนาครู ๒) การสร้างความสัมพันธ์กับหน่วยงานต่างๆทั้งในและต่างประเทศ ๓)  การสร้างความโดดเด่นค้นหาอัตลักษณ์บางอย่างให้กับสถานศึกษา ๔) การทำแผนกลยุทธ์ของโรงเรียน

กลุ่มที่ ๒ : จุดเด่น ๑) curriculum มีทั้งหลักสูตรสากล และหลักสูตรเพื่อการดำรงวัฒนธรรมจีน ๒) School ชื่นชมการบริหารจัดการในโรงเรียนขนาดเล็กจัดที่มีการจัดงบประมาณเหมาะสม ๓) teacher and Director มีการพัฒนาบุคลากรและจัดค่าตอบแทนให้ครูในชนบทเป็นพิเศษ ๔) Student ชมรมของนักเรียนตอบสนองความต้องการของนักเรียนและมีการจัดกิจกรรมให้เข้าถึงจิตวิญญาณของชาวจีน และได้เสนอประเด็นเพื่อที่จีนต้องปรับปรุงคือเรื่อง ภาษาจีนเป็นอุปสรรคในการเข้าถึงความรู้ทางวัฒนธรรมจีน โลกควรเรียนรู้ภาษาจีนหรือไม่ก็คนจีนควรเรียนรู้ภาษาอังกฤษ

กลุ่มที่ ๓ : จุดเด่น ๑) จีนใช้ความศรัทธาและความหวังเป็นตัวขับเคลื่อนประเทศ ๒) มีการลงทุนพัฒนาครูอย่างเป็นระบบ ๓) เด็กนักเรียนจีนมีความกระตือรือร้นในการเรียนสูง ๔) มีการนำเอาภูมิปัญญาท้องถิ่นมาสร้างความโดดเด่นให้กับสถานศึกษา และได้เสนอประเด็นเพื่อที่จีนต้องปรับปรุง ดังนี้ ๑) การพัฒนาระบบสุขอนามัย ๒) นักเรียนในชั้นเรียนมีความแออัด ๓) การปิดกั้นการเข้าถึงเว็บไซต์หลายเว็บไซต์ที่มีการใช้งานทั่วโลก ๔) กำแพงทางภาษา

กลุ่มที่ ๔ : จุดเด่น ๑) การพัฒนาบุคลากรให้ทันต่อความเปลี่ยนแปลงของโลกแต่มีการเปิดโอกาสให้ชุมชนอนุรักษ์วัฒนธรรมภูมิปัญญาของตนเอง ๒) มีการจัดค่าตอบแทนและดึงดูดคนเก่งเข้ามาเป็นครูและมีการพัฒนาครูต่อเนื่อง (แต่เรายังไม่ทราบว่าเมื่อครูไม่ทำงานตามนโยบายและทำผิด รัฐจะทำอย่างไร) ๓) การเรียนการสอนในห้องเรียนจากเดิมที่เน้นครูเป็นผู้มีบทบาทสำคัญ มาเป็นนักเรียนเป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการเรียนรู้ ๔) การวัดผลการเรียนการสอนยังไม่ชัดเจนว่ามีกระบวนการวัดอย่างไร (ต้องการทราบในรายละเอียดในโอกาสต่อไป)

ทั้งนี้ในช่วงท้ายที่วิทยากรได้แสดงทัศนะของตนเอง สามารถจับประเด็นได้ว่า การปฏิรูปการศึกษาเราไม่ทราบได้ว่าจะสำเร็จเมื่อไร เพราะต้องปรับตัวให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงของโลก แต่อย่างน้อยเราก็สามารถเทียบได้ว่า เดิมเป็นอย่างไร และเมื่อปฏิรูปแล้ว เกิดอะไรขึ้นอีกบ้าง เราแค่ต้องการทำให้เด็กดีขึ้นทุกๆ มิติ ส่วนประเด็นด้านสุขอนามัย เราพยายามทำให้ดีขึ้น แต่เรายินดีเปิดเผย สิ่งที่เห็นและเป็นอยู่ คือ วัฒนธรรมของเรา ประเด็นด้านภาษาจีน วิทยากรชี้ว่า เมื่อคุณต้องการเรียนรู้วัฒนธรรมของใครคุณต้องเรียนรู้ภาษาของชาตินั้น เหมือนอยากเรียนรู้เรื่องประเทศไทย เราก็ต้องเรียนภาษาไทย ดังนั้น หากต้องการเรียนรู้และเข้าใจประเทศจีนอย่างลึกซึ้งก็ควรต้องเรียน ภาษาจีน (ซึ่งผมมองว่าเป็นการใช้ภาษาจีน เป็นตัวสร้างอาณานิคมทางความคิด เป็นการสร้างความเป็นเจ้าอาณานิคมของประเทศมหาอำนาจ) และประเด็นการปิดกั้นการเข้าถึงเว็บไซต์บางเว็บไซต์นั้น วิทยากรมีแนวคิดว่า เราป้องกันสิ่งไม่ดีไม่งามต่อประชากรของเรา และระบบที่มีอยู่ในประเทศของเราก็เพียงพอแล้ว (ซึ่งผมมองว่าเป็นการพยายามสร้างระบบอีกระบบหนึ่งเพื่อใช้ทั้งโลก)

วันที่ 7 : 4 พฤศจิกายน 2560 : วันนี้เป็นวันที่เขาจัดให้เราได้เห็นว่า ประเทศจีน (เฉพาะมหานครฉงชิ่ง) ของเขายิ่งใหญ่สมคำที่เขาพูดมาตลอดสัปดาห์ เริ่มจากการพาเราไปเดินชมถนนวัฒนธรรม ลักษณะเป็นถนนคนเดิน ขายสินค้าจิปาถะ ประเภทของกิน ของที่ระลึก จากนั้นพาเราไปทานข้าวและชมสถานที่ที่จำลองพระราชวังต้องห้ามจากกรุงปักกิ่งมาไว้ที่นี่ แล้วเข้าชมพิพิธภัณฑ์เมืองฉงชิ่ง ภายในพิพิธภัณฑ์ บอกเรื่องราวตั้งแต่อดีต ยุคที่มีกษัตริย์ (ของฉงชิ่ง) ยุคมีจักรพรรดิ์ (ของจีน) ยุคที่เจงกิสข่านยกทัพมาบุก ยุคการปฏิวัติล้มจักรพรรดิ์ ยุคญี่ปุ่นบุกฉงชิ่ง ยุคเหมา เจอตุง vs เจียงไคเชค จนถึงยุคการสร้างเมืองใหม่จากผลงานของนักปฏิวัติ เช่น โจวเอินไหลและเติ้งเสี่ยวผิง เป็นต้น รวมถึง ความยิ่งใหญ่ด้านวัฒนธรรม เครื่องปั้นดินเผา ระบบเงินตรา และความหลากหลายของชนเผ่า และอื่นๆ

จากนั้นเขาพาเราไปชมจุดละลายทรัพย์ เป็นแหล่งท่องเที่ยวขึ้นชื่ออีกแห่งหนึ่ง ชื่ออะไรจำไม่ได้ (คล้ายกับตลาดท่าเสด็จที่หนองคายที่สร้างอาคารติดแม่น้ำ) ที่เป็นการสร้างตึก 11 ชั้นติดหน้าผาและแม่น้ำสายหลัก บนตึกก็เป็นถนนอีกเส้นหนึ่ง และเป็นชั้นหนึ่งของถนนเส้นนั้น นอกจากเป็นที่กินที่เที่ยวที่ซื้อของแล้ว ยังเป็นจุดที่แสดงความเหนือชั้นว่า เขาสามารถสร้างที่พักตามระดับความสูงของหน้าผาได้ และสร้างสไตล์แบบในอดีต (ผมเห็นภาพในพิพิธภัณฑ์ คนหาบน้ำขึ้นเขา, ภาพกองทัพบุกขึ้นเขา) และ ณ จุดนี้เป็นจุดชมวิว มองเห็นสะพานที่สี้างสองชั้นข้ามแม่น้ำ เหมือนสะพานบรูกลินในนิวยอร์กทุกอย่าง แต่ที่นี่ดูจะอลังการกว่ามากๆ

ช่วงเย็นทานข้าวเสร็จแล้ว เขาพาชมแสงสีเมืองฉงชิ่ง สมกับที่เรารู้สึกและที่เขาคุย คือ ที่นี่คือ นิวยอร์กของฉงชิ่ง แต่ที่เขาไม่บอกและผมรู้สึกเอง คือ ที่นี่อลังการกว่ามากๆ และคุณสามารถสร้างเมืองรอบภูเขา หน้าผาและแม่น้ำ ได้งดงามมาก (ท่านผู้อ่านลองจินตนาการก็ได้ว่า เขาสร้างเมืองเลียบผาชนะได อำเภอโขงเจียม ทั้งจากฝั่งไทยและฝั่งลาว ลดหลั่นตามระดับความสูงของหน้าผา ประมาณนี้)

ความรู้สึกของผมวันนี้คือ (1) เขายิ่งใหญ่ตามคำคุยและเขาคือมหาอำนาจของโลกจริงแท้แน่นอน (2) เราว่าชาติเรายิ่งใหญ่แล้ว วันนี้เหมือนเขาจะข่มเราเล็กๆว่า ชาติเราเล็กนิดเดียว ตึกของเรา สะพานของเรา มันแค่ของย่อส่วนของเขาเท่านั้น (3) ผมเกิดคำถามว่า เจอสงครามมาขนาดนี้ ทำไมเหมือนไม่มีการหยุดการพัฒนา เขาไม่ได้รับผลกระทบจากสงคราม ทำให้การพัฒนาต่อเนื่อง หรือการปกครองของเขา (สั่งการแล้วเดินหน้า ไม่ต้องเสียเวลาประชาพิจารณ์ ไม่ต้องศึกษาผลกระทบ) ทำให้เขาทำได้ขนาดนี้ (4) ประเทศไทยควรต้องเรียนรู้ในทุกความก้าวหน้าและความสำเร็จของจีน และต้องสร้างความเป็นหนึ่งในภูมิภาคให้กับชาติไทยของเราเช่นกัน และสุดท้าย ผมเกิดความคิดว่า คนไทยเราต้องคิดใหญ่ๆ ทำใหญ่ๆ ฝันใหญ่ๆ ให้เกินตัว แล้วลงมือทำ สำเร็จไม่สำเร็จช่างแม่งมัน (คนเรามักดูถูกฝันของคนอื่น แต่จากบทเรียนสัปดาห์แรก ผมคิดว่า ประเทศนี้ขับเคลื่อนด้วยภาพฝันของคน เขาสร้างให้คนมีภาพฝันในอนาคต และมุ่งมั่นทำมัน ทำ ทำ ทำ จนสำเร็จ) ลองดูครับ ผมก็จะทำตัวเป็นนักขายฝันต่อไป

วันที่ 8 : 5 พฤศจิกายน 2560 : วันนี้ชิวๆ เขาให้พักผ่อนตามอัธยาศัย ซักเสื้อผ้า เขามีการ์ดเติมเงินไว้ 400 หยวน (2,000 บาท)/สัปดาห์ ให้ซื้ออาหารในโรงอาหารมหาวิทยาลัยกินเอง วันนี้เลือกกินแบบธรรมดาที่สุด คือ มีถาดอาหาร 1 ใบ คล้ายของเด็กกินเวลาเข้าค่าย เลือกข้าวและอาหาร 2 อย่าง คิดตามน้ำหนัก แตะการ์ดจ่ายค่าอาหาร เรื่องอัตราแลกเปลี่ยน 5 บาทต่อ 1 หยวนก็จริง แต่ของที่นี่ เมื่อเทียบแล้ว ถูกพอๆ กับบ้านเรา หลายอย่างถูกกว่า เบียร์มีตั้งแต่กระป๋องละ ราว 8 บาท ไปถึง 50 บาท ก๋วยเตี๋ยว 20-25 บาท (บ้านเราราว 30 บาท, สปป.ลาว ที่เคยไป ราว 40 บาท) จึงไม่แปลกใจที่คนไทยก็น่าจะชอบมาเที่ยวจีน

จากนั้นช่วงบ่ายๆ คณะเราส่วนหนึ่งทดลองนั่งรถไฟฟ้าใต้ดินเข้าไปยังเมืองฉงชิ่ง ระบบรถไฟฟ้าใต้ดินก็เหมือนที่เมืองไทย ท่ีแตกต่างก็คือ วิ่งใต้ดินบ้าง บนภูเขาบ้าง ในภูเขาบ้าง เพราะเป็นเมืองในภูเขา ก็ได้เห็นวิถีผู้คนในเมืองดังที่โชว์ในคลิปก่อนหน้านี้ (วันก่อนเห็นแสงสีของเมือง วันนี้จึงไปทดลองเป็นส่วนหนึ่งของคนในเมือง) ได้แต่อดคิดในใจและหลายคนก็พูดตรงกันว่า “ประเทศคอมมิวนิสต์ Here! อะไร สร้างเมืองได้เจริญขนาดนี้” บางทีในเกาหลีเหนือนั้น ประชากรคงไม่ได้อดอยากแร้นแค้นอย่างเป็นข่าวก็ได้? มีโอกาสได้ทราบว่า รัฐบาลจีนมีการให้ทุนอาจารย์ และนักเรียนไทยในหลายรูปแบบเช่นกัน น่าจะการร่วมมือกันในระดับรัฐบาล (เพราะนักศึกษาจีนก็ไปไทย นักศึกษาไทยก็มาจีน) ผมคิดว่า เป็นประโยชน์ต่อคนไทยอย่างยิ่ง ผมไม่ทราบว่าเขาได้ประโยชน์อะไรจากเราบ้าง แต่เราได้ประโยชน์จากเขาแน่ๆ (เหมือนคณะเรามาครั้งนี้) และผมเองก็อยากได้ “อะไร” ไปฝากนักเรียนและครูของผมเช่นกัน

ปล. ท่านผู้อ่านจะเห็นว่า ผมดูเหมือนจะประทับใจจีนมาก แต่ผมไม่คิดว่า จะมีใครที่ไหนดีกว่า “คนไทย” ผมยังรักลูก รัก “เมีย” และรักประเทศไทยของเรา เหมือนเดิม ที่เพิ่มเติม คือ อยากมีโอกาสสร้างโอกาสให้กับการศึกษาบ้านเราให้ดียิ่งๆ ขึ้นไป

หมายเหตุ : บันทึกประจำวันนี้ เป็นความคิดเห็นของผู้เขียน (นายศักดิ์อนันต์ อนันตสุข) ในแต่ละวันขณะอบรมหลักสูตร Educational Leadership Training Programme for Thai School Leader ณ Southwest University สาธารณรัฐประชาชนจีน เท่านั้น อาจไม่ถูกต้องในเชิงวิชาการ อ่านเป็นความรู้ได้ แต่ไม่ควรใช้อ้างอิงในเชิงวิชาการ



Leave a Comment