สภาครูอาเซียน สภาวิชาชีพของครูอาเซียน องค์กรวิชาชีพครูแห่งอาเซียน ASEAN Council of Teachers

สภาครูอาเซียน (ASEAN Council of Teachers; ACT) มีความเป็นมาและการดำเนินกิจกรรม รวมถึงสิทธิในการเข้าเป็นสมาชิกและวัตถุประสงค์ในการจัดตั้งองค์กรวิชาชีพครูแห่งอาเซียน ดังนี้

ASEAN-teacherความเป็นมา
นับตั้งแต่ประเทศในกลุ่มอาเซียน 5 ประเทศ ได้แก่ อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ และประเทศไทย ได้ร่วมกันก่อตั้งสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้หรืออาเซียน (ASEAN) ขึ้น บรรดาผู้นำองค์กรครูใน 5 ประเทศกลุ่มอาเซียนได้ร่วมพิจารณาถึงความเป็นไปได้ในการที่จะตั้งองค์กรของครูในกลุ่มประเทศอาเซียนขึ้น เพื่อสนับสนุนแนวคิดและเป้าหมายของอาเซียนให้เข้มแข็งโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในด้านการศึกษาและวัฒนธรรม รวมทั้งส่งเสริมความสัมพันธ์อันใกล้ชิดระหว่างครูในกลุ่มประเทศอาเซียน

ในระหว่างการประชุมสมาพันธ์องค์กรวิชาชีพครูแห่งโลก(World Confederation of Organizations of the Teaching Profession หรือ WCOTP) และการประชุมของสภาองค์การครูเสรีระหว่างประเทศ(International Federation of Free Teachers Union หรือ IFFTU) ระหว่างปี พ.ศ. 2519-2521 ผู้นำองค์กรครูจากประเทศอินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ และไทย ได้ประชุมและหารือร่วมกันในเรื่องของการจัดให้มีเวทีสำหรับการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นร่วมกันขององค์กรครูของประเทศในกลุ่มอาเซียนขึ้น และได้มีมติให้จัดตั้งองค์การครูแห่งอาเซียนอย่างเป็นทางการขึ้นมา โดยให้ใช้ชื่อว่า ASEAN Council of Teachers (ACT) หรือสภาครูอาเซียน โดยเป็นองค์กรที่รวมตัวกันแบบหลวมและค่อนข้างเป็นอิสระ โดยสภาครูอาเซียนมีจุดมุ่งหมายเพื่อ
          1. ร่วมมือกันในการทำงานเพื่อก่อให้เกิดความรู้และความเข้าใจร่วมกัน ในเรื่องปรัชญา กิจกรรม วัฒนธรรม และจิตใจของชนชาวอาเซียน
          2. ส่งเสริมและให้ร่วมมือกับประชาคมอาเซียนในการดำเนินโครงการและแผนงานที่มีผลประโยชน์ร่วมกันในด้านวิชาชีพครู การศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรม
          3. ช่วยเหลือสมาชิกในการพัฒนากิจกรรมทางการศึกษา ที่มุ่งเน้นสนับสนุนส่งเสริมจุดมุ่งหมายและอุดมการณ์ของอาเซียน

กิจกรรมของสภาครูอาเซียนในช่วงเริ่มต้น
กิจกรรมของสภาครูอาเซียนในช่วงเริ่มต้น จะประกอบด้วย การเยี่ยมเยียนกระชับสัมพันธ์ไมตรี กิจกรรมด้านกีฬา การประชุม การสัมมนาและกิจกรรมด้านวัฒนธรรม โดยให้ผู้นำองค์กรครูและผู้ประกอบวิชาชีพครูในประเทศกลุ่มอาเซียนได้มีส่วนร่วมในกิจกรรมต่างๆ ที่สภาครูอาเซียนจัดขึ้น ทั้งนี้องค์กรครูที่เข้าร่วมกิจกรรมดังกล่าว ต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการเข้าร่วมกิจกรรมเองในการดำเนินกิจกรรม เช่น การจัดประชุมสภาครูอาเซียน องค์กรครูในแต่ละประเทศจะผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันทำหน้าที่เลขาธิการของสภาครูอาเซียน คราวละ 1 ปี ซึ่งสหภาพครูสิงคโปร์ได้รับมอบหมายให้เป็นประธานและทำหน้าที่ฝ่ายเลขาธิการสภาครูอาเซียนในช่วงปี พ.ศ. 2521-2522 ในโอกาสการจัดการประชุมสภาครูอาเซียนครั้งแรกที่ประเทศไทย กรุงเทพมหานคร เป็นระยะเวลา 4 วัน โดยคุรุสภาเป็นเจ้าภาพและคณะกรรมการดำเนินการจัดการประชุม ประเทศบรูไน ดารุสซาลาม ได้เข้าเป็นสมาชิกประเทศที่ 6 ในเดือนธันวาคม พ.ศ.2528 (ค.ศ.1985) ต่อมาเวียดนาม ลาว และกัมพูชา เข้าเป็นสมาชิกลำดับที่ 7 8 และ 9 ในปี พ.ศ.2542 (ค.ศ.1999) ตามลำดับ

ในการประชุมสภาครูอาเซียน ครั้งที่ 11 ระหว่างวันที่ 18 – 23 พฤศจิกายน 2532 ณ ประเทศสิงคโปร์ ผู้แทนองค์การครูในกลุ่มประเทศอาเซียนได้ลงนามร่วมกันในธรรมนูญสภาครูอาเซียน (The Constitution of the ASEAN Council of Teachers) เพื่อแสดงถึงความยินยอมพร้อมกันที่จะยึดถือและปฏิบัติ และเพื่อแสดงถึงเจตนารมณ์ในการจัดตั้งสภาครูอาเซียน ในฐานะเป็นองค์กรระหว่างประเทศที่มิใช่ของรัฐบาล ภายใต้สำนักงานเลขาธิการอาเซียน กระทรวงการต่างประเทศได้มีหนังสือที่ กต. 0905/55491 ลงวันที่ 4 กรกฎาคม 2533 เรื่องการขอเข้าอยู่ในกลไกของอาเซียนในฐานะองค์กรระหว่างประเทศที่มิใช่ของรัฐบาลของสภาครูอาเซียน ความว่า “ในการประชุมคณะกรรมการประจำอาเซียน ปีที่ 23 ครั้งที่ 4(The 4th Meeting of the 23rd ASEAN Standing Committee) เมื่อวันที่ 19 – 21 มิถุนายน 2533 ณ กรุงจาการ์ตา ประเทศอินโดนีเซียนั้น ที่ประชุมฯ ได้พิจารณาให้ความเห็นชอบต่อคำขอเข้าอยู่ในกลไกของอาเซียนในฐานะองค์กรระหว่างประเทศที่มิใช่ของรัฐบาลของสภาครูอาเซียน”

ในฐานะที่สภาครูอาเซียนถือว่าเป็นองค์กรระหว่างประเทศที่มิใช่ของรัฐบาล หรือที่ในภาษาอังกฤษเรียกว่า (Non–Governmental Organization) เรียกย่อว่า NGO ทำให้สภาครูอาเซียนได้รับสิทธิต่างๆเช่นเดียวกับ NGO อื่นๆ ที่อยู่ภายใต้กลไกของอาเซียน รวมทั้งต้องมีหน้าที่ในฐานะองค์กรสมาชิกด้วย

สิทธิในการเข้าเป็น NGO ภายใต้กลไกของอาเซียน
          1. สภาครูอาเซียนสามารถใช้ชื่อ ASEAN และตราของอาเซียนในการติดต่อ การประชุมได้หากมิใช่กระทำในเชิงพาณิชย์
          2. สภาครูอาเซียนอาจยื่นมติ ข้อเสนอแนะ ข้อคิดเห็น เกี่ยวกับนโยบายหรือเหตุการณ์สำคัญในภูมิภาคหรือส่วนที่เกี่ยวกับนานาชาติ ต่อคณะกรรมการอาเซียนได้ โดยผ่านสำนักงานเลขาธิการอาเซียน
          3. สภาครูอาเซียนอาจเสนอโครงการเพื่อขอทุนสนับสนุนจากที่ใดก็ได้ โดยต้องผ่านสำนักงานเลขาธิการอาเซียนไปยังคณะกรรมการเพื่อรับรอง
          4. สภาครูอาเซียนอาจริเริ่มแผนกิจกรรมสำหรับเสนอหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้เกิดการปฏิบัติที่เหมาะสม
          5. เมื่อประธานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาเรื่องแล้ว สภาครูอาเซียนอาจจะส่งผู้แทนเข้าร่วมการประชุมของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อปรึกษาหารือเกี่ยวกับเรื่องต่างๆ ซึ่งเกี่ยวพันกับองค์การที่มิใช่ของรัฐบาล
          6. ในการทำวิจัยโครงการ สภาครูอาเซียนอาจได้รับอนุญาตให้เข้าไปค้นคว้าเอกสารอาเซียนตามที่ได้หารือกับสำนักงานเลขาธิการอาเซียนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
          7. ภายใต้ข้อระเบียบและข้อบังคับ สภาครูอาเซียนอาจได้รับอนุญาตให้ใช้เครื่องอำนวยความสะดวกของสำนักงานเลขาธิการอาเซียนสำหรับการประชุมหรือกิจกรรมที่จัดขึ้นอย่างเป็นทางการในกรุงจาการ์ตาได้
          8. สภาครูอาเซียนจะได้รับการสนับสนุนให้พึ่งตนเองได้ในเรื่องของการมีวัสดุต่างๆเป็นของตนเอง

หน้าที่ของ NGO ภายใต้กลไกของอาเซียน
          1. สภาครูอาเซียนต้องรับรองในการเขียนสิ่งต่างๆ โดยยึดถือตามนโยบาย แนวทางข้อแนะนำและการตัดสินใจเรื่องต่างๆ ของอาเซียน
          2. สภาครูอาเซียนจะต้องรับผิดชอบในการกระทำของตน โดยเฉพาะสิ่งที่จะเป็นเรื่องเสียหายต่ออาเซียนทั้งหมด
          3. สภาครูอาเซียนสามารถจะเชิญผู้เข้าร่วมประชุมที่เป็นข้าราชการของสมาชิกประเทศอาเซียนร่วมประชุมและร่วมกิจกรรมได้
          4. สภาครูอาเซียนต้องส่งรายงานกิจกรรมประจำปีไปยังคณะกรรมการโดยผ่านสำนักงานเลขาธิการอาเซียน
          5. สภาครูอาเซียนต้องแจ้งให้สำนักงานเลขาธิการอาเซียนทราบถึงการเปลี่ยนแปลงเจ้าหน้าที่และสมาชิก

วัตถุประสงค์ของสภาครูอาเซียน
          1. เพื่อร่วมมือกันในภารกิจแห่งการสร้างความรู้และความเข้าใจร่วมกัน ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับหลักปรัชญาและกิจกรรมของอาเซียน รวมทั้งในส่วนที่เกี่ยวข้องกับจิตวิญญาณและวัฒนธรรมของชนชาติอาเซียน
          2. เพื่อสนับสนุนส่งเสริมและร่วมมือกันในโครงการความร่วมมือของประชาคมอาเซียนที่เกี่ยวข้องกับผลประโยชน์ร่วมกันของครู การศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรม
          3. เพื่อช่วยเหลือสมาชิกในการพัฒนากิจกรรมทางการศึกษา ที่มุ่งเน้นสนับสนุนส่งเสริมจุดมุ่งหมายและอุดมการณ์ของอาเซียน

ข้อมูลจาก : กลุ่มวิเทศสัมพันธ์ สำนักพัฒนาและส่งเสริมวิชาชีพ สำนักงานเลขาธิการคุรุสภา



Leave a Comment