กรอบการทำผลงานทางวิชาการเพื่อขอมีวิทยฐานะของครูผู้สอน ผู้บริหาร นักการศึกษา ศึกษานิเทศก์

ผลงานทางวิชาการ หมายถึง เอกสารหรือหลักฐานที่จัดทำขึ้นจากความรู้ ความสามารถ ทักษะและประสบการณ์ของผู้จัดทำ โดยการศึกษา ค้นคว้า วิเคราะห์ สังเคราะห์ วิจัย และได้นำไปใช้ในการแก้ปัญหา หรือพัฒนางานในหน้าที่จนเกิดผลดีต่อการพัฒนาคุณภาพการจัดการศึกษาและเป็นประโยชน์ต่อความก้าวหน้าทางวิชาการ

ขอบข่ายของผลงานทางวิชาการ
       1.  ผลงานทางวิชาการสายงานการสอน หมายถึง เอกสารหรือหลักฐานเกี่ยวกับการสอนที่แสดงถึงความชำนาญหรือเชี่ยวชาญในด้านนั้น ๆ รวมถึงผลงานในลักษณะอื่น ซึ่งใช้ประโยชน์ในการสอนหรือการจัดการศึกษาได้เป็นอย่างดี  โดยมีลักษณะดังนี้
               1)  ตรงกับสาขาวิชาที่ขอให้มีหรือเลื่อนวิทยฐานะ
               2)  เป็นผลงานที่เกี่ยวกับการพัฒนาการเรียนการสอนในกลุ่มสาระการเรียนรู้หรือสาขาวิชาต่าง ๆ และใช้ประโยชน์ในการเรียนการสอน
               3)  เกิดจากการปฏิบัติงานตามหน้าที่ความรับผิดชอบทางด้านการสอน
       2.  ผลงานทางวิชาการสายงานบริหารสถานศึกษา หมายถึงเอกสารหรือหลักฐานเกี่ยวกับการบริหารสถานศึกษา ที่แสดงถึงความชำนาญหรือเชี่ยวชาญและเป็นประโยชน์ในการบริหารสถานศึกษา หรือจัดการศึกษาได้เป็นอย่างดี โดยมีลักษณะข้อใดข้อหนึ่งหรือทั้งสองข้อดังนี้
               1)  เป็นผลงานที่เกี่ยวกับการบริหารสถานศึกษา ได้แก่ ด้านวิชาการ บริหารแผนและงบประมาณบริหารงานบุคคลและด้านการบริหารทั่วไป เช่นกิจการนักศึกษา  ชุมชน  อาคารสถานที่  การเงิน  และพัสดุ เป็นต้น
               2)  เป็นผลงานที่เกี่ยวกับการพัฒนาการเรียนการสอนในกลุ่มสาระการเรียนรู้หรือสาขาวิชาต่าง ๆ  เช่น วิชาสามัญ  วิชาชีพต่าง ๆ ทางช่างยนต์  คหกรรม  เกษตรกรรม และพณิชยกรรม เป็นต้น
       3.  ผลงานทางวิชาการสายงานบริหารการศึกษา หมายถึง เอกสารหรือหลักฐานที่เกี่ยวกับการบริหารและการจัดการศึกษา การพัฒนางานด้านวิชาการ การบริหารแผนและงบประมาณ  การบริหารงานบุคคล  การเงินและทรัพย์สิน  การบริหารทั่วไป และงานประสาน ส่งเสริม สนับสนุนการจัดการศึกษาที่แสดงถึงความชำนาญหรือเชี่ยวชาญและเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาคุณภาพการศึกษา
       4.  ผลงานทางวิชาการสายงานนิเทศการศึกษา  หมายถึง เอกสารหรือหลักฐานเกี่ยวกับการนิเทศการเรียนการสอน การพัฒนาและปรับปรุงคุณภาพการศึกษาและพัฒนาเทคนิค  วิธีการนิเทศ การศึกษาที่แสดงถึงความชำนาญหรือเชี่ยวชาญและเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาคุณภาพการศึกษา

 ประเภทผลงานทางวิชาการ
          ผลงานทางวิชาการที่เสนอขอมีวิทยฐานะต้องแสดงถึงความรู้  ความสามารถ  ความชำนาญและความเชี่ยวชาญของผู้ขอให้มีหรือเลื่อนวิทยฐานะ แบ่งตามลักษณะของผลงานทางวิชาการเป็น 3 ประเภท ดังนี้
           1.  ผลงาน  งานแต่งเรียบเรียง งานแปล หนังสือหรือเขียนบทความทางวิชาการซึ่งเป็นผลงานที่ได้รับการพิมพ์เผยแพร่มาแล้ว และผลงานดังกล่าวสามารถนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อการพัฒนาคุณภาพการศึกษา
           2.  ผลงานวิจัย ซึ่งเป็นงานวิจัยที่ได้รับการพิมพ์เผยแพร่แล้ว และผลงานดังกล่าวสามารถนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อการพัฒนาการจัดการศึกษาและการพัฒนาคุณภาพการศึกษา
           3.  ผลงานทางวิชาการในลักษณะอื่น ๆ เช่น
                 3.1  การประเมินงาน หรือการประเมินโครงการที่เกี่ยวกับการปฏิบัติงานใหน้าที่
                 3.2  สื่อ  นวัตกรรมทางการศึกษา เช่น ผลงานด้านการจัดทำสื่อการเรียนการสอน ผลงานด้านการคิดพัฒนารูปแบบ นวัตรกรรมที่นำมาใช้ในการปฏิบัติงานทำให้เกิดประสิทธิภาพสูงขึ้น  ซึ่งอาจจัดทำเป็นเอกสาร หรือสื่ออิเล็กทรอนิกส์ หรือสิ่งประดิษฐ์ต่าง ๆ รวมทั้งเทคนิค วิธีการจัดการเรียนรู้อันเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาคุณภาพการศึกษา
                 3.3  เอกสารประกอบการปฏิบัติหน้าที่ เป็นเอกสารที่สามารถใช้ประกอบในการปฏิบัติหน้าที่ทั้งด้านการเรียนการสอน  บริหารจัดการศึกษาและการนิเทศการศึกษา ซึ่งส่งผลต่อการพัฒนาประสิทธิภาพการทำงานในหน้าที่ให้สูงขึ้น  สำหรับแผนการจัดการเรียนรู้ให้ใช้เป็นเอกสารประกอบการประเมินคุณภาพปฏิบัติงานเท่านั้น  มิให้นำมาใช้เสนอเป็นผลงานทางวิชาการ
          ผลงานทางวิชาการที่ผู้ขอมิได้จัดทำแต่ผู้เดียว แต่ผลงานทางวิชาการได้ร่วมจัดทำกับผู้อื่นในรูปคณะทำงานหรือกลุ่ม ให้ชี้แจงให้ชัดเจนว่าผู้ขอมีส่วนร่วมในการจัดทำในส่วนใด ตอนใด หน้าใดบ้าง คิดเป็นร้อยละเท่าไรของผลงานทางวิชาการแต่ละเล่ม และให้ผู้ร่วมจัดทำทุกรายรับรองพร้อมทั้งระบุว่าผู้ร่วมจัดทำแต่ละรายได้จัดทำส่วนใดบ้าง
           ทั้งนี้ ผลงานทางวิชาการดังกล่าวต้องไม่เป็นผลงานทางวิชาการที่ใช้เป็นส่วนหนึ่งของการศึกษาเพื่อรับปริญญาตรีหรือประกาศนียบัตรใด ๆ หรือผลงานทางวิชาการที่เคยใช้เพื่อเลื่อนตำแหน่งหรือเพื่อให้มีวิทยฐานะ หรือเลื่อนวิทยฐานะมาแล้ว
           เมื่อศึกษา ประเภทของผลงานทางวิชาการ และขอบข่ายของผลงานทางวิชาการคู่มือการประเมินผลงานทางวิชาการเพื่อให้ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษามีวิทยฐานะและเลื่อนวิทยฐานะ  ก.ค.ศ. ดังกล่าวแล้ว พบว่า มีผลงานทางวิชาการรวม 11 ประเภท   (ตามการแบ่งประเภทของผลงานทางวิชาการของ ก.ค. เดิม)   ดังนี้
(1)  หนังสือ
(2)  ตำรา
(3)  เอกสารประกอบการสอน
(4)  เอกสารคำสอน
(5)  บทความทางวิชาการ
(6)  ผลงานวิจัย
(7)  งานแปล
(8)  รายงานการศึกษาค้นคว้า
(9)  สื่อการเรียนการสอน
(10) รายงานโครงการต่าง ๆ
(11) ผลงานทางวิชาการในลักษณะอื่น

ผลงานทางวิชาการแต่ละประเภท มีลักษณะดังนี้
1. หนังสือ
     หนังสือ หมายถึง  เอกสารทางวิชาการ หรือกึ่งวิชาการ ที่ได้เรียบเรียงอย่างมีระบบเข้าปกเย็บเล่มเรียบร้อย มีสารบัญ แบ่งหมวดหมู่ของเนื้อหาอย่างชัดเจน (ตีพิมพ์) ใช้อักษรตัวพิมพ์และมีการเผยแพร่ เนื้อหาจะต้องมีความละเอียดสมบูรณ์ และลึกซึ้งมาก แต่ไม่จำเป็นต้องครอบคลุมรายวิชาใดวิชาหนึ่งโดยเฉพาะ แบ่งได้เป็น 3 ประเภท ดังนี้
           1.1  หนังสือเรียนหรือแบบเรียน หมายถึง เอกสารที่จัดเป็นรูปเล่ม ใช้สำหรับการเรียน มีสาระตรงตามที่ระบุไว้ในหลักสูตรอย่างถูกต้อง อาจมีลักษณะเป็นหนังสือเล่มเดียวตามกลุ่มวิชาหรือรายวิชาใด หรือเป็นชุด คือ มีหลายเล่มหลายชนิดอยู่ในชุดเดียวกันได้ และอาจมีแบบฝึกหัดประกอบด้วยเพื่อเป็นสื่อการเรียนสำหรับให้ผู้เรียนได้ฝึกปฏิบัติเพื่อให้เกิดทักษะและแตกฉานในบทเรียน สำหรับรายวิชาที่เน้นทักษะและการปฏิบัติ
           1.2  หนังสือเสริมประสบการณ์ หมายถึง หนังสือที่จัดทำขึ้นเพื่อให้ผู้เรียนและผู้สอนใช้ประกอบการเรียนการสอน แต่มิได้กำหนดเป็นหนังสือเรียนหรือแบบเรียน เป็นหนังสือเพื่อการศึกษาหาความรู้ด้วยตนเอง เพื่อความสนุกสนานเพลิน เพื่อสร้างเสริมทักษะและ นิสัยรักการอ่าน หรือเพื่อเพิ่มพูนความรู้ความเข้าใจในสิ่งที่เรียนตามหลักสูตรให้กว้างขวางขึ้น จำแนกเป็น 4 ประเภท คือ
                   (1) หนังสืออ่านนอกเวลา หมายถึง หนังสือที่ใช้ในการเรียนวิชาใดวิชาหนึ่ง ตามหลักสูตรนอกเหนือจากหนังสือเรียน สำหรับให้นักเรียนอ่านนอกเวลาเรียน โดยถือว่า เป็นส่วนหนึ่งของการเรียนตามหลักสูตร
                   (2)  หนังสืออ่านเพิ่มเติม หมายถึง  หนังสือที่มีเนื้อหาสาระอิงหลักสูตรเพื่อช่วยให้การเรียนการสอนเป็นไปตามวัตถุประสงค์ของหลักสูตรหรือช่วยให้ผู้เรียนสามารถศึกษาหาความรู้เพิ่มเติมด้วยตนเองตามความเหมาะสมของวัย และความสามารถในการอ่านของแต่ละบุคคล
                   (3)  หนังสือส่งเสริมการอ่าน หมายถึง  หนังสือที่จัดทำเพื่อส่งเสริมให้ผู้อ่านเกิดทักษะในการอ่านและมีนิสัยการอ่านมากยิ่งขึ้น อาจเป็นหนังสือสารคดี นวนิยาย นิทาน ฯลฯ ที่ไม่ขัดต่อวัฒนธรรม ประเพณี และศีลธรรมอันดีงาม ให้ความรู้ มีคติ และมีสาระประโยชน์และชวนให้อ่าน
                   (4)  หนังสืออ้างอิง หมายถึง  หนังสือสำหรับใช้ค้นคว้าอ้างอิงเกี่ยวกับการเรียนการสอน
           1.3  หนังสืออื่น ๆ หมายถึง  หนังสืออื่น ๆ นอกจากที่กล่าวแล้ว

2. ตำรา
     ตำรา หรือเรียกว่า งานแต่งหรืองานเรียบเรียง  หมายถึง เอกสารที่ใช้ในการเรียนวิชาใดวิชาหนึ่ง โดยเฉพาะที่ได้เรียบเรียงอย่างมีระเบียบ เช่น ประกอบด้วย คำนำ สารบัญ เนื้อเรื่อง สรุป และการอ้างอิงที่ครบถ้วน สมบูรณ์ทันสมัย โดยจะต้องมีเนื้อหาสาระอย่างละเอียดครอบคลุมวิชาหรือส่วนของวิชาที่ตนมีความเชี่ยวชาญ ชำนาญการ โดยมีวัตถุประสงค์ที่ใช้เป็นหลักในการเรียนการสอนตามหลักสูตรที่ใช้ในการสถานศึกษา และต้องจัดทำเป็นรูปเล่มอย่างเรียบร้อย

3. เอกสารประกอบการสอน
      เอกสารประกอบการสอน หมายถึง เอกสารที่ใช้ประกอบการสอนวิชาใดวิชาหนึ่ง ตามหลักสูตรที่ใช้ในสถานศึกษา เอกสารประกอบการสอนมีหลายประเภท เช่น
            3.1  ชุดการสอน หมายถึง  เอกสารที่จัดทำขึ้นสำหรับใช้สอนวิชาใดวิชาหนึ่งซึ่งอาจจะจัดทำไว้เฉพาะเรื่องหรือรวมตลอดทั้งหลักสูตรก็ได้
            3.2  แบบเรียนสำเร็จรูป  หมายถึง  เอกสารที่จัดทำขึ้นเพื่อให้นักเรียนศึกษาด้วยตนเอง

4. เอกสารคำสอน
       เอกสารคำสอน  หมายถึง เอกสารคำบรรยาย  หรืออุปกรณ์ที่ใช้สอนวิชาใดวิชาหนึ่งตามหลักสูตรของหน่วยงานการศึกษา องค์ประกอบสำคัญ  มีเนื้อหาสาระคำสอนที่มีความสมบูรณ์กว่าเอกสารประกอบการสอน จัดพิมพ์เป็นโรเนียวก็ได้  แต่ต้องทำเป็นรูปเล่ม

5. บทความทางวิชาการ
      บทความทางวิชาการ หมายถึง เอกสารซึ่งเรียบเรียงจากผลงานทางวิชาการของตนเองหรือผู้อื่น ในลักษณะที่เป็นการวิเคราะห์หรือเสนอแนวความคิดใหม่ ๆ จากพื้นฐานทางวิชาการนั้น ๆ จะได้ตีพิมพ์เผยแพร่ในวารสารทางวิชาการ ในสาขาวิชาที่เผยแพร่โดยสม่ำเสมอหรือในหนังสือรวบบทความทางวิชาการ โดยการนำเสนอต่อที่ประชุมสัมมนาก็ได้ 

6. ผลงานวิจัย
      ผลงานวิจัย  หมายถึง  ผลงานการศึกษาค้นคว้าอย่างมีระบบและมีความมุ่งหมายที่ชัดเจนแน่นอน เพื่อให้ได้มาซึ่งทฤษฏี หลักการ ปัญหา วิธีการแก้ปัญหา การรับรอง หลักการหรือการพิสูจน์ทฤษฏี ซึ่งนำไปสู่ความก้าวหน้าทางวิชาการ สามารถนำผลการวิจัยไปพัฒนาหลักการหรือทฤษฏีให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น หรือสามารถนำมาประยุกต์ใช้ให้เป็นประโยชน์ต่อการศึกษา โดยอาจเป็นการวิจัยในเชิงทดลอง การวิจัยเชิงสำรวจ หรือการวิจัยเชิงปฏิบัติการก็ได้ โดยมีลักษณะเป็นเอกสารที่มีรูปแบบของการวิจัยตามหลักวิชาการ

7. งานแปล
      งานแปล   หมายถึง  ตำราหรือหนังสือที่แปลจากภาษาหนึ่งเป็นอีกภาษาหนึ่งให้ได้ใจความถูกต้องตรงตามต้นฉบับเดิม ให้สื่อความหมายเป็นที่เข้าใจแก่ผู้อ่านและได้เรียบเรียงตลอดจนปรับปรุงรายละเอียดให้เหมาะสมในกรณีจำเป็น งานแปลนี้อาจแปลมาจากตำราหรือหนังสือเล่มใดเล่มหนึ่ง หรือแปลเฉพาะบางตอนของตำราหรือหนังสือหลายเล่ม แล้วนำมารวบรวมเป็นเล่มใหม่ก็ได้

8. รายงานการศึกษาค้นคว้า
      รายงานการศึกษาค้นคว้า  หมายถึง  เอกสารจากการศึกษาค้นคว้าเรื่องที่เกี่ยวกับวิชาที่สอนหรือวิชาในภาคปฏิบัติ โดยการแสวงหาความรู้จากตำรา หนังสือ บทความทางวิชาการ และจากการเข้าร่วมสัมมนา การอภิปรายและการทดลอง หรือในงานที่ปฏิบัติ และจากแหล่งความรู้ต่าง ๆ เพื่อปรับปรุงวิธีการสอนที่ปฏิบัติในหน้าที่ให้ทันสมัยมีประสิทธิภาพ เช่น การเสนอวิธีการสอนหรือวิธีการปฏิบัติงานในหน้าที่ที่ได้ผลดียิ่งขึ้น แล้วนำเสนอเป็นเอกสารรายงาน กรณีที่มีการศึกษาค้นคว้าเพื่อจัดทำวัสดุอุปกรณ์ที่เป็นสื่อการเรียนการสอนก็ให้ส่งตัวอย่างวัสดุอุปกรณ์นั้นมาเป็นหลักฐานด้วย

9. อุปกรณ์การเรียนการสอน
       อุปกรณ์การเรียนการสอน หมายถึง สื่อการเรียนการสอนประเภทหนึ่ง มีลักษณะเป็นอุปกรณ์ที่ผลิตออกมาใช้ประกอบการเรียนการสอนวิชาใดวิชาหนึ่ง เพื่อช่วยเสริมสร้างการเรียนการสอนให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ผลงานทางวิชาการลักษณะนี้จะต้องมีเอกสารประกอบด้วย

10. รายงานโครงการต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับการเรียนการสอน
      รายงานโครงการ หมายถึง  โครงการที่ดำเนินกิจกรรมเกี่ยวกับสาขาวิชาที่สอนหรืองานที่ปฏิบัติเกี่ยวกับการศึกษา โดยระบุเหตุผลหรือความจำเป็น วัตถุประสงค์ และเป้าหมาย และผลกระทบอื่น ๆ และประโยชน์ต่อนักเรียน นักศึกษาทั่วไป ทั้งนี้จัดทำเป็นเอกสารเสนอดังกล่าวอย่างละเอียด

11. ผลงานทางวิชาการอื่น ๆ
        ผลงานทางวิชาการอื่น ๆ  หมายถึง ผลงานทางวิชาการอื่นที่มิใช่ผลงานทางวิชาการ ตามข้อ 1-10  โดยปกติหมายถึง  สิ่งประดิษฐ์หรืองานสร้างสรรค์ที่มีคุณค่า เช่น เครื่องทุ่นแรง ผลงานศิลปะ ฯลฯ

ที่มา : คู่มือการประเมินผลงานทางวิชาการเพื่อให้ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษามีวิทยฐานะและเลื่อนวิทยฐานะ



Leave a Comment