[เทคนิค] อยากเป็นนักกีฬายกน้ำหนักต้องรู้ วิธีการเล่นกีฬายกน้ำหนัก การฝึกยกน้ำหนัก การซ้อมยกน้ำหนัก

Clean&Jerkกีฬายกน้ำหนัก (weightlifting) เป็นกีฬาที่ดูเหมือนว่าจะต้องใช้พละกำลังและความแข็งแรงค่อนข้างสูง แต่หากรู้จังหวะการยกและมีท่าที่ถูกต้องปลอดภัย คนตัวเล็กน้ำหนักไม่มาก ก็สามารถยกน้ำหนักได้ทีละมากๆ ได้ สามารถเล่นได้ทั้งชายและหญิง ที่สำคัญถ้ามีฝีมือมากหน่อย ก็มีโอกาสไปแข่งได้เหรียญโอลิมปิกมาครองกันไม่ยากเลยทีเดียว แอดมินเองก็เคยมีประสบการณ์เป็นนักกีฬายกน้ำหนักของโรงเรียน และนักกีฬายกน้ำหนักของจังหวัดสุรินทร์ด้วย จะขอถือโอกาสเอาเรื่องราวของกีฬาชนิดนี้มาเล่าสู่กันฟังครับ

วิธีการจัดการแข่งขันยกน้ำหนัก
กีฬายกน้ำหนัก จะมีการยกแข่งขันแยกเป็น 2 ท่า คือ ท่าสแนทซ์ และทำคลีนแอนด์เจอร์ด เมื่อเริ่มแข่งขัน จะทำการแข่งขันท่าสแนทซ์ก่อน นักกีฬาแต่ละคนจะมีสิทธิ์ยกไม่เกิน 3 ครั้ง เสร็จแล้วจะมีเวลาพัก 5 นาที จึงทำการแข่งขันท่าคลีนแอนด์เจอร์ดต่ออีกคนละไม่เกิน 3 ครั้งเป็นการเสร็จสิ้นการแข่งขัน เมื่อเสร็จสิ้นการแข่งขันแล้ว ให้จัดลำดับที่เพื่อรับรางวัลรวม 3 รายการคือ
     1. ลำดับที่ 1-2-3 ของท่าสแนทซ์
     2. ลำดับที่ 1-2-3 ของท่าคลีนแอนด์เจอร์ด
     3. ลำดับที่ 1-2-3 ของสถิติโอลิมปิกโตเติล
รายการที่ 3 นี้ ไม่มีการแข่งขัน แต่ได้มาจากการเอาสถิติของทั้ง 2 ท่าแรกมารวมกันแล้วจัดลำดับที่ เพื่อได้รับรางวัล
สรุป ดูหรือเล่นกีฬายกน้ำหนัก นอกจากจะสนุกสนานแล้ว เสน่ห์ของกีฬายกน้ำหนักอยู่ที่นักกีฬาแข่งขัน 2 ท่า แต่มีสิทธิ์ได้รับรางวัล 3 เหรียญทอง หรือ 3 เหรียญเงิน หรือ 3 เหรียญทองแดง

การตัดสินกีฬายกน้ำหนัก

1. กำหนดให้มีผู้ตัดสิน 3 คน ทำหน้าที่ให้คำตัดสินภายใต้การควบคุมของ คณะกรรมการควบคุมการแข่งขัน
2 .เมื่อนักกีฬายกถึงท่าเสร็จสมบูรณ์ ผู้ตัดสินแต่ละคนจะวินิจฉัยให้คำตัดสินของตนเองอย่างใดอย่างหนึ่ง คือ
– ถ้าเห็นว่าถูกกติกา จะให้สัญญาณไฟ สีขาว
– ถ้าเห็นว่าผิดกติกา จะให้สัญญาณไฟ สีแดง
3. ถ้าผู้ตัดสินคนใด พิจารณาเห็นว่า ขณะนักกีฬากำลังทำการยกได้ทำผิดกติกาให้ตัดสินด้วยสัญญาณไฟสีแดงได้ทันที
4. สรุปคำตัดสิน ให้ใช้คะแนนเสียงส่วนใหญ่ของผู้ตัดสินทั้ง 3 คน

การจัดลำดับที่ของการแข่งขัน (ผลการแข่งขัน)
เมื่อแข่งขันเสร้จให้จัดลำดับที่ของ ท่าสแนทซ์ ท่าคลีนแอนด์เจอร์ด และสถิติโอลิมปิคโตเติล ตามขั้นตอน ดังนี้
1. ผู้ใดยกได้สถิติดีกว่าเป็นผู้ชนะ
2. ถ้ายกได้สถิติเท่ากัน ใครน้ำหนักตัวน้อยกว่าเป็นผู้ชนะ
3. ถ้าน้ำหนักตัวเท่ากันอีก ให้ดูว่าใครยกสถิติที่เท่ากันได้ก่อนเป็นผู้ชนะ ” กีฬายกน้ำหนักไม่มีเสมอครับ “

A. การยกท่าสแนทซ์ (SNATCH)
ให้นักกีฬาใช้มือทั้ง 2 ข้าง จับคาน (บาร์) แล้วดึงหรือยกขึ้นเป็นจังหวะเดียวให้แขนทั้งสองเหยียดตรงขึ้นเหนือศรีษะ นักกีฬาอาจ จะแยกเท้าหรือย่อเข่าเพื่อการทรงตัวและรับน้ำหนักของบาร์เบลแล้วยืนขึ้นอยู่ในท่านิ่งให้เท้าทั้งสองข้างลำตัวและบาร์เบลอยู่ในแนว ดียวกันซึ่งถือเป็นท่าที่เสร็จสมบูรณ์

ข้อที่ผิดกติกาบ่อยๆ เช่น
1. การดึงบาร์เบลจากท่าแขวน คือ ดึงบาร์เบลจากท่าแขวน คือ ดึงบาร์เบลขึ้นมาแล้วหยุดชะงักแล้วดึงต่อ (เป็นแบบ 2 จังหวะ)
2. หัวเข่าหรือก้นสัมผัสกับพื้น
3. หยุดชะงักระหว่างเหยียดแขน
4. ไม่เหยียดแขนสุด เมื่อยกได้สำเร็จ
5. วางบาร์เบลลงก่อน ได้รับสัญญาณจากผู้ตัดสิน
6. ปล่อยหรือทิ้งบาร์เบลลงด้านหลังของนักกีฬา
7. ปล่อยมือจากบาร์เบลขณะที่บาร์เบลอยู่เหนือระดับเอว ฯลฯ

ลำดับการเรียกนักกีฬาขึ้นยก
เพื่อความสะดวกแก่เจ้าหน้าที่ใส่น้ำหนักเหล็ก จึงกำหนดให้ “กรรมการจัดลำดับการยก” ประกาศเรียกนักกีฬาที่ขอน้ำหนักของบาร์ เบล ที่มีน้ำหนักน้อยกว่าคนอื่นๆ ขึ้นยกก่อน เมื่อการแข่งขันดำเนินต่อๆ ไป จะปรากฎว่า น้ำหนักของบาร์เบลบนเวทีจะค่อยๆ เพิ่มขึ้น เรื่อยๆ

สรุป คนที่ไม่ค่อยเก่ง ยกได้น้อยจะถูกเรียกขึ้นยกก่อน คนเก่งๆ ยกได้มากๆ จะถูกเรียกขึ้นยกตอนท้ายๆ แต่ละคนจะมีสิทธิ์ได้ยกคนละ 3 ครั้ง ของแต่ละท่า เคยปรากฎบ่อยๆ ว่าคนเก่งๆ ได้ยกเป็น คนสุดท้ายแต่ทำผิดกติกาฟาวล์ทั้ง 3 ครั้ง ก็ไม่ได้รับรางวัลอะไรเลย

B : การยกท่าคลีนแอนด์เจอร์ค (CLEAN & JERK) [ในภาพประกอบบทความเป็นท่าคลีนแอนด์เจอร์ค]
เป็นการยก 2 แบบ รวมอยู่เป็นท่าเดียวกัน
1. การคลีน : ให้นักกีฬาใช้มือทั้งสองข้างจับคาน (บาร์) แล้วดึงหรือยกขึ้นเป็นจังหวะเดียวให้บาร์เบลขึ้นไปพักที่แนวไหล่ แล้วยืนขึ้น อยู่ในท่านิ่งเพื่อทำท่าเจอร์คต่อไป
2. 
การเจอร์ค : คือการดันบาร์เบลด้วยการเหยียดแขนให้เป็นจังหวะเดียว ให้บาร์เบลขึ้นไปอยู่เหนือศรีษะ นักกีฬาอาจจะย่อเข่าแล้ว สปริงข้อเท้าเหยียดขึ้นเพื่อเป็นแรงส่งการดันบาร์เบล หลังจากนั้นค่อยๆ เก็บเท้าให้อยู่ในแนวเดียวกันกับลำตัวและบาร์เบล ซึ่งถือเป็นท่าเสร็จสมบูรณ์

ข้อผิดกติกาบ่อยๆ เช่น
1. ดึงบาร์เบลจากท่าแขวน
2. ขณะคลีนข้อศอกสัมผัสกับเข่าหรือขา
3. ขณะคลีนเข่าหรือกันสัมผัสกับพื้น
4. จงใจเขย่าหรือสั่นบาร์เบลเพื่อประโยชน์ในการเจอร์ค
5. งอข้อศอกหรือเหยียดแขนระหว่างการยกยังไม่สำเร็จ
6. วางบาร์เบลลงก่อนได้รับสัญญาณจากผู้ตัดสิน
7. ปล่อยมือหรือทิ้งบาร์เบลลงด้านหลังของนักกีฬา
8. ปล่อยมือจากบาร์เบล ขณะที่บาร์เบลอยู่เหนือกว่าระดับเอว

การกำหนดเวลาให้ยก
นักกีฬาแต่ละคนมีเวลา 1 นาที สำหรับการยก ถ้ายกติดต่อกัน จะมีเวลาเพิ่มเป็น 2 นาที ตั้งแต่ถูกเรียกจนยกบาร์เบลพ้นพื้น ถ้าหมดเวลาดังกล่าวแล้ว นักกีฬายังไม่ยกถือว่าผิดกติกา

แหล่งข้อมูลเพิ่มเติม
1. โหลดอ่าน คลิกอ่าน >>> [การฝึกยกน้ำหนัก เพื่อความสุดยอดของนักกีฬา]
2. เว็บไซต์สมาคมยกน้ำหนักสมัครเล่นแห่งประเทศไทย : [http://www.tawa.or.th/]

อ้างอิง :
– หน่วยศึกษานิเทศน์, สำนักนิเทศและพัฒนามาตรฐานการศึกษา, สำนักงานคณะกรรมการการประถมศึกษาแห่งชาติ, กระทรวงศึกษาธิการ. คู่มือการจัดกิจกรรมการเรียนรู้เกี่ยวกับการแข่งขันกีฬาเอเชี่ยนเกมส์. กรุงเทพฯ : สำนักงานคณะกรรมการการประถมศึกษาแห่งชาติ. 2541.
– การกีฬาแห่งประเทศไทย. (http:// www.sat.or.th)
– http://webhtml.horhook.com/section/sec5physical/athens2004/Weightlifting.htm



Leave a Comment