[ข้อมูล] วันไหว้ครู พิธีไหว้ครู คำสวดไหว้ครู ความหมายของการจัดดอกไม้บนพานไหว้ครู [ไหว้ครู 2558]

หลังจากเปิดภาคเรียนที่ 1 ของแต่ละปีการศึกษา สถานศึกษาแทบทุกแห่งจะจัดให้มีกิจกรรมไหว้ครูขึ้นในวันพฤหัสบดีของสัปดาห์ใดสัปดาห์หนึ่งของเดือนมิถุนายน [ปกติกำหนดวันพฤหัสบดีแรกของเดือนมิถุนายน เป็นวันไหว้ครู] พิธีไหว้ครู เป็นประเพณีสำคัญที่มีมาแต่โบราณ และมีอยู่ในแทบทุกสาขาอาชีพของคนไทย (นาฏศิลป์ ดนตรี โหราศาสตร์ แพทย์แผนไทย เป็นต้น) ถือเป็นพิธีกรรมที่แสดงความเคารพ และระลึกถึงพระคุณของบูรพาจารย์ ครูอาจารย์ผู้ประสิทธิ์วิชาความรู้ให้ ทำให้เราสามารถนำไปประกอบวิชาชีพ สร้างความเจริญรุ่งเรืองให้แก่ตนเองและครอบครัวได้ในอนาคต 

wai-khru“การไหว้ครู” ก็คือ การที่ศิษย์แสดงความเคารพ ยอมรับนับถือครูบาอาจารย์อย่างจริงใจ ว่าท่านเป็นผู้เพียบพร้อมด้วยคุณธรรมความรู้ ศิษย์ในฐานะผู้สืบทอดมรดกทางวิชาการ จึงพร้อมใจกันปวารณาตัวรับการถ่ายทอดวิชาความรู้ด้วยความวิริยะอุตสาหะ เพื่อให้บรรลุปลายทางแห่งการศึกษาตามที่ตั้งใจเอาไว้ ทั้งนี้ การที่ศิษย์แสดงความเคารพยอมรับนับถือครูตั้งแต่เบื้องต้น ก็มีส่วนทำให้ครูเกิดความรัก ความเมตตาต่อศิษย์ อยากมอบวิชาความรู้ให้อย่างเต็มที่ และศิษย์เองก็จะมีความรู้สึกผูกพันใกล้ชิด เกิดมั่นใจว่า ตนจะมีผู้คุ้มครองดูแล สั่งสอนให้ไปสู่หนทางแห่งความดีงาม และความเจริญก้าวหน้าแน่นอน

วันพฤหัสบดี ถือเป็น วันครู นิยมประกอบพิธีไหว้ครู
          การจัดพิธีไหว้ครูมีข้อกำหนดว่าให้กระทำพิธีเฉพาะวันพฤหัสบดี อาจจะได้รับอิทธิพลมาจากพวกพราหมณ์ ซึ่งนับถือเทพเจ้านามพระพฤหัสบดีเป็นเทพฤทธิ์ ในฐานะปุโรหิตาจารย์ที่เคารพนับถือของพระอินทร์และเทวดาอื่น ๆ จึงนิยมไหว้ครูกันในวันพฤหัสบดี
          มีตำนานที่ถือว่าวันพฤหัสบดีเป็นวันครู นอกจากนี้ยังถือกันว่าเวลากลางวันพระพฤหัสบดีเป็นธาตุไฟ และเป็นธาตุน้ำในเวลากลางคืน เป็นดาวพระเคราะห์ที่ให้วิทยาความรู้แก่มนุษย์ เราจึงถือว่าวันพฤหัสบดีเป็นวันครู

 ประโยชน์ของการจัดพิธีไหว้ครู
          1. สามารถทำให้เกิดความสามัคคีเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ในฐานะที่เป็นศิษย์มีครูเหมือนกัน
          2. สามารถนำวิชาความรู้ที่เรียนมา ไปถ่ายทอดได้ด้วยความมั่นใจ โดยไม่ต้องกลัวว่า “ผิดครู”
          3. เป็นการสร้างศิษย์ให้มีความเชื่อมั่นในวิชาความรู้ที่ได้เรียนมา กล้าแสดงออกไม่เก็บตัว
          4. ทำให้มีความรู้กว้างขวางและเข้าใจในพิธีกรรมเช่นนี้อย่างชัดเจน
          5. เกิดความสบายใจหากได้ทำสิ่งใดผิดพลาดไป ก็จะได้เป็นการขอขมาครูไปด้วย

ความหมายของข้าวตอกดอกไม้บนพานไหว้ครู
           การไหว้ครู ในอดีตนั้น มักจะใช้ หญ้าแพรก ข้าวตอก ดอกมะเขือ และดอกเข็ม เป็นองค์ประกอบในการจัดพานไหว้ครู ดอกไม้แต่ละอย่างล้วนเป็นปริศนาธรรม ซึ่งโบราณาจารย์ โด้อุปมาไว้ดังนี้
          ข้าวตอก  หมายถึง ความเป็นผู้เจริญงอกงามอย่างมีระเบียบ เวลาเราคั่วข้าวตอก ข้าวตอกจะแตกออก คนคั่วจะใช้ตะแกรงครอบไว้เพื่อให้ข้าวตอกอยู่ในกระทะ ข้าวตอกเม็ดใดกระเด็นออกนอกกระทะ ก็จะตกดินเกลือกลั้วกับฝุ่นธุลีไปและจะกลายเป็นข้าวตอกที่เสียไปใช้ไม่ได้ เช่นเดียว กับศิษย์ต้องมีระเบียบวินัย หากขาดวินัยก็จะเป็นคนไร้รูปแบบ แล้วจะเสียคนในที่สุด
          ดอกมะเขือ  หมายถึง ความอ่อนน้อมถ่อมตน เพราะดอกมะเขือที่จะผลิตผล ก้านของมะเขือโน้มตัวลงตลอด เพื่อสอนให้เด็กได้รู้จักการมีสัมมาคารวะ เพราะ คารวธรรมเป็นสัญลักษณ์แห่งความเจริญ คนอื่น ๆ จะให้เกียรติคนมีสัมมาคารวะ ตรงกันข้ามจะเหยียดหยามคนที่แข็งกระด้าง
          หญ้าแพรก หมายถึง ความเจริญงอกงาม เพราะหญ้าแพรกนั้นแม้นจะเหี่ยวเฉาไปในหน้าแล้ง เพียงฝนตกมาก็งอกเงยแล้ว ฉันใดเด็ก ๆ หรือศิษย์แม้แต่ได้รับคำพร่ำสอนจากครูก็รู้จักดีชั่วรู้รับผิดชอบต่อตัวเองและสังคม
          ดอกเข็ม หมายถึง ความแหลมคมดุจเข็ม หมายเอาสติปัญญาของศิษย์ขอให้แหลมคมพร้อมที่จะใช้ประโยชน์ได้ในทุกโอกาส ดังภาษิตไทยว่า “ปัญญาคืออาวุธ”

คำสวดไหว้ครูทำนองสรภัญญะ

worship-teacherผู้นำนักเรียนสวด : ปาเจราจริยา โหนติ คุณุตรานุสาสกา
นักเรียนสวดพร้อมกัน :
     ข้าขอประณตน้อมสักการ    บุรพคุณาจารย์
     ผู้กอปรเกิดประโยชน์ศึกษา
     ทั้งท่านผู้ประสาทวิชา       อบรมจริยา
     แก่ข้าในกาลปัจจุบัน
     ข้าขอเคารพอภิวันท์        ระลึกคุณอนันต์
     ด้วยใจนิยมบูชา
     ขอเดชกตเวทิตา              อีกวิริยะพา
     ปัญญาให้เกิดแตกฉาน
     ศึกษาสำเร็จทุกประการ      อายุยืนนาน
     อยู่ในศีลธรรมอันดี
     ให้ได้เป็นเกียรติเป็นศรี         ประโยชน์ทวี
     แก่ชาติและประเทศไทย เทอญ

ผู้นำสวด ปัญญาวุฒิ กะเร เตเต ทินโนวาเทนะมามิหัง

คำปฏิญาณตนนักเรียน
     เราคนไทย ใจกตัญญู รู้คุณชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
     เรานักเรียนจักต้องประพฤติตนให้อยู่ในระเบียบวินัยของโรงเรียน มีความซื่อสัตย์ต่อตนเองและผู้อื่น
     เรานักเรียนจักต้องปฏิบัติตนไม่ให้เป็นที่เดือดร้อนต่อตนเองและผู้อื่น

พิธีไหว้ครูจึงเป็นพิธีอันศักดิ์สิทธิ์ที่นักเรียน-นักศึกษาทุกคน จะได้ร่วมแรงร่วมใจกันแสดงความเคารพและระลึกบุญคุณของครูอาจารย์อย่างแท้จริง เพื่อเป็นสิริมงคลก่อนการเริ่มต้นศึกษาสรรพวิชาทั้งหลาย

เรียบเรียงจาก
     1. th.wikipedia.org/wiki/พิธีไหว้ครู
     2. http://guru.sanook.com/วันไหว้ครู
     3. http://hilight.kapook.com/view/24859
4. คู่มือการปฏิบัติตนของครู สควค. ครูผู้สร้างสังคมแห่งการเรียนรู้



Leave a Comment