การยื่นขอวีซ่าอเมริกา การสัมภาษณ์วีซ่าเข้าสหรัฐอเมริกา กรณีวีซ่าชั่วคราวเพื่อธุรกิจและประชุมวิชาการ

ขั้นตอนการขอวีซ่าชั่วคราวเข้าประเทศสหรัฐอเมริกา มีรายละเอียดดังนี้

1. เข้าไปกรอก DS-160 ออนไลน์ที่ [https://ceac.state.gov/genniv/
ก่อนกรอกข้อมูลควรสแกนรูปถ่ายหน้าตรงขนาด 2 นิ้ว ที่เห็นใบหูชัดเจนเป็นไฟล์ jpeg ขนาด 600X600 pixel เตรียมไว้ด้วย พร้อมกับรายละเอียดต่างๆ ที่จำเป็น เช่น ข้อมูลส่วนตัว รายการในหนังสือเดินทาง ที่อยู่ที่จะเข้าพักในสหรัฐอเมริกา และประเภทวีซ่าคือ B1 Business/Conference  (ควรรีบกรอกให้เสร็จภายใน 30-45 นาที เพราะระบบจะ error ก่อนและต้องกรอกใหม่) เมื่อกรอกข้อมูลเสร็จแล้วจะได้หมายเลขอ้างอิงของแบบ DS-160 ให้ปริ้นใบยืนยันของแบบ DS-160 เก็บไว้

2. เข้าไปสร้าง account ที่ [www.ustraveldocs.com/th] กรอกข้อมูล จากนั้นระบบจะให้ปริ้นใบแจ้งจ่ายค่าวีซ่า ธนาคารกรุงศรีอยุธยา

3. ไปชำระเงิน ณ กรุงศรีอยุธยา (ราคา 4,960 กว่าบาท) จากนั้นให้รออีกประมาณ 1 วันทำการ (ระบบจะทำการยืนยันการชำระเงินให้แบบอัตโนมัติ)

4. กลับไปที่ account ในข้อ 2 เพื่อนัดสัมภาษณ์วีซ่า ทั้งนี้ ถ้าผ่านการสัมภาษณ์ (ซึ่งทราบทันที หรือในวันสัมภาษณ์) ก็รอรับ VISA ทางไปรษณีย์ (กรณีให้จัดส่งทางไปรษณีย์) ถ้าไม่ผ่านก็ถือ Passport กลับบ้านได้

usa-embassyเอกสารประกอบการสัมภาษณ์และยื่นขอวีซ่าสหรัฐอเมริกา
เตรียมเอกสารในข้อ 1 (DS-160) พร้อมเตรียมรูปถ่ายจริง พาสปอร์ตมีอายุมากกว่า 6 เดือน (นับจากวันที่จะเดินทางกลับจากอเมริกา หากมี Passport เล่มเดิมด้วย ให้เอาไปด้วย) และเอกสารอื่นๆ เพื่อใช้ยื่นในวันสัมภาษณ์ (ซึ่งที่เตรียมไปก็ไม่ได้ใช้เลย แต่ก็เตรียมไปตามคำแนะนำเพื่อความอุ่นใจ ซึ่งถ้าเขาขอดูขึ้นมาก็มีให้ดู) ได้แก่

– หนังสือเชิญ หรือหนังสือตอบรับ
– ใบจองตั๋วเครื่องบิน เอกสารการจองโรงแรม
– เอกสารส่วนตัว เช่น หนังสือรับรองการเป็นนักศึกษา สำเนาบัตร ทะเบียนบ้าน
– เอกสารรับรองทางการเงินจากทางธนาคาร ย้อนหลัง 6 เดือน

คำแนะนำ ในวันสัมภาษณ์วีซ่า USA ที่สถานทูตสหรัฐอเมริกา
1. แต่งกายด้วยชุดสุภาพ
2. นำเอกสารการสมัคร เอกสารที่กำหนด และแบบยืนยัน DS-160 มาที่สถานทูตสหรัฐอเมริกา แผนกกงสุล ครึ่งชั่วโมงก่อนเวลาที่ได้นัดไว้ หากมาถึงสถานทูตก่อนเวลาครึ่งช่วงโมงก่อนเวลานัด ท่านจะต้องรออยู่ภายนอกสถานทูต และหากมาช้ากว่าเวลานัดเกินหนึ่งชั่วโมง หรือไม่ได้เตรียมเอกสารการสมัครที่กำหนดมาในวันนัดสัมภาษณ์และไม่สามารถกลับมาที่สถานทูตภายในเวลาหนึ่งชั่วโมงหลังจากเวลานัดได้ ท่านจะไม่ได้รับอนุญาตให้เข้ามาในสถานทูตฯ และจำเป็นต้องนัดวันเวลาสัมภาษณ์ใหม่
3. เตรียมตัวผ่านจุดตรวจเพื่อรักษาความปลอดภัย – อาวุธ ของมีคม อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ รวมทั้งโทรศัพท์มือถือ ไม่สามารถนำเข้ามาในสถานทูตฯ ได้ เป้สะพายหลัง กระเป๋าเดินทาง กระเป๋าเอกสาร และรถเข็นเด็ก ก็ไม่สามารถนำเข้ามาในสถานทูตฯ ได้ (มีเอกชนผู้ให้บริการรับฝากของ เดินย้อนกลับจากสถานฑูตราว 150 เมตร…สถานฑูตอนุญาติให้นำโทรศัพท์มือถือที่ปิดเรียบร้อยแล้วเข้าฝากในสถานฑูตได้ 1 เครื่อง/คน)

การสัมภาษณ์วีซ่าสหรัฐอเมริกา
เมื่อเข้าไปในสถานทูตฯ ต้องฝากโทรศัพท์ที่ปิดเครื่องพร้อมบัตรประจำตัวประชาชน แล้วผ่านระบบรักษาความปลอดภัย (ด่านแรก) จากนั้นเข้าคิวตรวจสอบเอกสารจะได้รหัสจัดส่ง VISA ทางไปรษณีย์แบบด่วนพิเศษ (ด่านที่ 2) จากนั้นจะเป็นการตรวจสอบข้อมูลในใบสมัคร สะแกนรูปถ่ายและลายนิ้วมือ (ด่านที่ 3) และสุดท้ายคือ การสัมภาษณ์ ซึ่งจะใช้เวลาราว 1-2 นาที (กรณีของผม ใช้เวลาไม่น่าจะถึง 1 นาที) ตัวอย่างคำถามสัมภาษณ์ ได้แก่ “ชื่ออะไร จะไปที่ไหน ไปทำอะไร ไปกี่วัน” สะแกนลายนิ้วมือ แล้วก็ “โชคดีครับ วีซ่าคุณผ่านแล้ว” ที่สำคัญวันที่ผมสัมภาษณ์วีซ่า ฝรั่งสัมภาษณ์คนไทยเป็นภาษาไทย (ไม่ใช่ภาษาอังกฤษ) ครับ แหม๋!!!

หมายเหตุ ประเภทวีซ่าชั่วคราว สำหรับการประชุมวิชาการ คือ วีซ่าเยี่ยมเยียนชนิด “B” เป็นวีซ่าชั่วคราวสำหรับผู้ที่ต้องการเดินทางไปสหรัฐฯ ชั่วคราว “เพื่อธุรกิจ (B-1)” หรือเพื่อการพักผ่อน (B-2) วีซ่าชนิด B-1/B-2 สามารถใช้เดินทางไปเยี่ยมครอบครัว เดินทางไปพักผ่อนในวันหยุด เดินทางเพื่อจุดประสงค์ทางการแพทย์ หรือเข้าร่วมในกิจกรรมทางธุรกิจระยะสั้น เช่นการประชุม สัมมนา และวีช่าชนิด B-1ยังเป็นวีซ่าสำหรับผู้สมัครที่ต้องการเดินทางไปสหรัฐฯ ในฐานะผู้ช่วยภายในบ้าน โดยท่านสามารถอ่านข้อกำหนดเฉพาะสำหรับผู้ช่วยภายในบ้านของพลเมืองอเมริกันฉบับภาษาอังกฤษและฉบับภาษาไทย และข้อกำหนดเฉพาะสำหรับชาวต่างชาติที่ถือวีซ่าชั่วคราว ฉบับภาษาอังกฤษและฉบับภาษาไทย ได้ที่นี่ http://thai.bangkok.usembassy.gov/niv_visa_classification.html 

ชมวิธีการเข้าสัมภาษณ์วีซ่าที่สถานฑูตสหรัฐอเมริกา

ทั้งนี้ หากมีข้อสงสัยเพิ่มเติม หรือต้องการติดต่อแผนกกงสุล โปรดไปที่ [http://usembassy.state.govหรือ [http://travel.state.gov]

เรียบเรียงจาก :
1. ประสบการณ์ตรงการทำวีซ่าเข้าสหรัฐอเมริกาเพื่อการประชุมวิชาการของตนเอง
2. ข้อมูลบางส่วนจาก : http://thai.bangkok.usembassy.gov/non-immigrant_visas/visa-appointments.html
ภาพประกอบจาก : http://gogoamerica.com/wp-content/uploads/2013/05/1306773162.jpg



Leave a Comment