เทคนิคอ่านหนังสือเตรียมสอบ อ่านหนังสือเองก็สอบติด ไม่ติวก็สอบติด พิสูจน์แล้ว ทำได้จริง [ติวเอง สอบติดเอง สู้ๆ]

 mr-anantasook               บทความนี้ เขียนขึ้นเพื่อให้กำลังใจเด็กนักเรียน ที่มีฐานะยากจน ไม่มีตังค์ไปติว หรือมีตังค์ แต่ไม่สะดวกและขาดโอกาสในการไปติวทั้งแบบฟรีและแบบเสียตังค์ เพื่อให้เป็นหนึ่งในการคว้าโอกาส ผ่านการสอบเข้าศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษา ในคณะที่ใช่ สาขาที่ชอบ (อย่าลืมว่า แต่ละปีเด็ก ม.6 ทั่วประเทศ จำนวนกว่า 200,000 คน ยื่นใบสมัครสอบ ADMISSION จากจำนวนนี้ 160,000 คน คือ ผู้ผิดหวัง!)
                คุณครูเกือบจะทุกท่าน คงเคยผ่านการสอบเข้ามหาวิทยาลัยของรัฐ ที่เรียกชื่อแตกต่างกันตามยุคสมัยมาแล้ว และมีสูตรสำเร็จของแต่ละคน สิ่งที่ผมจะนำเสนอนี้เป็นเพียงรูปแบบหนึ่ง ที่เคยให้เด็กในชนบท ซึ่งมีข้อจำกัดในเรื่องโอกาสทางการศึกษาต่างๆ มากมาย ไม่ว่าจะเป็นทุน ทัศนคติ หรือการขาดแรงจูงใจในการศึกษาต่อ ฯลฯ “ได้นำไปใช้ ได้ลงมือทำ” เพื่อให้รู้ความสามารถของตนเองและสามารถเลือกได้ถูกต้อง โดยอาศัย “ความอดทน พยายาม ซื่อสัตย์และเอาจริง”  วิธีการนี้ ผม (ศักดิ์อนันต์ อนันตสุข) น้องชาย (ชูเกียรติ อนันตสุข) และน้องสาว (นิราวรรณ อนันตสุข) เคยทำและประสบความสำเร็จมาแล้ว 

                 จึงขอนำเอาบทความเรื่อง “365 วัน ตามติดชีวิตเด็ก (ชนบท) เอ็นท์” ที่ผมเคยเขียนและตีพิมพ์ในวารสาร สควค. ฉบับที่ 2 มาถ่ายทอดอีกครั้ง กับการตามติดชีวิตนักเรียน โรงเรียนพนาสนวิทยา ที่ใฝ่ฝันอยากเข้าเรียนในมหาวิทยาลัย ไปสอบโควตา ด้วยวิธีการเดียวกัน ทั้งนี้ รูปแบบนี้เป็นการศึกษาแบบไม่เป็นทางการนำไปปรับใช้ได้แต่ไม่ควรนำผลการศึกษาไปใช้อ้างอิงใดๆ   
                  เมื่อผมย้ายมารับราชการที่โรงเรียนพนาสนวิทยา ความท้าทายอันหนึ่งของผม ซึ่งผู้บริหารโรงเรียนได้มอบหมายให้คือ การทำให้นักเรียนสอบเข้ามหาวิทยาลัยให้ได้  เพราะ 12 ปีของการก่อตั้งโรงเรียนยังไม่มีผลงานในเรื่องนี้ ผมใช้เวลาหนึ่งปี ครูหนึ่งคน กับการลงมือทำของนักเรียน งานนี้ต้องดูกันยาวๆ ครับ มีคนทำได้บ้าง ไม่ได้บ้าง ตามประสาเด็กๆ เป็นอย่างไร มาดูกันครับ
                  ภาคเรียนที่ 2/2548 รับสมัครนักเรียน ม.5 ที่สนใจสอบเข้าศึกษาต่อ เข้าร่วมโครงการ ดำเนินการด้วยชุมนุม “แอดมิชชั่นส์” 
                  เบื้องต้นฝึกให้นักเรียนชินกับการนอนกลางคืนหลังสี่ทุ่ม (เด็กบางคน นอนตั้งแต่ 2 ทุ่ม) เพื่อให้ใช้เวลาตั้งแต่ 2 ทุ่ม ถึง 4 ทุ่ม และอาจเพิ่มอีก 1 ชั่วโมง ได้ทำการบ้าน อ่านหนังสือ และนักเรียนทุกคนต้องมีสมุดคนละ 1 เล่ม เพื่อฝึกทำข้อสอบเอ็นทรานซ์ทุกวัน วันละ 1 วิชาๆละ 2 ชั่วโมง (กลางคืน) รวม 7 วิชา (ฟิสิกส์ เคมี ชีววิทยา คณิตศาสตร์ ภาษาอังกฤษ ภาษาไทยและสังคมศึกษา) ขั้นต่ำวิชาละ 5 ชุด รวม 35 ชุด (35 วัน) โดยนักเรียนต้องทำเอง ตรวจเองและดูเฉลยเอง รับผิดชอบเอง ส่วนครูคอยกำกับดูแลทุกสัปดาห์และจัดหาหนังสือให้เพียงพอกับความต้องการ   
                   จากนั้น นำคะแนนนักเรียนในแต่ละวิชา มาหาค่าเฉลี่ย รวมคะแนน แล้วนำไปเทียบกับคะแนนการสอบของ  ปีก่อนๆว่า คะแนนนั้นๆอยู่ในคณะใด ซึ่งผลการดำเนินการพบว่า จากนักเรียน 38 คนมีนักเรียนที่ตั้งใจทำตามคำแนะนำอย่างสม่ำเสมอ จำนวน 18 คน ส่วนที่ทำจริง คะแนนที่ได้ก็จะเป็นคะแนนความสามารถของตนเองจริงๆ  ครูจะให้คำแนะนำว่า ควรเลือกเรียนคณะอะไรจึงจะสอบได้ ซึ่งนักเรียนเกือบทุกคน เมื่อรู้ความสามารถของตนเองแล้ว ก็ลดลำดับคณะที่เลือกไว้ตั้งแต่ตอนแรกลงมา ครูแนะนำนักเรียนให้อ่านหนังสือเพิ่มเติมในช่วงปิดเทอม แต่นักเรียน ทุกคนก็ไม่อ่านเพราะไปทำงานหาเงินที่กรุงเทพฯ ชีวิตของเด็กชนบท ก็เป็นเช่นนี้ 
                   ภาคเรียนที่ 1/2549 กิจกรรมของชุมนุม “แอดมิชชั่นส์” ยังคงดำเนินต่อไป โดยมีนักเรียนกลุ่มเดิม ซึ่งขณะนี้อยู่ ม.6 ลดลงเหลือ 12 คน ครูได้จัดกิจกรรมส่งเสริมเหมือนในภาคเรียนที่ 2/2548 แต่เพิ่มเติมกิจกรรมแนะแนวมหาวิทยาลัย การเลือกคณะโดยอิงคะแนนตนเอง การเข้าค่ายจุดประกายวิทยาศาสตร์-คณิตศาสตร์ เพื่อสร้างขวัญและกำลังใจ จากนักศึกษา สควค.รุ่นที่ 10 มหาวิทยาลัยขอนแก่น การจัดทดสอบ PRE-ADMISSION และจบด้วยการทำแบบทดสอบและศึกษาด้วยตนเองแบบเข้มข้น 2 สัปดาห์ก่อนสอบโควตา ในเดือนพฤศจิกายน ซึ่งผลปรากฏว่า นักเรียนสอบผ่านข้อเขียนเข้าศึกษาต่อในมหาวิทยาลัยขอนแก่น 3 คน มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี 4 คน รวมทั้งสิ้น 7 คน และได้จุดประกายไฟ ใฝ่ศึกษาต่อให้กับนักเรียน ม.5 ได้ตั้งใจว่า “การสอบเข้ามหาวิทยาลัยโดยไม่เสียตังค์ติว เป็นสิ่งที่ทำได้จริง” 
                   จากการใช้รูปแบบดังกล่าว ข้อดี คือ ใช้ครูจัดการเพียงคนเดียว ไม่ต้องรบกวนบุคลากรในโรงเรียน ซึ่งเคยเห็นหลายโรงเรียนใช้ ครูสอนและติวเพิ่มแต่ก็ไม่ได้ผลเท่าที่ควร เพราะเป็นการเพิ่มภาระงานให้กับครูคนอื่นและคนที่ต้องทำจริงๆ คือ นักเรียน ถ้าไม่ทำ หรือทำแต่ไม่จริงจัง เมื่อเข้าสู่สนามสอบ ก็พ่ายแพ้กลับมา โดยนักเรียนต้องเรียนรู้ที่จะอดทนและรอคอย ซึ่งมีนักเรียนกว่ากึ่งหนึ่งที่ออกจากโครงการ เพราะไม่เชื่อว่า ทำแล้วจะประสบผลสำเร็จ (คนที่ทำแล้วไม่ประสบความสำเร็จก็มี ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับหลายๆปัจจัย แต่คนที่ประสบความสำเร็จล้วนเป็นคนที่ทุ่มเท เอาจริงและเลือกได้เหมาะกับความสามารถของตนเอง
                   เว็บ ANANTASOOK.Com ขอย้ำว่า เป้าหมายของการสอนของเรา ไม่ใช่มุ่งจะเอาเด็กไปสอบเข้ามหาวิทยาลัยทั้งหมด เพียงแต่ผมเห็นว่า ทุกโรงเรียนในชนบท จะมีนักเรียนที่เป็นเด็กดี เรียนดีและมีความสามารถ สมควรที่ครูอย่างเราๆ จะช่วยส่งเสริมให้เขาประสบความสำเร็จ ได้รับโอกาสทางการศึกษาที่ดี และให้เขาใช้ความรู้ความสามารถนั้นมายกระดับคุณภาพชีวิตของตนเอง ครอบครัว สังคม(ชนบท)และประเทศชาติโดยส่วนรวม ส่วนนักเรียนที่มีความสามารถอื่นต่างออกไป เราก็ต้องส่งเสริมในวิธีการที่เหมาะสม เพราะเราไม่รู้หรอกว่า เด็กที่เรียนไม่รู้เรื่อง อาจจะมีความสามารถด้านอื่นๆ ประกอบกิจการจนก้าวหน้าร่ำรวย และสามารถช่วยเหลือท้องถิ่นได้อย่างมากกมายมหาศาลเช่นกัน

ที่มา : วารสาร  สควค. ฉบับที่ 2 ที่เขียนโดย ศักดิ์อนันต์ อนันตสุข



Leave a Comment