[ข้อมูล] วันผู้สูงอายุแห่งชาติ ประวัติวันผู้สูงอายุ รดน้ำขอพรญาติผู้สูงอายุ คนชรา วันสงกรานต์ [13 เมษายน]

วันผู้สูงอายุ ถูกผูกรวมไว้กับวันขึ้นปีใหม่ไทย หรือวันสงกรานต์ ตรงกับ 13 เมษายนของทุกปี กำหนดให้มีขึ้น ในสมัยรัฐบาลของ พล.เอกเปรม ติณสูลานนท์ ที่ได้ตระหนักถึงความสำคัญของผู้สูงอายุ โดยคณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อ วันที่ 14 ธันวาคม 2525 อนุมัติให้วันที่ 13 เมษายน ของทุกปี เป็นวันผู้สูงอายุ และได้เลือก “ดอกลำดวน” เป็นสัญลักษณ์ของผู้สูงอายุ

seniorวันผู้สูงอายุสากล
องค์การสหประชาชาติ กำหนดให้ทุกวันที่ 1 ตุลาคมของทุกปี เป็น “วันผู้สูงอายุสากล” เริ่มมาตั้งแต่ปี ค.ศ. 1999 หรือ พ.ศ. 2542 และในที่ประชุมสมัชชาโลกเกี่ยวกับผู้สูงอายุ เมื่อปี พ.ศ. 2525 ณ กรุงเวียนนา ประเทศออสเตรเลีย องค์การสหประชาชาติ ได้ให้ความหมาย ของ คำว่า ผู้สูงอายุ ไว้ดังนี้

ผู้สูงอายุ หมายถึง บุคคลที่มีอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไปทั้งชายและหญิง  ซึ่งในการศึกษารวบรวมข้อมูลประชากรผู้สูงอายุได้แบ่ง ผู้สูงอายุเป็น 2 กลุ่มคือ ผู้สูงอายุตอนต้น และผู้สูงอายุตอนปลาย
          1. ผู้สูงอายุตอนต้น หมายถึง บุคคลที่มีอายุ 60-69 ปี ทั้งชายและหญิง
          2. ผู้สูงอายุตอนปลาย หมายถึง บุคคลที่มีอายุ 70 ปี ขึ้นไปทั้งชายและหญิง

ประวัติความเป็นมาของวันผู้สูงอายุในประเทศไทย
รัฐบาลสมัย จอมพล ป. พิบูลสงคราม  ได้กำหนดนโยบายที่สำคัญประการหนึ่งในอันที่จะส่งเสริมสนับสนุนให้ประชาชนมี สภาพความเป็นอยู่ที่ดี มีคุณภาพ และดำรงชีวิตในสังคมได้อย่างปกติสุข จึงได้มอบให้กรมประชาสงเคราะห์จัดตั้งสถานสงเคราะห์คนชราขึ้น เพื่อให้การสงเคราะห์ผู้สูงอายุที่เดือดร้อนมีความทุกข์ยากประสบปัญหาและไม่สามารถแก้ไขได้ด้วยตนเอง กรมประชาสงเคราะห์จึงได้จัดตั้งสถานสงเคราะห์คนชราบ้านบางแค เป็นแห่งแรกในปี พ.ศ. 2496 โดยมีวัตถุประสงค์ดังนี้
          1. เพื่อให้การสงเคราะห์คนชราที่ไม่สามารถช่วยเหลือตนเองได้ หรือประสบปัญหาความทุกข์ยาก เดือดร้อน ยากจน ไม่มีที่อยู่อาศัย หรือไม่สามารถอยู่กับครอบครัวได้
          2. เพื่อให้บริการแก่คนชราที่อยู่กับครอบครัวของตน แต่มีความต้องการบริการสงเคราะห์คนชราบางอย่าง เช่น การรักษาพยาบาล กายภาพบำบัด นันทนาการ
          3. เพื่อแบ่งเบาภาระของครอบครัวผู้มีรายได้น้อย หรือยากจน ที่ไม่สามารถจะอุปการะเลี้ยงดูคนชราไว้ในครอบครัวได้
          4. เพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาสังคมอันเกี่ยวกับคนชรา ไม่ให้เร่ร่อน ทำความเดือดร้อนรำคาญแก่สังคมและให้สามารถอยู่ในสังคมได้อย่างผาสุกตามสมควร แก่อัตภาพ
          5. เพื่อเป็นการตอบแทนคุณความดีที่คนชราได้ทำประโยชน์ให้แก่ประเทศชาติ
          6. เพื่อผู้สูงอายุจะได้คลายวิตกกังวล เมื่อชราภาพ ไม่สามารถประกอบอาชีพต่อไปได้แล้วทางรัฐบาลมีหน้าที่จะเป็นผู้อุปการะเลี้ยง ดูต่อไป

กรมประชาสงเคราะห์ได้ดำเนินการให้การสงเคราะห์ผู้สูงอายุ ตามวัตถุประสงค์ดังกล่าวข้างต้นเรื่อยมา และจากการประชุมสมัชชาโลกว่าด้วยผู้สูงอายุ ณ กรุงเวียนนา ประเทศออสเตรีย มีการพิจารณาประเด็นสำคัญเกี่ยวกับผู้สูงอายุไว้ 3 ประการ คือ ด้านมนุษยธรรม ด้านการพัฒนา และด้านการศึกษา และองค์การอนามัยโลก ยังได้กำหนดให้ปี 2525 เป็นปีรณรงค์เพื่อส่งเสริมสุขภาพผู้สูงอายุ โดยกำหนดคำขวัญว่า Add life to Years เพื่อให้ประเทศต่างๆช่วยกันส่งเสริมสุขภาพผู้สูงอายุซึ่งคณะกรรมการอำนวยการ วันอนามัยโลกของกระทรวงสาธารณสุข ได้มีมติให้ใช้คำขวัญเป็นภาษาไทยว่า ให้ความรัก พิทักษ์อนามัย ผู้สูงวัยอายุยืน

รัฐบาลไทย ได้เห็นความสำคัญโดยคณะรัฐมนตรีได้มีมติ เมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2525 แต่งตั้งคณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติขึ้น โดยมี ฯพณฯ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานกรรมการอธิบดีกรมประชาสงเคราะห์ เป็นกรรมการและเลขานุการ ผู้แทนจากหน่วยราชการองค์การเอกชนที่เกี่ยวข้องร่วมเป็นกรรมการ ทำหน้าที่กำหนดนโยบายวางแผนและดำเนินกิจกรรมระดับชาติที่เกี่ยวกับผู้สูง อายุซึ่งคณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติได้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการขึ้นรวม 7 สาขา เพื่อดำเนินกิจกรรมในด้านต่าง ๆ ได้แก่
          1. คณะอนุกรรมการ การศึกษาวิจัยและวางแผนระยะยาวเกี่ยวกับผู้สูงอายุ
          2. คณะอนุกรรมการ ประสานงานบริการสุขภาพผู้สูงอายุ
          3. คณะอนุกรรมการ สวัสดิการผู้สูงอายุ
          4. คณะอนุกรรมการ การศึกษาวัฒนธรรมและกิจกรรมเพื่อผู้สูงอายุ
          5. คณะอนุกรรมการ วิเทศสัมพันธ์เรื่องผู้สูงอายุ
          6. คณะอนุกรรมการ ประชาสัมพันธ์กิจการผู้สูงอายุ
          7. คณะอนุกรรมการ จัดหาทุนส่งเสริมกิจกรรมผู้สูงอายุ

ปี พ.ศ. 2525 คณะรัฐมนตรีจึงได้ลงมติ เมื่อวันที่ 14 ธันวาคม 2525 อนุมัติให้วันที่ 13 เมษายนของทุกปีเป็นวันผู้สูงอายุแห่งชาติ และได้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการจัดงานวันผู้สูงอายุแห่งชาติ มีปลัดกระทรวงมหาดไทยเป็น ประธานและจัดให้มีกิจกรรมต่าง ๆ สำหรับผู้สูงอายุของทุกปีตามแผน (พ.ศ. 2525 – 2544) แผนระยะยาวสำหรับผู้สูงอายุแห่งชาติ (พ.ศ. 2525 – 2544)

คณะอนุกรรมการการศึกษาวิจัยและวางแผนระยะยาวสำหรับผู้สูง อายุ ซึ่งมีอธิบดีกรมการแพทย์ เป็นประธาน ได้จัดทำแผนระยะยาวสำหรับผู้สูงอายุแห่งชาติ (พ.ศ. 2525 – 2544) ขึ้น โดยได้คำนึงถึงประเด็นสำคัญเกี่ยวกับผู้สูงอายุด้านมนุษยธรรม ด้านการพัฒนา และด้านการศึกษาเป็นหลัก แผนนี้ประกอบด้วยนโยบายและมาตรการ 5 ด้าน คือ
          1. ด้านสุขภาพอนามัย
          2. ด้านการศึกษา
          3. ด้านการสังคมวัฒนธรรม
          4. ด้านความมั่นคงทางรายได้และการทำงานอา
          5. ด้านสวัสดิการสังคม

สัญลักษณ์ดอกไม้ของผู้สูงอายุ
รัฐบาลสมัย พล.เอกเปรม ติณสูลานนท์ นอกจากจะอนุมัติให้วันที่ 13 เมษายน ของทุกปี เป็นวันผู้สูงอายุ แล้วยังได้เลือก “ดอกลำดวน” เป็นสัญลักษณ์ของผู้สูงอายุด้วย สาเหตุที่เลือกดอกลำดวน เนื่องจากต้นลำดวนเป็นพืชยืนต้นที่มีอยู่มากในสวนสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี จ.ศรีสะเกษ เป็นต้นไม้ที่ให้ความร่มเย็น ลำต้นมีอายุยืน มีใบเขียวตลอดปี ให้ร่มเงาดีและดอกมีสีนวล กลิ่นหอม กลีบแข็งไม่ร่วงง่าย เหมือนกับผู้ทรงวัยวุฒิ ที่คงคุณธรรมความดีงามไว้ให้เป็นแบบอย่างแก่ลูกหลานตลอดไป นอกจากนั้นทางด้านพฤกษศาสตร์ ต้นไม้นี้ยังใช้เป็นยาบำรุงหัวใจได้อีกด้วย

กิจกรรมวันผู้สูงอายุ 13 เมษายน
          1. กราบขอพร หรือรดน้ำขอพรผู้สูงอายุ
          2. มอบของขวัญให้กับผู้สูงอายุ

13 เมษายน วันสงกรานต์นี้ หลังจาก ทำบุญตักบาตรในช่วงเช้าตามวิถีชาวพุทธกันแล้ว อย่าลืมมาร่วมให้ความสำคัญกับ “ผู้สูงอายุ” ผู้สูงวัย คนชราและผู้หลักผู้ใหญ่ที่เคารพนับถือกันด้วยนะครับ

เรียบเรียงจาก :
          1. http://hilight.kapook.com/view/35724
          2. http://www.tlcthai.com/education/history-of-thailand/4453.html
ภาพประกอบจาก : http://portal.bangkok.go.th/public_files/news/cms_list/0067300.jpeg



Leave a Comment