[ข้อมูล] การจัดกิจกรรมชุมนุม กิจกรรมนักเรียน ตามความถนัดและความสนใจของผู้เรียน

science-clubกิจกรรมชุมนุม เป็นกิจกรรมพัฒนาผู้เรียน [(1) กิจกรรมแนะแนว (2) กิจกรรมนักเรียน (3) กิจกรรมเพื่อสังคมและสาธารณประโยชน์] ประเภทกิจกรรมนักเรียน (กิจกรรมลูกเสือ-เนตรนารี และกิจกรรมชุมนุม) จัดขึ้นตามความรู้ความถนัด และความสนใจของผู้เรียน และสอดคล้องกับบริบทและสภาพของโรงเรียน สำหรับกลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ กิจกรรมชุมนุมวิทยาศาสตร์ จัดเป็นกิจกรรมเสริมหลักสูตรอย่างหนึ่ง ซึ่งเป็นที่รวมของนักเรียนที่มีความสนใจและมีความสามารถทางวิทยาศาสตร์ ร่วมกันศึกษา ค้นคว้า ปรึกษาและแก้ปัญหาต่างๆ ทางวิทยาศาสตร์ในเรื่องที่ตนสนใจ ตลอดจนการพัฒนาทักษะของสังคม และปลูกฝังจิตสำนึกของการทำประโยชน์เพื่อสังคม

กิจกรรมชุมนุมวิทยาศาสตร์ ที่จัดขึ้นในโรงเรียนมีความหลากหลายขึ้นกับศักยภาพของโรงเรียน เช่น ชุมนุมโครงงานวิทยาศาสตร์ ชุมนุมดาราศาสตร์-ฟิสิกส์-เคมี-ชีววิทยา-สิ่งแวดล้อม เป็นต้น ที่มีศักยภาพสูงและประสบความสำเร็จก็มีการส่งเข้าประกวดชุมนุมวิทยาศาสตร์รุ่นเยาว์ของสมาคมวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทย แต่ถ้าเป็นในโรงเรียนทั่วไปหรือโรงเรียนขนาดเล็ก คาบกิจกรรมชุมนุมจะกลายเป็นคาบว่างที่ไม่เกิดประโยชน์ โดยไม่ได้ตั้งใจ  ดังนั้น คุณครูวิทยาศาสตร์ ต้องช่วยกันทำให้กิจกรรมชุมนุม สร้างการเรียนรู้สู่ผู้เรียนให้ได้

ขอบข่ายของการจัดกิจกรรมชุมนุมวิทยาศาสตร์  ที่ควรจัดให้กับนักเรียน มีดังนี้
        1. การจัดป้ายนิเทศหรือนิทรรศการทางวิทยาศาสตร์ โดยให้นักเรียนแบ่งหน้าที่รับผิดชอบเป็นสัปดาห์
        2. กิจกรรมทัศนศึกษา เช่นการนำสมาชิกไปชมแหล่งเรียนรู้ทางวิทยาศาสตร์ในท้องถิ่นหรือต่างจังหวัด
        3. การจัดประกวดอุปกรณ์วิทยาศาสตร์และโครงงานวิทยาศาสตร์ระหว่างสมาชิกและนักเรียนทั่วไป โดยชุมนุมอาจเป็นผู้ริเริ่มดำเนินการ แล้วเชิญครูอาจารย์ที่มีความรู้มาเป็นกรรมการตัดสิน
        4. การจัดค่ายวิทยาศาสตร์ อาจทำในช่วงปิดภาคเรียนหรือช่วงคาบเกี่ยววันหยุดเสาร์ อาทิตย์ ประมาณ 2-5 วัน โดยเปิดโอกาสให้นักเรียนที่สนใจร่วมเข้าค่ายด้วย
        5. การจัดมุมวิทยาศาสตร์โดยนำของสะสมมาจัดแสดงหรือจัดสวนหย่อมหน้าอาคารวิทยาศาสตร์ หรือทำสวนสมุนไพร
        6. จัดแข่งขันตอบปัญหาวิทยาศาสตร์ โดยอาจชวนนักเรียนจากโรงเรียนข้างเคียงมาร่วมแข่งขัน โดยให้อาจารย์ที่ปรึกษาช่วยออกข้อสอบและประสานงานระหว่างโรงเรียน
        7. จัดฉายภาพนิ่ง ภาพยนตร์และวิดิทัศน์เกี่ยวกับวิทยาศาสตร์แก่สมาชิกและผู้สนใจ
        8. จัดนิทรรศการวิทยาศาสตร์ในโอกาสต่างๆ เช่น วันวิทยาศาสตร์ งานจังหวัดสัญจรหรืองานประจำปีโรงเรียน
        9. จัดทำเอกสารเสริมบทเรียน เช่น บทสรุปเนื้อหา บทเรียน สรุปกฎหรือสูตรที่สำคัญ
      10. จัดอบรมเรื่องที่น่าสนใจให้กับสมาชิก เช่น เป่าแก้ว เคลือบรูป น้ำยาล้างจาน ทำเป็นผลิตภัณฑ์จำหน่าย เช่น ชุมนุมวิทยาศาสตร์สู่อาชีพของโรงเรียนพนาสนวิทยา จ.สุรินทร์
       11. จัดรายการเสียงตามสาย เพื่อนำเสนอความรู้ทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในช่วงพักกลางวัน
       12. เชิญวิทยากรมาบรรยายหรือให้ความรู้ตามที่สมาชิกมีความสนใจ
       13. เก็บปัญหาและคำถามจากสมาชิกแล้วตอบให้สมาชิกทราบ และส่งเสริมนิสัยรักการอ่านการเขียนเรื่องวิทยาศาสตร์
       14. จัดอภิปราย โต้วาที และการแสดงละครวิทยาศาสตร์
       15. จัดให้สมาชิกช่วยเหลือซึ่งกันและกัน เช่น เพื่อนช่วยเพื่อน พี่ช่วยน้อง

       จากที่กล่าวมาทั้งหมด จะเห็นว่ากิจกรรมชุมนุมวิทยาศาสตร์เป็นกิจกรรมที่จัดขึ้นเพื่อเสริมความรู้และความสนใจของนักเรียน โดยอาจจัดเป็นกิจกรรมภายในห้องเรียนหรือภายนอกห้องเรียนก็ได้ และควรเน้นให้นักเรียนได้รับผลสัมฤทธิ์ด้านความรู้ ทักษะกระบวนการทางวิทยาศาสตร์และเจคติทางวิทยาศาสตร์ ด้วย

ที่มา : วารสาร สควค. ฉบับที่ 5 บรรณาธิการโดย นายศักดิ์อนันต์ อนันตสุข



Leave a Comment