[CBSEL วันที่ 16 บ่าย] อภิปราย โอกาสและความท้าทายของผู้บริหารสถานศึกษาในศตวรรษที่ 21 (13 พ.ย. 2560; SAKANAN)

ชื่อวิชา โอกาสและความท้าทายของผู้บริหารสถานศึกษาในศตวรรษที่ ๒๑
วิทยากร ผู้อำนวยการโรงเรียนประถมศึกษา เติ้งเหวย (โรงเรียนประถมเฉาหยาง) และผู้อำนวยการโรงเรียนมัธยมศึกษาเฉินหยี (โรงเรียนมัธยมเหอชวน)
วันที่ ๑๓ พฤศจิกายน ๒๕๖๐ เวลา ๑๔.๓๐ ถึง ๑๗.๓๐ น.

๑. สาระสำคัญของวิชานี้ คือ :
กิจกรรมในวันนี้เป็นการเสวนาจากผู้อำนวยการโรงเรียนจีนท่านที่ 1 ตามด้วยผู้อำนวยการโรงเรียนไทยท่านที่ 1-2 (ประถมศึกษา-มัธยมศึกษา) จากนั้นเป็นการนำเสนอของผู้อำนวยการโรงเรียนจีนท่านที่ 2 ตามด้วยผู้อำนวยการโรงเรียนไทยท่านที่ 3-5 (อาชีวะ, กศน, เอกชน) ในที่นี้ขอสรุปสาระสำคัญจากผู้อำนวยการโรงเรียนจีน-ไทย ที่น่าสนใจ ดังนี้

คนที่ 1 ผอ. เติ้งเวย : ประเทศจีนให้ความสำคัญกับการศึกษาของประชาชน ประธานาธิบดีสี เจิ้น ผิง ได้ตัดสินใจจัดทำหลายโครงการเพื่อการศึกษา ลงทุนทางการศึกษาให้การศึกษาพัฒนาไปอย่างรวดเร็ว

ความท้าทายที่ 1 คือ เมื่อรัฐสนับสนุนเต็มที่ โรงเรียนจะพัฒนาตนเองและสร้างเอกลักษณ์ของตนเองอย่างไร โรงเรียนมีอิสระในการทำงานมากขึ้น ผอ. โรงเรียนก็มีความเป็นอิสระในการสร้างเอกลักษณ์ของตนเอง โรงเรียนสร้างความร่วมมือกับต่างชาติได้มากขึ้น ซึ่งโอกาสนี้นำมาซึ่งความท้าทายใหม่ๆ เช่นกัน
ความท้าทายที่ 2 ผู้ปกครองมีความคาดหวังมากขึ้นในคุณภาพการศึกษา ดังนั้น ผอ. ต้องตอบสนองความคาดหวังของผู้ปกครอง
ความท้าทายที่ 3 ทำอย่างไรจึงจะเกิดการพัฒนาในรูปแบบใหม่ แบบเดิมใช้มายาวนาน ทำอย่างไรจะผสมรูปแบบเดิมกับรูปแบบใหม่ให้ลงตัว และเกิดเป็นนวัตกรรมใหม่
ความท้าทายที่ 4 จุดด้อยคือ การประยุกต์ใช้ความรู้ของนักเรียนในชีวิตประจำวัน ทำอย่างไรให้นักเรียนประยุกต์ความรู้ได้ ความรู้ไม่น่าเรียน และไม่สนุก แต่จะทำอย่างไรให้สนุก ในห้องเรียนจึงต้องนำกิจกรรมอื่นๆ มาใช้เช่น เรียนรู้ด้วยเกม เป็นต้น
ความท้าทายที่ 5 การนำเทคโนโลยีมาใช้ในโรงเรียนเพื่อช่วยพัฒนารูปแบบการสอนให้ดียิ่งขึ้น ครู-ผอ. ก็ต้องเรียนรู้ว่าต้องทำอย่างไรให้นักเรียนใช้เทคโนโลยีให้เกิดประโยชน์สูงสุดและต้องใช้ในแนวทางที่ดีเท่านั้น ทำอย่างไรจะทำให้นักเรียนเรียนรู้แบบปกติและเรียนด้วยเทคโนโลยีมีความสมดุล (ที่โรงเรียนประถมเฉาหยาง จัดกิจกรรมรักการอ่าน ทำให้นักเรียนประถมชอบอ่านหนังสือจากกระดาษมากขึ้น มีครูคอยดูแลให้ผู้ปกครองมาโรงเรียนและอ่านหนังสือกับนักเรียน รวมถึงอัดเสียงแล้วเอามาเปิดให้ครูฟัง)
ความท้าทายที่ 6 ผอ.-ครู มีความเห็นไม่ตรงกัน เกี่ยวกับการปฏิรูปการศึกษา ผอ. ต้องการพัฒนาแต่ครูอยากเหมือนเดิม ครู-ผอ.จึงต้องคุยกันมากขึ้น
ความท้าทายที่ 7 ผู้ปกครองดูคะแนนแล้วตัดสินว่าเด็กคนนั้นดีไม่ดี เก่งไม่เก่ง ให้เด็กเรียนพิเศษมากขึ้นโรงเรียนพยายามลดความกดดันแต่ผู้ปกครองเพิ่มความกดดัน จึงทำการอบรมผู้ปกครองนักเรียนให้เปลี่ยนแนวคิดให้ผู้ปกครองมานั่งเรียนกับลูก จะได้เข้าใจแนวคิดการเรียนที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญมากขึ้น

คนที่ 2 ผอ. เฉินหยี กล่าวว่าโลกเปลี่ยนแปลง เราจะทำให้ทุกๆ คนอยู่ด้วยความสงบปลอดภัย มีความแตกต่างที่ลงตัว ยอมรับซึ่งกันและกัน สร้างโลกที่สวยงาม การศึกษาต้องเผชิญกับการเปลี่ยนแปลง และมีความท้าทายดังนี้
1. เราต้องมีความคิดสร้างสรรค์มากขึ้น ผอ.ต้องหาความคิดใหม่ ไม่เดินตามความคิดเดิม เพื่อตอบสนองความต้องการในแก้ปัญหาต่างๆ ต้องริเริ่มสิ่งใหม่
2. เราต้องทำการเปลี่ยนแปลงใหม่ บริหารใหม่ จัดการหลายเรื่องมากขึ้น ต้องมีการสร้างความร่วมมือต่างๆ คนทุกคนในองค์กรต้องทำพูดให้เป็นแนวเดียวกัน
3. เมื่อนักเรียนต้องเรียน แต่ไม่อยากเรียนในวิชาที่เขาคิดว่าไม่จำเป็น ก็ให้นักเรียน ทำตารางเรียนของนักเรียน มาส่ง อยากเรียนอะไรก็เปิดชุมนุมต่างๆ ตามความสนใจ
4. ความรู้ของครูเป็นตัวกำหนดว่าโรงเรียนเป็นอย่างไร เป็นตัวบ่งบอกได้เลยว่าดีหรือไม่ดี ครูและผอ. ต้องสื่อสารกัน ซึ่งการที่จะทำให้โรงเรียนประสบความสำเร็จครูก็ต้องเป็น CEO ด้วยจึงจะทำให้โรงเรียนสำเร็จ

คนที่ 3 ความท้าทายของอาชีวศึกษา
1. ค่านิยมของผู้ปกครองส่งเสริมผู้เรียนสายสามัญมากกว่าสายอาชีพ
2. นโยบายรัฐบาลส่งเสริมอาชีพมากกว่าสามัญ
3. ตลาดแรงงานขาดแคลน
4. ภาพลักษณ์ของนักศึกษาอาชีวศึกษาในอดีตจนถึงปัจจุบัน

การปรับตัวของอาชีวศึกษา
1. พัฒนาสถานศึกษาให้มีความพร้อมทุกด้าน
2. ส่งเสริมบุคลากรเรียนรู้ภาษาอังกฤษและภาษาจีน
3. จัดระบบเทคโนโลยีรองรับทุกวิชา
4. สร้างความร่วมมือกับผู้ปกครองผู้ประกอบการ ในนอกประเทศเพื่อแลกเปลี่ยนครูนักศึกษา
5. มีคุณธรรมจริยธรรมรักษาวัฒนธรรมไทยเพื่อเชื่อมโยงวัฒนธรรมสากล
6. จัดเตรียมสถานประกอบการรองรับการทำงาน

๒. ประเด็นที่ท่านสนใจเป็นพิเศษ (ไม่เกิน ๒ ประเด็น)
๒.๑ ประเด็น : ความท้าท้ายและการจัดการความท้าทายของผู้บริหารสถานศึกษาในศตวรรษที่ ๒๑
เหตุผล : เนื่องจากโลกมีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วส่งผลให้เกิดโอกาสและความท้าทายใหม่ๆ ที่ผู้บริหารสถานศึกษาต้องบริหารจัดการ เช่น (๑) การสร้างเอกลักษณ์ที่โดดเด่นให้กับสถานศึกษาของตนเอง เพื่อเป็นจุดขายให้กับโรงเรียนและสร้างความเชื่อมั่นให้ผู้ปกครองส่งบุตรหลานเข้ามาเรียน (๒) ผู้ปกครองมีฐานะทางเศรษฐกิจที่ดีขึ้น จึงมีความคาดหวังให้ลูกของตนได้รับการศึกษาที่ดีและมีคุณภาพ (๓) การจัดการเรียนรู้ที่เน้นให้ผู้เรียนได้นำความรู้ไปประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวันและตอบโจทย์จุดเน้นการพัฒนาประเทศของไทยในปัจจุบัน (๔) การนำความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีมาสนับสนุนการจัดการเรียนรู้และการบริหารสถานศึกษาให้เกิดประโยชน์สูงสุด

๓. แต่ละประเด็น (ในข้อ ๒) มีประโยชน์กับงานของท่านหรือไม่? และจะนำไปใช้ได้อย่างไร?
๓.๑ ประเด็น : ความท้าท้ายและการจัดการความท้าทายของผู้บริหารสถานศึกษาในศตวรรษที่ ๒๑
ประโยชน์กับงานและการนำไปใช้ : ผู้บริหารต้องพัฒนาตนเองให้เท่าทันกับกระแสของความเปลี่ยนแปลงของโลก ในรูปแบบการติดตามข่าวสาร ทำงานร่วมกับครูและเรียนรู้ไปกับลูกของตนเอง และจัดการกับความท้าทายที่เกิดขึ้น ดังนี้ (๑) สร้างเอกลักษณ์ที่โดดเด่นให้กับสถานศึกษาของตนเอง ทำสิ่งที่ไม่มีให้มีขึ้น ทั้งด้านบริบทและความเป็นเลิศทางวิชาการ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้ผู้ปกครองส่งบุตรหลานเข้ามาเรียน (๒) จัดการศึกษาให้ตอบสนองศักยภาพของนักเรียนในทุกด้าน เช่น ดนตรี กีฬา ศิลปะและวิชาการ (๓) การจัดการเรียนรู้ที่เน้นให้ผู้เรียนได้ลงมือปฏิบัติ สร้างนวัตกรรมและสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจได้ (๔) ส่งเสริมให้ครูประยุกต์ใช้เทคโนโลยี ในการจัดการเรียนการสอนและนำเทคโนโลยีมาใช้ในการบริหารจัดการสถานศึกษา

หมายเหตุ : บันทึกประจำวันนี้ เป็นความคิดเห็นของผู้เขียน (นายศักดิ์อนันต์ อนันตสุข) ในแต่ละวันขณะอบรมหลักสูตร Educational Leadership Training Programme for Thai School Leader ณ Southwest University สาธารณรัฐประชาชนจีน เท่านั้น อาจไม่ถูกต้องในเชิงวิชาการ อ่านเป็นความรู้ได้ แต่ไม่ควรใช้อ้างอิงในเชิงวิชาการ



Leave a Comment