บทบาทหน้าที่ของครูพี่เลี้ยง และนักศึกษาฝึกประสบการณ์วิชาชีพครู บทบาทครูพี่เลี้ยง บทบาท นศ. ฝึกสอน

ครูพี่เลี้ยง หมายถึง ข้าราชการครูหรือบุคลากรทางการศึกษาประจำการที่ผู้บริหารโรงเรียนฝึกประสบการณ์วิชาชีพครู มอบหมายให้ทำหน้าที่ให้คำแนะนำ ดูแล ช่วยเหลือนักศึกษา ตลอดจนมีอำนาจในการปกครอง อบรมและประเมินการฝึกประสบการณ์วิชาชีพครูของนักศึกษา (รวมหมายความถึง บุคลากรทางการศึกษา เช่น ผู้อำนวยการหรือรองผู้อำนวยการโรงเรียน ที่ทำหน้าที่เป็นครูพี่เลี้ยง ให้กับ ว่าที่รองผู้อำนวยการและว่าที่ผู้อำนวยการด้วย … แต่ในที่นี้ มุ่งหมายเฉพาะครูพี่เลี้ยง สำหรับนักศึกษาฝึกประสบการณ์วิชาชีพครู เท่านั้น)
pre-service-trainer
ครูพี่เลี้ยงเป็นบุคคลที่มีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งต่อกระบวนการฝึกประสบการณ์วิชาชีพครู กล่าวคือ เป็นผู้ใกล้ชิดกับนักศึกษาฝึกประสบการณ์วิชาชีพครูมากกว่าบุคคลอื่น เปรียบเสมือนต้นแบบหรือแบบพิมพ์ความเป็นครูของนักศึกษา นอกจากนี้ยังต้องทำหน้าที่เป็นผู้รักษามาตรฐานทางวิชาการ แทนผู้บริหารโรงเรียนในด้านที่เกี่ยวข้องกันการสอน และยังต้องเป็นผู้ให้ความร่วมมือกับอาจารย์นิเทศก์จากมหาวิทยาลัยในการนิเทศการฝึกประสบการณ์วิชาชีพครู ครูพี่เลี้ยงจึงเสมือนเป็นอาจารย์คนหนึ่งของมหาวิทยาลัย

คุณสมบัติครูพี่เลี้ยง
          1. มีคุณวุฒิไม่ต่ำกว่าปริญญาตรี

          2. มีประสบการณ์ในการสอนไม่น้อยกว่า 3 ปี
          3. มีคุณลักษณะของความเป็นครู 

บทบาทหน้าที่ของครูพี่เลี้ยงในการฝึกประสบการณ์วิชาชีพครู มีดังต่อไปนี้
          1. พบนักศึกษาฝึกสอนและนัดหมายการปฏิบัติงาน มอบเนื้อหาและแผนการสอน
          2. ตรวจแผน ปรับปรุงแก้ไข และส่งคืนให้นักศึกษา
          3. ให้คำแนะนำและสนับสนุนวัสดุในการทำสื่อเท่าที่โรงเรียนจะสนับสนุนได้
          4. สังเกตการสอน ประเมินผลการสอนแล้วบันทึกลงในแบบประเมิน
          5. ให้คำแนะนำ ชี้แจงในข้อควรแก้ไข พร้อมเสนอแนะแนวทางแก้ไข
          6. ติดตามผลการนิเทศและประเมินผลคุณลักษณะและการปฏิบัติตนในแบบประเมิน
          7. ตรวจผลงานและประเมินในแบบประเมิน
          8. สรุปผลการประเมินให้ผู้บริหารโรงเรียน
          9. ควบคุมดูแลนักศึกษาที่ได้รับมอบหมายให้ปฏิบัติตนและปฏิบัติงานด้วยความรับผิดชอบ
          10. ดำเนินการให้นักศึกษาปฏิบัติงานฝึกประสบการณ์วิชาชีพครูตามขั้นตอนต่าง ๆ ที่มหาวิทยาลัยกำหนด
          11. ให้คำแนะนำและช่วยเหลือในการฝึกประสบการณ์วิชาชีพครูแก่นักศึกษาตามควรแก่กรณี
          12. ให้คำปรึกษาและแนะแนวทางแก้ปัญหาในการปฏิบัติงานเมื่อนักศึกษาเกิดปัญหา
          13.  มอบเอกสารการฝึกประสบการณ์วิชาชีพครูของนักศึกษาให้มหาวิทยาลัย

ขณะเดียวกันนักศึกษาฝึกประสบการณ์วิชาชีพครู มีต้องวางตนต่อครูพี่เลี้ยง บุคลากรในโรงเรียนและผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง ดังนี้ 

1. การวางตนต่อผู้บริหาร
     –    ให้ความเคารพนับถือ
     –    ให้ความร่วมมือ
     –    ขอคำแนะนำ
     –    มีเจตคติที่ดี
     –    รับผิดชอบงานที่ได้รับมอบหมาย
     –    เผยแพร่คุณงามความดี
     –    รักษาความลับของข้อมูลต่าง ๆ ที่ได้จากโรงเรียน
2.  การวางตนต่อครูพี่เลี้ยง
     –    ให้ความเคารพนับถือ
     –    ขอคำติชม ข้อเสนอแนะหลังจากสอนแล้วเพื่อปรับปรุง
     –    ให้ความร่วมมือกับหัวหน้ากลุ่มสาระการเรียนรู้และครูพี่เลี้ยง
     –    ติดต่อสื่อสารให้ข้อมูลเพื่อให้รับรู้กิจกรรมโดยตลอด
     –    แสดงความมีน้ำใจให้ความช่วยเหลือตามแต่เวลาและโอกาสอันควร
3.  การวางตนต่อครูประจำชั้น
     –    ให้ความเคารพนับถือ
     –    รายงานความเป็นไปของนักเรียนให้ทราบ เช่น พฤติกรรมทางบวกและทางลบตลอดจนปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น
     –    ให้ข้อมูลเกี่ยวกับนักเรียนเป็นรายคน
     –    ขอความร่วมมือในการแก้ปัญหานักเรียน
4.  การวางตนต่ออาจารย์อื่น ๆ
     –    มีสัมมาคารวะต่ออาจารย์ทุกท่าน
     –    แสดงความมีน้ำใจให้ความช่วยเหลือและความเป็นมิตรทั้งต่อหน้าและลับหลัง
     –    มีความจริงใจ เสมอต้นเสมอปลาย
     –    ส่งเสริมให้เกิดความสามัคคีในหมู่คณะ
     –    มีความสำรวมทั้งกาย วาจา ใจ
5.  การวางตนต่อนักเรียน
     –    เอาใจใส่ในผลการเรียนและความประพฤติของนักเรียน
     –    รักษาความดีงามของตนที่เป็นผลให้นักเรียนยอมรับด้วยความเคารพเลื่อมใส
     –    เป็นตัวอย่างที่ดีแก่นักเรียนตลอดจนทำตนให้เป็นที่วางใจแก่นักเรียนที่มาขอคำปรึกษาในปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น
     –    มีความสนใจและพร้อมที่จะช่วยปรับปรุงชั้นเรียน
     –     มีความตระหนักว่า นักเรียนแต่ละคนนั้นมีความแตกต่างกันและต้องให้ความสนใจโดยใช้หลักจิตวิทยาการเรียนรู้
     –    ให้ความยุติธรรมในการตัดสินการกระทำของนักเรียน
     –    มีความเมตตากรุณาต่อนักเรียนโดยเสมอภาค
     –    ให้กำลังใจแก่นักเรียนที่ปฏิบัติงานได้ดี
     –    แสดงความมีใจกว้าง อดทน อดกลั้นต่อสถานการณ์ที่ไม่พึงประสงค์
     –    ไม่นำความลับส่วนตัวของนักเรียนมาเปิดเผย
6.  การวางตนต่ออาจารย์นิเทศก์
     –    มีสัมมาคารวะต่ออาจารย์ทุกคนในทุกคนสาขาวิชา
     –    เตรียมให้พร้อมอยู่เสมอเพื่อรับการนิเทศ
     –    ปฏิบัติตามคำชี้แนะด้วยเหตุผลอันควรแก่การปฏิบัติ
     –    มีความขยัน อดทน อดกลั้น เอางานเอาการ มีความรับผิดชอบต่อหน้าที่และปฏิบัติเต็มขีดกำลังความสามารถ
     –    แสดงความเป็นมิตรด้วยการเข้าพบปะทักทาย หรือขอคำปรึกษาแนะนำ ตลอดจนให้การต้อนรับเมื่ออาจารย์มาเยี่ยมหรือทำการนิเทศ
     –    ให้ความเคารพนับถือ และเชื่อฟังในสิ่งที่ได้รับการชี้แนะ หรือตักเตือน
     –    ขอคำปรึกษากรณีที่มีปัญหาหรือข้อขัดข้องเกี่ยวกับการฝึกประสบการณ์วิชาชีพครู
7.  การวางตนต่อเพื่อนนักศึกษาร่วมสถาบันและต่างสถาบัน
     –    แสดงความเป็นมิตรซึ่งกันและกัน
     –    ให้ความร่วมมือและช่วยเหลือเกื้อกูลกันทั้งในทางวิชาการ กิจกรรมของหมู่คณะตลอดจนปัญหาส่วนตัวบางประการเกี่ยวกับความคิดเห็นและการตัดสินใจ
     –    ให้คำแนะนำและคำปรึกษาที่ยังประโยชน์ในการพัฒนาและปรับปรุง
8.  การวางตนต่อเจ้าหน้าที่และนักการภารโรง
     –    แสดงความเป็นมิตรด้วยการทักทาย พูดคุยตามโอกาสอันควร
     –    ให้ความช่วยเหลืออนุเคราะห์เท่าที่จะทำได้
     –    แสดงน้ำใจดี สุภาพ อ่อนโยน
9.  การมีมนุษยสัมพันธ์ต่อบุคคลทุกฝ่าย
     การมีมนุษยสัมพันธ์มีความสำคัญอย่างมาก ต่อการปฏิบัติงานของนักศึกษา เพราะนักศึกษาไม่อาจปฏิบัติงานได้ โดยปราศจากการช่วยเหลือสนับสนุนจากบุคคลต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง เมื่อจะต้องอาศัยความช่วยเหลือสนับสนุนจากหลายฝ่าย จึงจำเป็นที่นักศึกษาจะต้องสร้างความสัมพันธ์อันดีกับฝ่ายต่าง ๆ ไว้

หมายเหตุ : (ขออนุญาตบันทึกไว้นะครับ … กันลืม)
1. ครูพี่เลี้ยงของผม คือ : ผศ.เทียนชัย ภาณุสิทธิกร โรงเรียนสาธิตศึกษาศาสตร์ ระดับมัธยมศึกษา มหาวิทยาลัยขอนแก่น
2. นักศึกษาที่ผมทำหน้าที่เป็นครูพี่เลี้ยง (ช่วงสังเกตการสอน) คือ นางสาวสุที คำลือชา จากมหาวิทยาลัยราชภัฏสุรินทร์



Leave a Comment