[เที่ยวเมืองกาญจน์] ชมปราสาทเมืองสิงห์ อารยธรรมขอมโบราณ ที่กาญจนบุรี อุทยานประวัติศาสตร์เมืองสิงห์

ชนชาติที่สร้างปราสาทหิน หนึ่งเดียวในอุษาคเนย์ คือ ชาวขอมโบราณ ดังนั้น ถ้ามีปราสาทหินสร้างอยู่ที่ไหน แสดงว่า ขอมโบราณแผ่อิทธิพลมาถึงดินแดนแถบนั้น โดยเฉพาะถ้าถึงขนาดกับสร้างเป็นเมืองด้วยแล้ว แสดงว่า เมืองนั้นเป็นศูนย์กลางของการปกครองของขอมในดินแดนแถบนั้นเลยทีเดียว การพบปราสาทเมืองสิงห์ ที่กาญจนบุรี ดินแดนฝั่งตะวันตกของประเทศไทย จึงเป็นหลักฐานหนึ่งที่สำคัญที่แสดงให้เห็นว่า ในสมัยที่ขอมเรืองอำนาจนั้น แสนยานุภาพของชาตินี้ ยิ่งใหญ่และกว้างขวางจากนครวัด นครธม (ราชอาณาจักรกัมพูชาปัจจุบัน) อย่างยิ่ง ทันทีที่ผมเห็นปราสาทแห่งนี้ ผม อึ้งและทึ่ง กับชนชาตินี้ (ของยุคนั้น) จริงๆ   

MuangSing1ปราสาทเมืองสิงห์ ตั้งอยู่ในอุทยานประวัติศาสตร์เมืองสิงห์ ตำบลสิงห์ อำเภอไทรโยค จังหวัดกาญจนบุรี เป็นปราสาทหลังใหญ่ที่ตั้งอยู่ในเมืองโบราณ ขนาดใหญ่ (เมืองสิงห์) ปราสาทมีลักษณะเกือบเป็นรูปสี่เหลี่ยมจตุรัส หันหน้าไปทางทิศตะวันออก  ตั้งอยู่บนที่ราบริมฝั่งด้านขวาของแม่น้ำแควน้อย มีพื้นที่ 641 ไร่ 1 งาน 65 ตารางวา กำแพงเมืองก่อด้วยศิลาแลง ขนาดกว้าง 880 เมตร มีประตูเข้าออกทั้ง 4 ด้าน บริเวณด้านนอกกำแพงเมืองสามด้าน (ด้านตะวันตก เหนือ และตะวันออก) มีคูน้ำคันดินกั้นเป็นกรอบล้อมรอบอีก 7 ชั้น ส่วนทางด้านทิศใต้ กำแพงเมืองคดโค้งไปตามแนวลำน้ำแควน้อย ที่เป็นปราการธรรมชาติ

MuangSing2ปราสาทเมืองสิงห์ ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานแห่งชาติตั้งแต่วันที่ 8 มีนาคม พ.ศ. 2478 ได้รับการบูรณะซ่อมแซมจนสามารถเปิดให้เข้าชมอย่างเป็นทางการได้ เมื่อวันที่ 3 เมษายน พ.ศ. 2530 ภายในอุทยานได้แบ่งพื้นที่เข้าชมโบราณสถานเป็นส่วนๆ มีทั้งการจัดแสดงภายในอาคาร และซากโบราณสถานหลายจุดให้ชม ที่สำคัญคือ ตัวปราสาทประธาน และพิพิธภัณฑ์จัดแสดงศิลปวัตถุ

องค์ปราสาทหลัก (ปราสาทเมืองสิงห์)
เป็นโบราณสถานที่มีความสมบูรณ์ที่สุดในเขตอุทยานประวัติศาสตร์เมืองสิงห์ ตั้งอยู่เกือบกึ่งกลางของผังเมือง มีแผนผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า หันหน้าไปทางทิศตะวันออก ก่อสร้างด้วยศิลาแลง ประดับด้วยลวดลายปูนปั้น มีร่องรอยของกำแพงแก้วล้อมรอบทั้ง 4 ด้าน มีชานชาลาศิลาแลงรูปกากบาท ก่อนเดินขึ้นบันไดสู่ผ่านเข้าซุ้มประตูขนาดใหญ่ ที่เรียกวัน “โคปุระ” ซุ้มประตูมีอยู่ทั้ง 4 ทิศ เชื่อมต่อกันด้วยทางเชื่อมที่ก่อเป็นผนังสองด้าน มีหลังคาทำจากศิลาแลงคลุมโดยรอบ เรียกว่า “ระเบียงคด”

MuangSing3เมื่อผ่านซุ้มประตูเข้าไปส่วนในสุด จะเป็นบริเวณสำหรับประกอบพิธีกรรม มีปรางค์ประธานเป็นศูนย์กลาง ยังคงเห็นเป็นฐานรูปสี่เหลี่ยมจตุรัส ภายในประดิษฐานพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร ในภาคที่เรียกว่า “เปล่งรัศมี” คือ มีพระกร 8 กร (พระกรทั้งหมดได้หักหมดแล้ว) ถัดไปทางบริเวณซุ้มประตูโคปุระด้านหลังของปรางค์ประธาน มีรูปเคารพพระนางปรัชญาปารมิตา นอกจากนี้บริเวณใกล้ๆ ปรางค์ประธานยังมีมีอาคารเล็กๆ ที่เรียกว่า “บรรณาลัย” หรือเป็นที่เก็บคัมภีร์ทางพุทธศาสนาในสมัยนั้น

พิพิธภัณฑ์จัดแสดงศิลปวัตถุปราสาทเมืองสิงห์
เป็นอาคารสำหรับเก็บ และจัดแสดงวัตถุต่างๆ ที่ได้จากการขุดแต่งโบราณสถาน เพื่อให้ได้ศึกษา เรียนรู้ เช่นภาชนะดิน เครื่องมือเครื่องใช้ เครื่องประดับที่ทำด้วยหินและแก้ว รวมทั้งโครงกระดูก ที่ขุดค้นได้ทางโบราณคดี ที่มีอายุกว่า 2,000 ปี

MuangSing4จากรูปแบบของศิลปกรรมและสถาปัตยกรรมที่หลงเหลืออยู่จนถึงปัจจุบัน พบว่าเป็นศิลปะแบบบายน ตรงกับรัชสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ของขอม (พุทธศตวรรษที่ 18 ; พ.ศ. 1720 – 1780) ปราสาทเมืองสิงห์ถูกสร้างขึ้นเพื่อเป็นศาสนสถานทางพุทธศาสนา นิกายมหายาน เนื่องจากรูปเคารพสำคัญที่พบในภายในตัวปราสาท เป็น พระรัตนตรัยมหายาน ได้แก่ พระพุทธรูปนาคปรกอยู่ตรงกลาง พระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวรอยู่เบื้องขวา และพระนางปรัชญาปารมิตาอยู่เบื้องซ้าย

การเดินทางไปปราสาทเมืองสิงห์: เส้นทางเมืองกาญจนบุรี – ปราสาทเมืองสิงห์ ระยะทาง 45 กิโลเมตร : จากตัวเมืองกาญจนบุรี วิ่งบนถนนแสงชูโตถึงสี่แยกแก่งเสี้ยน แล้วเลี้ยวซ้ายเข้าทางหลวงหมายเลข 323 (อำเภอไทรโยค-ทองผาภูมิ) ประมาณ 25 กิโลเมตร สังเกตป้ายบอกทางไปอุทยานประวัติศาสตร์เมืองสิงห์ เลี้ยวตามป้ายบอกทางเข้าถนนหมายเลข 3455 เมื่อสุดทางเจออีกสามแยก จากนั้นเลี้ยวซ้ายไปอีกประมาณ 50 เมตร จะเห็นทางเข้าปราสาทเมืองสิงห์อยู่ทางขวา ท่านที่ชื่นชอบปราสาท หรือผังเมืองโบราณ หากมีโอกาสมากาญจนบุรี รับรองว่า ท่านจะจุใจกับปราสาทเมืองสิงห์ แน่นอนครับ

ข้อมูลเพิ่มเติม
อุทยานประวัติศาสตร์เมืองสิงห์ : เปิดให้เข้าชมทุกวัน ตั้งแต่เวลา 8.00 – 16.30 น.
ติดต่อสอบถามได้ที่ โทร 034-528-456-7



Leave a Comment