[ข้อมูล] วันคณิตศาสตร์โลก วันพาย โอกาสก่อเกิดวันคณิตศาสตร์ไทย [14 มีนาคม]

ถ้าถามว่า “14 กุมภาพันธ์” เป็นวันอะไร คนเกือบทั้งโลก น่าจะตอบได้ว่าเป็น “วันวาเลนไทน์” แต่ถ้าถามว่าแล้ว “14 มีนาคม” ล่ะ เป็นวันอะไร เชื่อเหลือเกินว่า น้อยคนนักจะรู้ว่าเป็น “วันคณิตศาสตร์โลก” (แม้แต่ครูคณิตศาสตร์บางท่าน ก็อาจจะพึ่งรู้เหมือนกันนะนี่…แม่นบ่) เช่นเดียวกับคำถามข้างต้น ถ้าถามว่า วันวิทยาศาสตร์ไทย ตรงกับวันที่เท่าไหร่ นักเรียนส่วนใหญ่ ก็น่าจะทราบว่าตรงกับวันที่ 18 สิงหาคม และถ้าเปลี่ยนคำถามเป็น วันคณิตศาสตร์สากล… วันคณิตศาสตร์แห่งชาติ…วันคณิตศาสตร์ไทย ตรงกับวันที่เท่าไหร่ คำตอบที่ได้ อาจทำให้คุณตะลึงนะครับ เพราะส่วนใหญ่จะตอบว่า “ทุกวันที่ 1 และวันที่ 16 ของเดือน” ครับ ไม่เชื่อก็ลองถามดูได้ (คำตอบคือ วันหวยออกนั่นเอง)

pi-dayนักคณิตศาสตร์เขาตกลงกันอย่างนี้นะครับ เขาตกลงกันให้วันที่ 14 เดือน 3 ของทุกปี เป็นวันคณิตศาสตร์โลก (World Math Day) เพื่อเฉลิมฉลองอัตราส่วนทางคณิตศาสตร์ ที่หาจากความยาวของเส้นรอบวงกลม (Perimeter) หารด้วยความยาวของเส้นผ่านศูนย์กลางของวงกลมวงนั้น (Diameter)  โดยประมาณ มีค่าเท่ากับ 3.14 จึงถือเอาว่า วันที่ 14 เดือน 3 เป็นวันคณิตศาสตร์โลกบางครั้งเราเรียกวันนี้ว่า  “Pi Day” และวันนี้ตรงกับวันเกิดของอัลเบิร์ต  ไอน์สไตน์ (Albert Einstein : ค.ศ.1879-1955) ด้วย 

ค่า Pi สามารถเขียนเป็นทศนิยมแบบไม่รู้จบที่ไม่ซ้ำกัน  คือ ไม่สามารถเขียนเป็นตัวเลขออกมาได้ทั้งหมด เช่น
pi=3.14159265358979323846264338327950284197169…
จำนวนนี้เรียกว่า จำนวนอตรรกยะ (Irrational Number) แต่ปัจจุบันกำหนดใช้ค่า π เท่ากับ 3.14 (หรือ 22/7)

ผู้สนใจเกี่ยวกับค่า pi คลิกเข้าไปดูที่ www.piday.org  เป็นเว็บไซต์ที่สร้างขึ้นมาเพื่อค่า pi โดยเฉพาะ จะมีข้อมูลที่เป็นประโยชน์มากมาย…

การจัดกิจกรรมในวันพาย (Pi Day) หรือวันคณิตศาสตร์โลก (World Math Day) 
     การฉลองวันพายในต่างประเทศ  นักเรียน คุณครูและผู้คนที่มีความสนใจในหลากหลายสาขาความรู้จะเรียนรู้เกี่ยวกับ เรื่องพายและวงกลมในวันนี้ และเป็นวันที่เขาเหล่านั้นจะได้กินพายหลายๆ ชนิดด้วย บางแห่ง มีการตั้งรางวัลสำหรับผู้ที่ท่องตำแหน่งค่าพายได้มากที่สุดหรือบางครั้งก็ให้รางวัลแก่ผู้ประดิษฐ์อุปกรณ์ช่วยจำที่น่าสนใจ
     กิจกรรมวันพายในประเทศไทย (ไม่แน่ใจว่าในประเทศไทยมีกิจกรรมวันพาย ที่เป็นกิจลักษณะด้วยหรือไม่) แต่ในระดับโรงเรียน เนื่องจากวันที่ 14 เดือนมีนาคม อยู่ในช่วงสอบปลายภาคของนักเรียน จึงไม่เอื้อให้เกิดการจัดกิจกรรมวันคณิตศาสตร์โลกได้เลย อย่างไรก็ตาม หลายๆ โรงเรียนมีการบูรณาการจัดกิจกรรมวันคณิตศาสตร์คู่กับวันวิทยาศาสตร์ (18 สิงหาคม) หรือหากครูในกลุ่มสาระการเรียนรู้คณิตศาสตร์ ต้องการมีกิจกรรมเป็นการเฉพาะก็สามารถเลือกใช้ ค่า 22/7 ให้เป็นประโยชน์ โดยจัดกิจกรรมวันคณิตศาสตร์ในวันที่ 22 กรกฎาคม แทนก็ได้ (ผมขอแนะนำ) นะครับ

เรียบเรียงโดย ศักดิ์อนันต์ อนันตสุข
ขอบคุณข้อมูลจาก
1. http://www.oknation.net/blog/sanehmaths/2008/04/28/entry-2
2. http://www.neutron.rmutphysics.com/science-news/index.php?option=com_content&task=view&id=1275&Itemid=4

3. ภาพประกอบจาก : http://www.atom.rmutphysics.com/charud/oldnews/0/286/1/5/13.jpg



Leave a Comment