[PBL] ปราสาทเบงวิทยา ใช้โครงงานเป็นฐานสร้างพลังการเรียนรู้ ผ่านชุมชนการเรียนรู้ทางวิชาชีพครูทั้งโรงเรียน

ในยุคการปฏิรูปการเรียนรู้สู่ผู้เรียนนั้น มีเป้าหมายเพื่อมุ่งให้นักเรียนมีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนเพิ่มขึ้น มีทักษะในศตวรรษที่ 21 และเป็นพลเมืองที่ดีมีคุณธรรม โดยผ่านการสร้างชุมชนการเรียนรู้ทางวิชาชีพของครู (Professional Learning Community; PLC) ในกลุ่มสาระการเรียนรู้ ระหว่างกลุ่มสาระการเรียนรู้ หรือขับเคลื่อนในโรงเรียนร่วมกันโดยบุคลากรทั้งโรงเรียน

โรงเรียนปราสาทเบงวิทยา สังกัด สพม.33 โดยการบริหารงานของ ผู้อำนวยการพิจิตรา คำมันตรี และรองผู้อำนวยการไกรสร ธุนาสูรย์ ได้แสดงให้เห็นถึงความสำเร็จเบื้องต้นของการใช้ชุมชนการเรียนรู้ทางวิชาชีพของครูเพื่อพัฒนาคุณภาพผู้เรียนอย่างเป็นระบบครบวงจร โดยเริ่มจากครูและผู้บริหารมีความเห็นร่วมกันว่า นักเรียนของตนเองมีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนค่อนข้างต่ำ ขาดทักษะในการแก้ไขปัญหา การแสวงหาความรู้ การสร้างสรรค์สรุปองค์ความรู้ และการสื่อสารต่อสาธารณชน และเห็นว่าการจัดการเรียนรู้โดยใช้โครงงานเป็นฐาน (Project Base Learning) จะช่วยให้ผู้เรียนมีความรู้และเติมเต็มทักษะที่จำเป็นในศตวรรษที่ 21 ได้

ครูทุกคนในโรงเรียนได้เข้าสู่กระบวนการรับความรู้ควบคู่การปฏิบัติจริงจากผู้มีประสบการณ์จริงและมีผลงานเชิงประจักษ์ในการจัดการเรียนรู้โดยใช้โครงงานเป็นฐาน และได้มีความเห็นร่วมกันว่า จะขับเคลื่อนการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนโดยใช้โครงงานเป็นฐานในโรงเรียนปราสาทเบงวิทยา ที่ปรับปรุงขั้นการสอนจาก ดุษฎี โยเหลาและคณะ 6 ขั้นตอน ได้แก่ (1) ขั้นให้ความรู้พื้นฐาน (2) ขั้นกระตุ้นความสนใจ (3) ขั้นจัดกลุ่มร่วมมือ (4) ขั้นแสวงหาความรู้ (5) ขั้นสรุปสิ่งที่เรียนรู้ (6) ขั้นนำเสนอผลงาน

จากนั้น ครูทุกคนได้ประชุมตกลงร่วมกัน ในการกำหนดนักเรียนแต่ละห้องว่า ครูท่านใดจะรับผิดชอบพัฒนานักเรียนในรายวิชาใด เพื่อให้นักเรียนทั้งโรงเรียนได้เข้าสู่กระบวนการเรียนรู้โดยใช้โครงงานเป็นฐานเหมือนกัน ให้ผู้เรียนมีความสุขในการเรียน ไม่ต้องทำโครงงานหลายวิชาเกินความจำเป็น ซึ่งพบว่า ครูบางท่านทำงานร่วมกันโดยจับคู่บูรณาการข้ามกลุ่มสาระการเรียนรู้ เช่น ครูพลศึกษาจับคู่กับครูเทคโนโลยีในการจัดการเรียนรู้ด้วยโครงงานเป็นฐานกับนักเรียน 1 ห้องร่วมกัน ร่วมกันเขียนแผนการจัดการเรียนรู้และใช้โครงงานที่นักเรียนสร้างสรรค์ขึ้นมาเป็นส่วนหนึ่งของการวัดผลประเมินผลร่วมกัน

ผลการดำเนินงานเบื้องต้น พบว่า คุณครูที่ได้จัดการเรียนรู้จนครบกระบวนการและนักเรียนมีโครงงานที่นักเรียนคิดเพื่อแก้ปัญหาในสาระวิชาต่างๆ ครูก็สะท้อนผลอย่างภูมิใจว่าได้เรียนรู้ไปกับนักเรียน ได้เห็นความคิดสร้างสรรค์ของนักเรียน ได้เห็นศักยภาพบางอย่างที่ซ่อนอยู่ในตัวนักเรียน ได้ประสบการณ์ของการเป็นครูผู้สร้างสรรค์การเรียนรู้และมีผลงานการพัฒนาผู้เรียนที่สามารถนำไปเผยแพร่หรือจัดแสดงในโอกาสต่างๆ หรือต่อยอดให้มีความก้าวหน้าทางวิชาชีพต่อไปได้ และรู้สึกว่าตนเองกำลังทำงานสอนอย่างมืออาชีพ

ในส่วนของนักเรียน พบว่า นักเรียนได้ทำงานร่วมกันกับเพื่อนทั้งในและนอกห้องเรียน ได้เพื่อนสนิทต่างหมู่บ้านจากการทำโครงงานร่วมกัน นักเรียนที่เรียนไม่เก่งเป็นเด็กหลังห้อง ได้เปิดเผยศักยภาพของตนเอง ด้านการถ่ายภาพ การทำคลิปวิดีโอนำเสนอผลงานร่วมกับเพื่อนที่เรียนเก่งวิชาการ เด็กบางคนเป็นเด็กมีปัญหาครอบครัว แต่เมื่อมีกิจกรรมวิชาการทำร่วมกันกับเพื่อนในสิ่งที่เขาถนัดและสนใจ ก็สามารถทำให้เขาลืมปัญหาออกจากความซึมเศร้าและสิ้นหวังมาสนุกกับการเรียนร่วมกันกับเพื่อนได้ และสามารถสร้างสรรค์โครงงานทำชิ้นงานได้อย่างมีคุณภาพด้วย

สิ่งเหล่านี้ คือความงอกงามเล็กๆ แต่ยิ่งใหญ่ ที่กำลังเบ่งบานขึ้นจากการ PLC ร่วมกันของครูและผู้บริหารโรงเรียนปราสาทเบงวิทยา ที่ได้ร่วมคิด ร่วมทำ เพื่อผู้เรียนของตนเอง จนสามารถที่จะคาดการณ์ได้ว่า เมื่อครูทุกคนได้ใช้กระบวนการจัดการเรียนรู้โดยใช้โครงงานกับนักเรียนครบทุกชั้นแล้ว นักเรียนรุ่นนี้ จะเป็นนักเรียนที่มีคุณภาพ มีวัฒนธรรมการแสวงหาความรู้ มีทักษะในศตวรรษที่ 21 และเป็นพลเมืองที่ดีมีคุณธรรมติดตัวไปทุกคน ชัวร์แน่นอนครับ

บทความนี้เขียนโดย : ดร.ศักดิ์อนันต์ อนันตสุข ผู้อำนวยการโรงเรียนตาเบาวิทยา วิทยากรพี่เลี้ยงทุนวิจัย สพฐ. ของโรงเรียนปราสาทเบงวิทยา (งบทุนวิจัยโรงเรียน ICU) ร่วมกับคุณอรางค์ลักษณ์ มณีศิริ และคุณสินีนาถ เสวตสุพร คณะนักวิชาการศึกษาสำนักติดตามและประเมินผลการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน สพฐ. จากการติดตามการพัฒนาทักษะทางสังคมและปัญญาในโครงการโรงเรียนแห่งอนาคต โรงเรียนปราสาทเบงวิทยา เมื่อ 24 สิงหาคม 2560 



Leave a Comment