สถานี ก.ค.ศ. การละทิ้งและทอดทิ้งหน้าที่ราชการจะเกิดผลอย่างไร โทษการละทิ้งหน้าที่ โทษการทอดทิ้งหน้าที่ของครูและบุคลากรฯ

noworkละทิ้งหน้าที่ราชการ หมายถึง ไม่อยู่ปฏิบัติหน้าที่ราชการตามหน้าที่ ซึ่งได้แก่ การไม่มายังสถานที่ราชการเพื่อปฏิบัติราชการตามหน้าที่ หรือเพื่อให้ผู้บังคับบัญชามอบหมายงานให้ปฏิบัติ รวมทั้งการมายังสถานที่ราชการแล้วแต่ไม่อยู่ปฏิบัติงาน ละทิ้งไปยังสถานที่อื่น

ทอดทิ้งหน้าที่ราชการ หมายถึง การมาอยู่ในสถานที่ราชการ หรือมาปฏิบัติงานแต่ไม่สนใจ ไม่ปฏิบัติงานตามหน้าที่ที่ต้องรับผิดชอบ ปล่อยให้งานคั่งค้าง

อุทิศเวลาของตนให้แก่ราชการ หมายถึง ต้องอุทิศ หรือ สละเวลาทั้งหมดปฏิบัติราชการตามที่ทางราชการต้องการ รวมทั้ง เวลานอกเหนือจากเวลาปฏิบัติราชการตามปกติในกรณีที่ทางราชการมีงานเร่งด่วน ที่จำเป็นจะต้องให้ข้าราชการปฏิบัติงานนอกเวลาราชการด้วย

โทษกรณีละทิ้งหรือทอดทิ้งหน้าที่ราชการ มีแนวการพิจารณาโทษดังนี้
การดำเนินการทางวินัยโดยผู้บังคับบัญชาอันเนื่องมาจากมีการกล่าวหาว่าข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษากระทำผิดวินัย ซึ่งผู้บังคับบัญชาได้ดำเนินการสืบสวนหรือพิจารณาในเบื้องต้นแล้ว ปรากฏว่ากรณีมีมูลที่ควรกล่าวหาว่าข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษากระทำผิดวินัย ก็เป็นหน้าที่ของผู้บังคับบัญชาหรือผู้มีอำนาจตามมาตรา 53 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ.2547 และที่แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2551 ที่จะต้องดำเนินการทางวินัยแก่ผู้ใต้บังคับบัญชา โดยการสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนวินัยอย่างร้ายแรงหรือไม่ร้ายแรง ตามมูลความผิดที่ได้สืบสวนข้อเท็จจริงในเบื้องต้นมาแล้ว (มาตรา 98) ต่อจากนั้นก็เป็นอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการสอบสวน ซึ่งกฎหมายกำหนดให้เป็นเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมาย และมีอำนาจเช่นเดียวกับพนักงานสอบสวน ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (มาตรา 101) ที่จะไปดำเนินการสอบสวนตามขั้นตอนและวิธีการที่กำหนดไว้ใน กฎ ก.ค.ศ.ว่าด้วยการสอบสวนพิจารณา พ.ศ.2550 แล้วรายงานผู้บังคับบัญชาผู้สั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวน ซึ่งผู้บังคับบัญชาจะต้องใช้ดุลพินิจพิจารณาความผิดและกำหนดโทษ ในการพิจารณาความผิดและกำหนดโทษนั้น ผู้บังคับบัญชาจะต้องดำเนินการตามแนวทางการพิจารณาโทษข้าราชการครู ตามหนังสือสำนักงาน ก.ค.ที่ ศธ 1306/ว4 ลงวันที่ 7 สิงหาคม 2543 ซึ่งในที่นี้จะขอกล่าวเฉพาะกรณีที่ข้าราชการครูกระทำผิดวินัย กรณีละทิ้งหรือทอดทิ้งหน้าที่ราชการ ซึ่งมีแนวการพิจารณาโทษดังนี้

1. ละทิ้งหรือทอดทิ้งชั่วโมงสอน หรือเวรยาม
1.1 ละทิ้งหรือทอดทิ้งชั่วโมงสอน ระดับโทษปลดออก, ลดขั้นเงินเดือน, ตัดเงินเดือนหรือภาคทัณฑ์ตามความร้ายแรงแห่งกรณี
1.2 ละทิ้งหรือทอดทิ้งหน้าที่เวรประจำวัน หรือเวรรักษาการณ์ ระดับโทษปลดออก, ลดขั้นเงินเดือน, ตัดเงินเดือนหรือภาคทัณฑ์ ตามความร้ายแรงแห่งกรณี

2. ละทิ้งหน้าที่ราชการเป็นเวลาไม่เกิน 15 วัน
2.1 เป็นเหตุให้เกิดความเสียหายแก่ราชการอย่างร้ายแรง ระดับโทษปลดออก
2.2 ไม่เป็นเหตุให้เกิดความเสียหายแก่ราชการอย่างร้ายแรง
2.2.1 ละทิ้งไม่เกิน 3 วัน ระดับโทษตัดเงินเดือน 5% เป็นเวลา 1 เดือน
2.2.2 ละทิ้งเกิน 3 วัน แต่ไม่เกิน 5 วัน ระดับโทษตัดเงินเดือน 5% เป็นเวลา 2 เดือน
2.2.3 ละทิ้งเกิน 5 วัน แต่ไม่เกิน 10 วัน ระดับโทษตัดเงินเดือน 5% เป็นเวลา 3 เดือน
2.2.4 ละทิ้งเกิน 10 วัน แต่ไม่เกิน 15 วัน ระดับโทษลดขั้นเงินเดือน
กรณีตาม 2.2.1-2.2.4 ให้คำนึงถึงความร้ายแรงแห่งกรณีด้วย

3. ละทิ้งหน้าที่ราชการเป็นเวลาเกินกว่า 15 วัน
3.1 เป็นเหตุให้เกิดความเสียหายแก่ราชการอย่างร้ายแรง ระดับโทษไล่ออกหรือปลดออกตามความร้ายแรงแห่งกรณี
3.2 ละทิ้งหน้าที่ราชการติดต่อในคราวเดียวกันเป็นเวลาเกินกว่า 15 วัน โดยไม่มีเหตุผลอันสมควร
3.2.1 ไม่กลับมาปฏิบัติหน้าที่ราชการ ระดับโทษไล่ออก ตามมติคณะรัฐมนตรีที่ นร 0205/ว 234 ลงวันที่ 24 ธันวาคม 2536
3.2.2 กลับมาปฏิบัติหน้าที่ราชการอีก ระดับโทษไล่ออกหรือปลดออก ตามความร้ายแรงแห่งกรณี
3.2.3 ละทิ้งหน้าที่ราชการติดต่อในคราวเดียวกัน เป็นเวลาเกินกว่า 15 วัน โดยมีพฤติกรรมอันแสดงถึงความจงใจไม่ปฏิบัติตามระเบียบของทางราชการ ระดับโทษปลดออก
3.2.4 ละทิ้งหน้าที่ราชการเป็นเวลาเกินกว่า 15 วัน โดยไม่ติดต่อกัน
3.2.4.1 เป็นเหตุให้เกิดความเสียหายแก่ราชการอย่างร้ายแรง ระดับโทษปลดออก
3.2.4.2 ไม่เป็นเหตุให้เกิดความเสียหายแก่ราชการอย่างร้ายแรง ระดับโทษลดขั้นเงินเดือน

ดาวน์โหลดเอกสาร :>> [ละทิ้งหน้าที่ราชการและทอดทิ้งหน้าที่ราชการ]

ที่มา : คอลัมน์ สถานี ก.ค.ศ. หนังสือพิมพ์มติชน วันที่ 21 กันยายน 2558
ที่มา : http://www.lertchaimaster.com/forum/index.php?topic=570.0



Leave a Comment