[เนื้อหา ฟิสิกส์นิวเคลียร์] หน่วยงานด้านนิวเคลียร์ประเทศไทย รวมหน่วยงานเทคโนโลยีนิวเคลียร์ประเทศไทย

ในประเทศไทย มีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับด้านนิวเคลียร์ และหน่วยงานที่ใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีนิวเคลียร์อยู่หลายหน่วยงาน ดังนี้

ก. ภาคราชการ
1. กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
สืบเนื่องจากการประชุม คณะกรรมการบริหารสภาวิจัยแห่งชาติ ครั้งที่ 9/2519 มีมติให้แต่งตั้ง คณะอนุกรรมการ วางนโยบายและแผนวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี เสนอแนะให้จัดตั้งกระทรวง วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและการพลังงานขึ้น แต่ยังไม่ได้มีข้อยุติ ก็มีการเปลี่ยนแปลงรัฐบาลเสียก่อน รัฐบาลต่อมา โดยพลเอกเกรียงศักดิ์  ชมะนันท์ เป็นนายกรัฐมนตรี ได้มอบให้คณะที่ปรึกษาระเบียบบริหารของนายกรัฐมนตรี เสนอร่างพระราชบัญญัติแก้ไขประกาศคณะปฏิวัติ ซึ่งสภามีมติรับหลักการและประกาศในราชกิจจานุเบกษา ฉบับพิเศษ เล่มที่ 96 ตอนที่ 40 มีผลใช้เมื่อ 24 มีนาคม 2522 เป็นต้นมา และได้เปลี่ยนชื่อเป็น กระทรวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม เมื่อวันที่ 4 เมษายน 2535 เป็นกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เมื่อ 2 ตุลาคม 2545 ในบทบาทที่ชัดเจนด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (รายละเอียดสามารถอ่านเพิ่มเติมได้จาก www.most.go.th) โดยมีหน่วยงานที่รับผิดชอบด้านความปลอดภัยและการใช้เทคโนโลยีนิวเคลียร์ 2 หน่วยงาน คือ สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ และสถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน)

2. สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ
เป็นองค์กรหลักในการบริหารจัดการด้านพลังงานปรมาณูในทางสันติ เพื่อการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน โดยมีอำนาจหน้าที่ ดำเนินการตามกฎหมายว่าด้วยพลังงานปรมาณูเพื่อสันติ และกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง ออกกฎ ระเบียบ ข้อบังคับ วางมาตรการและปฏิบัติการเพื่อควบคุมและดูแล เกี่ยวกับการใช้ประโยชน์พลังงานปรมาณู การเก็บรักษาวัสดุกัมมันตรังสีและการจัดการกากกัมมันตรังสี ให้เกิดความปลอดภัยแก่ผู้ใช้และประชาชน ควบคุมและกำกับความปลอดภัยของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ กำหนดเกณฑ์ปริมาณรังสีสูงสุด ที่ประชาชนและผู้ปฏิบัติงานทางรังสีสามารถรับได้ รวมทั้งเสนอแนะเกณฑ์ปริมาณรังสีและกัมมันตภาพรังสีสูงสุด ในสิ่งอุปโภคและบริโภค ดำเนินการให้เป็นไปตามมติของคณะกรรมการพลังงานปรมาณูเพื่อสันติ และปฏิบัติการอื่นใดตามที่กฎหมายกำหนด ให้เป็นอำนาจหน้าที่ของสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ หรือตามที่กระทรวงหรือคณะรัฐมนตรีมอบหมาย (รายละเอียดสามารถอ่านเพิ่มเติมได้จาก www.oaep.go.th)

3. สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน)
เป็นหน่วยงานในกำกับของกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เป็นหน่วยงานซึ่งแยกออกมาจากสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ โดยมีภารกิจหลักในการวิจัยพัฒนา ให้บริการและเผยแพร่การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีนิวเคลียร์ โดยดำเนินการวิจัยและพัฒนาด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีนิวเคลียร์ ที่สอดคล้องกับแนวทางการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน ถ่ายทอดเทคโนโลยี และให้คำปรึกษาแนะนำการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีนิวเคลียร์ เพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อม บริหารจัดการ การเดินเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์และอุปกรณ์นิวเคลียร์ รวมทั้งให้บริการด้านเทคโนโลยีนิวเคลียร์และด้านความปลอดภัย พัฒนาเครือข่ายและประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งในและต่างประเทศ เผยแพร่และสร้างความเข้าใจเพื่อให้เกิดการยอมรับ และประยุกต์ใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีนิวเคลียร์ในการพัฒนาประเทศ (รายละเอียดสามารถอ่านเพิ่มเติมได้จาก www.tint.or.th)

ข. สถานศึกษา : หน่วยงานที่มีการจัดการเรียนการสอนหลักที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีนิวเคลียร์ในประเทศไทย ปัจจุบันมีสี่หน่วยงานหลัก ได้แก่

1. ภาควิชานิวเคลียร์เทคโนโลยี คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
เป็นภาควิชาที่เปิดสอนในคณะวิศวกรรมศาสตร์ แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นเวลากว่า 37 ปีมาแล้ว เริ่มเปิดสอนในปีพุทธศักราช 2513 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อผลิตบุคลากรเข้ารองรับการทำงานด้านรังสีและด้านพลังงานนิวเคลียร์ การจัดการเรียนการสอนของภาควิชา ประกอบด้วย หลักสูตรวิศวกรรมศาสตรดุษฎีบัณฑิต วิศวกรรมศาสตรมหาบัณฑิต วิทยาศาสตรมหาบัณฑิตและประกาศนียบัตรบัณฑิต โดยมีเนื้อหาหลักสูตรครอบคลุมตั้งแต่วิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ขึ้นพื้นฐานถึงระดับการประยุกต์ใช้ในงานวิศวกรรมศาสตร์ อาทิ วิศวกรรมพลังงานนิวเคลียร์, การประยุกต์ใช้รังสีในงานอุตสาหกรรมและสิ่งแวดล้อม, เครื่องมือและอุปกรณ์ทางนิวเคลียร์, การผลิตและใช้ประโยชน์จากไอโซโทปรังสี, กระบวนการแปรสภาพทางรังสี, สิ่งแวดล้อมและความปลอดภัย, และวิศวกรรมวัสดุนิวเคลียร์ โดยจัดตั้งห้องปฏิบัติการต่างๆ เพื่อมุ่งเน้นที่จะทำการวิจัยเพื่อใช้ประโยชน์จากรังสีและนิวเคลียร์ (รายละเอียดสามารถอ่านเพิ่มเติมได้จาก http://nutech0.eng.chula.ac.th)

2. The Fast Neutron Research Facility (FNRF) และศูนย์วิจัยไอออนบีม ภาควิชาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
ก่อตั้งมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2514 ประกอบด้วยเครื่องมือและอุปกรณ์ทางนิวเคลียร์ฟิสิกส์ มากมาย อาทิ เครื่องเร่งอนุภาคชนิดต้นกำเนิดนิวตรอน ขนาด 14-MeV นอกจากนั้น หน่วยงานวิจัยยังประกอบด้วย โรงซ่อมบำรุงเครื่องมือและอุปกรณ์ ซ่อมบำรุงระบบสุญญากาศและระบบอิเล็กทรอนิกส์ มีงานวิจัยด้านเครื่องเร่งอนุภาค ฟิสิกส์พลาสมา ในหัวข้อต่างๆ ทั้งด้านวิทยาศาสตร์พื้นฐานและประยุกต์ ในสาขาต่างๆ ทั้งวัสดุศาสตร์ การแพทย์ สิ่งแวดล้อมและชีววิทยา เป็นต้น (รายละเอียดสามารถอ่านเพิ่มเติมได้จาก http://www.fnrf.science.cmu.ac.th)

3. ภาควิชารังสีประยุกต์และไอโซโทป คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
เริ่มผลิตบัณฑิตระดับปริญญาตรี รุ่นแรกในปีการศึกษา 2524 และได้พัฒนาขีดความสามารถในการรับนิสิตและผลิตบัณฑิตเพิ่มขึ้นเป็นลำดับ สำหรับการศึกษาในระดับปริญญาโท ภาควิชาได้จัดทำหลักสูตรวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต (สาขารังสีประยุกต์และไอโซโทป) ในปี พ.ศ. 2543 และเริ่มรับนิสิตเข้าศึกษารุ่นแรกในปีการศึกษา 2544 ภารกิจหลักที่กำหนดไว้ในแผนพัฒนาการศึกษาระดับอุดมศึกษาแห่งชาติ ของภาควิชาคือ งานด้านการเรียนการสอน การวิจัยและให้บริการด้านวิชาการแก่สังคม (รายละเอียดสามารถอ่านเพิ่มเติมได้จาก http://www.apprad.sci.ku.ac.th)

4. ศูนย์บริการฉายรังสีแกมมาและวิจัยนิวเคลียร์เทคโนโลยี สถาบันวิจัยและพัฒนาแห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
ดำเนินการตั้งแต่เดือนตุลาคม พ.ศ. 2540 ประกอบด้วยอาคารฉายรังสีแกมมาที่ใช้ต้นกำเนิดรังสีแกมมา (Co-60) มีหน้าที่ ความรับผิดชอบสนับสนุนการเรียนการสอนด้านการปรับปรุงพันธุ์พืชโดยใช้รังสีและเทคโนโลยีนิวเคลียร์ ของนิสิตระดับปริญญาตรี โท เอก สนับสนุนการวิจัยและให้บริการกับนักวิจัยทางด้านการปรับปรุงพันธุ์พืชของประเทศไทย และประเทศในภูมิภาค โดยการฉายรังสีแบบเฉียบพลัน (acute) หรือแบบโครนิก (chronic) จัดการฝึกอบรมประชุมและสัมมนาวิชาการ ถ่ายทอดเทคโนโลยี ให้ข้อมูลทางวิชาการที่เกี่ยวข้องกับการใช้เทคนิคการกลายพันธุ์ ในการปรับปรุงพันธุ์พืช และการใช้เทคโนโลยีนิวเคลียร์ทางด้านการเกษตร ทั้งในระดับประเทศและระดับภูมิภาค สร้างพันธุ์ไม้ดอกไม้ประดับด้วยรังสี ให้ข้อมูลทางวิชาการต่อเกษตรกร และเผยแพร่พันธุ์พืชใหม่ให้เกษตรกรได้ใช้ (รายละเอียดสามารถอ่านเพิ่มเติมได้จาก http://www.rdi.ku.ac.th/gamma-irradiation )

ค. หน่วยงานทางการแพทย์
ปัจจุบันประเทศไทย มีหน่วยงานทางการแพทย์ที่ให้บริการด้านเวชศาสตร์นิวเคลียร์รวมทั้งสิ้น 26 แห่ง อยู่ในกรุงเทพฯ และปริมณฑล 15 แห่ง และอยู่ในเมืองใหญ่ๆ ในต่างจังหวัดอีก 9 แห่ง หน่วยงานเหล่านี้จะมีการใช้เภสัชรังสีแก่คนไข้ ทั้งเพื่อการวินิจฉัยและการรักษา หรือการใช้รังสีเพื่อการรักษาโรคมะเร็ง เป็นต้น ซึ่งจะเห็นว่าหน่วยงานเหล่านี้ ส่วนใหญ่อยู่ในกรุงเทพฯ ทำให้ไม่สามารถให้บริการแก่ผู้ป่วยที่อยู่ห่างไกลได้อย่างทั่วถึง จึงยังมีความต้องการการขยายตัวอีกมาก เพื่อคุณภาพการให้บริการดานสาธารณสุขในด้านนี้แก่ประชาชนชาวไทย ที่มีแนวโน้มจะมีอายุยืนยาวมากยิ่งขึ้น

นอกจากนั้น เครื่องมือทางการแพทย์ที่ใช้เทคโนโลยีนิวเคลียร์ และมีการใช้อย่างกว้างขวาง ได้แก่ เครื่องเอ็กซเรย์ CT Scan และ MRI โดยเฉพาะเครื่องเอกซเรย์ ซึ่งมีอยู่เกือบทุกหน่วยงานทางการแพทย์ในประเทศ แม้แต่ในคลินิกเอกชน ทั้งนี้ การใช้งานเครื่องมือดังกล่าว มีการควบคุมและตรวจสอบจากหน่วยงานของรัฐอย่างใกล้ชิด เพื่อความปลอดภัยทั้งแก่คนไข้และผู้ปฏิบัติงาน

ง. องค์กรอิสระ
ประเทศไทยมีการดำเนินงานของสมาคมวิชาชีพที่เกี่ยวข้องด้านนิวเคลียร์มาเป็นเวลานาน ท่านจะสามารถศึกษารายละเอียดได้จากเว็บไซต์ของสมาคมเหล่านี้ อาทิเช่น

– สมาคมนิวเคลียร์แห่งประเทศไทย (www.nst.or.th)
– สมาคมการทดสอบโดยไม่ทำลายแห่งประเทศไทย (www.lsnl.org)
– สมาคมเวชศาสตร์นิวเคลียร์แห่งประเทศไทย (www.thaisnm.org)
– ราชรังสีแพทย์วิทยาลัยแห่งประเทศไทย (www.rcrt.or.th)
– สมาคมรังสีวิทยาหลอดเลือดและรังสีร่วมรักษาไทย (www.thaivir.org)

ที่มา : เอกสารประกอบการเรียน วิชาฟิสิกส์ เรื่อง ฟิสิกส์นิวเคลียร์  เรียบเรียงโดย นายศักดิ์อนันต์ อนันตสุข เพื่อประกอบการทำวิทยานิพนธ์ระดับปริญญาโท เรื่อง กระบวนการตัดสินใจของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 เรื่อง ฟิสิกส์นิวเคลียร์ จากการจัดการเรียนรู้ตามแนวคิดวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและสังคม (STS) ของ Yuenyong (2006) เผยแพร่เพื่อประโยชน์ในการจัดการเรียนการสอนวิชาฟิสิกส์ เรื่อง ฟิสิกส์นิวเคลียร์ ในชั้นเรียนมัธยมศึกษาประเทศไทย



Leave a Comment