ของเล่นพื้นบ้าน : กังหัน

toys04

กังหัน มีชื่อเรียกตามวัสดุที่นำมาทำกังหัน เช่น กังหันใบเพกา กังหันใบลาน กังหันใบตาล กังหันตอกไม้ไผ่ กังหันไม้ไผ่และกังหันกระดาษ เป็นต้น

                กังหันที่ชาวบ้านเคยเล่นมาตั้งแต่ดั้งเดิม คือ กังหันใบเพกา ทั้งนี้จะนำฝักเพกาตัดปลายฝักทั้ง 2 ข้าง แล้วแกะเปลือกออกจากกัน นำเม็ดอยู่ในฝักทิ้ง ใช้มีดปลายเหลมกรีดฝักเพกาซีกหนึ่งให้ทะลุเป็นรอยเพื่อให้ฝักเพกาอีกส่วนหนึ่งลดรอย โดยที่เตรียมไว้จะเป็นรูปกากบาท เจาะรูกลมๆตรงกึ่งกลางเพื่อใช้สอดรูหมุน ส่วนไม้อีกด้านหนึ่งใช้จับถือ

วิธีทำ
(1) กังหันใบลาน และกังหันใบตาล จะมีวิธีทำเช่นเดียวกับกังหันใบเพกา แต่ใช้วัสดุที่มาทำใบพัด คือ ใบลาน หรือใบตาล ส่วนกังหันตอกไม้ไผ่ 4 เส้น นำมาขัดเป็นลายสอง สานหักมุมด้านขวา  ตลอดปลายใบกังหันที่สานขัดเสร็จแล้วจะมี 8 เส้น เจาะรูตรงกลางตัวกังหัน เหลาแกนไม้ไผ่สอดรูให้หมุนเมื่อปะทะลม กังหันใบเพกา กังหันใบลาน และกังหันใบตาล เด็กๆ จะถือวิ่งกันตามถนนหนทางหรือตามท้องไร่ท้องนา กังหันประเภทดังกล่าวนี้จะไม่มีเสียงดัง

(2) กังหันไม้ไผ่ กังหันประเภทนี้ชาวบ้านที่อยู่ในวัยหนุ่มหรือผู้สูงอายุมักจะทำในช่วงฤดูเก็บเกี่ยวข้าว เพราะจะได้ประโยชน์จากการรู้ทิศทางลม   ชาวนาชาวไร่จะอาศัยกังหันเป็นข้อสังเกตในการผัดข้าวกลางลานนา เพื่อให้เศษผงหรือข้าวลีบออกไปให้หมด  กังหันไม้ไผ่ประเภทนี้จะมีความยาวประมาณ  1  เมตร  ลำตัวทำด้วยซีกไม้ไผ่  ใช้มีดผ่าให้เป็นซีกบาง ๆ  เหลาให้เรียบร้อย   ตรงกึ่งกลางตัวกังหันจะเจาะรูขนาดใหญ่เพื่อใช้แกนไม้สอดให้หมุน  ปลายกังหันไม้ไผ่ 2 ข้าง จะทำหลอดเสียงหรือชาวบ้านเรียก หวูดเสียง  ทำด้วยไม้ไผ่ ใช้มีดปาดข้อปล้องออก ปาดปลายไม้ไผ่เมื่อลมพัดกังหันหมุน รูหวูดเสียงจะมีเสียงดัง  หลอดเสียงจะใช้ครั่งลนไฟ พอกครั่งปลายกระบอกหลอดเสียงนั้นหากใช้กระบอกที่เป็นหลอดเสียงใหญ่ เสียงจะดังกังวาน ถ้ากระบอกหลอดเสียงเล็ก เสียงจะเหลมเล็ก ชาวบ้านใช้หญ้าคาทำเป็นหางกังหัน สามารถหมุนไปรอบโดยทิศทางที่ลมพัดมา

วิธีเล่น กังหันไม้ไผ่ที่มีกระบอกหลอดเสียง มักจะตั้งไว้กับแกนไม้ไผ่ ไม้รวก ไม้เลี้ยง นำไปผูกมัดกับต้นไม้กลางทุ่งนา เวลาลมพัดจะเกิดเสียงดัง ชาวนาจะได้ผลประโยชน์จากกังหันอย่างมากเพราะทำให้รู้แรงลมพัดและทิศทางเพื่อจะเป็นประโยชน์ต่อการนวดข้าวที่กองอยู่ในลาน การที่นำกังหันมาติดใกล้บ้านนั้นมักจะสร้างความรบกวนชาวบ้านใกล้เรือนเคียงในยามหลับนอน ดังนั้นจะเห็นกังหันอยู่ตามท้องไร่ท้องนาเป็นส่วนใหญ่

ประโยชน์
1. ส่งเสริมพัฒนาการกล้ามเนื้อมือ แขนและขาและอารมณ์จิตใจ
2. ส่งเสริมความเข้าใจในด้านความรู้ความเข้าใจในหลักวิทยาศาสตร์ในเรื่องแรงลม

หมายเหตุ :: ข้อมูลนี้ จัดทำขึ้นเพื่อเผยแพร่ความรู้ตามโครงการ “ผลิตสื่อสร้างสรรค์เพื่อการเรียนรู้ : ของเล่นพื้นบ้าน สื่อสร้างความสนใจวิทยาศาสตร์” ของชมรมคุรุวิจัย ไทยสุรินทร์ โดยทุนสนับสนุนประจำปี พ.ศ. 2555 จากสำนักงานเลขาธิการคุรุสภา (http://news.ksp.or.th/TPDN/index.php)



Leave a Comment