ของเล่นพื้นบ้าน : ธนู [การเล่นยิงธนูสำหรับเด็ก]

ธนู  เป็นของเล่นเด็ก ทำเลียนแบบมาจากธนู ที่ผู้ใหญ่ใช้ยิงสัตว์ขนาดเล็ก แต่ธนูของเด็กมักใช้แข่งขันหรือประลองความแม่นยำมากกว่าจะใช้ยิงสิ่งต่างๆ  ธนู เป็นอาวุธที่สำคัญอย่างหนึ่งในพื้นบ้าน  ที่สามารถใช้ได้อเนกประสงค์  สามารถทำไว้ป้องกันตัว ใช้ล่าสัตว์  และใช้เป็นอาวุธเพื่อต่อสู้  เช่น  กับศัตรูในระหว่างเกณฑ์เป็นทหาร  เป็นต้น ด้วยเหตุที่มีการใช้ธนูกันเกือบทุกครัวเรือน เด็กๆ  จึงคิดทำธนูไว้ยิงเล่นเพื่อความสนุกสนานมากกว่าจะนำไปยิงสัตว์ สำหรับปัจจุบัน การยิงธนูเป็นกีฬา ที่มีการแข่งขันในระดับต่างๆ เช่น การแข่งขันยิงธนูในกีฬาซีเกมส์ เอเชียนเกมส์ และโอลิมปิกเกมส์ การที่เด็กมีโอกาสเล่น ยิงธนู อาจเป็นจุดเริ่มต้นของการเป็นนักกีฬายิงธนูที่ยิ่งใหญ่ในอนาคตก็ได้

archer-toy
วิธีทำธนู 
ธนูจะมีส่วนประกอบที่สำคัญ 4 ส่วน  คือ

     1. ลูกธนู จะใช้ไม้ไผ่เหลาให้กลม  มีความยาวประมาณ 1 ฟุต  ตรงหัวลูกธนูจะแหลม มีลักษณะคล้ายลูกศรสำหรับไว้ยิงสิ่งต่างๆ  ส่วนปลายธนูจะเสียบด้วยใบไม้หรือกระดาษแผ่นเล็กๆเพื่อให้ลูกธนูไปตามทิศทางที่ยิงได้
     2. กระบอกเก็บลูกธนู ใช้มีดตัดลำไม้ไผ่ขนาดพอดี 1 ปล้อง ตัดข้อด้านบนออก  เหลือไว้เฉพาะข้อปล้องด้านล่าง   เจาะรูกระบอกทำที่แขวนสะพายและใส่ลูกธนูในกระบอกนั้น
     3. คันธนู จะเลือกไม้ไผ่ที่แก่จัด  มีความยาวประมาณ 2-3 ฟุต  ใช้มีดเหลา  ส่วนตรงกลางไม้จะใหญ่และเหลาเรียวปลายไม้  ที่ปลายไม้ 2 ด้าน  จะขวั้นปลายไม้ให้เป็นรอยเพื่อไว้ผูกเชือกสายธนูให้แน่น

     4. สายธนู นำเส้นเชือกมัดที่รอยขวั้นปลายไม้  โน้มคันธนูให้โค้ง

วิธีเล่นยิงธนู เด็กๆ มักจะเล่นยิงธนูแข่งขันกันคราวละหลายๆ คน  ธนูอาจจะทำขึ้นด้วยตนเอง  หรือผู้ใหญ่ทำให้ก็ได้  การยิงแข็งขันของเด็กจะกำหนดสิ่งของ  ระยะทางการยิง  จำนวนลูกศรที่ใช้ยิง  ใครใกล้เคียงหรือถูกเป้าหมายจะเป็นฝ่ายชนะ  นอกจากนี้แล้วเด็ก ๆ ยังนำธนูไปยิงผลไม้  สัตว์ประเภทตัวขนาดเล็ก  เช่น นก  ปลา  กบ เป็นต้น

ข้อควรระวัง : ธนู  เป็นของเล่นที่เป็นอันตราย  ผู้ใหญ่มักจะดุด่าว่ากล่าวเด็กเสมอ  เมื่อเห็นการเล่นยิงธนู  ผู้ใหญ่ควรควบคุมดูแลการเล่นอย่างใกล้ชิด  เพื่อมิให้เกิดอันตรายจากการยิง  

หมายเหตุ
:: ข้อมูลนี้ จัดทำขึ้นเพื่อเผยแพร่ความรู้ตามโครงการ “ผลิตสื่อสร้างสรรค์เพื่อการเรียนรู้ : ของเล่นพื้นบ้าน สื่อสร้างความสนใจวิทยาศาสตร์” ของชมรมคุรุวิจัย ไทยสุรินทร์ โดยทุนสนับสนุนประจำปี พ.ศ. 2555 จากสำนักงานเลขาธิการคุรุสภา (http://news.ksp.or.th/TPDN/index.php) 



Leave a Comment