เที่ยวหลวงพระบาง ชมวังเจ้ามหาชีวิต วัดเชียงทอง พระธาตุจอมพูสี น้ำตกตาดกวางสี ของดีตลาดมืด

เมืองหลวงพระบาง สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ได้รับการยกย่องให้เป็นเมืองมรดกโลกเมื่อเดือนธันวาคม พ.ศ. 2538 และได้รับการยกย่องว่าเป็นเมืองที่ “อนุรักษ์ความเก่าแก่ดั้งเดิมไว้ได้ดีที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้” (The best preserved city in South-East Asia) ณ ที่แห่งนี้นักท่องเที่ยวจะได้พบกับ วัดวาอารามเก่าแก่มากมาย ความบริสุทธิ์ของอากาศและธรรมชาติ ท่ามกลางอุณหภูมิที่เย็นสบาย และวิถีชีวิตอันเรียบง่ายของผู้คน 

หลวงพระบาง เดิมมีชื่อว่า “เชียงทอง” จนกระทั่งกษัตริย์ขอมโบราณพระราชทานพระพุทธรูปศิลปะสิงหลองค์หนึ่ง ชื่อว่า “พระบาง” เจ้าฟ้างุ้มจึงทรงเปลี่ยนชื่อเมืองเป็น “หลวงพระบาง” เมืองแห่งนี้ในอดีตเคยเป็นราชธานีศรีสัตนาคนหุตแห่งอาณาจักรล้านช้าง ก่อนย้ายไปเวียงจันทน์ และภายหลังก็ยังเป็นที่ประทับของเจ้าฟ้ามหาชีวิต (พระมหากษัตริย์ของราชอาณาจักรลาว) ก่อนเปลี่ยนแปลงประเทศเป็น “สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว”

หลวงพระบาง ตั้งอยู่ริมน้ำโขงและน้ำคาน ซึ่งไหลบรรจบกันท่ามกลางธรรมชาติอันงดงาม อยู่ทางเหนือของนครหลวงเวียงจันทน์ ระยะทางประมาณ 400 กิโลเมตร เชื่อมต่อถึงกันด้วยทางหลวงหมายเลข 13 ใช้เวลาเดินทางราว 8-10 ชั่วโมง ผ่านทางคดเคี้ยวและภูเขาสูงชัน นอกจากนี้ ยังมีเครื่องบินจากนครหลวงเวียงจันทน์ถึงหลวงพระบางโดยสายการบินลาว ใช้เวลาบินประมาณ 45 นาที ส่วนที่พักก็มีตั้งแต่ระดับธรรมดาไปจนถึงสี่ดาว  

มาถึงหลวงพระบางแล้วเที่ยวไหนดี  (3 วัน 2 คืน กำลังพอดี)
     ผมมีโอกาสมาหลวงพระบางแบบไม่ได้ตั้งตัว แต่ยอมรับว่ามาแล้วก็ประทับใจอย่างมาก (14-16 มีนาคม 2555) ผมรู้สึกว่ามาเที่ยวที่หลวงพระบาง เหมือนได้ไปเที่ยวยังดินแดนล้านนาเพราะวิถีชีวิต สถาปัตยกรรมและผู้คนมีความใกล้เคียงกันมาก โดยสถานที่ท่องเที่ยวส่วนใหญ่ในหลวงพระบาง จะหนักไปในทางวัดวาอาราม ซึ่งมีมากมายถึง 40 วัด สถาปัตยกรรมก็มีลักษระคล้ายทางล้านนาและเกี่ยวข้องกับสถาบันพระมหากษัตริย์ของลาว นอกจากนี้ หากจะหาซื้อของฝาก ก็สามารถเดินเที่ยว “ตลาดมืด” หรือ “ตลาดกลางคืน” “ไนท์มาร์เก็ต” ได้ มีของให้เลือกมากมาย ช่วงที่ผมมีโอกาสไปเที่ยวที่หลวงพระบาง ได้มีโอกาสไปเที่ยวสถานที่สำคัญของหลวงพระบาง ดังนี้

1. วังเจ้าฟ้ามหาชีวิต หรือ หอพิพิธภัณฑ์ พระราชวังเจ้ามหาชีวิต
สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2447 ในสมัยพระเจ้าสักรินทร์ และมาแล้วเสร็จในสมัยของเจ้าศรีสว่างวงศ์ พ.ศ. 2452 และสืบทอดมายังเจ้าศรีสว่างวัฒนากษัตริย์องค์สุดท้าย ภายหลังจากการเปลี่ยนแปลงการปกครองในปี พ.ศ. 2518 รัฐบาลสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวได้เปลี่ยนมาเป็น “หอพิพิธภัณฑ์แห่งชาติลาว” 

lao-royal-place
จากภาพด้านหลัง จะเห็นทิวแถวของต้นตาลที่ปลูกเรียงรายกันดึงดูดสายตาเข้าไปยังตัวอาคาร (พระราชวังเจ้าฟ้ามหาชีวิต) ด้านขวามือ เป็นหอพระบาง ที่สร้างขึ้นเพื่อเป็นที่ประดิษฐานพระบาง (ช่วงที่ผมมาที่หลวงพระบาง ยังไม่มีการนำพระบางมาประดิษฐาน) ส่วนด้านซ้ายมือ (ที่ไม่เห็นในภาพ) เป็นอนุสาวรีย์ของเจ้ามหาชีวิตศรีสว่างวงศ์ ผู้ครองราชย์ตั้งแต่ พ.ศ. 2448 – 2502 และเป็นผู้พระราชทานรัฐธรรมนูญฉบับแรกของชาวลาวเมื่อปี พ.ศ. 2490 

พระราชวังเจ้ามหาชีวิต เป็นศิลปะแบบผสมผสานตะวันออก กับตะวันตก ออกแบบโดยสถาปนิกชาวฝรั่งเศส ประกอบด้วยอาคารขวางด้านหน้าเป็นอาคารชั้นเดียวแบบอาณานิคม ยกพื้นสูง หลังคามุงกระเบื้อง มุขทวารตรงกลางเปิดโล่งเข้าไปยังท้องพระโรงด้านใน ซึ่งด้านบนเป็นหลังคายอดปราสาท แบ่งเป็นปีกซ้าย และปีกขวา ปีกซ้ายเป็นห้องรับแขกของพระมเหสี ส่วนปีกด้านขวาเป็นห้องรับแขกของเจ้ามหาชีวิต โดยเฉพาะห้องสุดท้ายของปีกด้านนี้ ถูกจัดไว้เป็นห้องพระ ประดิษฐานพระบาง พระพุทธรูปปางห้ามสมุทรศิลปะเขมรสมัยหลังบายน หล่อด้วยทองคำถึง 90 เปอร์เซ็นต์ น้ำหนัก 54 กิโลกรัม เป็นพระคู่บ้านคู่เมืองของชาวเมืองหลวงพระบาง และชาวลาว ส่วนด้านข้างและด้านหลังของท้องพระโรง เป็นที่ประทับของเจ้ามหาชีวิต และพระมเหสี เป็นอาคารแบบผสมผสานที่ดูอบอุ่น สมถะ เรียบง่าย แต่สง่างามอยู่ในที  [พระบาง เคยถูกนำมาสยาม พร้อมกับพระแก้วมรกต ตั้งแต่ครั้งกรุงธนบุรี ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 4 มีการส่งคืน พระบาง ให้กับเมืองหลวงพระบาง]

เมื่อเดินขึ้นไปยังตัวอาคาร จะต้องถอดรองเท้า ภายในพิพิธภัณฑ์ห้ามทำการถ่ายภาพ หรือบันทึกวีดีโอใด ๆ ทั้งสิ้น เมื่อทำการถอดรองเท้า และเก็บสัมภาระไว้ในล็อคเกอร์ที่เจ้าหน้าที่ดูแลพิพิธภัณฑ์จัดไว้เรียบร้อยแล้ว ที่แรกที่เราจะเข้าชมก็คือการไปนมัสการพระบางทางห้องพระที่อยู่สุดทางปีกขวาของอาคาร

ห้องโถงด้านหน้า หรือห้องฮับต้อน ซึ่งจะจัดไว้ให้บรรดาขุนนางต่าง ๆ ได้เข้าเฝ้าเจ้ามหาชีวิต และต้อนรับแขก เพื่อมอบสาสน์ตราต่าง ๆ มีรูปปั้นบรอนซ์ครึ่งพระองค์ของเจ้ามหาชีวิตมหินทรเทพ , เจ้ามหาชีวิตสักรินทร์ และเจ้ามหาชีวิตศรีสว่างวงศ์ ถัดไปทางห้องรับรองด้านขวามือ เป็นห้องรับรองแขกของเจ้ามหาชีวิตในอดีต ซึ่งภายในได้จัดแสดงภาพวาดเกี่ยวกับวิถีชีวิตประจำวันของชาวลาว และชาวหลวงพระบาง ฝีมือของจิตรกรหญิงชาวฝรั่งเศสชื่อ Alix de Fautereau รวมทั้งมีกลองมโหระทึกสำริดโบราณตั้งแสดงอยู่หลายใบ จากนั้นจะเป็นทางเดินบังคับไปยังท้องพระโรงใหญ่ 

ท้องพระโรงใหญ่ เป็นสถานที่ออกพบปะ ต้อนรับราชทูตจากต่างประเทศที่เข้ามาถวายพระราชสาสน์ตราตั้ง ฝาผนังภายในท้องพระโรง เป็นภาพประดับกระจก หรือที่ชาวลาวเรียกว่าประดับดอกดวง แสดงเรื่องราวเกี่ยวกับนิทานพื้นบ้านโบราณของลาว เช่น เรื่องขุนบรม ท้าวจันทะพานิด ตำนานการแห่พระบางมาจากเขมร และเรื่องงานประเพณีในรอบปี หรือฮีตสิบสอง ตรงสุดท้องพระโรงเป็นที่ประทับพระราชบัลลังก์ ทำด้วยไม้แกะสลัก และปิดทองทั้งองค์ บัลลังก์นี้เตรียมไว้สำหรับพีธีบรมราชาภิเษกเจ้ามหาชีวิตศรีสว่างวัฒนาในปี พ.ศ. 2519

แต่เกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครองเสียก่อนจึงไม่ได้มีการประกอบพระราชพิธีนี้ขึ้น ตู้กระจกภายในห้องได้จัดแสดงเครื่องราชกกุธภัณฑ์สำหรับเจ้ามหาชีวิตในพิธีการนี้เช่นกัน ทางปีกซ้าย และขวาจัดแสดง พระพุทธรูปหล่อจากทองคำ แก้ว หินมีค่า สำริด และพระพุทธรูปไม้ตีทองคำหุ้ม ส่วนใหญ่ขุดค้นพบได้จากใต้ฐานของพระธาตุหมากโม ครั้งทำกาบูรณปฏิสังขรณ์ครั้งใหญ่ในสมัยพระเจ้าศรีสว่างวงศ์ นอกจากนั้นยังมีแหย่ง ช้างซึ่งเจ้าอนุวงศ์กษัตริย์แห่งนครเวียงจันทน์ส่งมาถวายพระเจ้ามันธาตุราช แห่งหลวงพระบางเพื่อเจริญสัมพันธไมตรี พร้อมกับชักชวนให้ร่วมมือกอบกู้เอกราชจากสยามประเทศในปี พ.ศ. 2370 

ห้องรับแขกของพระมเหสี แบ่งเป็นสองตอน ห้องด้านในมีรูปเขียนสีน้ำมันขนาดใหญ่มีลักษณะเด่น คือ จะเป็นภาพสามมิติซึ่งเป็นศิลปะชั้นสูงที่หาชมได้ยาก เป็นภาพของเจ้ามหาชีวิตศรีสว่างวัฒนา พระมเหสีคำผุย และภาพวาดเจ้าชายวงศ์สว่างมกุฎราชกุมาร วาดขึ้นในปี พ.ศ. 2510 โดย Iliya Kazunov จิตรกรชาวรัสเซียอันเลื่องชื่อ ส่วนอีกห้องหนึ่งนั้นจัดแสดงของขวัญจากประเทศต่าง ๆ ในตู้กระจก ซึ่งส่วนใหญ่ส่งมาถวายเจ้ามหาชีวิตศรีสว่างวัฒนาในวาระที่จะเข้าพิธีบรมราชาภิเษก 

ส่วนห้องต่าง ๆ ด้านหลังเดิมเป็นเขตส่วนพระองค์ประกอบด้วย ห้องบรรทมเจ้ามหาชีวิต ห้องบรรทมพระมเหสี ห้องพักผ่อน ห้องบรรทมสำหรับเชื้อพระวงศ์ ปัจจุบันจัดแสดงเครื่องราชอิสริยาภรณ์ลำดับชั้นต่าง ๆ เครื่องดนตรีของราชสำนัก และห้องเสวย เป็นพระราชวังที่สมถะ เรียบง่าย แต่สง่างามอยู่ในที 

2. พระธาตุจอมพูสี ตั้งโดดเด่นอยู่บนยอดเขา ตั้งอยู่ใจกลางเมืองหลวงพระบาง เป็นมิ่งขวัญของชาวหลวงพระบาง ทางขึ้นพระธาตุจอมพูสี ตั้งอยู่ตรงข้ามด้านหน้าทางเข้าวังเจ้ามหาชีวิต
That-ChomPhuSri
นักท่องเที่ยวที่มาหลวงพระบาง ต้องไม่พลาดที่จะขึ้นไปนมัสการพระธาตุจอมพูสี จนมีคำพูดติดปากกันว่า “ไปเที่ยวหลวงพระบางถ้าไม่ได้ขึ้นพระธาตุจอมพูสีก็เท่ากับว่าไปไม่ถึงหลวงพระบาง” ที่บนยอดเขาเราสามารถมองเห็นทิวทัศน์ได้รอบเมืองหลวงพระบาง

wat-pa-houak
จากบริเวณทางขึ้นพระธาตุจอมพูสี เมื่อหันหน้าเข้าหาทางขึ้น ด้านขวามือ จะมีวัดไทยในหลวงพระบางชื่อ วัดป่าฮวก (วัดป่ารวก) วัดนี้สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 5 เพื่อแสดงถึงสัมพันธไมตรีและแสดงถึงการเป็นเจ้าของสิทธิ์ในดินแดนหลวงพระบางและดินแดนลาว (สมัยรัชกาลที่ 5 ดินแดนลาวฝั่งซ้ายแม่น้ำโขง อยู่ในฐานะเมืองประเทศราช ของราชอาณาจักรสยาม และสยามมีกรณีพิพาทเรื่องดินแดนลาวกับฝรั่งเศส) สภาพเท่าที่เห็น ไม่มีการบูรณะ ปล่อยให้ทิ้งร้างไปตามกาลเวลา หากชาวไทยมาที่หลวงพระบาง อย่าลืมพลาดโอกาสที่จะเข้าชมพระอุโบสถแห่งนี้ ภายในมีภาพจิตรกรรมไทยในสมัย ร.5 ให้ชมด้วย

3. วัดเชียงทอง เป็นตัวอย่างสถาปัตยกรรมล้านช้าง ณ เมืองพระบาง มีหลังคาซ้อน 3 ชั้น รูปทรงหลังคาผายกว้างออกเรียกว่าหลังคาปีกนก ทั้งภายในและภายนอกสิม(อุโบสถ)ล้วนมีจิตรกรรมฝาผนังเป็นลายรดน้ำลงรักปิดทองเป็นเรื่องราวนิทานพื้นบ้านและเรื่องเกี่ยวกับศาสนา และหากเดินมาทางด้านหลังสิมก็จะเห็นลวดลายประดับกระจกสีเป็นรูปต้นไม้ใหญ่ มีนกและสัตว์นานาชนิด ซึ่งต้นไม้นั้นก็คือต้นทอง หรือต้นงิ้ว ที่พระเจ้าศรีสว่างวัฒนาได้โปรดฯ ให้ช่างทำไว้เพื่อเป็นที่ระลึกถึง ชื่อเชียงทอง หมายความถึง ป่าต้นทอง ซึ่งเป็นพื้นที่ดั้งเดิมบริเวณนี้นั่นเอง 

wat-chiang-thong
สำหรับใครที่ได้มาวัดแห่งนี้ สิ่งที่ไม่ควรพลาดชมก็คือ หอพระม่านและหอพระพุทธไสยาสน์ที่อยู่ด้านหลังสิม หอพระเล็กๆ สองหลังนี้ทาด้วยสีชมพู ประดับตกแต่งด้วยกระจกสีเป็นลวดลายเล่าเรื่องราวนิทานพื้นบ้านของลาว หากลองเดินดูใกล้ๆ ก็จะได้เห็นภาพวิถีชีวิตของชาวลาวผ่านรูปภาพเหล่านั้นด้วย  

นอกจากนี้ในบริเวณวัดแห่งนี้ ยังเป็นที่เก็บราชรถสำหรับแห่พระบรมศพ พระมหากษัตริย์ลาว ทางรัฐบาล สปป.ลาว สร้างตัวอาคารครอบเก็บไว้อย่างมั่นคง คนนำเที่ยวให้ข้อมูลว่า เก็บรักษาไว้อย่างดีหรืออีกนัยหนึ่งคือ จะไม่ให้มีโอกาสออกมาใช้งานได้อีก

4. น้ำตกตาดกวางสี ตั้งอยู่ห่างจากหลวงพระบางลงไปทางใต้ประมาณ 30 กิโลเมตร เหมาะสำหรับการพักผ่อน มีอากาศบริสุทธิ์และมีธรรมชาติอันสวยงามเขียวชอุ่มไปทั่ว ตามเส้นทางนักท่องเที่ยวจะได้พบกับวิถีชีวิตและความเป็นเอกลักษณ์อันแท้จริงของบรรดาชนกลุ่มน้อยในลาวโดยเฉพาะหมู่บ้านลาวเทิง เช่น หมู่บ้านท่าแป้น, บ้านตาดและบ้านอู้ ซึ่งเป็นหมู่บ้านของชาวหลวงพระบางดั้งเดิมซึ่งยังคงรักษาการดำรงชีวิต ขนบธรรมเนียมดั้งเดิมเกือบหมดทุกอย่าง นอกจากนี้ สถานที่แห่งนี้ ยังเป็นศูนย์อนุรักษ์พันธุ์หมีป่าเมืองลาวด้วย  

lao-bear
5. ตลาดมืด
ถนนคนเดินหลวงพระบาง “เมืองไทยมีถนนข้าวสาร เมืองลาวหลวงพระบางมีถนนข้าวเหนียว” ช่วงค่ำคืน บริเวณถนนศรีสว่างวงศ์(ถนนระหว่างพระราชวัง กับพระธาตุจอมพูสี) จะถูกปิด แล้วถูกแปรสภาพกลายเป็น “ตลาดมืด”คำว่า ตลาดมืดหลวงพระบาง ในความหมายของที่นี่ คือตลาดตอนกลางคืน หรือ ตลาดไนท์ ไม่ใช่ที่ขายของผิดกฏหมาย แต่ขายสินค้าพื้นเมือง ต่างๆ มากมาย ส่วนราคาก็ต้องต่อรองเอาเอง วันที่ผมมีโอกาสเดินเที่ยวอยู่นั้น มีเหตุการณ์ที่ทำให้ผมประหลาดใจอย่างมาก คือ มีเสียงฟ้าร้องดังขึ้นราว 1-2 ครั้ง และในช่วงนั้นเอง ผมเห็นทุกร้านรีบเก็บข้าวของทันทีทันใด จนสงสัยว่า ทำไมเขาจึงรีบเก็บ คนลาวบอกว่า พายุกำลังจะมา ผมพูดว่า “พูดเป็นเล่นไป ที่เมืองไทย ก็ร้องแบบนี้ไม่เห็นเป็นไร และทำไมทุกคนทุกร้านต้องรีบเก็บของ” และไม่เกินหนึ่งนาที มีลมพัดรุนแรงมาก ผมไปหลบที่ข้างอาคารแห่งหนึ่ง มีกิ่งไม้ เครื่องใช้ไม้สอยปลิวและหล่นมาโดน ดีที่ไม่บาดเจ็บ ต้องเข้าไปหลบตัวอาคารแห่งหนึ่งเกือบชั่วโมง จึงกลับที่พักได้ คนลาวหลวงพระบาง ให้ข้อมูลผมว่า “เรื่องแบบนี้ คนที่นี่รู้กัน”

นอกจากแหล่งท่องเที่ยวที่กล่าวมาแล้ว ยังมี แหล่งท่องเที่ยวอื่นๆ ที่น่าสนใจอีกหลายแห่ง ท่านที่อยากเที่ยวต่างประเทศใกล้บ้านแบบสบายกระเป๋า การมาเที่ยวหลวงพระบาง ก็น่าจะเป็นตัวเลือกหนึ่งที่น่าสนใจ ใช้เวลาที่นี่สัก 2-3 คืน กำลังดีครับ “สะบายดี หลวงพระบาง”

sabaidee-luang-prabang

เรียบเรียงจากประสบการณ์ตรงและข้อมูลจาก
1. http://hilight.kapook.com/view/30793
2. http://www.ezytrip.com/LaoPDR/th/North/LuangPrabang/LuangPrabang/RoyalPalace-HawKham/RoyalPalace-HawKham.htm



Leave a Comment