[ข้อมูล] งานบุญข้าวสาก ประเพณีกินข้าวสาก บุญข้าวสลากภัตร บุญข้าวกระยาสารท ประเพณีข้าวสาก [ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 10]

งานบุญข้าวสาก  หรือ บุญข้าวสลาก หรือ สลากภัตร (คำว่า สาก ในที่นี้ ในภาษาอีสาน ตรงกับภาษาไทยว่า สลาก หรืออีกนัยยะหนึ่ง หมายถึง กระยาสารท) คือ การทำบุญที่ให้พระเณรทั้งวัด จับสลากเพื่อจะรับปัจจัยไทยทาน ตลอดจนสำรับกับข้าว ที่ญาติโยมนำมาถวาย ในวันขึ้น 15 ค่ำ  เดือน 10 เพื่ออุทิศให้ผู้ล่วงลับ เช่น ปู่ ย่า ตา ยาย บิดา มารดา สามี ภรรยา พี่น้องที่ถึงแก่กรรมไปแล้ว และรวมถึงอุทิศให้ ผีไร้ญาติและผีเปรตทั่วไปด้วย โดยจะทำสากหรือสลาก มีคำอุทิศส่วนกุศลใส่กระดาษบันทึกชื่อ ผู้มีจิตศรัทธาบริจาคและความประสงค์ว่าจะบริจาคทานให้แก่ผู้ใด โดยบอกชื่อผู้ที่จะมารับส่วนกุศลด้วย (พระภิกษุ ผู้เป็นประธานสงฆ์ จะจุดไฟเผาสลากนั้นพร้อมสวดอุทิศส่วนกุศลให้) ทั้งนี้ งานบุญข้าวสาก จะคล้ายกับงานบุญข้าวประดับดิน ที่ทำในเดือน 9 คือ เป็นการทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้กับเปรตและผู้ล่วงลับไปแล้ว แต่เชื่อว่า งานบุญข้าวสาก จะช่วยให้ผู้ทำได้กุศลมากดังที่ปรากฎในชาดก ที่นำมาเสนอไว้ในตอนท้ายเรื่องนี้

khaosakก่อนถึงวันบุญข้าวสาก คือ ราววันขึ้น 13-14 ค่ำ เดือน 10 ชาวบ้าน จะเตรียมอาหารชนิดต่างๆ เช่น ข้าวต้ม ขนม และข้าวสาก หรือ ข้าวกระยาสารท โดยเป็นการผสมระหว่าง ข้าวตอกแตก กับน้ำตาล ถั่ว งา มะพร้าว เป็นต้น และเมื่อถึงวันกินข้าวสาก วันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 10 ชาวบ้านจะนำอาหารคาวหวานใส่บาตร และถวายทานอุทิศส่วนกุศล ให้ญาติมิตรผู้ล่วงลับไปแล้ว จากนั้น จะจัดสำรับกับข้าวและเครื่องไทยทาน (ข้าวสากสำหรับพระภิกษุ) บางแห่งจัดใส่ถ้วยหรือบางแห่งทำเป็นห่อ หรือกระทง ด้วยใบตองกล้วย หรือกระดาษ แต่ละบ้านจะจัดทำสักกี่ชุดก็ได้ตามศรัทธา นำไปถวายพระโดยเขียนสลากบอกชื่อเจ้าของสำหรับแล้วใส่ลงบาตร และนิมนต์ให้พระสงฆ์และสามเณรรูปใดจับสลากเป็นชื่อของใครคนนั้นก็จะนำสำรับกับข้าวไปถวายพระสงฆ์หรือสามเณรรูปนั้น อย่างไรก็ตาม บางท้องที่อาจทำแตกต่างกันไปบ้าง เช่น งานบุญข้าวสาก ของบ้านโนนจำปา ต.ธาตุ อ.รัตนบุรี จ.สุรินทร์ จะทำสลากที่เป็นลำดับหรือชื่อของพระภิกษุ แล้วให้ญาติโยมที่จัดทำข้าวสากมา เป็นผู้จับสลากว่า จะได้พระภิกษุรูปใด ถือว่าเป็นการเสี่ยงสมภาร (บารมี) แล้วนำอาหารไปถวายต่อภิกษุรูปนั้น ก่อนที่จะถวาย ข้าวสากแด่พระภิกษุสามเณร จะกล่าวคำถวายข้าวสาก หรือสลากภัตรพร้อมกัน

คำถวายสลากภัตร 
เอตานิมะนังภันเต สะจากะภัตตานิ สะปะริวารานิ อะสุภัฏฐานน ฐะปิตานิ ภิกขุสังฆัสสะ 
โอโณชะยามะ สาธุโน ภันเตอภิกขุสังโฆ เอตานิ สะลากะภัตตานิ สะปะริวารานิ
ปะฏิคัณหาตุ อัมหากัง ทีฆะรัตตัง หิตายะ สุขายะ
คำแปล
ข้าแต่พระภิกษุสงฆ์ผู้เจริญ ภัตตาหารกับทั้งบริวารทั้งหลายเหล่านั้น ซึ่งตั้งไว้ ณ ที่โน้น
ข้าพเจ้าทั้งหลายขอน้อมถวายแด่พระภิกษุสงฆ์ ขอพระภิกษุสงฆ์จงรับซึ่งภัตตาหารพร้อมทั้งของที่เป็นบริวารเหล่านี้ของข้าพเจ้าทั้งหลาย เพื่อประโยชน์และความสุขแก่ข้าพเจ้าทั้งหลาย สิ้นกาลนานเทอญ.

เมื่อเสร็จพิธีถวายข้าวสากแล้ว ชาวบ้านที่ไปร่วมพิธี ยังนิยมเอาชะลอมหรือห่อข้าวสากอีกส่วนหนึ่ง ไปวางไว้ตามที่ต่าง ๆ  ในบริเวณวัด พร้อมจุดเทียนและบอกกล่าวให้ญาติ หรือเปรตผู้ล่วงลับไปแล้วมารับเอาอาหารต่าง ๆ  ที่วางไว้ และขอให้มารับส่วนกุศลที่ทำบุญอุทิศไปให้ด้วย บางที่ก็โยนแย่งข้าวสาก ที่เรียกว่า “ชิงเปรต” ถือได้ว่าเป็นกิจกรรมที่สนุกสนาน เชื่อกันว่า ผู้ใดแย่งข้าวสากกากเดนเปรตมากิน จะเป็นคนที่อ้วนท้วนสมบูรณ์ ปราศจากโรคหรือพยาธิต่างๆ

ภายหลังจากการถวายข้าวสากแด่พระภิกษุสามเณร และนำอาหารไปวางไว้ตามบริเวณวัดเสร็จแล้ว ก็มีการฟังเทศน์ฉลองข้าวสาก และกรวดน้ำอุทิศส่วนกุศล ไปให้เปรตและญาติผู้ล่วงลับไปแล้วด้วย ผู้ที่มีนา จะนำใบตองห่อข้าวสาก (ที่แย่งมาได้) และข้าวสากไปเลี้ยงนางยักษิณี หรือ “ตาแฮก” ที่นาของตน เพื่อให้ตาแฮกรักษานาและให้ข้าวกล้าอุดมสมบูรณ์ บริบูรณ์ไปด้วยพืชพันธุ์ธัญญาหาร ก็เป็นเสร็จพิธีทำบุญข้าวสาก

ตำนานที่ว่าด้วย นางยักษิณีรักษานา
ก่อนสมัยพุทธกาล มีชายหนุ่มผู้หนึ่งอาศัยอยู่กับมารดา ส่วนบิดาเสียชีวิตแล้ว เมื่อถึงวัยที่ต้องแต่งงาน มารดาจึงหาผู้หญิงมาให้ ชายหนุ่มจึงแต่งงานกับหญิงสาวผู้นั้น แต่อยู่กันมานานก็ไม่มีบุตรสักที มารดาจึงหาภารยาให้ใหม่ พออยู่กินมาไม่นานภารยาน้อยก็ตั้งครรภ์ ภารยาหลวงเกิดอิจฉาจึงคิดวางแผนบอกกับภรรยาน้อยว่าถ้าตั้งครรภ์ให้บอกนางเป็นคนแรก

เมื่อภรรยาน้อยตั้งครรภ์ นางจึงบอกกับภรรยาหลวง ภรรยาหลวงจึงนำยาที่ทำให้แท้งให้ภรรยาน้อยกิน พอภรรยาน้อยตั้งครรภ์ครั้งที่สองภรรยาหลวงก็นำยาแท้งให้กินอีก พอครั้งที่สามภรรยาน้อยไม่บอกภรรยาหลวงแต่หนีไปอาศัยอยู่กับญาติ ภรรยาหลวงจึงตามไปแล้วให้ยากินอีก แต่คราวนี้ไม่แท้งเพราะครรภ์แก่แล้ว แต่ลูกในท้องนอนขวางทำให้บีบหัวใจจนตาย ก่อนที่ภรรยาน้อยจะตายนางได้จองเวรกับภรรยาหลวงว่า ชาติหน้าของให้นางได้เกิดเป็นยักษิณีและให้ได้กินภรรยาหลวงและลูกของภรรยาหลวง 

ชาติต่อมา ภรรยาน้อยได้เกิดเป็นแมว ส่วนภรรยาหลวงถูกสามีฆ่าตายแล้วเกิดเป็นไก่ และอาศัยอยู่ในบ้านเดียวกันกับแมว ครั้นไก่ออกไข่มาก็ถูกแมวกินถึง 3 ครั้ง ก่อนแม่ไก่ตาย แม่ไก่พูดอาฆาตแมวว่า ในชาติหน้าขอให้ได้กินแม่แมวและลูกแมว

ชาติต่อมา แม่ไก่ได้เกิดเป็นเสือเหลือง แมวไปเกิดเป็นนางเนื้อ พอนางเนื้อตกลูก เสือเหลืองก็ไปกินลูกนางถึง 3 ครั้ง ก่อนนางเนื้อตายได้ผูกอาฆาตกับเสือเหลืองว่า ชาติหน้าขอให้ได้กินเสือเหลืองและลูกเสือเหลือง

ชาติต่อมา นางเนื้อได้เกิดเป็นยักษิณี เสือเกิดเป็นนางกุลธิดาในเมืองสาวัตถี ครั้นเจริญเติบโตก็แต่งงานกับชายหนุ่มพอมีลูกก็ถูกนางยักษิณีขโมยลูกไปกินถึง 2 ครั้ง ส่วนครั้งที่ 3 นางกุลธิดาและสามีพร้อมลูกวิ่งหนีไปยังวัดเชตวันมหาวิหาร ซึ่งขณะนั้นพระพุทธเจ้ากำลังเทศนาอยู่ สองมีภรรยาจึงเข้าไปหาพระพุทธเจ้า ส่วนนางยักษิณีอยู่หน้าวัด พระพุทธเจ้าจึงให้พระอานนท์ไปเรียกนางยักษิณีเข้ามาและเล่าภูมิหลังของทั้งสามให้ฟัง พระพุทธเจ้าทรงให้นางกุลธิดานำนางยักษิณีไปเลี้ยง นางกุลธิดาจึงให้นางยักษิณีไปอยู่ท้ายทุ้งนา นางยักษิณีเป็นผู้หยั่งรู้ฟ้าฝน ปีใดฝนจะแล้งหรือน้ำท่วมนางก็บอกกับนางกุลธิดาทุกครั้ง ทำให้ข้าวในนาของนางกุลธิดาได้ผลดี ต่อมาชาวบ้านรู้ข่าวก็พร้อมใจกันไปถามเกณฑ์ขอฝนฟ้า ทำใช้ชาวนาของชาวบ้านได้ผลดี ชาวบ้านจึงนำอาหารไปให้กับยักษิณีเป็นการตอบแทน

ชาดกที่ว่าด้วย กุศลที่เกิดจากทำบุญสลากภัตร
ในสมัยหนึ่งพุทธองค์ได้เสด็จไป กรุงพาราณสี ในคราวนี้ บุรุษเข็ญใจ พาภรรยาประกอบอาชีพตัดฟืนขายเป็นนิตย์เสมอมา เขาเป็นคนเลื่อมใสพระพุทธศาสนายิ่งนัก วันหนึ่งเขาได้ปรึกษากับภรรยาว่า “เรายากจนในปัจจุบันนี้เพราะไม่เคยทำบุญ-ให้ทาน รักษาศีลแต่ละบรรพกาลเลย ดังนั้น จึงควรที่เราจักได้ทำบุญกุศล อันจักเป็นที่พึ่งของตนในสัมปรายภพ-ชาติหน้า”

ภรรยาได้ฟังดังนี้แล้ว ก็พลอยเห็นดีด้วยจึงในวันหนึ่งเขาทั้งสองได้พากันเข้าป่าเก็บผักหักฟืนมาขายได้ทรัพย์แล้วได้นำไปจ่ายเป็นค่าหม้อข้าว 1 ใบ หม้อแกง 1 ใบ อ้อย 4 ลำ กล้วย 4 ลูก นำมาจัดแจงลงในสำรับเรียบร้อยแล้วนำออกไปยังวัด เพื่อถวายเป็นสลากภัตร  พร้อมอุบาสกอุบาสิกาเหล่าอื่น สามีภรรยาจับสลากถูกพระภิกษุรูปหนึ่งแล้วมีใจยินดี จึงน้อมภัตตาหารของตนเข้าไปถวายเสร็จแล้วได้หลั่งน้ำทักษิโณทกให้ตกลงเหนือแผ่นปฐพีแล้วตั้งความปราถนาว่า “ด้วยผลทานทั้งนี้ข้าพเจ้าเกิดในปรภพใดๆ ขึ้นชื่อว่าความยากจนเข็ญใจไร้ทรัพย์เหมือนดังในชาตินี้ โปรดอย่าได้มีแก่ข้าพเจ้าทั้งสองเลย ขอให้ข้าพเจ้าทั้งสองเป็นผู้มั่งคั่งสมบูรณ์เพียบพร้อมด้วยทรัพย์สมบัติและมีฤทธิ์เดชมากในปรภพภายภาคหน้าโน้นเถิด” ดังนี้ ครั้นสองสามีภรรยานั้นอยู่พอสมควรแก่อายุขัยแล้วก็ดับชีพวายชนม์ไปตามสภาพของสังขาร

ด้วยอานิสงฆ์แห่งสลากภัตตทานจึงได้ไปเกิดเป็นเทพบุตร เทพธิดาในดาวดึงส์สวรรค์ เสวยสมบัติทิพย์อยู่ในวิมานทองอันผุดผ่องโสภาตระการยิ่งนัก พร้อมพรั่งไปด้วยแสนสุรางค์นางเทพอัปสรห้อมล้อมเป็นบริวาร มีนามบรรหารว่า “สลากภัตตเทพบุตรเทพธิดา” ครั้นจุติเลื่อนจากสวรรค์แล้วก็ได้ลงมาเกิดเป็นกษัตริย์ในเมืองพาราณสี มีพระนามว่า พระเจ้าสัทธาดิส เสวยราชสมบัติอยู่ 84,000 ปี ครั้นเบื่อหน่ายจึงเสด็จออกบรรพชา ครั้นสูญสิ้นชีวาลงแล้วก็ได้ไปเกิดในพรหมโลก และต่อมาก็ได้มาอุบัติเป็นพระตถาคตของเรานั่นเอง นี่คืออานิสงฆ์ ์แห่งการถวายสลากภัตร นับว่ายิ่งใหญ่ไพศาลยิ่งนัก สามารถอำนวยสุขสวัสดิ์แก่ผู้บำเพ็ญ ทั้งชาติมนุษย์และสวรรค์ ในที่สุดถึงความเป็นพระพุทธเจ้าได้

พระธรรมเทศนา เรื่อง ประวัติและที่มาของการทำบุญข้าวสาก

เรียบเรียงจาก
1. ประสบการณ์ตรงของผู้เขียน
2. http://allknowledges.tripod.com/khaosak.html
3. http://ประเพณีไทยๆ.com/ประเพณีข้าวสาก



Leave a Comment