[เอาแล้ว!] ผอ. ปะทะคารมครู วุฒิภาวะทางอารมณ์ของผู้บริหาร การควบคุมอารมณ์ของ ผอ. โรงเรียนในการประชุม

อย่างที่ผมบอกล่ะครับ หลังจากที่ผมมีความสุขกับช่วงเวลา 1 ปี ของการเป็น ผอ.ใหม่ (ช่วงดื่มน้ำผึ้งพระจันทร์) โดยหลังจากผมแถลงผลงาน 1 ปี ต่อสาธารณชนแล้ว รู้สึกเหมือนว่า “เรียกแขก” เพราะหลังจากวันนั้น ผมโดนจัดเต็มต่อเนื่อง 

[บทเนียน ผอ.ใหม่ ตอน ……. (อ่านจบแล้วแต่งชื่อให้ด้วย)] เป็นผู้บริหารต้องรู้จักควบคุมอารมณ์ของตนเองให้ได้ โดยเฉพาะเวลาประชุมหรือในที่สาธารณะที่ถูกกระทบจากปัจจัยต่างๆ แต่เชื่อไหมว่า ผมเห็นผู้บริหารโรงเรียนสูญเสียการควบคุมอารมณ์และความรู้สึกของตนเอง มาแทบทุกคน รวมถึงตัวผมด้วย เดี๋ยวจะเล่าให้ฟัง

ผมเห็นตั้งแต่ผมเป็นนักเรียนแล้ว และรู้สึกตอนนั้นว่า “โห ครูบาอาจารย์ที่สอนเรา ทำไมในที่ประชุม เขาจึงจัดกันหนักแท้”

เมื่อผมเป็นครู ผมก็เคยแหยม ผอ. ในที่ประชุมเหมือนกัน รู้ไหมว่า ผมรู้สึกอย่างไร ผมรู้สึกมันส์ ที่ทำให้ ผอ. มาปะทะคารมกับผมได้ แต่ก่อนเรื่องจะไปกันใหญ่ ยังดีที่มีพี่ชายที่เมตตาผม ที่บังเอิญนั่งใกล้กันบอกผมว่า “สอง … หยุด … อย่า … ” ทำให้ผมเรียนรู้มารยาทของการสงบปากสงบคำ ซึ่งที่ผมหยุดตอนนั้น ไม่ใช่อะไรหรอกครับ เพียงแต่งงว่า พี่ชายท่านนี้แทบไม่คุยกับผมเลย แต่ทำไมงานนี้ถึงออกปากให้ผมหยุด  (ซึ่งภายหลัง ผมไม่เคยเห็นใคร สงบเหมือนผมเลย สงสัยคนเหล่านั้น ขาดคนดีดีในองค์กรคอยเมตตาค้ำจุน)

เมื่อผมเป็นครู ผมเคยเห็นครูบางคนปะทะกับ ผอ. บางครั้ง ผอ.ก็รับมือได้ บางครั้งก็รับมือไม่ได้ ครั้งที่รับมือไม่ได้ ผมก็คิดว่า “เอ๊ะ เรื่องแค่นี้ ทำไม ผอ.แกหลุดว่ะ” ถ้าเป็นเรา เราจะรับมือได้ดีกว่านี้แน่นอน

ผอ. ท่านหนึ่ง เคยกล่าวกับผมว่า “ศักดิ์อนันต์ อย่าทำแบบ ผอ.นะ เป็น ผู้บริหารต้องควบคุมอารมณ์ให้ได้” พร้อมกับสารพัดเทคนิคที่ท่าน ผอ. ถ่ายทอดให้ ว่า ต้องทำอย่างไร ซึ่ง ผมคิดว่า “สบายมาก”

แต่เอาเข้าจริง หลังจากเวลาผ่านไป 1 ปี … เดือนแรกของปีที่ 2 ของการเป็นผู้บริหารโรงเรียน ผมก็หลุดเหมือนกัน ลืมทุกเคล็ดวิชาที่เรียนรู้มาไปหมดสิ้น และก็คิดว่า ต่อไปต้องควบคุมสถานการณ์ให้ดีกว่านี้ (…จากประสบการณ์ของท่านอื่น ยืนยันว่า เดี๋ยวมีหลุดอีกหลายรอบ และความถี่อาจจะเพิ่มขึ้น 555)

เคยมีคนเคยแสดงทัศนะต่อผมไว้ว่า “คนที่ทำให้ผมพูดตรงๆ จากใจและจริงจังได้นี่ แสดงว่า คนนั้น สุดยอดจริงๆ” ตีความเอาเองว่า สุดยอดคืออะไร … เขาคงไม่รู้ว่า “ผม พูดตรงๆ จากใจและจริงจัง ไปหลายคนแล้ว ไม่เชื่อไปถามคนใกล้ชิดผมดูได้ ว่านิสัยผู้หญิงขนาดไหน … เอ๊ะ หรือว่าที่จริงแล้ว เราโน้มเอียงไปทางผู้หญิงเหมือนหลายคนซุบซิบกัน”

จากครั้งแรกของผม ทำให้ผมได้เรียนรู้อะไร ก็ขอถ่ายทอดไว้เตือนใจตัวเองและเตือนใจ ผอ.น้องใหม่ที่จะมาภายหลังดังนี้

1. เป็น ผอ. ต้องปากหนักๆ หน่อยก็ดี เพราะคำพูดของผู้บริหาร เหมือนลูกกระสุนที่ยิงออกไป อาจไปตัดขั้วหัวใจของเขา และจะทำให้เขาหันหลังให้กับโรงเรียนไปตลอดกาล (หันหลังให้ ผอ. ไม่เป็นไร)

2. การที่ผู้บริหารสถานศึกษาให้ใจ ให้โอกาสกับใครก็ตาม ผู้ได้รับอาจมองคนละมุมกับเรา และไม่รู้จักบทบาทของตัวเอง 

3. ประสบการณ์ในอดีตที่เราเคยทำ เคยเจอ ช่วยให้เราฉุกคิดได้ (เกือบคิดไม่ได้ ตั้งตัวไม่ทัน) ดังนั้น เรื่องร้ายๆ ในอดีตและปัจจุบัน เชื่อเถิดว่า จะช่วยเรารับมือได้กับที่จะเกิดขึ้นในอนาคตแน่นอน

4. ความหลงผิดในความหลงผิดของตัวเอง กับ ความศรัทธาในความศรัทธาของตัวเอง มันคล้ายๆ กัน คือ มองว่าตัวเองคือศูนย์กลางของทุกอย่าง ผู้เชื่ออย่างนี้ ต้องหมั่นตรวจสอบว่า ตัวเองอยู่กับความหลงผิด หรืออยู่กับความศรัทธาของตัวเอง (อันนี้ บอกผู้อ่านทุกคน ผมก็ต้องตรวจสอบตัวเองเหมือนกัน)

5. ทุกข้อเรียกร้องของความไม่ยุติธรรมใดๆ ต้องได้รับการตรวจสอบ และวิธีตรวจสอบที่ดีที่สุด ที่ผมใช้เสมอมาคือ “มติมหาชน” ผมชอบทำโพลครับ บางทีคนเราอาจคิดไปเองว่า มีคนสนับสนุนตนเองเยอะ แต่ความจริงมันอาจไม่ใช่อย่างที่คิด ผู้บริหารต้องใช้การตรวจสอบ “ความเห็นของคนส่วนใหญ่” อาจโดยเปิดเผยหรือทางลับแล้ว จะช่วยตัดสินใจได้ดีขึ้น … (คุณครูครับ บางทีที่ ผอ. ไม่ทำตามใจคุณครูนั้น เพราะเพื่อนครูส่วนใหญ่ เขาไม่เอาด้วยหรือเปล่า ฝากให้คิด … ไม่ต้องทำงานเอาใจ ผอ.หรอก ทำงานเพื่องาน เพื่อเพื่อนร่วมงาน จนเกิดมติมหาชนที่ว่า “เจ้านายดึง ลูกน้องดัน คนเสมอกันหลีกทางให้” ผอ. ดึงคุณครูคนเดียว ผอ.ดึงไม่ขึ้น)

6. ผู้บริหารต้องออกหน้ารับทุกอย่างเป็นเบื้องต้น เพื่อปกป้องคนในทีมงานของตัวเอง ยอมให้เขาด่า เขาว่าบ้างก็ได้ และถ้าพลาดไป ขอโทษก็ได้ (แม้ว่ามันจะไม่ช่วยให้เขารู้สึกดีต่อเราเหมือนเดิมก็ตาม)

7. ผู้บริหารต้องวางรากฐานเรื่องกำลังคนให้กับสถานศึกษาที่ตนเองปฏิบัติงาน เพราะเราเป็นเพียงผู้มาทำงานกับคนในองค์กร (อาจอยู่ไม่นาน) ให้ทุกอย่างเป็นไปตามที่ควรต้องเป็น เอาแบบกลางๆ พอไปได้ ไม่สุดโต่ง และไม่วางระเบิดเอาไว้ให้คนมาภายหลัง หรือคนที่ต้องอยู่ตรงนั้น

8. มติมหาชน ในความหมายของผอ.ศักดิ์อนันต์ อนันตสุขคือ ถ้าครูส่วนใหญ่เขายอมรับใคร (ต้องตรวจสอบให้ดี) ก็ให้คนนั้นมีบทบาท โดยที่คนเดิมที่เคยมีบทบาท ต้องพิสูจน์ศักยภาพของตนเองก่อน ถ้ายังไม่เก่ง คุณต้องเก่งก่อน แล้วค่อยถอยให้คนอื่นได้แสดงศักยภาพ (ห้ามถอยตอนยังไม่เก่ง ให้ถอยตอนเก่ง แต่ถ้าเก่งและดีแล้ว เชื่อเถอะ มหาชนจะยินยอมให้ท่านอยู่ต่อ) เพราะนี่คือ รูปแบบการพัฒนาบุคลากรที่มีคุณภาพให้กับประเทศไทย ของผมเอง

ท้ายที่สุด ผมไม่ปฏิเสธว่า ตัวเองคิดอยู่เสมอว่า “ใครนะจะมอบประสบการณ์อันทรงคุณค่าให้ผมเป็นคนแรก” และจะนานเท่าใดกว่าจะเกิดขึ้น (บางคนเร็วกว่านี้ บางคนช้ากว่านี้) แล้วบทเรียนเรื่องนี้ก็อุบัติขึ้น และจากบทเรียนนี้ ผมมั่นใจว่าจะนำไปสู่ประสบการณ์ใหม่ๆ ที่โหดและมันส์ ของ ผอ.ใหม่ ที่ไม่ประสีประสาและแหวกประเพณีปฏิบัติเดิมๆ อีกหลายเรื่อง รอติดตามครับ

ปล1. ถ้าท่านผู้อ่านเป็นครู ก็เข้าใจ ผอ. ด้วย ผอ. ต้องการความรักความอบอุ่นเหมือนกัน แต่ถ้าท่านเป็นผู้บริหารสถานศึกษาน้องใหม่ ทำให้ครั้งแรกเกิดขึ้นห่างจากวันแรกของการเข้ารับตำแหน่งให้ได้มากที่สุดนะไอ้น้อง

ปล2. เรื่องที่อ่านนี้คือเรื่องสั้น เป็นเรื่องสมมติ ของโรงเรียนหูเบาวิทยา แต่ใช้ชื่อ ผอ.ศักดิ์อนันต์ อนันตสุข เพราะอยากดัง วันหนึ่งตั้งใจจะลาออกไปสมัคร ส.ส. เผื่อท่านจะคุ้นชื่อบ้าง (เดิมใช้ชื่อตัวละครว่า ผอ. หูเบา, คุณครูตาทิพย์, คุณครูหูทิพย์)



Leave a Comment