อาหารและยาสมุนไพรของช้าง ประเภทของอาหารช้าง การกินอาหารของช้าง โรคช้าง พืชสมุนไพรสำหรับช้าง

บทที่ 3 อาหารและยาสมุนไพรของช้าง

3.1 ประเภทของอาหารช้าง
elephant-foodช้างเป็นสัตว์ที่ไม่กินเนื้อ บริโภคแต่ธัญพืชและน้ำ  อาหารช้าง แบ่งได้เป็น 6 ประเภท คือ หญ้า ไม้ไผ่ เถาวัลย์หรือไทร ไม้ยืนต้น พืชไร่ และดินโป่ง ทั้งนี้ไม่รวมน้ำซึ่งบริโภคอยู่เสมอ

1. อาหารจำพวกหญ้า (Grasses) เช่น พง แขม อ้อ ตองกง(เลาแล้ง) หญ้าแพรก เอื้องหมายนา หญ้ายอนหู หญ้าปล้อง หญ้ากระเดือยหมู

2. อาหารจำพวกใบไผ่ (Bamboos) ช้างจะกินทั้งหน่อไม้และยอดอ่อนไม้ไผ่ข้าวหลาม (ไผ่ป้าง) ไม้ไผ่ป่า(ไผ่หลาม) ไม้รวก ไม้ซาง ไม้ผาก ไม้ซางนวล ไม้ไผ่หอม และไม้บง

3. อาหารจำพวกเถาวัลย์หรือไทร (Creepers and Ficus) ไทร สลอดน้ำ บอระเพ็ด (จุ่งจะลิง) หนามหัน (หนามขี้แรด) ส้มป่อย เครือสะบ้า กระทงลาย (ผักแปบป่า)

4. อาหารจำพวกไม้ยืนต้น ช้างจะกินทั้งเปลือก ใบและผล กล้วย ขนุน นางแย้มป่า ตุมกาขาว(มะตึง) กุ่ม ชงโคขี้นก (ส้มเสี้ยว) สัก งิ้ว (งิ้วป่า) ถ่อน อ้อยช้าง

5. อาหารจำพวกพืชไร่ (Cultivated Crops) เดือย ข้าว (ต้นข้าว, ข้าวเปลือก) ข้าวโพด อ้อย ข้าวฟ่าง สับปะรด ถั่วแระ

 6. ดินโป่ง (Salt Licks) ช้างชอบกินดินโป่งเป็นบางเวลา ดินโป่งประกอบด้วยแร่ธาตุต่างๆ ที่จำเป็นต่อร่างกาย เช่น โพแทสเซียม แคลเซียม ฟอสฟอรัส แมกนีเซียม

3.2 พฤติกรรมการกิน
ช้างจะใช้งวงจับอาหารใส่ปาก ถ้าเป็นหญ้าจะใช้งวงจับหรือฟาดให้ดินที่ติดอยู่ออกเสียก่อน แต่ถ้าเป็นใบไม้หรือกิ่งไม้ที่อยู่สูงๆ ช้างจะยื่นงวงไปจับและคว้าใส่ปาก แต่ถ้าหากเป็นต้นไม้ที่สูงที่ยื่นงวงไปไม่ถึง และต้นไม้ใหญ่จนเกินไป ช้างจะดันต้นไม้ให้โค่นลง แล้วใช้งวงดึงใบไม้หรือกิ่งไม้เข้าปาก

3.3 โรคช้าง
1. โรคติดต่อ เช่น โรคติดเชื้อแบคทีเรีย โรคแอนแทรกซ์ โรคคอบวม โรคบาดทะยัก โรคท้องร่วง และโรควัณโรค
2. โรคติดเชื้อไวรัส เช่น โรคพิษสุนัขบ้า โรคปากและเท้าเปื่อย และโรคฝีดาษ
3. โรคไม่ติดต่อ เช่น โรคผิวหนัง โรคฝีและบาดแผลต่างๆ

ช้างสุรินทร์  เมื่อมีการเจ็บป่วย บาดเจ็บ ตกมันและเป็นโรค จะมีการดูแลรักษาทั้งแบบพื้นบ้าน ซึ่งมีมาแต่ดั้งเดิม คือ ใช้สมุนไพรหรือใช้สมุนไพรควบคู่กับ “คชเวชย์” หรือการเป่าเสกเวทย์มนต์ และมีการรักษาด้วยยาแผนปัจจุบัน โดยสัตวแพทย์

monk-han-surinทั้งนี้ การรักษาด้วยสมุนไพร อาจรักษาโดยหมอพื้นบ้าน พระสงฆ์หรือเจ้าของช้าง และการรักษาด้วยวิธีนี้ มีการถ่ายทอดกันมาตั้งแต่บรรพบุรุษสู่ลูกหลานของชาวจังหวัดสุรินทร์ โดยอาศัยการบอกกล่าว ไม่มีการจดบันทึกเป็นตำราสมุนไพรช้าง พระอาจารย์หาญ   ปัญญาธโร สำนักวิปัสสนาคชวนาราม หรือ วัดป่าอาเจียง ได้รวบรวมพันธุ์พืชสมุนไพรช้าง นำมาปลูกไว้ในบริเวณวัดป่าอาเจียงเป็นจำนวนมาก  และนำไปใช้ในการบำบัดรักษาอาการเจ็บป่วยของช้างด้วย

3.4 พืชสมุนไพรสำหรับช้าง
มีพืชสมุนไพรหลายชนิดในธรรมชาติ ที่มีคุณสมบัติเป็นพืชสมุนไพร ซึ่งควาญช้างนำพืชเหล่านั้นมารักษาช้าง มาตั้งแต่อดีตกาล นับเป็นภูมิปัญญาของบรรพบุรุษของไทย ที่ได้สืบทอดมาจนถึงปัจจุบัน พืชสมุนไพรที่นำมาใช้ส่วนใหญ่ใช้รักษาโรคทั่วไป ตัวอย่างเช่น
1. ขมิ้น มีสรรพคุณเป็นยาสมาน เหง้าใช้รักษาแผลผิวหนัง แก้ท้องอืดหรือท้องร่วง
2. มะขาม ใช้ส่วนใบ ลำต้นและผล ในการเป็นยาระบายช่วยในการขับถ่าย ส่วนมะขามเปียกมักใช้ในสูตรยาบำรุงกำลังช้าง
3. มะขามป้อม ส่วนของผลช่วยรักษาอาการท้องร่วง ท้องเสีย
4. ฟักเขียว ผลเป็นยาระบายอ่อนๆ แก้ท้องอืด ท้องเฟ้อ และบางตำรับยาใช้แก้อาการตกมันของช้าง
5. มะพร้าว เนื้อมะพร้าว เป็นส่วนประกอบในสูตรยาบำรุงกำลังช้าง
6. ไมยราบ ใบและลำต้น ใช้รักษาแผลอักเสบ แผลเน่าเปื่อย
7. หม่อน ส่วนของรากใช้เป็นยาบำรุงร่างกาย
8. หมาก ผลหมากใช้รักษาอาการโรคเครียด ซึมเซา
9. อ้อยดำ ลำต้น บำรุงร่างกาย
10. มะค่าแต้ ใช้เป็นยาถ่ายพยาธิ  

ที่มา : ชุดการเรียนรู้ เรื่อง สุรินทร์ ถิ่นช้างใหญ่
ลิขสิทธิ์และผลงานของ : ศูนย์การเรียนรู้วิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์และเทคโนโลยี (www.anantasook.com)
ทุนสนับสนุนประจำปีงบประมาณ 2552 จาก : สำนักงานเลขาธิการคุรุสภา 



Leave a Comment