[ปาฐกถา] ภาวะผู้นำของผู้บริหารมัธยมศึกษากับการศึกษายุคไทยแลนด์ 4.0 งานเสวนาภาวะผู้นำทางการศึกษาไทยและจีน

นายศักดิ์อนันต์ อนันตสุข ผู้อำนวยการโรงเรียนตาเบาวิทยา ตัวแทนกลุ่มผู้อำนวยการโรงเรียนมัธยมศึกษา CBSEL-CHINA 2017 นำเสนอปาฐกถาเรื่อง “ภาวะผู้นำของผู้บริหารมัธยมศึกษากับการศึกษายุคไทยแลนด์ 4.0” ในงานเสวนาภาวะผู้นำทางการศึกษาไทยและจีน เมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน 2560 ณ มหาวิทยาลัยซีหนาน สาธารณรัฐประชาชนจีน ซึ่งมีสาระสำคัญ (ถอดเทปการนำเสนอ 15 นาทีพร้อมแปล) ดังนี้

Thailand 4.0 คือ วิสัยทัศน์การพัฒนาประเทศของรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี โดยมีเป้าหมายขับเคลื่อนประเทศด้วยนวัตกรรมและเทคโนโลยี เปลี่ยนจากการทำงานมากแต่ได้ผลน้อย ไปสู่การทำงานน้อยแต่ได้ผลมากๆ ในทุกส่วนของประเทศ, ในส่วนของการศึกษานั้น ก็ต้องมุ่งจัดการศึกษาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน สอดคล้องกับการพัฒนาผู้เรียนในศตวรรษที่ ๒๑ หลักสำคัญคือ เปลี่ยนจากการสอนให้ผู้เรียนสร้างองค์ความรู้ เป็นการสอนให้ผู้เรียนสามารถสร้างนวัตกรรม เรียนน้อยแต่รู้มาก

ความท้าทายของผู้บริหารสถานศึกษาคือ ต้องมีภาวะผู้นำอย่างไรจึงจะจัดการศึกษาเพื่อตอบโจทย์การพัฒนาประเทศได้ ทั้งนี้ในทุกกระแสของความเปลี่ยนแปลง ผู้นำต้องสามารถนำการเปลี่ยนแปลงได้ ต้องมีวิสัยทัศน์ เป็นผู้นำทางวิชาการ เป็นผู้นำทางจริยธรรม มีความรับผิดชอบ คิดใหม่ทำใหม่ได้ทันที แต่แนวทางหนึ่งที่น่าสนใจคือ การกระจายภาวะผู้นำให้กับทุกคนในองค์กร ได้ตัดสินใจในงานของตน ซึ่งจะช่วยเพิ่มความสำเร็จให้กับองค์กรได้ จุดลงตัวของภาวะผู้นำจึงอยู่ที่ ผู้นำยังต้องมีบทบาทนำการเปลี่ยนแปลงอย่างนักวิชาการและสนับสนุนให้ทุกคนได้แสดงศักยภาพของตนเองอย่างเต็มที่ วิธีนี้จะช่วยให้องค์กรเกิดการพัฒนาอย่างก้าวกระโดดได้

สำหรับภาวะผู้นำของผู้บริหารมัธยมศึกษาไทยนั้น มีความแตกต่างและสัมพันธ์กับขนาดของโรงเรียน ซึ่งขนาดของโรงเรียนมัธยมศึกษานั้นแบ่งตามจำวนนักเรียน มี 4 ขนาด คือ ขนาดเล็ก ขนาดกลาง ขนาดใหญ่และขนาดใหญ่พิเศษ และขนาดของโรงเรียนก็มีความสัมพันธ์กับที่ตั้งของโรงเรียน เช่น โรงเรียนขนาดเล็กเป็นโรงเรียนประจำตำบล ขนาดกลางประจำอำเภอ ขนาดใหญ่ประจำจังหวัด และขนาดใหญ่พิเศษประจำจังหวัดขนาดใหญ่และกรุงเทพมหานคร ภาวะผู้นำของผู้บริหารโรงเรียนมัธยมศึกษาจึงมีความแตกต่างกันสัมพันธ์กับขนาดและที่ตั้งของโรงเรียน

เพื่อตอบโจทย์การพัฒนาประเทศ วงการมัธยมศึกษาก็มีการกำหนดมาตรฐานของโรงเรียนมัธยมศึกษาเป็น 8 ประเด็น ที่สามารถจำแนกตามขอบข่ายงานได้ 4 ด้าน ได้แก่ ด้านบริหารวิชาการ บริหารงานบุคคล บริหารงบประมาณและบริหารทั่วไป ซึ่งต่อไปจะได้นำเสนอภาวะผู้นำที่สัมพันธ์กับงานเหล่านี้

1. ภาวะผู้นำด้านการบริหารวิชาการ ความท้าทายของโรงเรียน คือ การปรับการเรียนเปลี่ยนการสอนตามนโยบายที่มีการเปลี่ยนแปลงบ่อย ดังนั้น ผู้อำนวยการโรงเรียนต้องสามารถนำการเปลี่ยนแปลงตอบสนองนโยบายใหม่ๆ ได้อย่างดีบนฐานของความเป็นนักวิชาการ ผู้อำนวยการโรงเรียนขนาดเล็กอาจทำได้ดีเพียงแค่การสร้างคนคุณภาพไม่กี่คนให้เป็นผู้นำของชุมชนในอนาคต แต่ผู้บริหารโรงเรียนขนาดใหญ่ต้องสร้างมาตรฐานระดับสากลและสร้างนักเรียนให้มีคุณภาพในระดับนานาชาติ

2. ภาวะผู้นำด้านการบริหารงานบุคคล ความท้าทายของโรงเรียน คือ ครูที่อยู่ในโรงเรียนขนาดเล็กมีแนวโน้มย้ายเข้าสู่โรงเรียนขนาดใหญ่ ส่งผลให้การพัฒนาครูในโรงเรียนขนาดเล็ก พัฒนาแล้วไม่สามารถรักษาคนไว้ได้ ผู้บริหารโรงเรียนจึงมีภาวะผู้นำในการมองคนออก บอกคนได้ ใช้คนเป็น จูงใจและสนับสนุนให้ครูแสดงศักยภาพอย่างเต็มที่ ขณะที่ในโรงเรียนขนาดใหญ่ มีบุคลากรที่มีคุณภาพจำนวนมาก ผู้บริหารสามารถส่งเสริมความเป็นเลิศของครูได้หลายรูปแบบไปจนถึงการพัฒนาครูในระดับนานาชาติ

3. ภาวะผู้นำด้านการบริหารงบประมาณ ความท้าทายของโรงเรียน คือ โรงเรียนได้รับการจัดสรรงบประมาณจากรัฐบาลเป็นงบรายหัวนักเรียน นักเรียนมากได้งบมาก นักเรียนน้อยได้งบน้อย ภาวะผู้นำของผู้บริหารโรงเรียนมัธยมศึกษา คือ มีความสามารถในการบริหารภายใต้ข้อจำกัดด้านงบประมาณและมีความสามารถในการประสานความร่วมมือและระดมทรัพยากรทางการศึกษาจากองค์กรต่างๆ มาพัฒนาการศึกษาของโรงเรียน

4. ภาวะผู้นำด้านการบริหารทั่วไป งานด้านนี้มีหลายส่วน แต่ที่เป็นความท้าทายหลักของโรงเรียนคือ การสร้างความสัมพันธ์กับชุมชน ผู้ปกครองและเครือข่ายต่างๆ ผู้บริหารจึงต้องเป็นนักประสานงานกับฝ่ายต่างๆ ทั้งทางด้านศาสนา ผู้ปกครอง ผู้นำชุมชน นักการเมือง ภาคีเครือข่ายต่างๆ ให้มีส่วนร่วมสนับสนุนการศึกษา

ประเด็นสุดท้ายที่นำเสนอเพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้คือ การบริหารโรงเรียนของรัฐด้วยมุมมองของนักธุรกิจ ผมมีประสบการณ์เล็กน้อยในการทำธุรกิจจึงนำมาประยุกต์ใช้กับการศึกษา ในเชิงธุรกิจ ผมมองว่า ครูคือทีมงานและนักเรียนคือ ลูกค้า ทีมงานต้องมีคุณภาพและสามารถสร้างความพึงพอใจสูงสุดให้กับลูกค้า และเพื่อตอบโจทย์ความท้าทายสองข้อคือ (1) ผู้บริหารทุกคนพูด “ทำทุกอย่างเพื่อนักเรียน” แต่จะมีสักกี่คนที่ถามนักเรียนว่า พึงพอใจในสิ่งที่ ผู้อำนวยการโรงเรียนบริหารจัดการโรงเรียนหรือไม่ (2) เมื่อเราเป็นผู้บริหาร เราทำงานกับครู ทำให้ความใกล้ชิดของเรากับนักเรียนลดลงไป ทำอย่างไรจะทำให้ผู้อำนวยการโรงเรียนและนักเรียนมีความใกล้ชิดและเข้าใจกันมากขึ้น วิธีดำเนินการของผมคือ ต้นปีการศึกษา ให้นักเรียนเขียนสิ่งที่ต้องการให้โรงเรียนดำเนินการ ผู้อำนวยการใส่ใจในความต้องการ สิ่งที่ทำไม่ได้ก็ทำความเข้าใจกับนักเรียน สิ่งที่ทำได้ก็กำหนดในแผนปฏิบัติการและดำเนินการ เมื่อสิ้นปีการศึกษา ก็ให้นักเรียนประเมินความพึงพอใจการบริหารงานของผู้อำนวยการโรงเรียน ผลที่เกิดขึ้นคือ ผอ. ทราบความนิยมของตนเองและทราบความใส่ใจของครูต่อนักเรียน แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดไม่ใช่การประเมินว่าเราบริหารดีแค่ไหน แต่สิ่งที่เราต้องการทราบคือ ดัชนีความสุขของนักเรียน เพราะถ้านักเรียนมีความสุขในการเรียนที่โรงเรียนของเรา ผลการประเมินจะสูง แต่ถ้านักเรียนมีความทุกข์ผลการประเมินจะต่ำ ซึ่งเราจะได้หาหนทางแก้ไขต่อไป

ท้ายที่สุด ผมขอเรียนว่า ในหลวงรัชกาลที่ 9 ของเรา ทรงเป็นผู้มีภาวะผู้นำสูงสุด ทรงเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงในการพัฒนาประเทศมาตลอด 70 ปี ทรงเป็นนักพัฒนาและเป็นแบบอย่างให้เราทำตามในทุกเรื่อง ผมขอเรียนว่า ไม่ว่ารัฐบาลจะมีนโยบายเปลี่ยนไปตามยุคสมัยอย่างไร ถ้าผู้อำนวยการโรงเรียนมีหัวใจเป็นนักพัฒนา ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้น ก็จะไม่หยุดนำการพัฒนา ดังพระบรมราโชวาทของในหลวงตอนหนึ่งว่า “คนที่ทำงานได้จริงนั้น ไม่ว่าจะทำสิ่งใด มีอุปสรรคเพียงใด ก็ย่อมทำได้เสมอ” การนำเสนอของผมจบลงเพียงเท่านี้ครับ ขอบคุณครับ

ชมคลิปการนำเสนอปาฐกถา เรื่อง ภาวะผู้นำของผู้บริหารมัธยมศึกษากับการศึกษายุคไทยแลนด์ 4.0 : [รอติดตั้ง]



Leave a Comment