ครูเพื่อความอยู่รอดของผู้อื่น ธรรมสำหรับครู ธรรมบรรยายของท่านพุทธทาสภิกขุ [ธรรมะเพื่อคุณครู]

dhamma-teacherธรรมชาติสร้างมนุษย์มาเพื่อจะเป็นเพื่อนทุกข์ เกิด แก่ เจ็บ ตาย ด้วยกัน คนที่เกิดมา ทีหลังต้องการความช่วยเหลือของคนที่เกิดมาก่อน เช่น ทารกเกิดมาต้องการความช่วยเหลือของบิดามารดา ครูบาอาจารย์ พระเจ้า พระสงฆ์ ที่เกิดมาก่อน ฉะนั้นเราจึงทำหน้าที่ ที่จะต้องทำความรอดเพื่อผู้อื่นด้วย ในทางธรรมก็เรียกว่า ประโยชน์ตน (อัตตโถ) ประโยชน์ตน แล้วก็ประโยชน์ผู้อื่น (ปรัตโถ) เราต้องทำให้เต็มที่สุดฝีไม้ลายมือ ด้วยความไม่ประมาทโดยเท่ากัน

พวกคุณเป็นครูก็ต้องนึกถึงอุดมคติ คือ ความรอดของผู้อื่น อย่าคิดว่าเราเป็นครูเอาเงินเดือนมาเลี้ยงตัวกูคนเดียวให้สบาย นึกถึงตัวเองคนเดียวมันใช้ไม่ได้ แล้วจะไม่ทำให้ดีได้ด้วยคือจิตใจจะไม่มีความสุข ฉะนั้นจะต้องนึกถึงผู้อื่น

ความเป็นครู ก็คือสร้างความสามารถในการที่จะช่วยผู้อื่น ในทางศาสนาในทางธรรม เขาเรียกว่าอุดมคติของโพธิสัตว์ โพธิสัตว์มีอุดมคติเพื่อช่วยผู้อื่น พระพุทธเจ้าลงทุนในการช่วยผู้อื่น  ด้วยการบำเพ็ญหน้าที่โพธิสัตว์เป็นวรรคเป็นเวรนมนานเหลือเกิน ฉะนั้น อุดมคติของโพธิสัตว์คือเพื่อความรอดของผู้อื่น พร้อมกันไปกับความอยู่รอดของตัวเอง

ฉะนั้น เราจะไม่รับผิดชอบไม่ได้ ถ้าไม่รับผิดชอบในความรอดของผู้อื่น แล้วมันจะเกิดกิเลสฝ่ายเรา แล้วเราก็จะไม่รอดด้วย ถ้าเราเห็นแก่ผู้อื่นความเห็นแก่ตัวมันจะสลายไป กิเลสมันเกิดไม่ได้เราก็จะรอดด้วย จึงขอให้ยึดถือหลักธรรมในพระพุทธศาสนาก็แล้วกัน ว่าทุกอย่างมันเพื่อทั้งสองฝ่าย คือฝ่ายเราเองและฝ่ายผู้อื่น

อาจจะมีคนถามขึ้นว่า ฝ่ายไหนสำคัญกว่า ? เราจะต้องว่าสำคัญเท่ากัน คือมันจะต้องผูกพันไปด้วยกัน แต่เราคงจะชอบฝ่ายเรามากกว่า หรือว่าถ้าจะถือว่าอันไหนมันมีค่ามันก็จะนึกถึง ฝ่ายเรานั่นแหละมีค่ากว่า เราไม่ต้องเสียประโยชน์ที่เป็นความรอดของเราเพื่อผู้อื่นรอดหรอก นี่พระพุทธเจ้าท่านก็ยอมรับข้อนี้ว่า เราไม่ถึงกับต้องสูญเสียความรอดของเราเพื่อความรอดของผู้อื่น มันต้องเป็นความรอดที่ไปด้วยกัน แม้ว่าเราจะยอมเสียสละชีวิตเพื่อความรอดของผู้อื่น เราก็ยังได้ความรอดอยู่นั่นเอง

การเสียสละชีวิตเพื่อช่วยโลก เพื่อช่วยผู้อื่น มันก็เป็นความรอดของผู้เสียสละชีวิตนั้นด้วย ทีนี้มันได้มาก คือมันเป็นความรอดของคนทุกคนในโลก มันมีประโยชน์มาก แปลว่าเขาได้ใช้ชีวิตนั้นให้มีค่ามากที่สุดคือเพื่อทุกคน ไม่ใช่เพื่อรอดของตัวคนเดียว เพราะฉะนั้นจึงให้ถือเป็นหลักว่า วัตถุที่พึงประสงค์มีอยู่สองสถาน คือประโยชน์ตน และประโยชน์ท่าน

ถ้าใครถือหลักอันนี้แล้ว จะไม่มีการเบียดเบียนกันเลยในโลกนี้ ฟังดูเถอะไม่มีการเบียดเบียนกันเลยในโลกนี้ อย่างที่เราเรียกในภาษาโบราณนั้นว่าศาสนาพระศรีอาริย์ ไม่เบียดเบียนกันเลยในโลกนี้ ไม่ต้องปิดประตูบ้าน ไม่ต้องปิดประตูเรือน หรือว่าเรือนไม่ต้องทำประตูก็ได้ ถ้าขี้เกียจมันนอนสบายได้โดยไม่ต้องปิดประตูบ้าน ปิดประตูเรือน เพราะว่ามันไม่มีใครเบียดเบียนใคร

เขามีคำพูดแปลก ๆ ที่เป็นอุปมา พอลงจากเรือนไปในท้องถนนไม่รู้ว่าใครเป็นใครเหมือนกันหมด ไม่รู้ว่าใครเป็นใคร ไม่รู้ว่าเป็นอะไรของเรา เป็นพ่อเป็นแม่ เป็นลูก เป็นผัว เป็นเมียของเรา มันเหมือนกันไปหมด จนกว่าจะกลับมาถึงบ้านแล้ว จึงจะรู้ว่าอ้าวนี่ แม่ของเรา พ่อของเรา พี่ของเรา ลูกของเรา ถ้าลงไปที่ถนนละก็มันเหมือนกันหมด มันไม่มีศัตรู มันไม่มีผู้อื่น มันมีแต่ผู้รักใคร่เป็นคนเดียวกันไปหมด นี่อุดมคติอุปมา ในจุดสูงสุดของพระพุทธศาสนา

นี่เรียกว่า ประโยชน์ตนกับประโยชน์ผู้อื่น มันหลอมเข้าเป็นสิ่งเดียวกัน เสียแต่เดี๋ยวนี้ยังอยู่ในระยะการปฏิบัติ เราก็ปฏิบัติประโยชน์ตน พร้อมกันไปกับประโยชน์ผู้อื่น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ท่านทั้งหลายที่เป็นครู ทำหน้าที่ครู อย่ามองแต่ว่าทำประโยชน์ตน ให้มองที่ทำประโยชน์ผู้อื่น แล้วประโยชน์ทั้งหลายก็จะกลายเป็นประโยชน์ของตน นี่เราก็เลยได้มากได้มากกว่าผู้ที่ไม่ได้เป็นครู

อาตมาเคยบอก บอกจนเขาหาว่าประจบ บอกว่าอาชีพครูนั้นประเสริฐที่สุด เพราะมันได้ทั้งเงินและได้ทั้งบุญ อาชีพหลาย ๆ อาชีพจะได้แต่เงินเท่านั้นแหละไม่ได้บุญหรอก แต่ถ้าอาชีพครูนี้จะได้ เงินเดือนหรืออะไรก็ตามประโยชน์ทางวัตถุนั้นได้ด้วยแล้วได้บุญด้วย เพราะว่าอาชีพครูนั้นท่านทำประโยชน์ผู้อื่น

 ครู แปลว่า ผู้เปิดประตูในทางวิญญาณ ให้คนเดินถูกต้องตามหนทางแล้วก็รอดได้ ฉะนั้นจึงว่าครูได้บุญ เป็นอาชีพที่ได้บุญ แล้วเราก็ไม่ได้อุทิศตนเพียงเพื่อเป็นลูกจ้างสอนหนังสือ เราถืออุดมคติว่าเป็นมนุษย์บำเพ็ญประโยชน์ตนและประโยชน์ท่านให้สมบูรณ์ ทีนี้อาชีพมันอำนวยที่สุดแล้ว มันให้ความสะดวกแก่เราแล้วที่จะดำเนินอาชีพ มีผลสองอย่างพร้อมกันไปในตัว คือการเลี้ยงชีพก็ได้ แล้วบุญก็ได้

ถ้าเรารับจ้างทำงานอย่างอื่นอย่างธรรมดาสามัญ อาจจะได้แต่เงินจากอาชีพแต่บุญไม่ได้ ดังนั้น อาชีพที่จะได้บุญด้วย อันแรกก็ต้องชี้ระบุระบุไปที่อาชีพครู อาตมาพูดอย่างนี้บ่อย ๆ เขาบอกว่าประจบครูแล้ว ก็เลยหาทางออกว่าอาตมาเป็นครูเว้ย คือตัวเองก็พยายามทำหน้าที่ครูไปอีกแบบหนึ่งตามหน้าที่ของบรรพชิต อย่าระแวงไปว่าเพื่อประจบเลย

ฉะนั้น ขอให้ยินดี พอใจ ในอาชีพครูคืออาชีพผู้เป็นมัคคุเทศก์ในทางวิญญาณ เปิดประตูคอกเล้าที่มือที่เหม็น ที่สกปรกนี้ ให้สัตว์มันได้ออกมาเสียจากคอกเหล่านั้น

นี่จึงเรียกว่าวัตถุที่พึงประสงค์ มีอยู่สองจุด คือประโยชน์ตัวเองและประโยชน์ผู้อื่น ทบทวนอีกทีก็ได้ ไม้อิงสามขา ศาสตราจารย์สามอัน โจรฉกรรจ์สามก๊ก ป่ารกสามดง เวียนวนสามวง ทุกข์ทนทั้งสามโลก เขาโคกสามเนิน ทางห้ามเดินสองแพร่ง ตัวแมลงห้าตัว มารที่น่ากลัวห้าตน บ่วงคล้องคนหกห่วง เหตุแห่งสิ่งทั้งปวงหกตำแหน่ง แหล่งอบายมุขสี่ สิ่งที่ต้องควบคุมสามจุด หนทางแห่งวิมุติมีแปดองค์ วัตถุที่พึงประสงค์สองสถาน รวมหมดด้วยกันเป็น 16 หัวข้อ กล้าท้าว่า เป็นหัวข้อที่สะดวกที่จะจำ จะศึกษาเล่าเรียนหรือจะปฏิบัติ แล้วท้าให้มากกว่านั้นอีกก็คือว่า ทั้งหมดนี้มีอยู่ในทุกศาสนา เอาชีวิตและเกียรติยศเป็นประกันว่า ทุกข้อเหล่านี้ไปค้นได้จากหลักในพระศาสนาทุกศาสนาเลย มันเป็นสากล ยิ่งกว่าสากล เป็นเรื่องธรรมชาติ เป็นเรื่องที่เป็นไปตามกฎเกณฑ์ของธรรมชาติเรา จะทำเป็นอย่างอื่นไม่ได้ถ้าเราประสงค์ความสงบสุขหรือสันติสุขตามหลักของธรรมชาติ

ดังนั้น จึงหวังว่าท่านทั้งหลายทุกคนคงจะได้สนใจ ควรจะสนใจนี่ก็เพื่อความสะดวก จึงได้สรุปไว้เป็นคำกลอน แล้วในฐานะเป็นหัวข้อจริง ๆ จึงได้เรียกว่า ปาฏิโมกข์ ธรรมะปาฏิโมกข์ เอาไว้พูดเล่น ท่องเล่น ให้ติดริมฝีปากไว้ สิบหกข้อนี้แล้วก็คงจะสบาย สะดวกสบาย สำหรับผู้ที่จะดำเนินชีวิตเป็นครูบาอาจารย์ แม้ว่าไม่เป็นครูบาอาจารย์ เป็นลูกศิษย์ เป็นคนธรรมดาทั่วไป ทั้งสิบหกหัวข้อนี้ก็ยังคงใช้ได้ แปลว่าใช้ได้สำหรับทุกคน ใช้ได้สำหรับทุกวิวัฒนาการแห่งบุคคล ไม่ว่าจะเป็นเด็ก เป็นผู้ใหญ่ เป็นคนเฒ่าคนแก่ ไม่ว่าจะเป็นพ่อค้า เป็นชาวนา เป็นชาวสวน เป็นอะไรก็ตาม เขาควรจะรู้กฎเกณฑ์เหล่านี้ แล้วดำรงตนอยู่อย่างถูกต้อง เขาก็จะได้ความเป็นมนุษย์ที่ดี คือจะได้รับสิ่งที่ดีที่สุดที่มนุษย์ควรจะได้รับ

บอกเขาว่าการเกิดเป็นมนุษย์นี้มันเกิดมาเพื่อทำอะไรสักอย่างหนึ่งที่ดีที่สุด คือว่าการเกิดมาเป็นมนุษย์นี้ ธรรมชาติมันให้สิ่ง ๆ หนึ่งมา สิ่งนั้นคือความสามารถหรือแรงงาน ในแรงงานมันมีสมรรถภาพ เราเรียกว่าแรงงาน สิ่งมีชีวิตมีแรงงาน เราต้องใช้แรงงาน เราต้องใช้แรงงานนั้นตามกฎของธรรมชาติ ดังนั้นเราจึงอยู่นิ่งไม่ได้ เป็นคนก็ตาม เป็นสัตว์ก็ตาม มันอยู่นิ่งไม่ได้ มันต้องเคลื่อนไหว ด้วยอำนาจของแรงงานที่ธรรมชาติมันให้มา

สรุปความว่า มันอยู่นิ่งไม่ได้ มันต้องทำ ทีนี้มันก็มีปัญหาเมื่ออยู่นิ่งไม่ได้ ต้องทำ แล้วจะทำอะไร? ก็ตอบว่า ทำสิ่งที่เหมาะสมแก่ความเป็นมนุษย์ ทำสิ่งที่ตรงตามเจตนารมณ์ของความเป็นมนุษย์คืออะไร? คือถึงจุดสูงสุดของความเป็นมนุษย์ จุดสูงสุดของความเป็นมนุษย์คืออะไร? ก็คือความหมดปัญหา เพราะว่าบรรลุถึงนิพพาน หรือว่าอยู่กับพระเจ้าเป็นนิรันดรไปเลย พูดอย่างอุปมาก็พูดได้ว่า อยู่กับพระเจ้าอย่างนิรันดรไปเลย พูดอย่างไม่อุปมาก็พูดว่า มันดับทุกข์นิรันดร เป็นนิพพานไปเลย นี่คือจุดปลายทางสำหรับมนุษย์ที่ธรรมชาติมอบให้มา

ฉะนั้น ถ้าใครไม่ถึงจุดนี้ เขาก็ยังไม่เป็นมนุษย์ที่เต็มความหมาย ทีนี้เราไม่ให้เสียทีที่เกิดมาเป็นมนุษย์ จะเป็นมนุษย์ให้เต็มความหมาย เราก็ต้องเดินทางนี้ ทางสำหรับมนุษย์เดินจะเรียกว่า พัฒนาการก็ได้ พัฒนาการกาย จิต วิญญาณ ทุกอย่างให้มันสูงขึ้นมา มาจนถึงจุดสูงสุด ที่เราเรียกกันว่ารอดทั้งตัวเองรอดทั้งผู้อื่น หน้าที่มันก็หมด หมดเท่านั้นแหละ มันไม่มีอะไรดีไปกว่านี้ หน้าที่มันจบลงไปที่ตรงนี้ คือเราก็รอดผู้อื่นก็รอด 

เอาล่ะคิดว่า การบรรยายในวันนี้ ก็พอสมควรแก่เวลาแล้วขอตั้งความปรารถนาว่า ทุกสิ่งทุกอย่างจะเป็นไปในทางที่พึงปรารถนา ขอให้ทุกท่านมีกำลัง มีความเชื่อ มีความกล้าหาญ มีความยินดีพอใจในหน้าที่การงาน แล้วมีความสุขในการงาน ความสุขอย่างอื่นไม่ดีเท่าความสุขในการทำงาน แล้วเราก็จะมีความสุขที่แท้จริง ที่ไม่ต้องใช้เงินซื้อ อย่างที่เขาไปหาเงินมาซื้อความสุขหลอก ๆ กัน เราก็มีความสุขแท้จริงโดยไม่ต้องใช้เงินซื้อ ก็นับว่าดีที่สุดสำหรับมนุษย์ 

ธรรมบรรยาย เรื่อง ครูเพื่อความอยู่รอดของผู้อื่น : โดยพุทธทาสภิกขุ คัดจากหนังสือวันไหว้ครู 2539 องค์การนักศึกษา มหาวิทยาลัยขอนแก่น
ที่มา : หนังสือคู่มือการปฏิบัติตนของครู สควค. ครูผู้สร้างสังคมแห่งการเรียนรู้ หน้าที่ 18-20



Leave a Comment