การเลี้ยงจิ้งหรีด วิธีการเลี้ยงจิ้งหรีด ฟาร์มจิ้งหรีด แนะนำขั้นตอนการเลี้ยงและจำหน่ายจิ้งหรีด

Cricket-farmจิ้งหรีด เป็นแมลงที่พบทั่วไปตามธรรมชาติ ในชนบทสามารถหาจับได้ทั่วไปในทุ่งนาช่วงหัวค่ำ ปัจจุบันคนนิยมนำมาเลี้ยงเพื่อกินเป็นอาหาร และจำหน่าย เนื่องจาก จิ้งหรีด มีสารอาหารประเภทโปรตีนสูง เลี้ยงง่าย ขยายพันธุ์เร็ว ให้ผลผลิตสูง เหมาะที่เกษตรกรจะนำมาเลี้ยงเป็นอาชีพเสริม ไว้บริโภคและจำหน่ายเพิ่มรายได้ สามารถใช้เวลาว่างจากการทำงานหลักทางการเกษตร มาดูแลบ่อจิ้งหรีดได้ โดยในเวลา 1 ปี จะสามารถเลี้ยงจิ้งหรีดได้ถึง 5 รุ่น เลยทีเดียว

วงจรชีวิตจิ้งหรีด
1. ระยะไข่ รูปร่างยาวเรียว คล้ายเมล็ดข้าวสาร สีน้ำตาลอ่อน ความกว้างของไข่ 5.1 มม. ความยาว 2.38 มม.

2. ระยะตัวอ่อน ลำตัวสำน้ำตาลปนเหลือง ฟักออกจากไข่ช่วงแรกยังไม่มีปีก จะเริ่มมีตุ่มปีกในเมื่อถึงกลางวัยอ่อน พอลอกคราบ 8 ครั้ง จึงเข้าสู่วัยแก่ (รวมอายุวัยอ่อนระหว่าง 42 – 55 วัน)

3. ระยะตัวเต็มวัย มีปีก 2 คู่ เพศผู้ ปีกคู่หน้าย่น มีหนาม ไว้ทำเสียง เพศเมีย มีปีกเรียบ และมีเข็มวางไข่อยู่ส่วนท้ายของลำตัว อายุวัยแก่ประมาณ 38 – 49 วัน

4. การผสมพันธุ์ ตัวเต็มวัยอายุ 3 – 4 วัน จะเริ่มผสมพันธุ์ตัวผู้จะขยับปีกคู่หน้าถูกันให้เกิดเสียงหลายจังหวะ หลายสำเนียงในการสื่อสารความหมายต่างๆ สำหรับการผสมพันธุ์จะเกิดตลอดช่วงอายุตัวเต็มวัย โดยตัวเมียจะขึ้นคร่อมบนหลังตัวผู้

5. การวางไข่ ตัวเมียเริ่มวางไข่เมื่อผสมพันธุ์ผ่านไป 3 – 4 วัน แบ่งการวางไข่เป็น 5 รุ่น วางไข่ได้เฉลี่ย 1,200 – 1,700 ฟอง/จีง โดยวางไข่ไว้ใต้ดิน และฟักออกเป็นตัวเมื่อไข่อายุครบ 7 วัน

อุปกรณ์ที่ต้องใช้เลี้ยงจิ้งหรีด
1. ขันไข่ บ่อละ 5 ขัน
2. ท่อปูนพร้อมฝาปิดท่อ ขนาดกว้าง 80 ซม. สูง 50 ซม. จำนวน 1 ท่อ หรือกะละมังพลาสติก ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง กว้าง 72 ซม. สูง 30 ซม. หรือจะเป็นภาชนะที่ใส่ได้ทุกขนาด
3. ตาข่ายไนล่อนเขียว 100 x 100 ซม. จำนวน 1 ผืน
4. แผ่นพลาสติก ขนาด 25 x 270 ซม. จำนวน 1 ผืน
5. ยางรัดปากบ่อหนา 1 ซม. จำนวน 1 เส้น
6. ถาดอาหาร-น้ำ กว้าง x ยาว = 5 x 10 ซม. ลึก 1.5 ซม. 2 ถาด
7. กระบอกไม้ไผ่ ยาว 20 ซม. ผ่าครึ่งจำนวน 10 อัน หรือกระดาษรังไข่ 3 อัน
8. ถาดหรือถุงพลาสติกใส่ดินร่วนปนทราย หนา 2 ซม.
9. เศษหญ้าแห้งวางหนา 2 ซม.
10. เทปกาว

ขั้นตอนการเลี้ยงจิ้งหรีด
1. สร้างเรือนโรง หรือหลังคาป้องกันแดดและฝนโดยให้แดดส่องเช้าเย็น
2. ปรับพื้นที่กำจัดมดและศัตรูจิ้งหรีด
3. วางบ่อบนฝา ใช้ปูนผสมทรายฉาบปริ่มขอบภายในและภายนอก ป้องกันมดเข้าทำลายลูกจิ้งหรีด
4. ติดแผ่นพลาสติกด้านบนขอบบ่อหรือกะละมังด้วยเทปกาว
5. พันธุ์จิ้งหรีด หาพันธุ์ได้จากธรรมชาติ หรือซื้อโดยควรคัดเลือกพ่อ-แม่พันธุ์ที่มีตัวโตแข็งแรง อวัยวะครบทุกส่วน ปัจจุบันได้มีการเลี้ยงในลักษณะขันไข่ เกษตรกรสามารถจัดซื้อจากฟาร์มเลี้ยงจิ้งหรีด เพื่อนำไปเลี้ยง ทำให้สามารถเก็บผลผลิตเป็นรุ่นๆ ได้

การให้อาหารและน้ำจิ้งหรีด
1. พืชอาหาร ได้แก่ ต้นอ่อนและยอดอ่อนของพืชหรือหญ้าสดทุกชนิด หญ้าขน หญ้าลูซี่ ผักตบชวา ใช้เลี้ยงจิ้งหรีดเจริญเติบโตเร็วและให้ผลผลิตสูง โดย 2 วัน ให้หญ้า 1 ครั้งๆ ละ 1 กำมือ โดยหญ้าเก่าไม่ต้องนำออก จะเป็นที่อาศัยของจิ้งหรีดต่อไป

2. อาหารเสริม รำอ่อน หรืออาหารสำเร็จรูปที่ใช้เลี้ยงไก่จิ้งหรีด 1 บ่อ ใช้อาหาร 3กก./รุ่น ราคาประมาณ 15 บาท/กก. อาหารเสริมควรให้ในปริมาณที่กินหมดภายใน 2 วัน

3. การให้น้ำ ขวดน้ำพลาสติกเจาะรูข้างขวด 2 รู ใช้ผ้าทำความสะอาดม้วนใส่รูเพื่อให้น้ำซึมสำหรับจิ้งหรีดวัยตัวอ่อน

4. ภาชนะสำหรับวางไข่จิ้งหรีด ใช้ดินร่วนปนทรายและแกลบเผาใส่ขันสำหรับอาบน้ำ ใช้ฟ๊อกกี้ฉีดน้ำทุก 3 วัน ไม่ให้แฉะ ก่อนฉีดน้ำนำถาดอาหารออกก่อน ถ้าเปียกจะเกิดเชื้อรา ใช้เฉพาะในช่วงที่มีตัวเต็มวัยที่จะวางไข่

ต้นทุนการเลี้ยงจิ้งหรีด
สามารถเลี้ยงได้ปีละ 5 รุ่น/บ่อ โดยมีค่าใช้จ่ายต่อบ่อ ดังนี้

รุ่นที่ 1 (เริ่มเลี้ยง) 600 บาท
1. วัสดุในการเลี้ยง เทปกาว ลวดยางรัดบ่อ ตาข่ายมัด ถาดไข่ และหญ้าเลี้ยง = 300 บาท
2. ค่าพันธุ์ไข่จิ้งหรีด 5 รุ่นๆ ละ 50 บาท = 250 บาท
3. ค่าอาหารจิ้งหรีด (อาหารไก่) 3 กก. = 50 บาท

รุ่นที่ 2–5 (4 รุ่น)
1. ค่าอาหารจิ้งหรีด (อาหารไก่) 3 กก. 50 x 4 รุ่น = 200 บาท
รวมค่าใช้จ่ายในการเลี้ยง = 850 บาท/บ่อ/ปี

ผลผลิต/ผลตอบแทน จากการเลี้ยงจิ้งหรีด

– เลี้ยง 1 บ่อ จะให้ลูกจิ้งหรีดในวัยที่สามารถเก็บผลผลิตได้ประมาณ 5 กก./บ่อ/รุ่น

– จิ้งหรีดที่เลี้ยงมีผลผลิตได้ 5 กก./บ่อ/รุ่น ราคากิโลกรัมละประมาณ 100 บาท (ราคาส่ง) มีรายได้ 2,500 บาท (กำไรเฉลี่ย 1,700 บาท/บ่อ/ปี)

เมนูอาหารจากจิ้งหรีด
จิ้งหรีดสามารถนำมาแปรรูปทำเป็นน้ำพริกนรก น้ำพริกตาแดง จิ้งหรีดสามรส ผสมน้ำยาป่ากินกับขนมจีน ทำข้าวเกรียบ โดยเฉพาะจิ้งหรีดทอด เป็นที่นิยมบริโภคกันมาก

แหล่งข้อมูลและสอบถาม
กลุ่มส่งเสริมการเลี้ยงผึ้งและแมลงเศรษฐกิจ
โทร/โทรสาร 0-2940-6102
E-mail : agriman64@go.th

เรียบเรียงจาก : http://www.moac.go.th (กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ )



Leave a Comment