[CBSEL วันที่ 12] ศึกษาดูงานการเรียนการสอนโรงเรียนประถมศึกษาเซี่ยเจียวัน (ฝ่ายเอกชน-รัฐบาล) (9 พ.ย. 2560; Sakanan)

วันที่ 12 : 9 พฤศจิกายน 2560 : ช่วงเช้า : ศึกษาดูงานการจัดการเรียนการสอนที่โรงเรียนประถมศึกษาเซี่ยเจียวัน (ฝ่ายเอกชน) วิทยากรโดย ผู้อำนวยการโรงเรียนหลิว ซีย่า

กิจกรรมวันนี้ เป็นการศึกษาดูงานโรงเรียนประถมศึกษาเซี่ยเจียวัน ๒ แห่ง ช่วงเช้าเป็นโรงเรียนที่ดำเนินการแบบเอกชน และช่วงบ่ายเป็นโรงเรียนที่ดำเนินการแบบรัฐบาล สองโรงเรียนนี้มี ผู้อำนวยการโรงเรียนคนเดียวกัน โดยผู้อำนวยการโรงเรียนมีความเกี่ยวข้องกับพรรคคอมมิวนิสต์จีน คือเป็นสมาชิกสภาของรัฐบาลกลาง โรงเรียนบริหารงานภายใต้ความเชื่อเดียวกัน เชื่อว่า “๖ ปีสำคัญ ส่งผลต่อ ๑ ชีวิต” มีดอกเหมยสีแดงเป็นสัญลักษณ์ของโรงเรียน ดอกเหมยบานในฤดูหนาว มีความหมายว่า ถึงชีวิตจะลำบากก็ต้องสู้ โรงเรียนมุ่งมั่นจัดการศึกษาเพื่อเปลี่ยนแปลงประเทศจีนในยุคใหม่

โรงเรียนประถมศึกษาเซี่ยเจียวัน ฝ่ายเอกชน มีการจัดสร้างอาคารเรียนเอง ภายใต้การสนับสนุนของบริษัทแห่งหนึ่งของจีน และมีรูปแบบที่ไม่เหมือนกับโรงเรียนรัฐบาล ให้อิสระในการเรียนรู้ ครูและนักเรียนสามารถกำหนดเวลาเรียนในแต่ละวิชา ไม่มีเสียงกริ่งสัญญาณบอกเวลา (เพราะสัญญาณบอกเวลาเปลี่ยนคาบ เหมือนเป็นคำสั่งให้เด็กต้องทำสิ่งนั้นสิ่งนี้) เพื่อให้เด็กได้วางแผนชีวิตของตนเอง รู้จักตนเอง และพัฒนาตนเอง ช่วงเช้าเรียนวิชาการ ช่วงบ่ายทำกิจกรรมที่นักเรียนสนใจ มีการจัดทำหลักสูตรและหนังสือเรียนของโรงเรียนเอง โดยยุบรวมวิชาที่รัฐกำหนดจาก ๑๒ วิชา ทำให้เป็น ๗ วิชา และจัดทำตำราเรียนออกมา ๖๔ เล่ม

นอกจากนี้ โรงเรียนใช้เวลาในการจัดการเรียนการสอนจนเสร็จตามหลักสูตรเพียง ๖๐% ของเวลาเรียนทั้งหมด ทำให้เวลาในช่วงบ่ายสามารถจัดกิจกรรมเพิ่มเวลารู้ โดยมีกิจกรรมให้นักเรียนได้เรียนรู้มากกว่า ๒๐๐ กิจกรรม ทั้งนี้โรงเรียนได้จัดชุดการแสดงไว้ต้อนรับเรา ๓ ชุด ซึ่งมาจากผลงานของนักเรียนในแต่ละห้องที่คิดขึ้นมาเอง และผลงานทุกห้องสามารถส่งไปทำการแข่งขันได้ทุกทีมและมั่นใจว่าแต่ละทีมจะได้รางวัลกลับมา และในอาคารเรียนจะใช้ภาพของครู นักเรียนและทุกคนในโรงเรียนติดในผนังของอาคาร ทำให้ทุกคนรู้สึกว่าเป็นคนสำคัญ ผลที่เกิดขึ้นคือ นักเรียนมีความสุขในการเรียนรู้ เวลาเจอปัญหาจะไม่หนีปัญหาจะพยายามแก้ปัญหา ครูที่สอนในโรงเรียนก็มีความรู้สึกว่าตนเองมีความสุข ครูใช้เวลาในการทำการวิจัยเป็น ๕ เท่าของการสอน และรู้สึกมีความสุขที่ผลงานของตนได้ส่งผลต่อการศึกษาของประเทศมากกว่าการได้รับเงินโบนัส

โรงเรียนมีการเก็บค่าเล่าเรียนจำนวน ๑๐,๐๐๐ หยวนต่อเทอม ถือว่าเป็นโรงเรียนเอกชนที่แพงที่สุดในประเทศ โรงเรียนมีการประเมินความพึงพอใจจากผู้ปกครองนักเรียน ส่วนใหญ่พอใจแต่มีส่วนหนึ่งที่สะท้อนว่า โรงเรียนจัดการเรียนรู้ให้ลูกของตนเองเรียนน้อยเกินไป จึงเป็นหน้าที่ของทางโรงเรียนที่จะชี้แจงให้ผู้ปกครองเข้าใจถึงการเรียนในรูปแบบใหม่นี้ ทั้งนี้ ผลการจัดการเรียนการสอนตามแนวทางนี้เป็นที่พึงพอใจของรัฐบาลและได้รับคำชื่นชมจากผู้นำประเทศ และมีแนวโน้มว่า จะมีการทำโรงเรียนเอกชนในลักษณะนี้ในระดับมัธยมศึกษาในเวลาอันใกล้นี้

เนื่องจากผู้อำนวยการโรงเรียน เป็นสมาชิกสภาของรัฐบาลด้วย จึงยืนยันว่า ในประเทศจีนขับเคลื่อนประเทศด้วยการศึกษา การศึกษาต้องมาก่อนทุกเรื่อง หากผู้อำนวยการโรงเรียนรัฐบาลต้องการอะไรเพื่อพัฒนาการศึกษาในโรงเรียนของตน เมื่อแจ้งให้รัฐบาลทราบ รัฐบาลจะจัดให้ทันที ดังนั้น ในด้านการศึกษาขั้นพื้นฐานของจีน จึงไม่มีปัญหาเรื่องเงินงบประมาณ แต่ปัญหาคือ จะใช้งบประมาณให้เกิดผลคุ้มค่าได้อย่างไร

ช่วงบ่าย : ศึกษาดูงานการเรียนการสอนที่โรงเรียนประถมศึกษาเซี่ยเจียวัน (ฝ่ายรัฐบาล) วิทยากรโดย ผู้แทนผู้อำนวยการและคณะครู  โรงเรียนบริหารงานภายใต้ความเชื่อเดียวกัน เชื่อว่า “๖ ปีสำคัญ ส่งผลต่อ ๑ ชีวิต” มีดอกเหมยสีแดงเป็นสัญลักษณ์ของโรงเรียน หน้าโรงเรียนมีสัญลักษณ์กุญแจเปิดใจและกำแพงสายรุ้งเป็นสื่อสะท้อนแนวคิดของโรงเรียน

โรงเรียนประถมศึกษาเซี่ยเจียวัน ฝ่ายรัฐบาล ก่อตั้งเมื่อปี ค.ศ. 1957 ตั้งอยู่บนพื้นที่ ๙ ไร่ (ฝ่ายเอกชน มีพื้นที่ ๒๐ ไร่) ปัจจุบันมีนักเรียน ๑,๗๐๐ คน โรงเรียนมีโครงสร้างพื้นฐาน สื่อและอุปกรณ์การเรียน ตลอดจนห้องปฏิบัติการต่างๆ ครบถ้วนตามมาตรฐานของโรงเรียนประถมศึกษาของจีน จัดการศึกษาตามรูปแบบที่ใช้ในโรงเรียนรัฐบาลทั่วไป แนวคิดของโรงเรียนยังเน้นที่ผู้เรียนเป็นสำคัญ ภาพวาดของนักเรียน ถูกนำไปทำเป็นกระเบื้องและนำมาติดประดับในผนังของอาคารเรียน และผนังโรงเรียนเป็นผนังแห่งรอยยิ้ม รูปนักเรียนทุกคนจะต้องถูกนำไปติดในผนังของโรงเรียน นอกจากนี้ ความโดดเด่นอีกอย่างหนึ่งคือ โรงเรียนมีห้องถ่ายทอดสดกิจกรรมในโรงเรียน (ห้อง DDTV) 

คณะของเรามีโอกาสชมการเรียนการสอนและมีส่วนร่วมกับกิจกรรมการสอนในวิชาดนตรีของนักเรียน (จะสังเกตเห็นว่า ทุกโรงเรียนที่ไปจะจัดคาบเรียนดนตรีให้ชม ซึ่งไม่แน่ใจว่า จุดเด่นของเขาคือ วิชาดนตรี หรือวิชาดนตรี มีเนื้อหาที่ง่ายต่อการมีส่วนร่วมของนักเรียน) นอกจากนี้ ข้าพเจ้ายังได้สอบถามนักศึกษาจีนที่มาทำหน้าที่ Staff ว่า โรงเรียนที่เขาจบมานั่นสภาพเท่ากับโรงเรียนรัฐบาลแห่งนี้หรือไหม ซึ่งได้ความว่า โรงเรียนรัฐบาลแห่งนี้ดีกว่าโรงเรียนที่เขาเรียนจบระดับประถมศึกษามาอย่างมาก โรงเรียนที่เขาจบมา อาคารเป็นไม้ชั้นเดียว (แสดงว่าในเขตชนบทห่างไกลก็น่าจะแตกต่างจากนี้พอสมควร)

ประเด็นเพิ่มเติม : การที่คณะของเขาแจ้งให้เราไม่แตกกลุ่ม ต้องเดินตามจุดที่เขานำชมเท่านั้น ทำให้เราขาดโอกาสที่จะได้สอบถามข้อมูลต่างๆ กับครูที่จัดการเรียนการสอนจริงๆ (ถึงจะถามก็อาจสื่อสารกันไม่ได้อยู่ดี และอาจเป็นการรบกวนชั้นเรียนของเขา) และวันนี้พอจะสรุปวัฒนธรรมการต้อนรับคณะศึกษาดูงานในโรงเรียนของประเทศจีน คือ เขาจะจัดคนมาต้อนรับและนำชมเพียง ๑-๒ คน และจัดเตรียมเพียงน้ำเปล่าขวดเดียวให้กับคณะศึกษาดูงาน ซึ่งคิดว่าเป็นวัฒนธรรมที่ดี ที่อาจสามารถนำไปประยุกต์ใช้ในโรงเรียนไทยต่อไป

หมายเหตุ : บันทึกประจำวันนี้ เป็นความคิดเห็นของผู้เขียน (นายศักดิ์อนันต์ อนันตสุข) ในแต่ละวันขณะอบรมหลักสูตร Educational Leadership Training Programme for Thai School Leader ณ Southwest University สาธารณรัฐประชาชนจีน เท่านั้น อาจไม่ถูกต้องในเชิงวิชาการ อ่านเป็นความรู้ได้ แต่ไม่ควรใช้อ้างอิงในเชิงวิชาการ



Leave a Comment