[CBSEL วันที่ 9] ดูงานการศึกษาของโรงเรียนประถมเหรินหมิน (โรงเรียนแม่และโรงเรียนสาขา) (6 พ.ย. 2560; Sakanan)

วันที่ 9 : 6 พฤศจิกายน 2560 : ช่วงเช้า : เยี่ยมชมการพัฒนาการศึกษาของโรงเรียนประถมเหรินหมิน (โรงเรียนสาขา) โรงเรียนประถมเหรินหมิน (โรงเรียนสาขา) เป็นโรงเรียนประถมศึกษา (ป.๑-๖) ที่สร้างใหม่ เปิดทำการเรียนการสอนได้ ๓ ปี ปัจจุบันจึงมีนักเรียน ป.๑-๓ โรงเรียนหลักหรือโรงเรียนเดิม มี “จู หลิน เซียะ” ภรรยาท่านเติ้ง เสี่ยว ผิง เป็นผู้อำนวยการโรงเรียนคนแรก โรงเรียนแห่งใหม่มีความชัดเจนในการออกแบบโครงสร้างพื้นฐานของโรงเรียนและการวางผังอาคารเป็นรูปเด็กนักเรียน และตัวอาคารกำหนดชื่อตามอักษรในภาษาอังกฤษว่า “CHILDREN” โดยรัฐบาลเป็นผู้จัดเตรียมให้ทั้งหมด เด็กที่เข้าเรียนในโรงเรียนคือ เด็กที่อยู่ในเขตที่รัฐบาลกำหนด (ไม่รับข้ามเขต) รัฐทำโรงเรียนประจำเขตให้มีมาตรฐานแล้วคนในเขตก็เรียนที่นั่นเลย

เราได้พบเห็นอาคาร ห้องเรียนต่างๆ มีอุปกรณ์การเรียนครบถ้วน อาทิเช่น ห้องวาดภาพ ห้องงานปั้น ห้องวิชาตัดกระดาษ ห้องประชุมนักเรียนที่มีขนาดใหญ่ สวยงามและมีมาตรฐาน สนามกีฬาที่มีมาตรฐาน โรงอาหารสำหรับนักเรียนและครูที่มีมาตรฐาน และครูที่เราพบทุกคนอยู่ในวัยหนุ่มสาวและวัยกลางคน

เราได้ชมการฝึกซ้อมกีฬาเบสบอล ที่โรงเรียนมีความร่วมมือกับประเทศสหรัฐอเมริกา และการจัดการเรียนการสอนวิชาดนตรี สำหรับนักเรียน ป.๒ ซึ่งได้เห็นว่าครูมีความสามารถในการจัดการเรียนรู้ได้อย่างดี ยิ้มแย้มแจ่มใส กระตุ้นนักเรียนให้มีส่วนร่วมตลอดเวลา ตั้งแต่การจำเนื้อเพลงกุ๊กไก่ การใส่ทำนอง การใส่ท่าทาง การรวมทุกอย่างเข้าด้วยกัน การแสดงร่วมกันของนักเรียนทั้งชั้น และเปิดท้ายด้วยการเชิญพวกเราร่วมแสดง

ช่วงบ่าย : เยี่ยมชมการพัฒนาการศึกษาของโรงเรียนประถมเหรินหมิน (โรงเรียนหลัก) โรงเรียนประถมเหรินหมิน (โรงเรียนหลัก) เป็นโรงเรียนประถมศึกษาขนาดใหญ่ ที่ตั้งในเขตจงซี บนถนน “จง ซาน ซือ ลู่” ซึ่งเป็นถนนสายหลัก ที่มีประวัติศาสตร์ทางการเมืองและอยู่ใกล้หน่วยงานของทางราชการ และโรงเรียนแห่งนี้ก็มีความเกี่ยวข้องกับผู้นำการปฏิวัติ เป็นโรงเรียนสำหรับลูกหลานนักปฏิวัติ โดยมีภรรยาท่านเติ้ง เสี่ยว ผิง เป็นผู้อำนวยการโรงเรียนคนแรก ผู้ปกครองของนักเรียนที่นี่จึงเป็นบุคคลสำคัญของจีน เป็นวีรบุรุษของชาติ โรงเรียนจึงมีรูปแบบค่อนข้างพิเศษ (ในประเทศเราก็น่าจะเทียบได้กับ โรงเรียนจุฬาภรณ์ หรือโรงเรียนที่ใช้ชื่อของพระบรมวงศานุวงษ์) มีการทำความร่วมมือทางวิชาการกับต่างประเทศรวม ๑๓ ประเทศ รวมทั้งประเทศไทย และประธานาธิบดีของประเทศอิตาลี เคยมาเยือนโรงเรียนแห่งนี้ ทั้งนี้บุคคลสำคัญอีกคนหนึ่งในอดีต คือ โฮ่ หลง เป็นผู้อำนวยการโรงเรียนที่รักเด็ก จึงคิดกิจกรรมต่างๆ เป็นหลักสูตรให้เด็กได้เรียนรู้ จะเห็นได้ว่ามีรูปของท่านนี้ติดอยู่หลายจุด และมีอนุสาวรีย์ที่โรงเรียนสาขาด้วย

โรงเรียนมีหอเกียรติยศ จัดแสดงประวัติความเป็นมาของโรงเรียนและผลงานนักเรียน ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นผลงานด้านศิลปะ วรรณกรรม ดนตรีและการแสดงทางศิลปวัฒนธรรม ซึ่งเดิมมีนักเรียนบางคนที่มีความสามารถ แต่ปัจจุบันโรงเรียนมีนโยบายสนับสนุนให้นักเรียนมีความสามารถที่โดดเด่น ภายในห้องพักครู เราพบเตียงนอนพับได้ ซึ่งมีไว้เพื่อให้ครูได้นอนพักผ่อนในเวลาพัก

เราได้ชมการจัดการเรียนการสอนวิชาการวาดภาพด้วยพู่กันจีน โดยในชั้นเรียนนี้มีนักเรียนไทยและรองผู้อำนวยการโรงเรียนสาธิต มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ร่วมเรียนรู้ด้วย จากการสังเกตชั้นเรียนพบว่า นักเรียนจีนมีความกระตือรือร้นมีส่วนร่วมในการเรียน ครูถามปุ๊บ แย่งกันยกมือ ตอบปั๊บ นักเรียนจีนแทบทุกคนอยากเข้ามามีส่วนร่วมกับเรา ถ่ายรูปกับเรา คนที่พูดอังกฤษได้พยายามสื่อสารกับเรา และนักเรียนไทยของเราเองก็สะท้อนกับเราว่า เด็กนักเรียนจีนกระตือรือร้นในการเรียนในชั้นเรียนมาก

ทั้งนี้ หากเปรียบเทียบโรงเรียนแห่งนี้ กับโรงเรียนสาธิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (ฝ่ายประถม) ที่เคยไปศึกษาดูงาน ผมมองว่า โรงเรียนแห่งนี้ ยังสู้วิธีปฏิบัติที่เป็นเลิศของประเทศไทยไม่ได้ แต่โรงเรียนในเขตชนบทของประเทศจีนจะมีความพร้อมด้านโครงสร้างพื้นฐาน ทรัพยากรบุคคลและการบริหารจัดการดีกว่าโรงเรียนในตัวอำเภอและโรงเรียนประจำตำบลของประเทศไทย

หมายเหตุ : บันทึกประจำวันนี้ เป็นความคิดเห็นของผู้เขียน (นายศักดิ์อนันต์ อนันตสุข) ในแต่ละวันขณะอบรมหลักสูตร Educational Leadership Training Programme for Thai School Leader ณ Southwest University สาธารณรัฐประชาชนจีน เท่านั้น อาจไม่ถูกต้องในเชิงวิชาการ อ่านเป็นความรู้ได้ แต่ไม่ควรใช้อ้างอิงในเชิงวิชาการ



Leave a Comment