[CBSEL วันที่ 16 เช้า] การสอนบนหลักความรู้คู่คุณธรรม สถานการณ์ที่จีนต้องเผชิญในยุคข้อมูลข่าวสาร (13 พ.ย. 2560; SAKANAN)

ชื่อวิชา การสอนในชั้นเรียนบนหลักความรู้คู่คุณธรรม สถานการณ์ที่ประเทศจีนต้องเผชิญกับการศึกษาในยุคข้อมูลข่าวสาร
วิทยากร รศ. จางเหลียง สถาบันวิจัยทางหลักสูตรและการสอน มหาวิทยาลัยซีหนาน
วันที่ ๑๓ พฤศจิกายน ๒๕๖๐ เวลา ๐๙.๐๐ ถึง ๑๒.๐๐ น.

๑.สาระสำคัญของวิชา

การจัดการเรียนการสอนตามแนวคิดความรู้คู่คุณธรรม ปี 2003 ใช้ในเยอรมัน ปี 2007 ใช้ในอังกฤษและสวิตเซอร์แลนด์ ปี 2009 ใช้ในออสเตรเลีย ปี 2013 ใช้ที่สิงคโปร์ ปี 2014 เริ่มใช้ในประเทศจีน มุ่งปลูกฝังความรู้คู่คุณธรรม โดยจีนนำมาใช้เพื่อรับมือกับกระแสโลกาภิวัตน์ (แทบทุกคนมีมือถือ สามารถหาความรู้ได้ง่ายๆ ทั่วโลก สิ่งที่ต้องทำคือ ปลูกฝังคุณธรรมในการใช้เทคโนโลยีให้นักเรียน)

วิทยากรยกตัวอย่าง การจัดการเรียนการสอนวิชาคณิตศาสตร์ ระดับ ป.3 เมืองโอไฮโอ USA นักเรียนใช้วิธีคิดเลข 90 – 25 ได้ 4 รูปแบบการหาคำตอบ ขณะที่จีน (รวมถึงไทย) จะมีวิธีคิดเพียงรูปแบบเดียว ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบชั้นเรียนจีนกับอเมริกา มีข้อสังเกตดังนี้
1. ความรู้ : จีนใช้การท่องจำ USA ใช้ตัวเลขที่จับต้องไปได้มาสัมพันธ์กับสิ่งที่จะต้องได้
2. การสอน : การรู้แบบท่องจำเป็นความรู้เฉื่อย (inert knowledge) มีความรู้มากมายในสมอง แต่ไม่สามารถนำไปแก้ปัญหาอะไรได้ เวลาสอบทำข้อสอบได้ แต่ไม่สามารถนำมาใช้ในชีวิตประจำวันได้ และการสอนของครูก็ไม่เปลี่ยนแปลง ครูถูกสอนมาอย่างไรก็ยังคุ้นเคยที่จะสอนเด็กอย่างนั้น ดังนั้น ต้องเปลี่ยนนิสัยการสอนของครูแต่ละคน เพราะเมื่อเราคุ้นเคยเราจะไม่สามารถหลุดจากกรอบเดิมได้

วิกฤตการณ์ทางการศึกษาของจีน คือ ทำอย่างไรจึงจะมีการสอนที่มีคุณภาพ เพื่อให้คุณครูมีอิสระทางความคิด สนใจในการศึกษาวิจัยและมีความรับผิดชอบต่อสังคม

อะไรคือความรู้คู่คุณธรรม ความรู้คู่คุณธรรมมีองค์ประกอบ 3 อย่างคือ ความรู้, คุณธรรม, นำไปใช้ในชีวิตประจำวัน วิทยากรยกตัวอย่าง โจทย์ม้าสูง 1.1 เมตร น้ำลึก 1.2 เมตร ทำอย่างไรม้าจะข้ามน้ำได้ นักเรียนมีแนวคำตอบหลากหลาย เช่น (1) ม้าจะจมน้ำเพราะ 1.1< 1.2 (คำตอบนี้ไม่ใช้ความรู้คู่คุณธรรม), (2) 1.2 เป็นความลึก อาจมีจุดตื้นลึกหนา ม้าอาจข้ามได้หรือข้ามไม่ได้ก็ได้, (3) เรายังไม่ทราบความยาว ความลึก ความกว้างแม่น้ำ ดังนั้น ม้าอาจกระโดดข้ามได้, (4) ม้าข้ามได้ เพราะม้าว่ายน้ำได้ (คำตอบข้อ 2-4 เป็นคำตอบที่แสดงความรู้คู่คุณธรรม)

ลักษณะเด่นของสังคมรูปแบบใหม่ “พลเมืองดิจิตอล” สัดส่วนแรงงานของประเทศจะเน้นหนักด้านอาชีพที่ใช้ความคิดและการติดต่อประสานงานซึ่งงานด้านนี้คอมพิวเตอร์ไม่สามารถทำได้ ริชาร์จ เมอเนน และ เฟรค เลรี เป็นผู้กล่าวไว้ (คนอเมริกาจึงเรียน (1) การใช้ความคิด, (2) ติดต่อประสานงาน ทำอย่างไร USA จะเป็นปัญญาชนโดยไม่จำเป็นต้องกลับมาใช้แรงงาน : จีนจึงมีความกดดันเพราะนอกจากแข่งกับตนเองแล้วก็ยังต้องแข่งกับ USA)

การเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 ของ USA
(1) ความคิด มีความแตกต่างจากที่คอมพิวเตอร์เรียน คือ ตรงไปตรงมา คนต้องมีประสบการณ์ในการพยายามแก้ปัญหา ที่คอมพิวเตอร์ทำไม่ได้
(2) การติดต่อประสานงาน คอมพิวเตอร์ไม่สามารถเข้าถึงวัฒนธรรม ประเมินความเสี่ยง ทำงานเป็นทีมกำหนดนโยบาย ทำงานที่ซับซ้อน เป็นต้น

องค์กรที่พัฒนารูปแบบความรู้คู่คุณธรรม ได้แก่ OECD สหภาพยุโรป UNESCO สหรัฐ
– OECD การนำความรู้ประยุกต์ใช้ สร้างความเป็นนักคิด นักประสานงาน
– สหภาพยุโรป พัฒนาเด็ก 7 ทักษะ คิดวิเคราะห์ คิดสร้างสรรค์ แก้ปัญหา จัดการกับอารมณ์ ทำงานเป็นทีม การนำไปใช้แก้ปัญหาในชีวิต
– สหรัฐอเมริกา คุณสมบัติของเด็กในศตวรรษที่ 21 ต้องสอบ 4cs ได้แก่ ความคิดสร้างสรรค์ ความคิดอย่างมีวิจารณญาณ ความร่วมมือและการติดต่อประสานงาน

ประเทศจีนจึงนำหลักการและแนวคิดของ OECD สหภาพยุโรป UNESCO สหรัฐ มาสร้างการเรียนรู้คู่คุณธรรม (หลัก 1-3-6-18) โดย 1 คือ การพัฒนาที่รอบด้าน/ 3. ได้แก่ การพัฒนาตนเอง, มีพื้นฐานวัฒนธรรม, การเข้าร่วมสังคม/ 6 ได้แก่ การพัฒนาตนเอง (เรียนให้เป็น, สุขภาพชีวิต), มีพื้นฐานวัฒนธรรม (อารยธรรม, จิตวิญญาณค้นคว้าวิจัย), การเข้าร่วมสังคม (รับผิดชอบ, ปฏิบัติคิดสร้างสรรค์) และ 18 (มีภาพประกอบ) ได้แก่
-เรียนอย่างมีความสุข, ทบทวนความรู้, การเรียนรู้ดิจิตอล
-รักชีวิต, สุขภาพแข็งแรง, ดูแลตนเอง
-สั่งสมมรดกวัฒนธรรม, รู้สึกนึกคิด, ชื่นชมความงาม
-คิดมีเหตุผล, พิจารณาสงสัย, กล้าสำรวจ
-รับผิดชอบต่อสังคม, ภูมิใจในประเทศตน, เข้าใจต่างชาติ
-จิตสำนึกในการทำงาน, รู้จักแก้ปัญหา, ประยุกต์ใช้เทคโนโลยี

สมรรถนะ คือ การใช้ความรู้ทักษะและทัศนคติในสถานการณ์ปัญหาใดๆ เพื่อแก้ไขให้ลุล่วง

ความรู้คู่คุณธรรม คือ การใช้ความรู้ความสามารถในการแก้ปัญหา โดยมีหลักการคือ การใช้ความรู้และทักษะในการแก้ไขปัญหาที่ซับซ้อนและจัดการด้วยสถานการณ์ที่ไม่อาจคาดเดาและสถานการณ์ที่เกินความสามารถของมนุษย์และการเรียนรู้เพื่อเป็นคนยุคใหม่ในศตวรรษที่ 21 ดังนั้น ในการจัดการเรียนการสอน ครูต้องยกสถานการณ์ให้นักเรียน เพื่อให้นักเรียนได้เผชิญสถานการณ์และใช้ความรู้ทักษะที่มีดำเนินการแก้ปัญหา

ทั้งนี้ การกำหนดโจทย์ให้นักเรียนแก้ปัญหา ครูควรตั้งโจทย์จากชีวิตประจำวันของนักเรียนและเปิดโอกาสให้นักเรียนคิดหาคำตอบได้หลากหลาย ยกตัวอย่างเช่น เด็กนักเรียนอนุบาลแห่งหนึ่ง ทำวิจัย “คนกินไข่ ทำไมตาโต” ซึ่งในความเป็นจริงครูทราบอยู่แล้วว่าไม่เกี่ยวข้องกัน แต่ปล่อยให้นักเรียนทำวิจัยจนได้ข้อสรุปของตนเอง สิ่งนี้ช่วยสนับสนุนวิธีการเรียนรู้เชิงวิทยาศาสตร์ เพราะผลลัพธ์ไม่สำคัญเท่ากับวิธีการเรียนรู้

๒. ประเด็นที่ท่านสนใจเป็นพิเศษ (ไม่เกิน ๒ ประเด็น)
๒.๑ ประเด็น : การจัดการเรียนรู้บนหลักความรู้คู่คุณธรรมที่เป็นสากล
เหตุผล : ข้าพเจ้าคิดว่า ประเทศจีนให้คำนิยามเรื่องคุณธรรมที่แตกต่างจากการนิยามคุณธรรมในความเข้าใจของคนไทย จีนนิยามว่า “เป็นการใช้ความรู้และทักษะในการแก้ไขปัญหาที่ซับซ้อนและจัดการกับสถานการณ์ที่ไม่อาจคาดเดา เพื่อเป็นคนยุคใหม่ในศตวรรษที่ ๒๑” ส่วนคุณธรรมพื้นฐาน เช่น ขยัน ประหยัด ซื่อสัตย์ กตัญญู ฯลฯ จะแฝงอยู่ในวัฒนธรรมจีนอยู่แล้ว จึงมีการนิยามคุณธรรมในลักษณะที่เป็นสากลสอดคล้องกับการนิยามของ OECD, EU, สหรัฐอเมริกา เป็นต้น ประเทศไทยของเราจึงควรจัดการเรียนรู้ที่เทียบเคียงกับคุณธรรมที่เป็นสากล เช่น การพัฒนาทักษะการคิดวิเคราะห์ ความคิดสร้างสรรค์ การร่วมมือ การทำงานเป็นทีม การรับผิดชอบต่อสังคม การติดต่อประสานงาน เป็นต้น

๒.๒ ประเด็น : การให้ความสำคัญกับกระบวนการเรียนรู้มากกว่าผลลัพธ์
เหตุผล : วิทยากรได้นำเสนอผลการวิจัยของนักเรียนอนุบาลแห่งหนึ่งเพื่อตอบความสงสัยของนักเรียนเองว่า “คนกินไข่จะทำให้เป็นคนตาโตหรือไม่” ซึ่งครูก็ทราบอยู่แล้วว่า ไม่มีความเกี่ยวข้องกัน แต่ก็ยังเปิดโอกาสให้เด็กได้ทำการศึกษาค้นคว้า จนสร้างข้อค้นพบความรู้ด้วยตนเอง

๓. แต่ละประเด็น (ในข้อ ๒) มีประโยชน์กับงานของท่านหรือไม่? และจะนำไปใช้ได้อย่างไร?
๓.๑ ประเด็น : การจัดการเรียนรู้บนหลักความรู้คู่คุณธรรมที่เป็นสากล
ประโยชน์กับงานและการนำไปใช้ : ส่งเสริมการจัดกิจกรรมที่ส่งเสริมให้เกิดคุณธรรมสากล เช่น การทำงานเป็นทีม ความรับผิดชอบต่อสังคม การมีนิสัยรักในการศึกษาค้นคว้าวิจัย ผ่านการจัดการเรียนรู้โดยใช้โครงงานเป็นฐาน (Project Base Learning)

๓.๒ ประเด็น : การให้ความสำคัญกับกระบวนการเรียนรู้มากกว่าผลลัพธ์
เหตุผล : ส่งเสริมให้ครูจัดการเรียนรู้ควบคู่การทำโครงงาน (Project Base Learning) หรือการวิจัยขั้นพื้นฐาน (Research Base Learning) ภายใต้หัวข้อที่นักเรียนสนใจหาคำตอบ แม้บางหัวข้อจะเป็นเรื่องง่ายๆ หรือครูทราบอยู่แล้วว่า อาจซ้ำกับงานของผู้อื่นที่ทำไว้ก่อนแล้ว ก็ต้องเปิดโอกาสให้มีการดำเนินการและสนับสนุนให้นักเรียนได้ดำเนินการจนได้คำตอบ รวมถึงหัวข้อวิจัยง่ายๆ บางหัวข้อ ก็อาจทำให้เกิดนวัตกรรมใหม่ๆ ที่แก้ปัญหาในชีวิตประจำวันของนักเรียนได้

หมายเหตุ : บันทึกประจำวันนี้ เป็นความคิดเห็นของผู้เขียน (นายศักดิ์อนันต์ อนันตสุข) ในแต่ละวันขณะอบรมหลักสูตร Educational Leadership Training Programme for Thai School Leader ณ Southwest University สาธารณรัฐประชาชนจีน เท่านั้น อาจไม่ถูกต้องในเชิงวิชาการ อ่านเป็นความรู้ได้ แต่ไม่ควรใช้อ้างอิงในเชิงวิชาการ



Leave a Comment