พิธีกรรมเกี่ยวกับการคล้องช้างป่า การจับช้าง การวังช้าง การโพนช้าง เซ่นไหว้ผีปะกำ ข้อปฏิบัติขณะออกคล้องช้างป่า

บทที่ 5 พิธีกรรมเกี่ยวกับการคล้องช้างป่า

5.1 ประวัติการคล้องช้าง
ในอดีตชายฉกรรจ์ชาวส่วยแสดงความสามารถ โดยการออกจับช้างป่า ถ้าหากผู้ใดสามารถจับช้างป่าได้ ก็จะเป็นที่รักใคร่ของญาติๆ และคนรอบข้าง แถมยังมีโอกาสหาและเลือกคู่ครอง การออกคล้องช้างแต่ละครั้ง ชาวส่วยจะเลือกเดือนที่มีความเหมาะสม คือ ฤกษ์ยาม มีพิธีรีตองและข้อห้าม (คะลำ หรือ ไตร) อย่างเคร่งครัดทั้งผู้ที่ออกคล้องช้างและผู้ที่อยู่บ้าน

การคล้องช้างหรือจับช้าง มี 3 วิธี
1. การวังช้าง เป็นการทำคอกขนาดใหญ่หรือพะเนียด
2. การคล้อง เป็นการทำเพนียดในป่า แล้วไล่ช้างเข้าเพนียด เลือกคล้องเอาเฉพาะที่ต้องการ
3. การโพนช้าง เป็นการจับช้างโดยหมอช้าง ใช้ช้างต่อไล่จับ ใช้บ่วงบาศ(หนังปะกำ) คล้องเข้าที่เท้าหน้าหรือเท้าหลังก็ได้

catch-elephantชาวส่วยได้ใช้วิธีทั้งสามในการจับช้างมาแล้ว แต่วิธีที่นิยมที่สุดคือ วิธีที่สาม เพราะเป็นวิธีที่ให้ความตื่นเต้น ท้าทายใช้ความสามารถสูง และยังต้องใช้หลักวิชาอีกด้วย โดยบริเวณที่ชาวส่วย นิยมออกไปจับช้างป่า มี 3 แห่ง ได้แก่ แนวป่าดงดิบอุดรมีชัย ราชอาณาจักรกัมพูชา บริเวณป่าดงดิบ แขวงจำปาศักดิ์ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว และบริเวณป่าลึกในจังหวัดเลย ได้แก่ เขตอำเภอวังสะพุง และบริเวณป่าดงลาน แต่ที่ชาวส่วยนิยมและไปคล้องช้างป่ามากที่สุด คือ แนวป่าดงดิบอุดรมีชัย ราชอาณาจักรกัมพูชา เพราะเป็นป่าที่มีช้างชุกชุม และยังเป็นพื้นที่ที่ราบลุ่มง่ายแก่การติดตามช้างป่า ตลอดจนได้รับการต้อนรับจากชาวบ้านและเจ้าหน้าที่บ้านเมืองบริเวณนั้นด้วยดี ด้วยเหตุเป็นกลุ่มวัฒนธรรมเดียวกัน โดยเสียค่าธรรมเนียมการเข้าไปจับช้างป่าครั้งเดียวประมาณ 20 บาท สามารถเข้าไปจับช้างได้ตลอดทั้งปี

5.2 เครื่องมือที่ใช้ในการคล้องช้าง
          1. หนังปะกำ ใช้เป็นบ่วงบาศทำด้วยหนังกระบือ ถือเป็นอุปกรณ์ที่มีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง เพราะเป็นที่สิงสถิตของวิญญาณบรรพบุรุษ และสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่เขาเคารพบูชา
          2. ทามคอ เป็นเชือกหนังขนาดใหญ่ ใช้ผูกคอช้างเชลยล่ามไว้กับต้นไม้
          3. สลกหรือชนก คล้ายทามคอ แต่ใช้กับช้างต่อผูกติดไว้กับหนังปะกำ
          4. ชนัก ทำด้วยเหล็กบิดเป็นเกลียววง 3 ห่วงๆ ละ 2 ท่อน ใช้ผูกคอช้างต่อ เพื่อให้หมอช้างและควาญยึดกันไม่ให้พลัดตก
          5. โยง  ทำด้วยหนังบิดเกลียว ใช้ต่อผูกติดช้างให้โยงเข้ากับขาช้าง
          6. สนามมุก ทำด้วยหนังเย็บเป็นถุงใช้สำหรับใส่เครื่องกินและของใช้
          7. ไม้คันจาม ทำด้วยไม้เนื้อแข็งเส้นผ่านศูนย์กลาง 1-1.5 นิ้ว ยาวประมาณ 5 เมตร ที่ปลายด้านหนึ่งสำหรับเหน็บเชือกหนังปะกำ หรือบ่วงบาศคล้องเท้าช้าง
          8. ไม้งก เป็นไม้เนื้อแข็ง ลักษณะงอคล้ายค้อน ยาว 50-60 เซนติเมตร ปลายด้านหนึ่งเจาะรูร้อยเชือก สำหรับผูกข้อมือไม่ให้หลุด ใช้ตีที่ท้ายช้างต่อ เพื่อเร่งความเร็วขณะไล่ช้างป่า
          9. กาหรั่นหรือเดื่อง เป็นห่วงเหล็กใหญ่และเล็กติดกัน มีเดื่อยสลักห่วงเล็กสอดกับรูบนขอบห่วงใหญ่ ใช้เป็นตัวเชื่อมระหว่างทามคอกับห่วงโซ่ เวลาล่ามช้างป่ากับต้นไม้ โดยกาหรั่นจะทำหน้าที่กันไม่ให้ทามคอรัดคอช้างป่าแน่นเกินไป
          10. สะแนงแกล (ซัง) ทำจากเขาควาย ใช้เป่าให้สัญญาณแก่กันและกัน ขณะเดินทางในป่า โดยจะเป่าในโอกาส ดังนี้
                 10.1 เมื่อจะออกไปคล้องช้าง ก่อนที่จะออกไปพ้นหมู่บ้านเสมือนประหนึ่งเป็นการบอกกล่าวอำลาบ้าน ผีบ้านผีเรือน
                 10.2 อยู่ในป่าขณะออกไปคล้องช้าง เป่าเพื่อบ่งบอกตำแหน่ง ทิศทางที่แต่ละหมู่ หรือค่ายพักอยู่ ณ  จุดใด
                 10.3 หลังเสร็จภารกิจขณะออกจากป่า เป่าเป็นสัญญาณออกเดินทางกลับบ้าน และเมื่อเข้าเขตหมู่บ้านเพื่อบอกหมู่ญาติว่าเดินทางกลับมาแล้ว

5.3 พิธีเซ่นไหว้ผีปะกำ
elephant-directorผีปะกำ คือ ประเพณีการบวงสรวงเซ่นไหว้อย่างหนึ่ง ที่บรรพบุรุษของคนเลี้ยงช้าง (ชาวส่วย) ยึดมั่นเคร่งครัด และสืบทอดกันมาจากอดีตถึงปัจจุบัน

ชาวส่วย หรือชาวกวย เลี้ยงช้าง เชื่อว่า ผีปะกำ เป็นผีที่มีความสำคัญต่อความเป็นอยู่ของชีวิตเขาและครอบครัวเป็นอย่างยิ่ง  หากไม่ปฏิบัติหรือเซ่นบวงสรวงผีปะกำ ก่อนประกอบพิธีกรรมต่างๆ แล้ว ชีวิตเขาและคนในครอบครัว อาจจะได้รับความเดือดร้อน หรือสูญเสียอะไรไปก็อาจเป็นได้ แต่ตรงกันข้าม หากปฏิบัติเซ่นบวงสรวงก่อนแล้ว พิธีกรรมต่างๆ ที่จะปฏิบัติก็จะดำเนินไปด้วยความเรียบร้อย

ศาลปะกำ เป็นสิ่งปลูกสร้างขนาดกว้าง 2 วา ยาว 3 วา ใช้เสา 4 ต้น เป็นเสาไม้ล่อนถากด้วยมือสูง 3 วา ยกพื้นกระดานสูงจากพื้นราว 2 เมตร 2 ชั้น ชั้นบนสูงกว่าชั้นแรกหนึ่งศอกครึ่ง ตีฝา 3 ด้าน มุงด้วยวัสดุที่ หาได้ในพื้นที่ ชั้นบนเป็นที่เก็บหนังปะกำและวัสดุอื่นๆ ที่ใช้ในการคล้องช้างป่า ชั้นล่างใช้เป็นที่นั่งบริกรรมคาถาของหมอใหญ่และทายาทสายตรง

หนังปะกำ ทำด้วยหนังคายตัวผู้สีดำ พันเป็นเกลียว 3 เส้น (ห้ามมีรอยต่อ) หนังปะกำเส้นหนึ่งๆ จะมีความยาวประมาณ 30-40 เมตร

การเซ่นบวงสรวงผีปะกำ จะกระทำก็ต่อเมื่อ มีการออกไปคล้องช้างป่า คนในตระกูลจัดให้มีพิธีแต่งงาน พิธีเคลื่อนย้ายศาลปะกำ  หรือกิจกรรมอื่นๆ ที่คนในตระกูลจัดให้มีขึ้น

เครื่องเซ่นที่ใช้ในพิธีเซ่นบวงสรวงผีปะกำ ประกอบด้วย
          1. หัวหมู 1 หัว พร้อมเครื่องในหมู (อาจใช้เป็ดแทนก็ได้)
          2. ไก่ต้ม 1 ตัว
          3. เหล้าขาว 1 ขวด
          4. กรวยขันห้าพร้อมดอกไม้ 1 ชุด
          5. เทียน 1 คู่ ธูป 3 ดอก
          6. หมาก 2 คำ บุหรี่ 2 มวน
          7. ข้าวสุก 1 จาน แกง 1 ชุด
          8. น้ำเปล่า 1 แก้ว
          9. ขมิ้นผง
          10. ด้ายผูกแขน (สีขาว สีแดง ก็ได้)

ผู้ที่ทำหน้าที่ ในพิธีเซ่นผีปะกำได้แก่ ผู้ที่ดำรงตำแหน่ง ครูบาใหญ่ (ปะกำหลวง) หรือครูบา หรือหมอสะดำ คนใดคนหนึ่งหรือพร้อมกันก็ได้

5.4 พิธีปะสะ
เป็นพิธีสารภาพความผิดและเปลื้องมลทินของหมอช้าง ก่อนออกไปจับช้างป่าแต่ละครั้ง โดยหมอเฒ่าจะทำพิธีไต่สวนความผิด หากพบผู้ใดกระทำผิดในศีล 5 ข้อใดข้อหนึ่งจะไม้ได้รับอนุญาตให้ร่วมในการออกจับช้าง จนกว่าจะผ่านพิธีปะสะก่อน

เครื่องเซ่นไหว้ประกอบพิธีปะสะ มีดังนี้
          1. ข้าวสาร 1 ถ้วย
          2. กรวยใบตองเสียบด้วยดอกไม้ 5 กรวย
          3. เทียน 1 คู่
          4. เงินปรับตามแต่โทษนั้นๆ ได้แก่
               – ความผิดฐานลักทรัพย์ ปรับ 12 บาท
               – ความผิดฐานปล้นทรัพย์ ปรับ 40 บาท
               – ความผิดฐานทำร้ายผู้อื่น ปรับ 60 บาท
               – ความผิดฐานล่วงเกินภรรยาผู้อื่น ปรับ 60 บาท
           5. ความผิดที่ไม่สามารถล้างมลทินได้ คือ ความผิดฐานกินงูเหลือม
ทั้งนี้ หมอเฒ่า จะเป็นผู้นำให้แก่ผู้ทำความผิด ประกาศตัวให้ผีสางเจ้าป่าเจ้าเขา เทพยดาและสิ่งศักดิ์สิทธิ์รับรู้ เพื่อขอให้ช่วยชำระความผิด ให้ผู้ทำความผิดกราบขอขมาต่อพระแม่ธรณี 3 ครั้ง แล้วให้พระอาทิตย์เป็นเทพแห่งจักรวาล ฉายแสงชำระผู้กระทำผิดให้บริสุทธิ์

5.5 พิธีเปิดป่า
หลังพิธีปะสะ หมอเฒ่าจะทำพิธีเปิดป่า หรือเบิกไพร มีเครื่องเซ่นสังเวย เป็นเนื้อสัตว์ 1 ตัว หมากพลู บุหรี่ เหล้า โดยตั้งเป็นศาลขนาดเล็ก พร้อมกับกล่าวคำเบิกไพร ดังนี้ “วันนี้ พวกข้าพเจ้าและช้างต่อ ได้เข้ามาเดินหาลูกช้าง ลูกม้าของเจ้าป่า โดยมีของมาถวาย ขอให้เจ้าป่าได้ไล่โขลงช้างป่าออกมา ส่วนสัตว์ร้ายต่างๆ นั้น ขออย่าได้ปล่อยมารบกวนพวกข้าพเจ้า”

หลังคำประกาศของหมอเฒ่า ทุกคนก็เปล่งเสียงพร้อมๆ กันว่า “อากง…เอย” อากง คือ หมอช้างคนแรกที่ออกจับช้างป่า พอเห็นโขลงช้างป่าก็กระโดดขึ้นขี่คอช้างป่า หายเข้าไปในป่า จึงได้เป็นเจ้าของโขลงช้างป่า เมื่อเสร็จพิธีเบิกป่า หมอเฒ่าก็จะเซ่นเจ้าป่า แล้วเริ่มบริกรรมคาถาบังคับช้าง พร้อมให้ก่อกองไฟขึ้น 3 กอง เรียกว่า “กองกำพวด”
           กองที่ 1 จุดไว้ที่หน้าค่าย เรียกว่า กำพวดเชิง
           กองที่ 2 จุดไว้ด้านขวามือ เรียกว่า กำพวดสะดำ
           กองที่ 3 จุดไว้ด้านขวามือ เรียกว่า กำพวดสะเดียง

กองไฟทั้งสามกอง เป็นกองไฟอันศักดิ์สิทธิ์ สามารถคุ้มครองทุกคนให้แคล้วคลาดจากภัยอันตรายทั้งปวงได้ กองไฟด้านขวาและด้านซ้าย ห้ามใช้ทำประโยชน์อื่นๆ นอกจากเพื่อป้องกันภัย ส่วนกองไฟด้านหน้าใช้ทำประโยชน์อย่างอื่นได้ เช่น หุงอาหาร เป็นต้น

5.6 การคล้องช้าง
หมอเฒ่า จะแบ่งกลุ่มช้างต่อออกเป็น 3 กลุ่ม คือ กลุ่มหมอสะดำ หมอสะเดียง และครูบาใหญ่ โดยสั่งให้สองกลุ่มขยายออกเป็นแนวปีกกาซ้ายขวา เพื่อไล่ต้อนโขลงช้างป่าออกมายังที่โล่ง แล้วไสช้างต่อเข้าประชิดช้างป่าที่เราต้องการคล้อง หมอช้างก็จะใช้คันจามที่มีบ่วงบาศวางลงตามจังหวะการวิ่งของช้างป่า เมื่อเท้าช้างป่าเหยียบถูกบ่วงบาศ หมอช้างจะกระตุก เพื่อให้บ่วงบาศรัดเท้าช้างป่า เสร็จแล้วก็จะโรยหนังปะกำบ่วงบาศ ลงดินทั้งหมด เหลือแต่ปลายอีกด้านซึ่งผูกติดกับคอช้างต่อ แล้วไสช้างต่อเข้าหาต้นไม้ใหญ่ เพื่อนำปลายหนังปะกำผูกติดกับต้นไม้ใหญ่ อีกทีหนึ่ง แต่ถ้าหากช้างป่าเชือกนั้นมีพละกำลังมาก ก็จะนำปลายหนังปะกำผูกติดกับสมอที่ทำด้วยเขากวาง แล้วปล่อยให้ช้างป่าลากไป ส่วนสมอเขากวางก็จะทำหน้าที่เหมือนเบรกรถยนต์ โดยการเกาะติดต้นไม้หรือรากไม้ไปเรื่อยๆ จนช้างป่าหมดแรงแล้วค่อยจับผูกไว้กับต้นไม้ใหญ่อีกที แล้วปล่อยให้ช้างที่จับได้หรือเรียกอีกอย่างว่า ช้างเชลย อดน้ำอดอาหาร 2-3 วัน เพื่อให้หมดแรง หลังจากนั้น มะจะทำหน้าที่เปลี่ยนเครื่องพันธนาการเดิมเป็นทามคอ โดยใช้ช้างต่อ 2 เชือกประกบ หากช้างป่าดิ้นแรงเท่าใด ทามคอก็จะทำหน้าที่ทิ่มแทงคอมากเท่านั้น

กรณีควาญหลายคนจับช้างป่าเชือกเดียวกันและขาเดียวกัน ให้หมอช้างเป็นผู้ตัดสินว่าใครสมควรได้ โดยพิจารณาจากบ่วงบาศที่อยู่บนสุดเป็นผู้มีสิทธิ์ ถ้าบ่วงบาศหนึ่งติดเท้าหน้า อีกบ่วงบาศหนึ่งติดเท้าหลัง ให้บ่วงบาศที่ติดเท้าหลังมีสิทธิ์เป็นคนแรก แต่ทั้งนี้อยู่ที่พยานบุคคลโดยรอบสนับสนุนด้วย

5.7 พิธีปัดรังควาญช้างเชลย
เมื่อคล้องช้างป่าได้แล้ว ครูบาใหญ่จะทำพิธีปัดรังควาญไล่ภูตผีป่า เรียกว่า มะเร็งกงเวียร ออกจากตัวช้างป่า โดยใช้กิ่งไม้หรือผ้าขาวม้าปัดที่หลังช้างป่า พร้อมกับบริกรรมคาถา “สะปะช้างป่า” กำกับ

5.8 การแบ่งผลประโยชน์จากการคล้องช้าง
การแบ่งผลประโยชน์จากการคล้องช้างที่ได้ในสัดส่วน คือ เจ้าของช้างต่อ หมอช้าง ควาญและมะ ดังนี้  ถ้าได้สองเชือกเจ้าของช้างต่อเอาไปหนึ่งเชือก ที่เหลือขายเอาเงินแบ่งกันตามสัดส่วน ถ้าได้สามเชือกเจ้าของช้างต่อเลือกก่อนหนึ่งเชือก ที่เหลือขายหรือแบ่งกันตามสัดส่วน “พี่สองน้องหนึ่ง” ลดหลั่นกันตามลำดับ

5.9 กฎหรือข้อปฏิบัติขณะออกคล้องช้างป่า
         กฎหรือข้อปฏิบัติเหล่านี้ ชาวช้างเรียกว่า “การเข้าปะกำ” ทุกคนทุกฝ่ายต้องถือปฏิบัติอย่างเคร่งครัด ผู้ใดละเมิดอาจถึงตายได้
          ก. กฎหรือข้อปฏิบัติฝ่ายออกคล้องช้างป่า
             1. ห้ามแต่งกายสวยงาม ให้ใส่เสื้อผ้าเก่าๆ (สมัยโบราณห้ามใส่เสื้อ)
             2. หลังพิธีเซ่นหนังปะกำแล้ว ห้ามขึ้นเรือนของตนอีกจนกว่าจะกลับมา และอัญเชิญหนังปะกำขึ้นไว้บนศาล
             3. ห้ามยุ่งเกี่ยวกับสตรีโดยเด็ดขาด ใครฝ่าฝืนจะถูกเสือคาบไปกิน
             4. ห้ามใช้ผ้าขาวม้าโพกศรีษะขณะเดินทาง
             5. ต้องเคารพและเชื่อฟังหมอเฒ่าอย่างเคร่งครัด
             6. พูดกันโดยภาษาป่า หรือภาษาผีเท่านั้น ห้ามพูดภาษาพื้นบ้าน
             7. ห้ามพูดเท็จหรือมีความลับต่อกัน
             8. หมอช้างคนอื่นๆ ต้องเข้านอนหลังหมอเฒ่า ก่อนนอนต้องกราบไหว้หนังปะกำและครูบา
             9. เมื่อสูบบุหรี่ต้องบังแสงไฟ จะปล่อยแสงไฟให้เห็นไม่ได้
             10. ห้ามคล้องเอาลูกช้างป่าที่อยู่ระหว่างติดแม่เป็นอันขาด

         ข. กฎหรือข้อปฏิบัติสำหรับผู้ที่อยู่ที่บ้าน (ภรรยา บุตร หลาน)
               1. ห้ามรับคนอื่นขึ้นบ้านพักโดยเด็ดขาด
               2. ห้ามคนในบ้านนั่งตามขั้นบันไดโดยเด็ดขาด
               3. ห้ามตัดเล็บ ตัดผม
               4. ห้ามทาขมิ้น ทาแป้ง ผัดหน้า หรือใช้เครื่องสำอาง
               5. ห้ามสระผม หวีผม
               6. ห้ามไปนอนหรือค้างคืนที่บ้านอื่น
               7. ผู้เป็นหัวหน้าครอบครัวไม่ว่าหญิงหรือชาย ต้องไว้ผมยาว
               8. ถ้ามีคนมาถาม ห้ามขานรับขณะอยู่บนบ้าน ไม่ว่าจะเป็นเวลาใด
               9. ให้กราบไหว้สิ่งศักดิ์สิทธิ์ ผีสาง เทวดา ก่อนเข้านอนทุกวัน
               10. ห้ามพูดเท็จ ดุด่าว่ากัน ด้วยถ้อยคำหยาบคาย
               11. ห้ามนุ่งผ้าใหม่
               12. เวลาหุงข้าว ห้ามชักฟืนออก ให้ดันฟืนเข้าเตาเท่านั้น
               13. ขณะตัดหรือผ่าฟืน ห้ามใช้เท้าเหยียบ ให้ฟันจนกว่าจะขาดไปเอง  

5.10 ภาษาที่ใช้กับช้าง
หมายถึง คำพูด หรือกิริยาท่าทางหรือเสียง ที่เราแสดงหรือเปล่งออกมา เพื่อสื่อความหมายให้เข้าใจกันระหว่างคนกับช้าง หรือช้างกับคน ซึ่งแยกออกเป็น 2 ประเภท ดังนี้ (สัมภาษณ์นายสา  ศาลางาม)

ก. ส่วนที่เป็นภาษาพูด

                ภาษาช้าง                                               ความหมาย

                ดูน                                                         ให้ถอยหลัง
                เหา                                                        ให้หยุด หรือนิ่งอยู่กับที่
                หม๊ะ                                                       ให้มานี่ หรือให้มาหา
                บน                                                         ให้ยกงวงขึ้น
                ตัก                                                         ให้ดูดน้ำ (ใช้งวงดูด)
                เก็บฉูน                                                   ให้ช้างเก็บสิ่งของส่งให้เจ้าของ
                ปะ                                                          ให้ปล่อยสิ่งของออกจากงวง
                สง                                                          ให้ยกงอขา เพื่อให้ควาญช้างเหยียบขึ้น
               โคลม                                                      ให้ช้างนอนลง
                เต้น                                                         ให้เต้นรำ (ตามจังหวะดนตรี)
                เตะ                                                         ให้ช้างเตะ (เตะฟุตบอล)

ข. กิริยาหรือท่าทาง

                กิริยา ท่าทาง                                         ความหมาย
              ใช้มือตบเบาๆ ที่ศรีษะช้าง                      ให้ช้างจดจำการกระทำนั้น แล้วพูดว่า “เอ้อ เอ้อ”
              เอาส้นเท้าหนีบที่กกหูช้าง                      ให้ช้างเดินเร็วๆ, วิ่งแล้วเข่าเท้าถี่ๆ
              ใช้ปลายตะขอกดที่ศรีษะช้าง                 ให้ช้างก้มศรีษะลง
              กดที่บั้นท้ายช้าง                                      ให้ช้างนอนลงหรือนั่งลง

ที่มา : ชุดการเรียนรู้ เรื่อง สุรินทร์ ถิ่นช้างใหญ่
ลิขสิทธิ์และผลงานของ : ศูนย์การเรียนรู้วิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์และเทคโนโลยี (www.anantasook.com)
ทุนสนับสนุนประจำปีงบประมาณ 2552 จาก : สำนักงานเลขาธิการคุรุสภา 



Leave a Comment