CAI คอมพิวเตอร์ช่วยสอน นวัตกรรมการศึกษา สื่อการเรียนการสอนทางคอมพิวเตอร์ บทเรียน CAI

คอมพิวเตอร์ช่วยสอน (CAI) (บ้างก็ว่า คอมพิวเตอร์ช่วยการสอน) หรือ  Computer Assisted Instruction หมายถึง สื่อการเรียนการสอนทางคอมพิวเตอร์รูปแบบหนึ่ง ซึ่งใช้ความสามารถของคอมพิวเตอร์ในการนำเสนอสื่อประสมอันได้แก่ ข้อความ ภาพนิ่ง กราฟิก แผนภูมิ กราฟ วิดีทัศน์ ภาพเคลื่อนไหว และเสียง เพื่อถ่ายทอดเนื้อหาบทเรียน เนื้อหาวิชา แบบฝึกหัด แบบทดสอบ หรือองค์ความรู้ในลักษณะ ที่ใกล้เคียงกับการสอนจริงในห้องเรียนมากที่สุด โดยมีเป้าหมายที่สำคัญก็คือ ดึงดูดความสนใจของผู้เรียน และกระตุ้นให้เกิดความต้องการที่จะเรียนรู้ คอมพิวเตอร์ช่วยสอนเป็นตัวอย่างที่ดีของสื่อการศึกษาในลักษณะตัวต่อตัว ซึ่งผู้เรียนเกิดการเรียนรู้จากการมีปฏิสัมพันธ์ หรือการโต้ตอบพร้อมทั้งการได้รับผลป้อนกลับ (FEEDBACK) นอกจากนี้ ยังเป็นสื่อที่สามารถตอบสนองความแตกต่างระหว่างผู้เรียนได้เป็นอย่างดี รวมทั้งสามารถที่จะประเมิน และตรวจสอบความเข้าใจของผู้เรียนได้ตลอดเวลา

คำภาษาอังกฤษที่ใช้เรียก คอมพิวเตอร์ช่วยสอน ได้แก่ Computer Assisted Instruction (CAI), Computer Aided Instruction (CAI), Computer Assisted Learning (CAL), Computer Aided Learning (CAL), Computer Based Instruction (CBI), Computer Based Training (CBT), Computer Administered Education (CAE) , Computer Aided Teaching (CAT) แต่คำที่นิยมใช้ทั่วไปในปัจจุบันได้แก่ Computer Assisted Instruction หรือ CAI หรือสื่อซีเอไอ

นอกจากนี้ ยังมี บทเรียนสำเร็จรูปคอมพิวเตอร์การสอน (Computer Instruction Package :CI Package ) ซึ่งหมายถึง บทเรียนสำเร็จรูปที่สร้างขึ้นในลักษณะซอฟต์แวร์สำเร็จรูป (Package Software) นำไปสอน (Instruction) เนื้อหาใหม่ โดยใช้คอมพิวเตอร์เป็นเครื่องมือในการเรียนการสอนบทเรียนหรือนำเสนอบทเรียน ผู้เรียนสามารถเรียนด้วยตนเองได้ตามระดับความสามารถของตนเอง ในบทเรียนมีแบบทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน เพื่อทดสอบก่อนเรียน-หลังเรียน จุดเด่นที่สำคัญของบทเรียน คือ การนำเสนอเนื้อหาในลักษณะหลายสื่อ (Multimedia) ได้แก่ประเภท ข้อความ (Text) รูปภาพ (Image) ภาพเคลื่อนไหว (Animation) ภาพวิดีโอ (Video) และเสียง (Audio) โดยที่ผู้เรียนจะมีโอกาสได้ปฏิสัมพันธ์ (Interactive) กับบทเรียนโดยผ่านเครื่องคอมพิวเตอร์ได้ตลอดเวลา

cai
คุณลักษณะที่เป็นองค์ประกอบสำคัญของคอมพิวเตอร์ช่วยสอน (CAI)  4 ประการ ได้แก่

          1. สารสนเทศ (Information) หมายถึง เนื้อหาสาระที่ได้รับการเรียบเรียง ทำให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ หรือได้รับทักษะอย่างหนึ่งอย่างใดตามที่ผู้สร้างได้กำหนดวัตถุประสงค์ไว้ การนำเสนออาจเป็นไปในลักษณะทางตรง หรือทางอ้อมก็ได้ ทางตรงได้แก่ คอมพิวเตอร์ช่วยสอนประเภทติวเตอร์ เช่นการอ่าน จำ ทำความเข้าใจ ฝึกฝน ตัวอย่าง การนำเสนอในทางอ้อมได้แก่ คอมพิวเตอร์ช่วยสอนประเภทเกมและการจำลอง
          2. ความแตกต่างระหว่างบุคคล (Individualization) การตอบสนองความแตกต่างระหว่างบุคคล คือลักษณะสำคัญของคอมพิวเตอร์ช่วยสอน บุคคลแต่ละบุคคลมีความแตกต่างกันทางการเรียนรู้ คอมพิวเตอร์ช่วยสอน เป็นสื่อประเภทหนึ่งจึงต้องได้รับการออกแบบให้มีลักษณะที่ตอบสนองต่อความแตก ต่างระหว่างบุคคลให้มากที่สุด
          3. การโต้ตอบ (Interaction) คือการมีปฏิสัมพันธ์กันระหว่างผู้เรียนกับคอมพิวเตอร์ช่วยสอนการเรียน การสอนรูปแบบที่ดีที่สุดก็คือเปิดโอกาสให้ผู้เรียนได้มีปฏิสัมพันธ์กับผู้ สอนได้มากที่สุด
          4. การให้ผลป้อนกลับโดยทันที (Immediate Feedback) ผลป้อนกลับหรือการให้คำตอบนี้ถือเป็นการ เสริมแรงอย่างหนึ่ง การให้ผลป้อนกลับแก่ผู้เรียนในทันทีหมายรวมไปถึงการที่คอมพิวเตอร์ช่วยสอน ที่สมบูรณ์จะต้องมีการ ทดสอบหรือประเมินความเข้าใจของผู้เรียนในเนื้อหาหรือทักษะต่าง ๆ ตามวัตถุประสงค์ที่กำหนดไว้

ประโยชน์ของคอมพิวเตอร์ช่วยสอน (CAI)
          1. ช่วยให้ผู้เรียนที่เรียนอ่อน สามารถใช้เวลานอกเวลาเรียนในการฝึกฝนทักษะ และเพิ่มเติมความรู้ เพื่อปรับปรุงการเรียนของตนได้หลายครั้งเท่าที่ต้องการ
          2. ผู้เรียนสามารถนำคอมพิวเตอร์ช่วยสอนไปใช้ในการเรียนด้วยตนเองในเวลา และสถานที่ที่สะดวก
          3. คอมพิวเตอร์ช่วยสอนสามารถที่จะจูงใจผู้เรียนให้เกิดความกระตือรือร้น สนุกสนานไปกับการเรียน ผู้เรียนสามารถเรียนได้ตามขั้นตอนจากง่ายไปยาก หรือเลือกบทเรียนได้
          4. มีภาพ ภาพเคลื่อนไหว สี เสียง ทำให้ผู้เรียนไม่เบื่อหน่ายการเรียน 

คอมพิวเตอร์ช่วยสอนมีลักษณะการเรียนที่เป็นขั้นเป็นตอน ดังนี้
          1. ขั้นนำเข้าสู่บทเรียน
          2. ขั้นการเสนอเนื้อหา
          3. ขั้นคำถามและคำตอบ
          4. ขั้นการตรวจคำตอบ
          5. ขั้นของการปิดบทเรียน

ลักษณะของการพัฒนาบทเรียนคอมพิวเตอร์ช่วยสอนที่ดี มีดังนี้
          1.  สร้างขึ้นตามจุดประสงค์ของการสอน
          2.  เหมาะสมกับลักษณะของผู้เรียน
          3.  มีปฏิสัมพันธ์กับผู้เรียนให้มากที่สุด
          4.  มีลักษณะเป็นการสอนรายบุคคล
          5.  คำนึงถึงความสนใจของผู้เรียน
          6.  สร้างความรู้สึกในทางบวกกับผู้เรียน
          7.  จัดทำบทเรียนให้สามารถแสดงผลย้อนกลับไปยังผู้เรียนให้มาก ๆ
          8.  เหมาะสมกับสภาพแวดล้อมทางการเรียนการสอน
          9.  มีวิธีการประเมินผลการปฏิบัติงานของผู้เรียนอย่างเหมาะสม
          10.ใช้สมรรถนะของเครื่องคอมพิวเตอร์อย่างเต็มที่ และหลีกเลี่ยงข้อจำกัดบางอย่างของเครื่องคอมพิวเตอร์อยู่บนพื้นฐานของการออกแบบการสอนคล้ายกับการผลิตสื่อชนิดอื่น ๆควรมีการประเมินผลทุกแง่ทุกมุม

ข้อพึงระวังของการใช้คอมพิวเตอร์ช่วยสอน
          1. ผู้สอนจะต้องมีความพร้อม ความชำนาญในการสอนคอมพิวเตอร์ช่วยสอน
          2. ผู้สอนควรมีการวางแผน และเตรียมความพร้อมให้แก่ผู้เรียนให้รอบคอบ ก่อนนำคอมพิวเตอร์ช่วยสอนไปใช้อย่างเหมาะสม
          3. การผลิตคอมพิวเตอร์ช่วยสอนที่ได้มาตรฐานเป็นสิ่งสำคัญมาก หากคอมพิวเตอร์ช่วยสอนไม่ได้รับการออกแบบอย่างเหมาะสม จะทำให้ผู้เรียนรู้สึกเบื่อหน่ายและไม่ต้องการใช้คอมพิวเตอร์ช่วยสอนนั้น ๆ
          4. ผู้ที่สนใจสร้างคอมพิวเตอร์ช่วยสอนควรที่คำนึงเวลาในการผลิตว่า คอมพิวเตอร์ช่วยสอนที่ได้มาตรฐานนั้นต้องใช้เวลาเท่าไร

 ตัวอย่างบทเรียนคอมพิวเตอร์ช่วยสอน (CAI) และสาธิตการเรียนผ่านคอมพิวเตอร์ช่วยสอน (CAI)

หมายเหตุ : ปัจจุบันมีคนที่สามารถทำ CAI ได้อย่างมีคุณภาพเป็นจำนวนมาก และเกิดมีบริการรับทำสื่อการสอน CAI , บทเรียนคอมพิวเตอร์ช่วยสอน CAI จำนวนมาก เพื่อตอบสนองความต้อการในการใช้งาน CAI โดยเฉพาะในด้านการศึกษา ที่นอกจากเพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ของผู้เรียนแล้ว ยังเป็นนวัตกรรมการศึกษาหนึ่งที่คุณครูนิยมใช้ในการทำผลงานทางวิชาการ CAI ของตนเอง สำหรับการเลื่อนวิทยฐานะที่สูงขึ้น

เรียบเรียงจาก
1. http://umuhanee.blogspot.com/2008/07/cai.html
2. http://senarak.tripod.com/cai2.htm [บุญเกื้อ ควรหาเวช (2543) นวัตกรรมการศึกษา.(พิมพ์ครั้งที่ 5). กรุงเทพฯ:SR Printing.]
3. http://yalor.yru.ac.th/~sirichai/4123612/unit1/meaning-cai.html
ภาพประกอบจาก : http://vcharkarn.com/varticle/wp-content/uploads/sites/6/2013/07/cai03.jpg



Leave a Comment