สรุปทิศ 6 คำสอนเรื่อง ทิศ ทางพระพุทธศาสนา หลักแห่งการปฏิบัติต่อกันของคนในสังคม ทิศต่างๆ ชาวพุทธ

สมัยพุทธกาล เมื่อครั้งพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จอยู่ในกรุงราชคฤห์ เช้าวันหนึ่ง ขณะกำลังเสด็จรับบิณฑบาต ได้ทอดพระเนตรเห็นมาณพผู้หนึ่ง ชื่อ สิงคาละ กำลังประนมมือน้อมนมัสการทิศทั้งหก (หมายถึง ทิศเหนือ ทิศใต้ ทิศตะวันออก ทิศตะวันตก ทิศเหนือศรีษะ ทิศใต้พื้นดิน) เพื่อสกัดกั้นอันตรายอันจะมีมาแต่ทิศนั้น ๆ พระพุทธองค์จึงตรัสบอกว่า ทิศทั้งหกนี้ ในพุทธศาสนาเขาไม่ได้ไหว้กันอย่างนั้น แล้วทรงแสดงวิธีไหว้ทิศทั้งหก ดังนี้
buddhist-direction
1. ทิศเบื้องหน้า หมายถึง พ่อและแม่ วิธีไหว้คือปฏิบัติตน ดังนี้
     – เลี้ยงดูท่าน
     – ช่วยท่านทำกิจการงาน
     – ดำรงวงศ์สกุลไว้
     – ประพฤติตนให้เหมาะสมกับความเป็นทายาท
     – เมื่อท่านล่วงลับไปแล้ว ก็ต้องทำบุญอุทิศไปให้ท่าน
ในทางกลับกัน ผู้เป็นพ่อ แม่ พึงอนุเคราะห์ต่อลูก ดังนี้ คือ
     – ห้ามไม่ให้ทำความชั่ว
     – สอนให้ตั้งอยู่ในความดี
     – ให้ศึกษาเล่าเรียนศิลปะวิทยา
     – หาภรรยาที่เหมาะสม และสมควรให้
     – มอบทรัพย์มรดกให้  

2. ทิศเบื้องขวา หมายถึง ครูอาจารย์ วิธีไหว้ คือ ปฏิบัติตนดังนี้
     – ลุกขึ้นยืนรับ
     – เข้าไปคอยรับใช้
     – เคารพเชื่อฟังคำสั่งสอนของท่าน
     – อุปฐาก ปรนนิบัติท่าน
     – ตั้งใจเรียนศึกษาเล่าเรียนด้วยความเคารพ
ในทางกลับผู้เป็นครู อาจารย์ พึงอนุเคราะห์ตอบต่อศิษย์ ดังนี้ คือ
     – ให้คำแนะนำที่ดี
     – ให้ตั้งใจเรียน
     – บอกวิชาความรู้แก่ศิษย์โดยไม่ปิดบัง
     – ยกย่องศิษย์ให้ปรากฏแก่เพื่อนฝูง
     – ปกป้องศิษย์จากอันตรายจากทุกทิศทาง 

3. ทิศเบื้องหลัง หมายถึง ภรรยา วิธีไหว้ คือปฏิบัติตนดังนี้
– ยกย่องนับถือว่าเป็นภรรยา
     – ไม่ดูหมิ่น
     – ไม่ประพฤตินอกใจ
     – มอบความเป็นใหญ่ให้
     – ให้เครื่องแต่งตัว
ในทางกลับกันผู้เป็นภรรยา พึงปฏิบัติต่อสามี ดังนี้ คือ
      – จัดการงานให้ดี (ดูแลบ้าน)
      – สงเคราะห์คนข้างเคียงของสามี (ญาติของสามี)
      – ไม่ประพฤตินอกในสามี
      – รักษาทรัพย์ที่สามีหามาได้
      – ขยันไม่เกียจคร้านในการงานทั้งปวง

4. ทิศเบื้องซ้าย หมายถึง เพื่อน วิธีไหว้คือปฏิบัติตนดังนี้
       – เผื่อแผ่แบ่งปัน

       – พูดจาไพเราะ มีน้ำใจ
       – ช่วยเหลือเกื้อกูลซึ่งกันและกัน
       – ร่วมทุกข์ร่วมสุขด้วย
       – ซื่อสัตย์จริงใจต่อกันและกัน

5. ทิศเบื้องล่าง หมายถึง คนงาน หรือ คนรับใช้ (บ่าว) วิธีไหว้ คือปฏิบัติตนดังนี้
       – จัดการงานให้ทำตามสมควรแก่กำลัง ความสามารถ

       – ให้ค่าจ้าง และให้รางวัล
       – รักษาพยาบาลในเวลาที่เขาเจ็บไข้
       – ได้ของแปลกๆ พิเศษๆ มาก็แบ่งปันให้
       – นอกจากวันหยุดปกติแล้ว ก็ปล่อยให้หยุดในวันอื่นบ้างตามสมควรแก่สมัย
ในทางกลับกัน บ่าวคนรับใช้ หรือ ลูกจ้าง พึงปฏิบัติต่อ เจ้านาย หรือ นายจ้าง ดังนี้
       – ลุกขึ้นมาทำงานก่อนนาย
       – เลิกงานทีหลังนาย
       – ถือเอาแต่สิ่งของที่นายให้เท่านั้น
       – ทำงานให้ดีขึ้นเรื่อย ๆ
       – นำคุณธรรมความดีของนายไปสรรเสริญในที่ไปที่นั้นๆ

6. ทิศเบื้องบน หมายถึงพระสงฆ์ สมณพราหมณ์, นักบวช วิธีไหว้ คือปฏิบัติตนดังนี้
– จะทำสิ่งใด ก็ทำด้วยความเมตตา

       – จะพูดอะไร ก็พูดด้วยความเมตตา
       – จะคิดอะไร ก็คิดด้วยความเมตตา
       – ต้อนรับด้วยความเต็มใจ (ไม่ปิดประตูเรือน)
       – อุปัฏฐากบำรุงท่านด้วยปัจจัย 4 ( เครื่องนุ่งห่ม, อาหาร,ที่อยู่อาศัย, ยารักษาโรค)
ในทางกลับกันฝ่ายพระสงฆ์ สมณะพราหมณ์ นักบวช พึงอนุเคราะห์ตอบ ดังนี้ คือ
       –  ห้ามไม่ให้ทำความชั่ว
       –  สั่งสอนให้ตั้งอยู่ในความดี
       –  อนุเคราะห์ด้วยน้ำใจอันงาม
       –  ให้ฟังสิ่งที่ยังไม่เคยฟัง (ศึกษารู้ธรรมะอะไรมาที่ยังไม่เคยฟัง ก็มาเล่าให้ฟัง)
       –  ทำสิ่งที่เคยฟังแล้วให้แจ่มแจ้ง (อธิบายธรรมะที่เคยฟังแล้วให้เข้าใจแจ่มแจ้ง
       –  บอกหนทางสวรรค์ให้ (บอกวิธีทำความดีต่าง ๆ ที่จะเป็นหนทางไปสวรรค์ให้)

ที่มา : คู่มือครู สควค. ครูผู้สร้างสังคมแห่งการเรียนรู้ หน้าที่ 21-23 สรุปความโดย นายศักดิ์อนันต์ อนันตสุข
ภาพประกอบจาก : http://phatthara.edublogs.org/files/2013/06/dhit-6-v8r5s7.png



Leave a Comment