สรุปมงคลชีวิต 38 ประการ ความรู้มงคลชีวิต เหตุแห่งความสุขและความเจริญก้าวหน้าของชีวิต

khondeeมงคลชีวิต คือ เหตุแห่งความสุขและความเจริญก้าวหน้าของชีวิต เป็นสูตรที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงไว้เป็นข้อควรประพฤติปฏิบัติ ซึ่งมีอยู่ ๓๘ ประการ ดังนี้

มงคลที่ ๑ ไม่คบคนพาล การคบคนพาลพาไปหาผิด การไม่คบคนพาลจึงทำให้พ้นจากโอกาสที่จะหลงเข้าสู่ความผิด นำมาซึ่งความสรรเสริญของคนทั่วไป

มงคลที่ ๒ คบบัณฑิต ได้ความรู้ ความปลอดภัย ความสรรเสริญ ความสุข เกียรติยศ ชื่อเสียง และชื่อว่าได้ทำความดีด้วย ทำให้บรรลุมรรคผลนิพพานได้ง่าย ได้ชื่อว่ามี “กัลยาณมิตร”

มงคลที่ ๓ บูชาบุคคลที่ควรบูชา ทำให้เราลดทิฏฐิมานะลงได้ ป้องกันความเห็นผิด และทำให้เราได้แบบอย่างที่ดีจากคนที่เราเคารพ เป็นการขจัดคนพาลให้พินาศไปโดยทางอ้อมและเป็นการเชิดชูบัณฑิตให้สูงเด่นยิ่งขึ้น และได้ชื่อว่าเป็นผู้มี “กตัญญูกตเวที” อีกด้วย

มงคลที่ ๔ อยู่ในถิ่นที่เหมาะสม การอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ดีย่อมทำให้เป็นคนดี คนมีความรู้ถ้าอยู่ในถิ่นที่ไม่ต้องใช้วิชาความรู้ ความรู้นั้นก็หมดค่าไป และทำให้คนเรากล้าต่อการเผชิญกับปัญหา เพื่อสร้างสิ่งแวดล้อมที่ดีได้ ได้รับความสุขกาย สุขใจ มีความเจริญก้าวหน้า ทั้งทางโลกและทางธรรม

มงคลที่ ๕ มีบุญวาสนามาก่อน การทำบุญเป็นการสร้างความดี ซึ่งมีระยะเวลายาวนานต้องอดทน เหมือนปลูกต้นไม้ยืนต้นจะต้องคอยผลไม้นั้นเป็นปีๆ การทำบุญในอดีตส่งผลในปัจจุบัน การทำบุญในปัจจุบันส่งผลในปัจจุบันและอนาคต ผู้ทำความดีจึงต้องคิดว่าเป็นการสร้างฐานแห่งอนาคตไว้ฉะนั้น

มงคลที่ ๖ ตั้งตนชอบ เป็นการสร้างความมั่นคง ความปลอดภัยแก่ตนเอง เป็นตัวอย่างที่ดีแก่คนอื่น มีความก้าวหน้า เป็นผู้ป้องกันภัยในอบายภูมิ และได้รับสมบัติ ๓ ประการคือ มนุษยสมบัติ ทิพยสมบัติ และนิพพานสมบัติ

มงคลที่ ๗ เป็นพหูสูต การฟังมาก ย่อมเพิ่มวุฒิปัญญา เชาวน์ และไหวพริบ นำความรู้ที่ได้ยินได้ฟัง ได้อ่าน ไปปฏิบัติเพื่อช่วยเหลือตนเองหรือคนอื่นได้มาก

มงคลที่ ๘ รอบรู้ในศิลปะ คนมีศิลปะจะช่วยตัวเองได้ไม่ว่าจะตกอยู่ในสถานะใด คนมีศิลปะย่อมเจริญก้าวหน้า ได้รับความสุขทั้งในโลกนี้และโลกหน้า และทำให้โลกเจริญทั้งด้านวัตถุและจิตใจ 

มงคลที่ ๙ มีวินัย วินัยเป็นตัวกำหนดให้เกิดความสามัคคี ความมีระเบียบสร้างความเข้มแข็งในกิจการงานต่าง ๆ ทำให้สังคมที่ดีดำรงอยู่

มงคลที่ ๑๐ มีวาจาอันเป็นสุภาษิต คนที่พูดวาจาสุภาษิต จะบันดาลให้การงานทั้งปวงสำเร็จลุล่วงไปด้วยดี มีความเจริญก้าวหน้าทั้งทางโลกและทางธรรม ได้รับความสำเร็จในเรื่องที่เจรจา

มงคลที่ ๑๑ บำรุงบิดามารดา เป็นการสืบต่อสังคมโดยอัตโนมัติ การบำรุงเลี้ยงดูมารดาบิดา ทำให้ได้รับการยกย่องสรรเสริญ มีความเจริญก้าวหน้า เป็นตัวอย่างที่ดีแก่อนุชนรุ่นหลัง

มงคลที่ ๑๒ สงเคราะห์บุตร บุตรเป็นส่วนหนึ่งของครอบครัว ซึ่งก็คือส่วนหนึ่งของประเทศชาติ ถ้าเลี้ยงดูบุตรให้ดีได้รับการศึกษา ก็เท่ากับสร้างครอบครัวให้ดี ประเทศชาติจะเจริญมั่นคง

มงคลที่ ๑๓ สงเคราะห์ภรรยา (สามี) ทำให้ชีวิตครอบครัวมั่นคงยั่งยืนเป็นการร่วมกันสร้างฐานะให้มั่นคง การสงเคราะห์ภรรยาเป็นการสร้างความมั่นคงและมั่นใจให้แก่ภรรยา ครอบครัวมีความสงบสุข ได้รับการยกย่องสรรเสริญ และเป็นตัวอย่างที่ดีแก่อนุชนรุ่นหลัง

มงคลที่ ๑๔ ทำการงานไม่ให้คั่งค้าง เพราะถ้าหากงานคั่งค้างแล้วย่อมไม่มีประโยชน์ไม่เห็นผล งานไม่คั่งค้างจะทำให้ฐานะของตน ครอบครัว และประเทศชาติเจริญขึ้นเพราะฉะนั้นงานที่ทำเสร็จเห็นผลงานจึงเป็นมงคล

มงคลที่ ๑๕ บำเพ็ญทาน เป็นการฝึกใจให้เป็นนักเสียสละ เป็นการลดความเห็นแก่ตัว ถ้าต่างคนต่างมุ่งหวังให้ทาน ความเห็นแก่ตัวจะลดลง การทุจริตจะลดลง ทำให้มีชื่อเสียงในสังคม แม้ตายแล้วย่อมไปเกิดในสวรรค์

มงคลที่ ๑๖ ประพฤติธรรม เป็นการยกระดับจิตใจให้สูงขึ้น ผู้ประพฤติธรรมมีแต่ความสุข

มงคลที่ ๑๗ สงเคราะห์ญาติ/พี่น้อง การสงเคราะห์ญาติคือ เมื่อยามญาติ อัตคัด เกินขัดข้องควรหาช่อง สงเคราะห์ ไม่เลาะหนี เขาซาบซึ้ง ถึงคุณ อบอุ่นดี หากถึงที เราจน ญาติสนใจ

มงคลที่ ๑๘ ทำงานที่ไม่มีโทษ ทำงานที่ไม่มีโทษ คือ งานรับจ้าง ล้างชาม ก็ตามเถิดหากไม่เกิด โทษทัณฑ์ นั่นสดใสเมื่อได้ช่อง ต้องจำ กระทำไปได้กำไร ทุกทาง ไม่ว่างงาน

มงคลที่ ๑๙ ละเว้นการทำบาป บาปคือสิ่งที่ไม่ดี เสีย ความชั่วที่ติดตัว ซึ่งไม่ควรทำ ท่านว่าสิ่งที่ทำแล้วถือว่าเป็นบาปได้แก่ อกุศลกรรมบถ ๑๐

มงคลที่ ๒๐ สำรวมจากการดื่มน้ำเมา ว่าด้วยเรื่องของน้ำเมานั้น อาจทำมาจากแป้ง ข้าวสุก การปรุงโดยผสมเชื้อ หรืออะไรก็แล้วแต่ที่ดื่มแล้วทำให้มึนเมา เช่นเบียร์ ไวน์ ไม่ใช่แค่เหล้าเท่านั้น ล้วนมีโทษอันได้แก่ ๑.ทำให้เสียทรัพย์ ๒.ทำให้เกิดการทะเลาะวิวาท ๓.ทำให้เกิดโรค ๔.ทำให้เสียชื่อเสียง 

มงคลที่ ๒๑ ไม่ประมาทในธรรม พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ทรงโปรดแนะทางไว้ คนที่ประมาทในธรรมนั้นมีลักษณะที่สรุปได้ดังนี้คือ ๑.ไม่ทำเหตุดี แต่จะเอาผลดี ๒.ทำตัวเลว แต่จะเอาผลดี ๓.ทำย่อหย่อน แต่จะเอาผลมาก

มงคลที่ ๒๒ มีความเคารพ สิ่งที่ควรเคารพมีอยู่ดังนี้ ๑.พระพุทธเจ้า ๒.พระธรรม ๓.พระสงฆ์ ๔.การศึกษา ๕.ความไม่ประมาท คือการดำเนินตามหลักธรรมคำสอนพระพุทธศาสนาอื่นๆ ด้วยความเคารพ ๖.การสนทนาปราศรัย คือการต้อนรับอาคันตุกะผู้มาเยือนด้วยความเคารพ 

มงคลที่ ๒๓ มีความถ่อมตน โทษของการอวดดีนั้นมีอยู่ดังนี้คือ ๑.ทำให้เสียคน คือไม่สามารถกลับมาอยู่ในร่องในรอยได้เหมือนเดิม เสียอนาคต ๒.ทำให้เสียมิตร คือไม่มีใครคบหาเป็นเพื่อนด้วย ถึงจะมีก็ไม่ใช่เพื่อนแท้

มงคลที่ ๒๔ มีความสันโดษ ลักษณะของความสันโดษเป็นดังนี้ คือ ๑.ยถาลาภสันโดษ หมายถึงความยินดีตามมีตามเกิด คือมีแค่ไหนก็พอใจเท่านั้น เป็นอยู่อย่างไรก็ควรจะพอใจ ไม่คิดน้อยเนื้อต่ำใจในสิ่งที่ตัวเองเป็นอยู่ ๒.ยถาพลสันโดษ หมายถึงความยินดีตามกำลัง เรามีกำลังแค่ไหนก็พอใจเท่านั้น ตั้งแต่กำลังกาย กำลังทรัพย์ กำลังบารมี หรือกำลังความสามารถเป็นต้น

มงคลที่ ๒๕ มีความกตัญญู กตัญญูนั้นมีดังนี้ ๑.กตัญญูต่อบุคคล บุคคลที่ควรกตัญญูก็คือ ใครก็ตามที่มีบุญคุณควรระลึกถึงและตอบแทนพระคุณ เช่น บิดา มารดา อาจารย์ เป็นต้น ๒.กตัญญูต่อสัตว์ ได้แก่สัตว์ที่มีคุณต่อเราช่วยทำงานให้เรา เราก็ควรเลี้ยงดูให้ดีเช่นช้าง ม้า วัว ควาย หรือสุนัขที่ช่วยเฝ้าบ้าน เป็นต้น

มงคลที่ ๒๖ ฟังธรรมตามกาล เวลาที่ควรไปฟังธรรมนั้นมีดังนี้คือ ๑.วันธรรมสวนะ ก็คือวันพระ หรือวันที่สำคัญทางศาสนา ๒.เมื่อมีผู้มาแสดงธรรม ก็อย่างเช่น การฟังธรรมตามวิทยุ การที่มีพระมาแสดงธรรมตามสถานที่ต่างๆ หรือการอ่านจากสื่อต่างๆ ๓.เมื่อมีโอกาสอันสมควร อาทิเช่นในวันอาทิตย์เมื่อมีเวลาว่าง หรือในงานมงคล งานบวช งานกฐิน งานวัดเป็นต้น

มงคลที่ ๒๗ มีความอดทน ความอดทนนั้นสามารถจำแนกออกได้เป็นดังต่อไปนี้คือ ๑.ความอดทนต่อความลำบาก ๒.ความอดทนต่อทุกขเวทนา ๓.ความอดทนต่อความเจ็บใจ ๔.ความอดทนต่ออำนาจกิเลส

มงคลที่ ๒๘ เป็นผู้ว่าง่าย ผู้ว่าง่ายนั้นมีลักษณะที่สังเกตได้ดังนี้คือ ๑.ไม่พูดกลบเกลื่อนเมื่อได้รับการว่ากล่าวตักเตือน ๒.ไม่นิ่งเฉยเมื่อได้รับการเตือน ๓.ไม่จับผิดผู้ว่ากล่าวสั่งสอน

มงคลที่ ๒๙ เห็นสมณะ คุณสมบัติของสมณะต้องประกอบไปด้วย ๓ อย่างคือ ๑.ต้องสงบกาย ๒.ต้องสงบวาจา ๓.ต้องสงบใจ 

มงคลที่ ๓๐ สนทนาธรรมตามกาล ก่อนที่เราจะสนทนาธรรม ควรต้องพิจารณาและคำนึงถึงสิ่งต่อไปนี้คือ ๑.ต้องรู้เรื่องที่จะพูดดี ๒.ต้องพูดเรื่องจริง มีประโยชน์ ๓.ต้องเป็นคำพูดที่ไพเราะ ๔.ต้องพูดด้วยความเมตตา ๕.ต้องไม่พูดจาโอ้อวด หรือยกตนข่มท่าน

มงคลที่ ๓๑ บำเพ็ญตบะ การบำเพ็ญตบะหมายความถึงการทำให้กิเลส ความรุ่มร้อนต่างๆ หมดไป หรือเบาบางลง ลักษณะการบำเพ็ญตบะมีดังนี้ ๑.การมีใจสำรวมในอินทรีย์ทั้ง ๖ ได้แก่ ตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจ ๒.การประพฤติรักษาพรหมจรรย์ เว้นจากการร่วมประเวณี หรือกามกิจทั้งปวง

มงคลที่ ๓๒ ประพฤติพรหมจรรย์ ประพฤติพรหมจรรย์นั้น มีอยู่ดังนี้คือ ๑.ให้ทาน ๒.ช่วยเหลือผู้อื่นในกิจการงานที่ชอบ ที่ถูกที่ควร ๓.รักษาศีล ๕ 

มงคลที่ ๓๓ เห็นอริยสัจ หลักแห่งอริยสัจมีอยู่ ๔ ประการมีดังนี้ ๑.ทุกข์ ๒.สมุทัย ๓.นิโรธ ๔.มรรค

มงคลที่ ๓๔ ทำพระนิพพานให้แจ้ง ทำให้แจ้ง นิพพาน ผลาญสังโยชน์ ตรวจตราโทษ ธาตุ ขันธ์ หมั่นฝึกถอน เอาอรหัต มรรคญาณ เผาราญรอน ดับทุกข์ร้อน นิพพาน สำราญนัก

มงคลที่ ๓๕ จิตไม่หวั่นไหวในโลกธรรม ลักษณะของโลกธรรมมี ๔ ประการคือ ๑.การได้ลาภ ๒.การได้ยศ ๓.การได้รับการสรรเสริญ ๔.การได้รับความสุข

มงคลที่ ๓๖ จิตไม่โศก เหตุ ๕ ประการที่ทำให้จิตเราต้องโศกเศร้าคือ ๑.ความโศกเศร้าที่เกิดเนื่องมาจากความรัก ๒.ความโศกเศร้าที่เกิดจากความใคร่ ๓.ใช้ปัญญาพิจารณาอยู่เนืองๆ ถึงความไม่เที่ยงในสิ่งของทั้งหลาย และร่างกายของเรา ๔.ไม่ยึดมั่นในตัวตน หรือความจีรังยั่งยืน ในคนหรือสิ่งของว่าเป็นของเรา ๕.ทุกอย่างในโลกล้วนเปลี่ยนแปลงอยู่ทุกขณะ แม้ร่างกายเราก็ใช้เป็นที่อาศัยชั่วคราวเท่านั้น

มงคลที่ ๓๗ จิตปราศจากกิเลส จิตทีฝึกฝนดีแล้วย่อมหลุดพ้นไม่พัวพันอยู่กับกิเลสทั้งปวง เป็นจิตที่ปลอดโปร่งเป็นอิสรเสรีและมีศักยภาพสูงสุด เป็นจิตที่นำเอาความสงบร่มเย็นที่ยั่งยืนมาสู่โลก

มงคลที่ ๓๘ จิตเกษม หมายถึงการละแล้วซึ่งกิเลส เป็นเครื่องผูกอยู่ ๔ ประการคือ ๑.การละกามโยคะ ๒.การละภวโยคะ ๓.การละทิฏฐิโยคะ ๔.การละอวิชชาโยค

ที่มา : ข้อความข้างต้น ครูศักดิ์อนันต์ อนันตสุข สรุปความรู้เกี่ยวกับ “มงคลชีวิต 38 ประการ” จากหนังสือหลายๆ เล่ม แล้วตีพิมพ์ไว้ใน “คู่มือการปฏิบัติตนของครู สควค. ครูผู้สร้างสังคมแห่งการเรียนรู้” หน้าที่ 24-27
ภาพประกอบจาก : คนดี สำคัญกว่าทุกสิ่ง : https://fbcdn-sphotos-d-a.akamaihd.net/hphotos-ak-ash4/417067_1933274068215_1210017996_n.jpg



Leave a Comment