ระบบการศึกษาของบรูไนดารุสซาลาม ระบบการศึกษาบรูไน

Brunei-classroomระบบการศึกษาของบรูไนดารุสซาลาม ไม่มีการศึกษาภาคบังคับ แต่การศึกษาเป็นสากล และจัดให้ฟรีสำหรับประชาชนทั่วไป โดยแบ่งออกเป็น ระดับก่อนประถมศึกษา 1 ปี ระดับประถมศึกษา 6 ปี ระดับมัธยมศึกษา 7-8 ปี (ระดับมัธยมศึกษาตอนต้น 3 ปี, ระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย 2-3 ปี และระดับเตรียมอุดมศึกษา 2 ปี) และระดับมหาวิทยาลัย 3-4 ปี มีรายละเอียด ดังนี้

ระดับก่อนประถมศึกษา : เด็กทุกคนต้องเข้าศึกษาในระดับก่อนประถมศึกษา 1 ปี เมื่อมีอายุ 5 ปี หลังจากนั้นจึงเข้าศึกษาในระดับประถมศึกษา

ระดับประถมศึกษา : แบ่งออกเป็นสองระดับคือ ระดับประถมต้น 3 ปี และประถมปลาย 2-3 ปี หลังจากจบการศึกษาระดับประถมศึกษา 6 ปี นักเรียนจะต้องเข้ารับการทดสอบข้อสอบกลาง (PCE : Primary Certificate of Examination) ซึ่งการศึกษาในระดับนี้มีจุดประสงค์เพื่อปูพื้นฐานด้านการเขียน การอ่าน และการคำนวณให้แก่นักเรียน เพื่อจะได้นำความรู้เหล่านี้ไปใช้ในการพัฒนาตนเอง

ระดับมัธยมศึกษา : การศึกษาระดับมัธยมศึกษา ใช้เวลา 7-8 ปี (มัธยมศึกษา 5-6 ปีและ เตรียมอุดมศึกษา 2 ปี)
          – ระดับมัธยมศึกษาตอนต้น : มีระยะเวลา 3 ปี หลังมัธยมศึกษาตอนต้นแล้ว นักเรียนจะต้องทดสอบ BJCE (Brunei Junior Certificate of Education) จึงสามารถเรียนต่อระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย หรือเลือกเรียนวิชาด้านช่าง และเทคนิคพื้นฐานที่สถาบันการศึกษาทางเทคนิคและอาชีวศึกษา
          – ระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย : มีระยะเวลา 2-3 ปี นักเรียนจะเลือกเรียนสายศิลป์ สายวิทย์ หรือสายอาชีพ ตามผลการสอบ BJCE หลักจากเรียนจบระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย (ระดับ 5) นักเรียนต้องสอบข้อสอบ Brunei-Cambridge General Certificate of Education : BCGCE “O” level หรือเรียนจบระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย (ระดับ 6) นักเรียนต้องสอบข้อสอบ Brunei-Cambridge General Certificate of Education : BCGCE “A” level แล้วจึงจะมีสิทธิ์เรียนต่อระดับเตรียมอุดมศึกษา
          – ระดับเตรียมอุดมศึกษา มีระยะเวลา 2 ปี

ระดับปริญญาตรี : จัดให้กับเด็กที่มีผลการศึกษาดี มีศักยภาพในการศึกษาต่อได้ หรือศึกษาในสาขาที่เป็นความต้องการของประเทศ ซึ่งมีทั้งมหาวิทยาลัย สถาบันอาชีวะ และเทคนิคต่าง ๆ วิทยาลัยต่าง ๆ

ความรู้เพิ่มเติม
โรงเรียนเอกชน (Non-Government Schools) : มีบทบาทในการช่วยแบ่งเบาภาระการจัดการศึกษาของรัฐบาล โดยโรงเรียนเอกชนที่ขึ้นทะเบียนกับกระทรวงศึกษาธิการมี 5 ประเภท ได้แก่ โรงเรียนภาคบังคับตามปกติ (ตั้งแต่ระดับอนุบาลจนถึงระดับมัธยมศึกษา) โรงเรียนกวดวิชา โรงเรียนสอนคอมพิวเตอร์ โรงเรียนสอนดนตรี โรงเรียนสอนตัดเสื้อ เป็นต้น

การศึกษา และการฝึกหัดด้านอาชีวะและเทคนิค : กรมการศึกษาด้านเทคนิค (Department of Technical Education – DTE) เป็นผู้รับผิดชอบดูแลการจัดการศึกษา และการฝึกหัดด้านอาชีวะและเทคนิค (Technical and Vocational Education and Training) และโปรแกรมเกี่ยวกับการศึกษาต่อ (Continuing Education-CE)

ภาษาที่ใช้ในการจัดการศึกษา : ระบบการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2528 กำหนดให้ใช้ภาษาอังกฤษ และภาษามาเลย์ในการสอนตั้งแต่ระดับอนุบาลจนถึงประถมศึกษาปีที่ 3 ครูจะสอนทุกวิชาด้วยภาษามาเลย์ ยกเว้นวิชาภาษาอังกฤษซึ่งใช้ภาษาอังกฤษในการสอน สำหรับระดับประถมศึกษาปีที่ 4 ขึ้นไป โรงเรียนจะใช้ทั้งภาษามาเลย์ และภาษาอังกฤษในการสอน โดยภาษามาเลย์ใช้สำหรับสอนวิชาเกี่ยวกับมาเลย์ ความรู้เกี่ยวกับศาสนาอิสลาม พลศึกษา ศิลปะและการช่าง และวิชาหน้าที่พลเมือง ส่วนภาษาอังกฤษใช้ในการสอนวิชาวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ ภูมิศาสตร์ ประวัติศาสตร์ และภาษาอังกฤษ เป็นต้น

เรียบเรียงจาก : สำนักความสัมพันธ์ต่างประเทศ สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ http://www.bic.moe.go.th
ขอบคุณภาพประกอบจาก : http://4.bp.blogspot.com/-LPSb78czNYA/TWjbWMUhlwI/AAAAAAAAAQo/UWYpDHXqKWQ/s1600/IMG_7837.JPG

 



Leave a Comment